Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๓๖

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

ห้ามทำทาน

dhamajaree236

คำสอนในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงเรื่องเนื้อนาบุญของการทำทาน
โดยการทำทานในเนื้อนาบุญที่ดีย่อมให้ผลไพบูลย์กว่าเนื้อนาบุญที่ไม่ดี
ซึ่งในเรื่องดังกล่าวก็อาจทำให้บางท่านหลงเข้าใจว่า
ห้ามเราทำทานกับเนื้อนาบุญที่ไม่ดี
หรือเราจะต้องทำบุญเฉพาะกับเนื้อนาบุญที่ดีเท่านั้น
แล้วก็ทำให้สอนกันว่าจะต้องไปทำบุญกับพระภิกษุเท่านั้น
หรือจะต้องทำบุญกับพระภิกษุรูปนั้นรูปนี้ หรือวัดนั้นวัดนี้เท่านั้น
โดยห้ามไปทำบุญกับคนอื่นหรือทำบุญกับที่แห่งอื่น เพราะเป็นนาบุญไม่ดี

ในเรื่องดังกล่าวนั้น ในสมัยพุทธกาลก็ได้เคยมีคนไปถามพระพุทธเจ้าแล้วนะครับ
โดย “ชัปปสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต) เล่าว่า
มีปริพาชกคนหนึ่งชื่อ “วัจฉะ” ได้ไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า พระสมณโคดมตรัสว่า
พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่น ๆ
พึงให้แก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่น ๆ
ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ทานที่ให้แก่คนอื่น ๆ หามีผลมากไม่
ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก
ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่น ๆ หามีผลมากไม่
ดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่าพูดตามที่ท่านพระโคดมตรัสหรือไม่
หรือพูดตู่ท่านพระโคดมด้วยคำไม่เป็นจริง

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ผู้นั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูด
ทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง
ดูกร วัจฉะ ผู้ใดห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง
คือ ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑
ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑
ย่อมทำอันตรายแก่บุคคลนั้นเอง ๑

ดูกรวัจฉะ เรากล่าวเช่นนี้ว่า ผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำล้างขันไป
แม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำครำ หรือที่บ่อโสโครกข้างประตูบ้าน
ด้วยตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นจงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด
เรากล่าวว่ากรรมซึ่งมีการสาดน้ำล้างภาชนะเช่นนั้นว่า เป็นที่มาแห่งบุญ
จะป่วยการกล่าวไปไยถึงทานที่ให้แก่มนุษย์เล่า

ดูกรวัจฉะ อีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก
ทานที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่
ทั้งท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว และประกอบด้วยองค์ ๕
ท่านผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว คือ ละกามฉันทะ ๑ ละพยาบาท ๑
ละถีนมิทธะ ๑ ละอุทธัจจกุกกุจจะ ๑ ละวิจิกิจฉา ๑
ท่านผู้ประกอบด้วยองค์ ๕ คือ ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑
เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าว มีผลมาก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=20&A=4227&Z=4284&pagebreak=0

ดังนี้แล้ว หากเราเห็นใครกำลังให้ทานหรือถวายทานอยู่
การที่จะไปห้ามบุคคลอื่นทำทาน ก็พึงระวังด้วยว่าจะเป็นการทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง
แต่หากสมมุติว่าเราได้ไปพบเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่สมควรจะทำทานแล้ว
เราควรจะทำอย่างไร?
ในกรณีดังกล่าว เราสามารถหาวิธีการแนะนำหรือตักเตือน
โดยที่เราไม่จำเป็นต้องไปกล่าวห้ามการทำทานของผู้จะทำทานนั้น

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าเราไปให้อาหารปลาที่วัดแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ริมน้ำ
และในบริเวณนั้นมีป้ายติดไว้ว่าห้ามให้อาหารนก
เพื่อนที่ไปกับเรากำลังจะให้อาหารนก
หากเราไปกล่าวห้ามให้อาหารนก ก็เท่ากับว่าเราทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง
ทางเลือกหนึ่งก็คือ เราไม่กล่าวห้ามเพื่อนว่าอย่าให้อาหารนก
แต่เราบอกหรือชี้ให้เพื่อนดูป้ายห้ามของทางวัด
แล้วให้เพื่อนพิจารณาเองว่าจะให้อาหารนกหรือไม่ให้
โดยตัวเราเองก็พึงทำใจว่า เราไม่ได้เจตนาห้ามเพื่อนไม่ให้ทำทาน
แต่เรามีเจตนาแค่แจ้งให้เพื่อนทราบป้ายของทางวัดเท่านั้น

อีกตัวอย่างหนึ่ง หากเราเห็นเพื่อนจะทำทานเกินกำลังของตนเอง
แล้วจะทำให้ตัวเขาเองหรือครอบครัวของเขาต้องเดือดร้อน
หากเราไปห้ามเพื่อนบอกว่าห้ามทำทานดังกล่าว
ก็เท่ากับว่าเราทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง
เราจึงไม่ควรกล่าวห้าม แต่ควรจะกล่าวสอนเพื่อนในทางอื่น ๆ
เช่น กล่าวสอนเพื่อนว่าการทำทานที่ได้ผลมากนั้น
จิตใจจะต้องประกอบด้วยโสมนัสหรือยินดีใน ๓ กาลได้แก่
“ปุพเจตนา” คือ เจตนาที่เกิดขึ้นก่อนทำทาน
“มุญจเจตนา” คือ เจตนาที่เกิดขึ้นในขณะกำลังทำทาน
และ “อปรเจตนา” คือ เจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากได้ทำทานแล้ว

หากก่อนทำทาน จิตใจมีความโลภต้องการทำทานมาก ๆ เพื่อให้ได้ผลมาก
หรือต้องการทำทานเกินกำลังของตนเอง เพื่อให้ได้ชื่อเสียงหรือการยอมรับมาก
จิตใจประกอบด้วยความโลภย่อมเป็นอกุศล ทานนั้นย่อมไม่ใช่ทานที่มีผลมาก
หรือหากทำทานไปแล้ว ในภายหลัง ครอบครัวและตนเองเดือดร้อน
จิตใจย่อมเศร้าหมอง ทานนั้นย่อมไม่ใช่ทานที่ได้ผลมาก เป็นต้น

ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นเรื่องของการห้ามทำทาน
แต่ถึงแม้ไม่ได้ห้ามทำทาน แต่คิดร้ายต่อการทำทานของบุคคลอื่นก็มีโทษได้เช่นกัน
ในอรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓ ได้เล่าเรื่อง “อสทิสทาน” ว่า
ในสมัยหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ถวายทานแข่งกับราษฎร
โดยได้ถวายแข่งกันถึง ๖ ครั้งแล้วก็ยังไม่อาจรู้ผลแพ้ชนะได้
ต่อมา พระนางมัลลิกาเทวีได้ทราบเรื่องและได้มาช่วยพระเจ้าปเสนทิโกศลจัดถวายทาน
โดยทานนั้นมีทรัพย์ประมาณ ๑๔ โกฏิ ซึ่งพระราชาทรงบริจาคถวายในวันเดียวเท่านั้น
และประกอบด้วยของ ๔ อย่าง คือเศวตฉัตร ๑ บัลลังก์สำหรับนั่ง ๑
เชิงบาตร ๑ ตั่งสำหรับเช็ดเท้า ๑ เป็นของหาค่ามิได้เทียว เพื่อพระศาสดา
ผู้สามารถทำทานเห็นปานนี้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้าไม่ได้มีแล้วอีก
เพราะเหตุนั้น ทานนั้นจึงเรียกว่า "อสทิสทาน"
โดย “อสทิสทาน” นั้นมีแด่พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ครั้งเดียวเท่านั้น

เมื่อพระราชาได้ถวาย “อสทิสทาน” นั้นแล้ว อำมาตย์ผู้หนึ่งชื่อ “กาฬอำมาตย์”
ได้คิดว่า "โอ ความเสื่อมรอบแห่งราชตระกูล
ทรัพย์ประมาณ ๑๔ โกฏิ ถึงความสิ้นไปโดยวันเดียวเท่านั้น
ภิกษุเหล่านี้บริโภคทานแล้วจักไปนอนหลับ โอ ราชตระกูลฉิบหายแล้ว”
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบดำริของกาฬอำมาตย์ดังกล่าว
และทรงทราบว่า ถ้าพระองค์จักทำอนุโมทนาให้สมควรแก่ทานของพระราชาแล้ว
ศีรษะของกาฬอำมาตย์จักแตกเป็น ๗ เสี่ยง
พระองค์ทรงอาศัยความอนุเคราะห์ในกาฬอำมาตย์ จึงตรัสพระคาถา ๔ บาทเท่านั้น

พระเจ้าปเสนทิโกศลผู้ถวายทานเห็นเช่นนั้นแล้ว
หลังจากนั้น จึงไปทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
เหตุใดพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงทำอนุโมทนาให้สมควรแก่พระราชา
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเล่าเรื่องดังกล่าวให้แก่พระเจ้าปเสนทิโกศลทราบแล้ว
พระเจ้าปเสนทิโกศลจึงได้เนรเทศกาฬอำมาตย์ดังกล่าวออกจากเมือง
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=23&p=10

ในกรณีที่คิดร้ายต่อทานของบุคคลอื่นย่อมมีโทษแล้ว
แต่หากเป็นกรณีที่ไปตำหนิหรือติเตียนทานของบุคคลอื่น ก็ย่อมจะมีโทษเช่นกัน
เช่น ใน “มหาเปสการเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
หญิงคนหนึ่งเป็นคนมีความตระหนี่เหนียวแน่น ไม่ให้ทาน
และได้ด่าและบริภาษสามีผู้กำลังให้ทานแก่สมณพราหมณ์ทั้งหลายว่า
จงกินคูถ มูตร เลือด และหนองอันไม่สะอาดตลอดกาลทุกเมื่อ
คูถ มูตร เลือด และหนอง จงเป็นอาหารของท่านในปรโลก
หลังจากที่หญิงนั้นตายแล้ว ก็ได้มาเป็นเปรตกินคูถ มูตร โลหิต และหนอง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3125&Z=3140&pagebreak=0

หรือใน “อุตตรมาตุเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เปตวัตถุ) เล่าว่า
หญิงคนหนึ่งมีบุตรเป็นอุบาสกมีศรัทธา
โดยบุตรได้ถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย แก่สมณะทั้งหลาย
หญิงนั้นมีความไม่พอใจ เพราะถูกความตระหนี่ครอบงำแล้ว
ได้ด่าบุตรตนว่า เจ้าถวายจีวร บิณฑบาต ที่นอน ที่นั่งและคิลานปัจจัย แก่สมณะทั้งหลาย
จงกลายเป็นเลือด ปรากฏแก่เจ้าในปรโลก
หลังจากที่หญิงนั้นตายแล้ว ก็ได้มาเป็นเปรตดื่มเลือด โดยไม่ได้ดื่มน้ำเย็นใสสะอาด
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=26&A=3835&Z=3859&pagebreak=0

โดยสรุปแล้ว ในเวลาที่เห็นบุคคลอื่นทำทานแล้ว
เราก็พึงระมัดระวังว่าเรื่องการห้ามบุคคลอื่นทำทาน การคิดร้ายต่อทานของบุคคลอื่น
และการตำหนิติเตียนทานของบุคคลอื่น
โดยหากจำเป็นจะต้องเตือนบุคคลอื่นในเรื่องของการทำทานใด ๆ ด้วยจำเป็นบางอย่างแล้ว
ก็พึงหาวิธีการที่เหมาะสมเพื่อไม่ให้เกิดอกุศลแก่ตนเองครับ