Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๓๒

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 คุยเรื่องปาฏิหาริย์

dharmajaree232

เรื่องปาฏิหาริย์เป็นเรื่องที่ชาวพุทธเราคงจะเคยได้อ่านหรือได้ฟังกันอยู่เรื่อย ๆ แม้กระทั่งเราอ่านข่าวตามสื่อต่าง ๆ ในปัจจุบัน เราก็อาจจะอ่านพบเรื่องปาฏิหาริย์ในหลาย ๆ เรื่อง ในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันในเรื่องปาฏิหาริย์ตามคำสอนในพุทธศาสนานะครับ

ตามคำสอนในพุทธศาสนานั้นได้แบ่งเรื่องปาฏิหาริย์ออกเป็น ๓ แบบ โดยในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ขอพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายไว้ ดังนี้ ปาฏิหาริย์หมายถึง สิ่งที่น่าอัศจรรย์ เรื่องที่น่าอัศจรรย์ หรือการกระทำที่ให้บังเกิดผลเป็นอัศจรรย์ ซึ่งมี ๓ แบบได้แก่ ๑. ปาฏิหาริย์ คือฤทธิ์ แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=4376&Z=4376

๒. อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือการทายใจ รอบรู้กระบวนของจิต อ่านความคิดและอุปนิสัยของผู้อื่นได้เป็นอัศจรรย์ http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=4260&Z=4260

๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คืออนุศาสนี คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=3929&Z=3930

ใน ๓ แบบนี้ แบบสุดท้ายดีเยี่ยมเป็นประเสริฐ http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=1836&Z=1836

 

ในบรรดาปาฏิหาริย์ทั้ง ๓ แบบนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงสรรเสริญสองแบบแรก โดยใน เกวัฏฏสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) ได้เล่าว่า ในสมัยหนึ่ง เกวัฏฏ์คฤหบดีบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว กราบทูลว่า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงชี้ภิกษุสักรูปหนึ่งที่จักกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองนาลันทานี้จักเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอย่างยิ่ง สุดที่จะประมาณ เมื่อเกวัฏฏ์คฤหบดีบุตรกราบทูลดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เรามิได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายอย่างนี้ว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงกระทำอิทธิปาฏิหาริย์อันเป็นธรรมที่ยิ่งยวดของมนุษย์แก่คฤหัสถ์

เกวัฏฏ์คฤหบดีบุตรจึงได้กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าข้าเป็นคำรบสองเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคจึงตรัสตอบเป็นคำรบสองเช่นเดิม แม้ครั้งที่ ๓ เกวัฏฏ์คฤหบดีบุตรก็ได้กราบทูลต่อพระพุทธเจ้าข้าเช่นเดิม พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างนี้ เราทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองแล้ว จึงได้ประกาศให้รู้ ปาฏิหาริย์ ๓ อย่างเป็นไฉน? คือ อิทธิปาฏิหาริย์ ๑ อาเทสนาปาฏิหาริย์ ๑ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ๑

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า อิทธิปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ดูกรเกวัฏฏ์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงแม้ในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจด้วยกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งที่มีศรัทธาเลื่อมใส เห็นภิกษุนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ครั้นแล้วเขาจะบอกแก่คนผู้ไม่มีศรัทธาไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่า อัศจรรย์จริงหนอ ท่าน ไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้แสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสอย่างนี้ว่า ท่าน มีวิชาอยู่อย่างหนึ่งชื่อว่า คันธารี ภิกษุรูปนั้นแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง ฯลฯ ได้ด้วยวิชาชื่อว่า คันธารี นั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใสนั้น จะพึงกล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสนั้นบ้างไหม เกวัฏฏ์คฤหบดีบุตรจึงได้กราบทูลว่า พึงกล่าวพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอิทธิปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอิทธิปาฏิหาริย์

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อาเทสนาปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมทายใจทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ เพราะเหตุดังนี้นั้น บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งมีศรัทธาเลื่อมใสเห็นภิกษุนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ว่า ใจของท่านเป็นอย่างนี้ ใจของท่านเป็นไปโดยอาการนี้ จิตของท่านเป็นดังนี้ ครั้นแล้วเขาบอกแก่คนที่ยังไม่มีศรัทธา ไม่เลื่อมใส คนใดคนหนึ่งว่าอัศจรรย์จริงหนอ ท่าน ไม่เคยมีมาเลย ท่าน ความที่สมณะมีฤทธิ์มาก ความที่สมณะมีอานุภาพมาก ข้าพเจ้าได้เห็นภิกษุรูปนี้ทายใจ ทายความรู้สึกนึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวกะเขาว่า ท่าน มีวิชาอย่างหนึ่งชื่อว่า มณิกา ภิกษุรูปนั้นทายใจ ทายความรู้สึกในใจ ทายความนึกคิด ทายความตรองของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นก็ได้ ฯลฯ ด้วยวิชาชื่อว่า มณิกา นั้น ดูกรเกวัฏฏ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน? คนผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น พึงกล่าวอย่างนั้นกะคนผู้มีศรัทธาเลื่อมใสกันบ้างไหม? เกวัฏฏ์คฤหบดีบุตรจึงได้กราบทูลว่า พึงกล่าวพระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสว่า ดูกรเกวัฏฏ์ เราเล็งเห็นโทษในอาเทสนาปาฏิหาริย์อย่างนี้แล จึงอึดอัด ระอา เกลียดอาเทสนาปาฏิหาริย์

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสต่อไปว่า ดูกรเกวัฏฏ์ ก็อนุสาสนีปาฏิหาริย์เป็นไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมพร่ำสอนอย่างนี้ว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ อย่าตรึกอย่างนั้น จงทำในใจอย่างนี้ อย่าทำในใจอย่างนั้น จงละสิ่งนี้ จงเข้าถึงสิ่งนี้อยู่เถิด นี้เรียกอนุสาสนีปาฏิหาริย์ http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=9&A=7317&Z=7898&pagebreak=0

ในอรรถกถาของ เกวัฏฏสูตร” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค) ได้อธิบายว่า จงเข้าถึงสิ่งนี้ หมายถึงบรรลุ สำเร็จโลกุตตรธรรม อันได้แก่ มรรค ๔ ผล ๔ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ชื่ออิทธิปาฏิหาริย์ การรู้จิตของผู้อื่น แล้วพูด ชื่ออาเทศนาปาฏิหาริย์ การแสดงธรรมเนือง ๆ ของพระพุทธเจ้าและของพระสาวกชื่ออนุสาสนีปาฏิหาริย์

ในปาฏิหาริย์เหล่านั้น พระมหาโมคคัลลานะแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรแสดงอนุสาสนีปาฏิหาริย์ด้วยอาเทศนาปาฏิหาริย์ เมื่อพระเทวทัตทำลายสงฆ์ โดยได้พาภิกษุ ๕๐๐ รูปไปแล้ว และแสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้นด้วยพุทธลีลา ณ ตำบล คยาสีสะ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงส่งพระอัครสาวก ๒ รูปไป พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรทราบวาระจิตของภิกษุเหล่านั้นแล้วแสดงธรรม ภิกษุทั้ง ๕๐๐ รูปฟังธรรมเทศนาของพระเถระก็บรรลุโสดาปัตติผล

ต่อมาพระมหาโมคคัลลานเถระได้แสดงการแผลงฤทธิ์ต่าง ๆ แล้ว แสดงธรรมแก่ภิกษุเหล่านั้น ภิกษุทั้งหมดฟังธรรมของท่านแล้วต่างได้บรรลุพระอรหัตตผล ครั้นแล้วพระมหานาคทั้งสองพาภิกษุ ๕๐๐ รูป เหาะสู่เวหามาถึงวิหารเวฬุวัน

 

การแสดงธรรมเนือง ๆ ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ในปาฏิหาริย์เหล่านั้น อิทธิปาฏิหาริย์ และอาเทศนาปาฏิหาริย์ ยังติเตียนได้ ยังมีโทษ ไม่ยั่งยืนอยู่นาน เพราะไม่ยั่งยืนอยู่นาน จึงไม่นำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้

อนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้นไม่ติเตียนได้ ไม่มีโทษ ตั้งอยู่ได้นาน เพราะตั้งอยู่ได้นาน จึงนำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงติเตียนอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างเดียว

ในเรื่องของ อิทธิปาฏิหาริย์นั้น นอกจากพระพุทธเจ้าไม่ทรงสรรเสริญแล้ว ยังทรงห้ามภิกษุแสดง อิทธิปาฏิหาริย์แก่พวกคฤหัสถ์อีกด้วย โดยพระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ได้เล่าว่า ในสมัยหนึ่ง ปุ่มไม้แก่นจันทน์มีราคามากได้บังเกิดแก่ราชคหเศรษฐีคนหนึ่ง ราชคหเศรษฐีได้ให้กลึงบาตรด้วยปุ่มไม้แก่นจันทน์นั้น แล้วใส่สาแหรกแขวนไว้ที่ปลายไม้ไผ่ผูกต่อๆ กันขึ้นไป แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า สมณะหรือพราหมณ์ผู้ใด เป็นพระอรหันต์และมีฤทธิ์ จงปลดบาตรที่เราให้แล้วไปเถิด

ต่อมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะกับท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ครองอันตรวาสกในเวลาเช้าแล้ว ถือบาตรจีวร เข้าไปบิณฑบาตในเมืองราชคฤห์ ท่านพระโมคคัลลานะได้กล่าวกะท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า ไปเถิด ท่านภารทวาชะ จงปลดบาตรนั้นลง บาตรนั้นของท่าน ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะจึงเหาะขึ้นสู่เวหาส ถือบาตรนั้นเวียนไปรอบเมืองราชคฤห์ ๓ รอบ

ครั้งนั้น ท่านราชคหเศรษฐีพร้อมกับบุตรภรรยา ยืนอยู่ในเรือนของตน ประคองอัญชลีนมัสการ กล่าวนิมนต์ว่า ท่านเจ้าข้า ขอพระคุณเจ้าภารทวาชะ จงประดิษฐานในเรือนของข้าพเจ้านี้เถิด ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะจึงประดิษฐานในเรือนของท่านราชคหเศรษฐี ขณะนั้น ท่านราชคหเศรษฐีรับบาตรจากมือของท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ แล้วได้จัดของเคี้ยวมีค่ามาก ถวายท่านพระปิณโฑลภารทวาชะ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะได้รับบาตรนั้นไปสู่พระอาราม ชาวบ้านได้ทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของราชคหเศรษฐีไปแล้ว และชาวบ้านเหล่านั้นมีเสียงอึกทึกเกรียวกราว ติดตามพระปิณโฑลภารทวาชะไปข้างหลัง

พระผู้มีพระภาคได้ทรงสดับเสียงอึกทึกเกรียวกราว ครั้นแล้ว ตรัสถามท่านพระอานนท์ว่า อานนท์ นั่นเสียงอึกทึกเกรียวกราว เรื่องอะไรกัน ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตร ของท่านราชคหเศรษฐีลงแล้ว พวกชาวบ้านทราบข่าวว่า ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะปลดบาตรของท่านราชคหเศรษฐีลง จึงพากันติดตามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะมาข้างหลังอย่างอึกทึกเกรียวกราว พระพุทธเจ้าข้า เสียงอึกทึกเกรียวกราวนี้คือเสียงนั้น พระพุทธเจ้าข้า

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะว่า ภารทวาชะ ข่าวว่า เธอปลดบาตรของราชคหเศรษฐีลง จริงหรือ ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ภารทวาชะ การกระทำของเธอนั่นไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ ไฉนเธอจึงได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ ซึ่งเป็นดุจซากศพเล่า มาตุคามแสดงของลับ เพราะเหตุแห่งทรัพย์ซึ่งเป็นดุจซากศพแม้ฉันใด เธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ได้แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ เพราะเหตุแห่งบาตรไม้ซึ่งเป็นดุจซากศพ การกระทำของเธอนั่นไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ครั้นแล้วทรงทำธรรมีกถารับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุไม่พึงแสดง อิทธิปาฎิหาริย์ซึ่งเป็นธรรมอันยวดยิ่งของมนุษย์ แก่พวกคฤหัสถ์ รูปใดแสดง ต้องอาบัติทุกกฎ http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=256&Z=432&pagebreak=0

โดยสรุปแล้ว ในคำสอนของพระพุทธศาสนาไม่ได้ปฏิเสธว่า อิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์ไม่มีจริงนะครับ แต่รับรองว่าอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทศนาปาฏิหาริย์นั้นมีอยู่จริง เพียงแต่ปาฏิหาริย์ทั้งสองแบบนี้ ยังมีโทษ และไม่นำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ ส่วนอนุสาสนีปาฏิหาริย์เท่านั้นที่ไม่มีโทษ และนำสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ ดังนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์อย่างเดียว

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

หมายเหตุ ณ วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ ได้ดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ โดยอยู่ระหว่างเก็บรายละเอียด ซึ่งก็น่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดภายในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ นี้ และก็จะเริ่มเปิดใช้งานได้ภายในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ ครับ

ทั้งนี้ หากพิจารณาจำนวนเงินงบประมาณที่เรี่ยไรเทียบกับขนาดศาลาปฏิบัติธรรมแล้ว จะเห็นได้ว่าโดยปกติย่อมจะไม่สามารถสร้างศาลาปฏิบัติธรรมขนาดนี้ได้นะครับ แต่ที่ทำได้เพราะว่ามีญาติธรรมหลายท่านช่วยงานแบบไม่คิดเงิน และออกค่าใช้จ่ายให้ด้วย เช่น บางท่านออกแบบให้ฟรี บางท่านไปช่วยคุมงานให้ฟรี บางท่านทำบัญชีให้ฟรี บางท่านช่วยสั่งซื้อวัสดุก่อสร้างให้ในราคาต่ำ บางท่านเป็นเจ้าภาพวัสดุก่อสร้างบางอย่างให้ ฯลฯ ซึ่งหากเอาแรงงานและสิ่งต่าง ๆ ที่ญาติธรรมได้ช่วยกันมาคำนวณเป็นตัวเงินแล้ว ราคาน่าจะสูงกว่างบประมาณเยอะมากครับ

หลังจากที่ก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมเสร็จแล้วในเดือนกันยายน ๒๕๕๘ ทางชมรมเรียนรู้กายใจจังหวัดนครสวรรค์ก็จะเริ่มใช้ศาลาปฏิบัติธรรมในเดือนตุลาคม ๒๕๕๘ โดยจะจัดงานสมโภชด้วยการจัดคอร์สภาวนา และทอดผ้าป่าสามัคคี ในส่วนของงานผ้าป่าสามัคคีนั้นก็เพื่อจัดตั้งกองทุนสำหรับนำเงินมาใช้จ่าย เป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนการภาวนาแก่เด็ก ๆ และใช้เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการดูแลรักษาและซ่อมแซมเครื่องมือ สื่ออุปกรณ์ อาคารสถานที่ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับท่านที่สนใจร่วมทำบุญทอดผ้าป่าดังกล่าว ขอได้โปรดร่วมทำบุญโอนเงินได้ที่ บัญชีธนาคารชื่อบัญชี นางพจนา ทรัพย์สมาน และนางปราณี ศิริวิริยะกุล และ นางชญาณัฒ ธิเนตร ธนาคารกรุงเทพ สาขา บิ๊กซี นครสวรรค์ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 627-0-34831-8

ท่านสามารถติดตามรายละเอียดงานทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อจัดตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘ ได้ที่ กระทู้ ขอเชิญร่วมทำบุญทอดผ้าป่าสามัคคี เพื่อตั้งกองทุนจัดค่ายเรียนรู้กายใจ ทำนุบำรุงศาลาและสถานที่สวนธรรมธาราศัย ในวันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๕๘

ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่ http://www.facebook.com/rooguyroojai และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่ เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์