Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๓๗

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 

ผิดศีลแล้ว ควรทำอย่างไร (ตอนที่ ๒)

dharmajaee237

 

ผมได้เคยเขียนเรื่อง “ผิดศีลแล้ว ควรทำอย่างไร” เมื่อปี ๒๕๕๖ ตามลิ้งค์ด้านล่างนี้ครับ
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/817-2013-02-13-17-13-00

เมื่อไม่นานมานี้ ได้มีญาติธรรมท่านหนึ่งได้เล่าให้ผมทราบว่า
เขาได้เคยทำผิดในศีลเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญและมีผลกระทบมากต่อครอบครัว
โดยแม้ว่าเรื่องนั้นจะจบไปแล้วในอดีต
และเขาเองตั้งใจว่าจะไม่ทำผิดศีลในเรื่องดังกล่าวอีกก็ตาม
แต่เรื่องดังกล่าวได้ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อครอบครัวอย่างแก้ไขไม่ได้
ทำให้ในปัจจุบัน เขายังเสียใจอยู่เรื่อย ๆ ถึงการทำผิดศีลเรื่องนั้นในอดีต

ตามที่ได้กล่าวแล้ว ในเรื่อง “ผิดศีลแล้ว ควรทำอย่างไร” คราวก่อนว่า
เมื่อทำผิดศีลแล้ว เราพึงเห็นความผิดตามจริง สารภาพผิดตามจริง
และตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทำผิดศีลอีก
ซึ่งเมื่อทำเช่นนั้นแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการไม่สร้างเหตุปัจจัยในเรื่องผิดศีลเพิ่มเติม
และช่วยให้เราไม่ต้องไปรับผลหรือวิบากของการผิดศีลเพิ่มเติมนั้นในอนาคต
แต่ถึงจะไม่ทำผิดศีลเพิ่มเติมก็ตาม กรณีก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ว่า
เมื่อเราระลึกถึงการทำผิดศีลของเราเองในอดีตแล้ว
จะทำให้รู้สึกเสียใจ ทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจ

การที่เราจะแก้ไขปัญหาโดยย้อนเวลาไปแก้ไขอดีต
เพื่อไม่ให้เรื่องที่เราทำผิดศีลนั้นเกิดขึ้น ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
สิ่งที่เราทำได้ก็คือว่าเราจะทำอย่างไรในเวลาปัจจุบันนี้
เช่นนี้แล้ว การที่เราระลึกถึงการทำผิดศีลของเราเองในอดีตแล้ว
ทำให้รู้สึกเสียใจ ทุกข์ใจ หรือไม่สบายใจนั้น
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าเราได้เคยทำผิดศีลไปในอดีต
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราปล่อยให้เรื่องทำผิดศีลในอดีตมาครอบงำใจในปัจจุบัน

เปรียบเสมือนว่าเราไปชมภาพยนตร์เกี่ยวกับผีในโรงภาพยนตร์
ต่อมา ภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ฉายจบแล้ว
ทุกคนออกจากโรงภาพยนตร์และแยกย้ายกันกลับบ้านหมดแล้ว
เราเองกลับมาถึงบ้านแล้ว แต่เราก็ยังรู้สึกกลัวอยู่
โดยเรายังเก็บภาพยนตร์เกี่ยวกับผีมาหลอนจิตใจตนเองอยู่
และก็ทำให้เรายังรู้สึกกลัวเรื่องเกี่ยวกับผีนั้นอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกกลัวในปัจจุบันนี้
จึงไม่ใช่เพราะภาพยนตร์ที่ฉายในโรงภาพยนตร์ที่จบไปแล้วในอดีต
แต่เป็นเพราะใจเราที่หลงไปหยิบภาพยนตร์ที่จบไปแล้วในอดีต
มาหลอกหลอนตนเองหรือครอบงำใจตนเองในปัจจุบัน
ทั้ง ๆ ที่ภาพยนตร์เกี่ยวกับผีเรื่องนั้นได้ฉายจบไปในอดีตแล้ว

ในทำนองเดียวกันกับเรื่องที่เราทำผิดศีลในอดีตนะครับ
เรื่องที่เราทำผิดศีลในอดีตได้จบไปแล้วในอดีต
แต่ใจเราหลงไปหยิบเรื่องทำผิดศีลที่จบไปแล้วในอดีตขึ้นมาหลอนตนเอง
หยิบเรื่องทำผิดศีลที่จบไปแล้วในอดีตขึ้นมาคิดหรือครอบงำใจ
เมื่อคิดหรือครอบงำใจแล้ว ก็ทำให้เกิดความเสียใจหรือทุกข์ใจ
สรุปก็คือเราที่ทุกข์ใจในปัจจุบันนี้ก็เพราะว่า
ใจหลงหรือฟุ้งซ่านไปคิดเรื่องที่ทำผิดศีลในอดีตนั่นเอง

ถามว่า เราอยากจะนำเรื่องทำผิดศีลในอดีตขึ้นมาคิดให้ทุกข์ใจหรือเปล่า?
ตอบว่า เปล่า เราไม่ได้อยากจะหยิบขึ้นมาคิดหรอก
เพราะว่าเราคิดไปแล้วก็มีแต่ทำให้เสียใจหรือทุกข์ใจ
ถามต่อไปว่า แล้วทำไมใจถึงได้หยิบเรื่องทำผิดศีลในอดีตนี้ขึ้นมาคิดล่ะ?
ตอบว่า เพราะใจเป็นอนัตตา ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสั่งได้ กล่าวคือเราสั่งใจเราไม่ได้
หากเราสั่งใจเราได้แล้ว เราก็ย่อมจะสั่งให้ใจคิดแต่เรื่องมีความสุขตลอดชีวิต
และสั่งใจว่าอย่าไปหยิบเรื่องกลุ้มใจใด ๆ มาคิดเลย
แต่เพราะในความเป็นจริงแล้ว ใจเป็นอนัตตา เราสั่งไม่ได้
ใจจึงหยิบเรื่องให้ทุกข์ใจมาคิดเอง ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้อยากให้เป็นอย่างนั้น
เราไม่ได้อยากจะให้หยิบเรื่องทุกข์ใจขึ้นมาคิด เราไม่ได้อยากจะทุกข์ใจ

ปัญหาเรื่องใจหลงหรือฟุ้งซ่านไปหยิบเรื่องกลุ้มใจขึ้นมาคิดหรือครอบงำใจนี้
ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นเรื่องที่เราทำผิดศีลเท่านั้นนะครับ
ในชีวิตจริง ๆ แล้ว ก็มีเรื่องอื่น ๆ อีกหลากหลายมากมาย
เช่น บางทีคนอื่นมาพูดไม่ดีกับเรา หรือทำไม่ดีกับเรา ทำให้เราไม่พอใจ
แล้วใจเราก็หลงวนเวียนหยิบเรื่องนั้นขึ้นมาคิดวนเวียนไปเรื่อย
หรือบางทีเราเกิดอุบัติเหตุและทำให้เสียเงิน หรือหลงลืมสิ่งของ
แล้วใจเราก็หลงวนเวียนหยิบขึ้นมาคิดว่าไม่น่าเกิดอุบัติเหตุ หรือไม่น่าลืมของเลย
หรือบางทีเราทำงานแล้วเกิดข้อผิดพลาด หรือไปพูดผิดพลาดที่ไหนก็ตาม
ใจเราก็หลงหยิบเรื่องข้อผิดพลาดหรือสิ่งที่พูดผิดนั้นมาคิดวนเวียนไปเรื่อย
โดยที่ใจเราเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ ใจจึงหยิบเรื่องโน่นนี่นั่นมาคิดของเขาไปเรื่อย ๆ

การที่เราจะบรรเทาปัญหาเรื่องใจหลงฟุ้งซ่านไปหยิบเรื่องกลุ้มใจมาคิด
วิธีการที่ผมแนะนำให้ญาติธรรมที่ถามได้นำไปปฏิบัติก็คือ
ให้ฝึกเจริญสติรู้ใจตนเอง

โดยเมื่อใดก็ตามที่ใจหลงไปคิด ก็ให้รู้ทันว่าหลงไป
ซึ่งเมื่อรู้เช่นนั้นบ่อย ๆ แล้ว ก็ย่อมจะทำให้เราได้เห็นความจริงที่ว่า
ใจเราไปคิดเอง เราไม่ได้สั่งให้ใจไปคิดเรื่องทุกข์ใจเหล่านี้เลย
กล่าวคือเห็นความเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตน) ของใจนั่นเอง
และไม่ทำให้เรื่องทุกข์ใจหรือความฟุ้งซ่านเหล่านั้นมาครอบงำใจได้

สำหรับท่านที่ไม่เคยฝึกเจริญสติมาก่อนนั้น
ในรายละเอียดของการฝึกเจริญสตินั้น ผมขอแนะนำให้ฟังธรรมจากลิ้งค์นี้ครับ
http://www.dhamma.com/category/thatsala/
โดยแนะนำให้ลองโหลดมาฟังตั้งแต่ตอนที่ ๑ เรื่อยไป
ฟังแล้วอาจจะไม่ค่อยเข้าใจในตอนแรก ก็อาจจะใช้วิธีการฟังหลาย ๆ รอบครับ

แม้ว่าเราจะได้ทราบข่าวร้ายที่ว่า ใจเป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ก็ตาม
แต่เราก็ควรจะทราบข่าวดีด้วยว่า ใจมีธรรมชาติที่สามารถฝึกได้
โดยหากเราฝึกเจริญสติบ่อย ๆ แล้ว ใจเราก็จะมีสติบ่อย ๆ
และสตินั่นเองที่จะคอยคุ้มครองและรักษาใจ

นอกจากการฝึกเจริญสติจะช่วยบรรเทาปัญหา
ในเรื่องความฟุ้งซ่านครอบงำใจดังที่กล่าวแล้ว
การที่เราฝึกเจริญสติก็ย่อมจะมีส่วนอำนวยให้ศีล สมาธิ และปัญญาเจริญขึ้น
และก็ทำให้ชีวิตโดยรวมของเรานั้นดีขึ้น
โดยที่ไม่ต้องเสียเงินหรือเสียค่าใช้จ่ายอะไรเลย
จึงถือว่าเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามาก ๆ
เป็นเรื่องที่มีแต่ได้ประโยชน์ ไม่มีอะไรเสียประโยชน์เลย

อนึ่ง การเจริญสตินั้นมีส่วนช่วยไม่ให้ความฟุ้งซ่านมาครอบงำใจ
แต่ไม่ได้แปลว่าให้เราหนีปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตนะครับ มันเป็นคนละเรื่องกัน
กรณีที่เรามีปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาในครอบครัว หรือปัญหาใด ๆ ในชีวิต
ซึ่งเราจำเป็นจะต้องคิดหาหนทางแก้ไขปัญหา และลงมือแก้ไขปัญหาแล้ว
ในส่วนนั้น เราก็ต้องคิดหาหนทางที่เหมาะสม และลงมือแก้ไขปัญหา
กรณีไม่ใช่ว่ามีปัญหาชีวิตแล้วก็ไม่คิด และไม่ทำอะไร
และปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามยถากรรม ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ

แต่ในบางเรื่องที่มันจบไปแล้ว เป็นอดีตไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว
หรือบางเรื่องในปัจจุบันที่เราได้ลงมือทำแก้ไขปัญหาตามที่สมควรแล้ว
เราก็ไม่ควรปล่อยให้เรื่องที่จบไปแล้ว หรือเรื่องที่ได้ทำไปแล้วนั้นมาหลอนใจ
ในทำนองเดียวกัน เรื่องที่เคยทำผิดศีลไปแล้ว เมื่อเห็นความผิดตามจริง
สารภาพผิดตามจริง และตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทำผิดศีลอีก ก็ใช้ได้แล้ว
การเก็บเรื่องในอดีตมาวนเวียนคิดให้ใจเกิดอกุศลหรือทุกข์ใจนั้น
ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น แต่กลับจะเป็นการทำร้ายตนเองให้แย่ลง จึงไม่สมควรทำ
ในการนี้ การเจริญสติย่อมจะช่วยคุ้มครองใจ
ไม่ให้เรื่องราวที่เคยทำผิดในอดีตมาทำร้ายใจหรือครอบงำใจในปัจจุบันได้ครับ