Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๓๔

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



 

การทำกสิกรรม

dhamjaree234

การปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความเพียรพยายามและความอดทน
ซึ่งในพระธรรมคำสอนบางพระสูตรได้เปรียบเทียบเสมือนกับการทำกสิกรรม
ใน “กสิภารทวาชสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงถือบาตร
เสด็จเข้าไปยังที่การงานของกสิภารทวาชพราหมณ์
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับยืนอยู่เพื่อบิณฑบาต
จึงได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระสมณะ ข้าพระองค์ย่อมไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค แม้พระองค์ก็จงไถและหว่าน
ครั้นไถและหว่านแล้วจงบริโภคเถิด
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พราหมณ์ แม้เราก็ไถและหว่าน ครั้นไถและหว่านแล้วย่อมบริโภค
กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลว่า ข้าพระองค์ไม่เห็นแอก ไถ ผาล ปฏัก
หรือโค ของท่านพระโคดมเลย ขอได้โปรดตรัสบอกแก่ข้าพระองค์

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ศรัทธาของเราเป็นพืช ความเพียรของเราเป็นฝน
ปัญญาของเราเป็นแอกและไถ หิริของเราเป็นงอนไถ ใจของเราเป็นเชือก
สติของเราเป็นผาลและปฏัก เราคุ้มครองกาย คุ้มครองวาจา สำรวมในอาหารในท้อง
ย่อมกระทำการถอนหญ้า คือ การกล่าวให้พลาดด้วยสัจจะ
ความสงบเสงี่ยมของเราเป็นเครื่องปลดเปลื้องกิเลส
ความเพียรของเรานำธุระไปเพื่อธุระนำไปถึงแดนเกษมจากโยคะ ไม่หวนกลับมา
ย่อมถึงสถานที่ๆ บุคคลไปแล้วไม่เศร้าโศก การไถนานั้นเราไถแล้วอย่างนี้
การไถนานั้น ย่อมมีผลเป็นอมตะ บุคคลไถนานั่นแล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง

กสิภารทวาชพราหมณ์กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ท่านพระโคดมทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง
หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระโคดมผู้เจริญกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ขอข้าพระองค์พึงได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระโคดมผู้เจริญเถิด
กสิภารทวาชพราหมณ์ได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ท่านภารทวาชะอุปสมบทแล้วไม่นาน หลีกออกจากหมู่อยู่ผู้เดียว ไม่ประมาท มีความเพียร
มีใจเด็ดเดี่ยว ไม่ช้านักก็ทำให้แจ้งซึ่งที่สุดแห่งพรหมจรรย์อันยอดเยี่ยม
ที่กุลบุตรทั้งหลายออกบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการนั้น
ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ท่านภารทวาชะได้เป็นพระอรหันต์รูปหนึ่งในจำนวนพระอรหันต์ทั้งหลาย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=7102&Z=7176&pagebreak=0

ใน “อัจจายิกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต)
ได้สอนว่า ชาวนาย่อมมีกิจที่ควรรีบด่วนทำ ๓ อย่างได้แก่
ต้องรีบเร่งไถนาให้ดี คราดนาให้เรียบร้อย
ครั้นแล้วต้องรีบเร่งเพาะพืชลงไป
ครั้นแล้วรีบเร่งไขเอาน้ำเข้าบ้าง ระบายเอาน้ำออกเสียบ้าง ฉันใด
ฉันนั้นเช่นเดียวกัน ภิกษุทั้งหลายย่อมมีกิจที่ควรรีบด่วนทำ ๓ อย่าง ได้แก่
การสมาทานอธิศีลสิกขา การสมาทานอธิจิตตสิกขา การสมาทานอธิปัญญาสิกขา

อนึ่ง เมื่อชาวนาได้ปลูกข้าวแล้ว ชาวนานั้นย่อมไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า
ข้าวเปลือกของเราจงเกิดในวันนี้ พรุ่งนี้จงมีท้อง มะรืนนี้จงหุงได้
โดยในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่ข้าวเปลือกของชาวนาจะเกิดขึ้นก็ดี
มีท้องก็ดี หรือหุงได้ก็ดี ย่อมมีอยู่ (โดยเป็นไปความพร้อมของเหตุปัจจัย) ฉันใด
ฉันนั้นเช่นกัน ภิกษุทั้งหลายไม่มีฤทธิ์หรืออานุภาพบันดาลว่า
จิตของเราจงพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทานในวันนี้แหละ
หรือมิฉะนั้นก็ในวันพรุ่งนี้ หรือในวันมะรืนนี้
โดยในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่จิตของภิกษุผู้ศึกษาอธิศีลอยู่ก็ดี อธิจิตอยู่ก็ดี
อธิปัญญาอยู่ก็ดี หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่นนั้น มีอยู่
เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลายพึงศึกษาว่า เราจักมีฉันทะอย่างแรงกล้า
ในการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา อธิปัญญาสิกขา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=20&A=6342&Z=6363&pagebreak=0

หากจะพิจารณาในเรื่องของการสอนแสดงธรรมแก่บุคคลต่าง ๆ แล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงสอนแสดงธรรมแก่บุคคลที่เหมาะสมตามลำดับ
ดังที่ใน “เทศนาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง อสิพันธกบุตรได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
ในเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเกื้อกูลอนุเคราะห์สัตว์ทั่วหน้าอยู่
เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรมโดยเคารพแก่บุคคลบางพวก
ไม่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพเหมือนอย่างนั้นแก่บุคคลบางพวก

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสถามว่า นายคามณี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
นาของชาวนาในโลกนี้มีอยู่ ๓ ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง
ชนิดหนึ่งเป็นนาเลวมีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลว เมื่อชาวนาต้องการจะหว่านพืช
ชาวนาจะพึงหว่านในนาไหนก่อน
อสิพันธกบุตรกราบทูลว่า เมื่อชาวนาต้องการจะหว่านพืช พึงหว่านพืชในนาดีก่อน
ครั้นหว่านในนาดีนั้นแล้ว พึงหว่านในนาปานกลาง ครั้นหว่านในนาปานกลางนั้นแล้ว
ในนาเลว มีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลว พึงหว่านบ้างไม่หว่านบ้าง เพราะที่สุดจักเป็นอาหารโค

พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เปรียบเหมือนนาดีฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมแก่ภิกษุและภิกษุณีก่อน ฉันนั้น
เพราะเหตุว่าภิกษุและภิกษุณีเหล่านี้มีเราเป็นสรณะอยู่
เปรียบเหมือนนาปานกลาง ฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมแก่อุบาสกและอุบาสิกาเป็นที่สอง ฉันนั้น
เพราะว่าอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านี้ มีเราสรณะอยู่
และเปรียบเหมือนนาเลว มีดินเหลว เค็ม พื้นดินเลวฉันใด
เราย่อมแสดงธรรมอันงามแก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์
และปริพาชกเหล่านั้นในที่สุดฉันนั้น
เพราะเหตุว่าอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชก จะพึงรู้ธรรมแม้บทเดียว
ความรู้ของเขานั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขแก่เขาสิ้นกาลนาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=7970&Z=8037&pagebreak=0

แม้ว่าโดยทั่วไปจะทรงเปรียบภิกษุเสมือนเป็นนาดีที่พึงทรงสอนก่อนก็ตาม
แต่ใน “กรัณฑวสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)
ได้สอนว่า หากภิกษุใดประพฤติตนทุศีล ต้องอาบัติ และไม่เคารพยำเกรงแล้ว
ย่อมเป็นผู้ประทุษร้ายสมณะ ซึ่งสมควรต้องขับหรือกำจัดออกไป
โดยเปรียบเหมือนหญ้าชนิดหนึ่งที่ทำลายต้นข้าว ซึ่งบุคคลย่อมถอนมันพร้อมทั้งราก
เอาไปทิ้งให้พ้นที่นา ด้วยคิดว่า หญ้านี้อย่าทำลายข้าวที่ดีอื่น ๆ เลย
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=23&A=3449&Z=3509&pagebreak=0

ในเรื่องของการทำทานหรือถวายทานนั้น
ก็สามารถพิจารณาปฏิคาหกผู้รับเปรียบเหมือนนาได้เช่นกัน
โดยใน “เขตตูปมาเปตวัตถุ” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา) ได้สอนว่า
พระอรหันต์ทั้งหลายเปรียบด้วยนา
ทายกทั้งหลายเปรียบด้วยชาวนา ไทยธรรมเปรียบด้วยพืช
ผลทานย่อมเกิดแต่การบริจาคไทยธรรมของทายกและปฏิคาหกผู้รับ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=26&A=2972&Z=2982&pagebreak=0

ใน “สปริวาราสนเถราปทาน” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน)
ได้เปรียบเทียบว่า พืชแม้จะน้อยที่ชาวนาปลูกลงในนาดี
มหาเมฆสายฝนให้ตกเสมอ ผลย่อมยังชาวนาให้ยินดี ฉันใด
บิณฑบาตที่ท่านปลูกลงในนาดี ผลจักยังท่านให้ยินดีในภพที่เกิด ฉันนั้น
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=2515&Z=2529&pagebreak=0

ในท้ายนี้ ในการปฏิบัติธรรมหรือในการถวายทานของเรานั้น
เราย่อมสามารถพิจารณาเปรียบเทียบกับการทำกสิกรรมหรือการทำนาดังที่กล่าว
แล้วนำมาปรับใช้ในการประพฤติปฏิบัติของเราได้ตามที่เหมาะสมครับ

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

หมายเหตุ ณ วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้เริ่มเปิดใช้งานแล้ว โดยใช้จัดค่ายเรียนรู้กายใจแก่เด็กนักเรียนระดับประถม
โรงเรียนวัดดงเมือง อนุบาลเก้าเลี้ยว ในวันที่ ๒๕ ถึง ๒๗ กันยายน ๒๕๕๘
โดยท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai

ในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ทางชมรมเรียนรู้กายใจจังหวัดนครสวรรค์จะ
จัดงานสมโภชด้วยการจัดคอร์สภาวนา และทอดผ้าป่าสามัคคี
เพื่อนำปัจจัยมาใช้จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนการภาวนาแก่เด็ก ๆ
และใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือ สื่ออุปกรณ์ อาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้อง
(โดยเฉลี่ยแล้วในการจัดค่ายเรียนรู้แก่เด็กจำนวน ๕๐ คนในค่ายหนึ่ง ๆ
จะต้องใช้ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ ๓๕,๐๐๐ บาท)
โดย ณ วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘
ยอดรวมปัจจัยร่วมทำบุญผ้าป่าอยู่ที่ ๒๑๙,๔๙๐ บาทครับ

สำหรับท่านที่สนใจร่วมทำบุญทอดผ้าป่าดังกล่าว ขอได้โปรดร่วมทำบุญโอนเงินได้ที่
บัญชีธนาคารชื่อบัญชี นางพจนา ทรัพย์สมาน และนางปราณี ศิริวิริยะกุล
และ นางชญาณัฒ ธิเนตร
ธนาคารกรุงเทพ สาขา บิ๊กซี นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 627-0-34831-8

ท่านสามารถติดตามรายละเอียดงานทอดผ้าป่าสามัคคี
เพื่อจัดตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย
ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ที่
กระทู้ “ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘”

ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai

และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์



 

พวกเราชาวพุทธศาสนิกชนย่อมเคยได้ยินคำว่า “สังสารวัฏ” กันมาบ้างนะครับ
ซึ่งในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า
“สังสารวัฏ” หมายถึง ภพที่เวียนเกิดเวียนตาย การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในโลก

(หรือเขียนว่า “สังสารวัฏฏ์” หรือ “สงสารวัฏ” ซึ่งมีความหมายเดียวกัน)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CA%D1%A7%CA%D2%C3%C7%D1%AF&original=1

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
เมื่อเหล่าสัตว์ผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ ที่สุดเบื้องต้นย่อมไม่ปรากฏ

แม้ว่าบางทีเราอาจได้พบเห็นคำว่า “ท่องเทียว” อยู่ในสังสารวัฏก็ตาม
แต่ช่วงเวลาที่เราอยู่ในสังสารวัฏนี้ ไม่ใช่ช่วงเวลาที่ท่องเที่ยวสนุกเพลิดเพลินนะครับ
โดยมีช่วงเวลามากมายที่เราต้องเศร้าโศกเสียใจ หรือต้องทนทุกข์ทรมาน
ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ว่า น้ำตาที่หลั่งไหลของเราผู้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏนั้น
ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เสียอีก
เพราะว่าเราต้องประสบสิ่งที่ไม่พอใจ พลัดพรากจากสิ่งที่พอใจ

ประสบมรณกรรมของบิดามารดา ของบุตร ของธิดา ของพี่ชายน้องชาย พี่สาวน้องสาว
ประสบความเสื่อมแห่งของญาติ ประสบความเสื่อมแห่งโภคะ
ประสบความเสื่อมเพราะโรคมานับไม่ถ้วนตลอดกาลนาน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4766&Z=4794&pagebreak=0

หากจะเปรียบเทียบกับน้ำนมมารดาที่เราผู้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏได้เคยดื่มมานั้น
ยังมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้ง ๔ เสียอีก
เพราะเราย่อมเคยมีมารดามาแล้วนับไม่ถ้วนในสังสารวัฏนี้

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4795&Z=4811&pagebreak=0

ด้วยความที่สังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
จึงไม่สามารถระบุความยาวนานของระยะเวลาในสังสารวัฏได้
แม้แต่ระยะเวลาที่สั้นกว่านั้น ได้แก่หน่วยวัดระยะเวลาที่เรียกว่า “กัป” ก็ตาม
ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์

ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายไว้ว่า
“กัป” (หรือ “กัลป์”) หมายถึง กาลกำหนด กำหนดอายุโลก

ระยะเวลายาวนานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือจักรวาลสิ้นสลายครั้งหนึ่ง
ทั้งนี้ อาจจะใช้ในความหมายของกำหนดอายุคนในยุคหนึ่ง เรียกเต็มว่า “อายุกัป”
เช่น อายุกัปของคนยุคนี้ ประมาณ ๑๐๐ ปี
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%A1%D1%BB&original=1

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ระยะเวลากัปหนึ่งนานมาก
โดยไม่ใช่ง่ายที่จะนับเป็นระยะเวลาว่า ๑๐๐ ปี ๑,๐๐๐ ปี หรือ ๑๐๐,๐๐๐ ปี หรือเท่านี้ปี
แต่อาจจะอุปมาเปรียบเทียบได้ว่า สมมุติว่ามีภูเขาหินลูกใหญ่ยาว ๑ โยชน์ กว้าง ๑ โยชน์
สูง ๑ โยชน์ (๑ โยชน์เท่ากับ ๑๖ กิโลเมตร) ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบ
และให้บุรุษนำผ้าเนื้อดีแคว้นกาสีมาแล้วปัดภูเขานั้น ๑๐๐ ปีต่อครั้ง
ภูเขาหินลูกใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป สิ้นไป เพราะความพยายามนี้
ยังเร็วกว่าระยะเวลา ๑ กัปเสียอีก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4812&Z=4831&pagebreak=0

หรืออุปมาเปรียบเทียบว่าสมมุติว่ามีกำแพงเมืองแห่งหนึ่งที่ทำด้วยเหล็ก ยาว ๑ โยชน์
กว้าง ๑ โยชน์ สูง ๑ โยชน์ และบรรจุเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ผักกาด
โดยเมล็ดพันธุ์ผักกาดได้รวมกันเป็นกลุ่มก้อน
และบุรุษให้หยิบเอาเมล็ดพันธุ์ผักกาดเมล็ดหนึ่ง ๆ ออกจากเมืองนั้น ๑๐๐ ปีต่อเมล็ด
เมล็ดพันธุ์ผักกาดกองใหญ่นั้น พึงถึงการหมดไป เพราะความพยายามนี้
ยังเร็วกว่าระยะเวลา ๑ กัปเสียอีก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4832&Z=4849&pagebreak=0
หรือหากจะนำกองกระดูกของเราในชีวิตที่ผ่านมาในระยะเวลา ๑ กัปมากองรวมกันแล้ว
กระดูกเหล่านั้นก็จะกองได้เท่าภูเขาใหญ่ลูกหนึ่ง
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4910&Z=4938&pagebreak=0

ระยะเวลาใน ๑ กัปนั้นยาวนานมากดังที่ได้ทรงอุปมาเปรียบเทียบข้างต้น
แต่หากจะพิจารณาว่าระยะเวลาในสังสารวัฏนี้เทียบได้กับระยะเวลากี่กัปแล้ว
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า กัปทั้งหลายที่ผ่านไปแล้ว ล่วงไปแล้ว มีมาก
มิใช่ง่ายที่จะนับกัปเหล่านั้นว่า ๑๐๐ กัป ๑,๐๐๐ กัป ๑๐๐,๐๐๐ กัป หรือเท่านี้กัป
หากจะอุปมาแล้ว สมมุติว่ามีสาวกในศาสนานี้ เป็นผู้มีอายุ ๑๐๐ ปี
หากว่าท่านเหล่านั้นสามารถระลึกถอยหลังไปได้วันละแสนกัปไปเรื่อย
จนกระทั่งถึงแก่มรณกรรมที่สิ้นอายุ ๑๐๐ ปีก็ตาม
ก็ยังไม่สามารถระลึกจำนวนกัปที่ผ่านไปแล้วทั้งหมดได้
เพราะว่าสังสารวัฏนี้กำหนดที่สุดเบื้องต้นเบื้องปลายไม่ได้
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4850&Z=4868&pagebreak=0

หรือหากจะลองเทียบจำนวนกัปที่ผ่านไปแล้วกับจำนวนเม็ดทรายก็ตาม
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า จำนวนกัปที่ผ่านไปแล้วนั้น
ยังมีมากกว่าจำนวนเม็ดทรายในแม่น้ำคงคาเสียอีก
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4869&Z=4896&pagebreak=0

บางท่านอาจจะมองว่าระยะเวลาในสังสารวัฏจะยาวนานก็ไม่เป็นไร
เพราะชีวิตเราไม่ได้ทำชั่วอะไร เราก็ไม่เดือดร้อน และคงไม่ต้องไปลงอบายภูมิ
ซึ่งหากมองเช่นนั้นแล้วถือว่าประมาทอยู่ และยังไม่ได้มองครบทุกด้าน
เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนว่า
เปรียบเสมือนท่อนไม้ที่บุคคลโยนขึ้นบนอากาศ
บางคราวก็ตกลงทางโคน บางคราวก็ตกลงทางขวาง บางคราวก็ตกลงทางปลาย ฉันใด
สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นที่กางกั้น มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้
ท่องเที่ยวไปมาอยู่ในสังสารวัฏ ก็ฉันนั้น โดยบางคราวก็จากโลกนี้ไปสู่ปรโลก
บางคราวก็จากปรโลกมาสู่โลกนี้
(ซึ่งคำว่าปรโลกไม่ได้หมายความถึงเฉพาะสวรรค์เท่านั้น แต่หมายรวมถึงอบายภูมิด้วย)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4897&Z=4909&pagebreak=0

ในระหว่างที่เราท่องเที่ยวในสังสารวัฏนี้
เราทุกคนก็เคยเป็นผู้เพียบพร้อมด้วยความสุข มีบริวารรับใช้มาก่อน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=4950&Z=4960&pagebreak=0