Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๓๐

 

 

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.


คุยเรื่องสุขภาพ (๑๔) –
ข้อคิดจากเรื่องใบทุเรียนเทศ
งดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhamajaree230

ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราอาจจะได้ทราบข่าวเรื่องหนึ่ง
เกี่ยวกับใบทุเรียนเทศว่ามีความเสี่ยงทำให้ตับและไตวายได้
หลังจากที่มีข่าวดังกล่าวแล้ว ก็ได้มีการถกเถียงกันระหว่างผู้บริโภคข่าว
ซึ่งแบ่งออกได้เป็นสองฝ่ายใหญ่ ๆ
โดยฝ่ายแรกเห็นด้วยกับแพทย์ที่ออกมาให้ข่าวว่า
ยังไม่ควรนำใบทุเรียนเทศมาใช้ในการรักษา
แต่ควรรอผลวิจัยให้แน่ชัดเสียก่อนว่าไม่มีผลกระทบในทางลบใด ๆ ต่อร่างกาย
ส่วนฝ่ายที่สองไม่เห็นด้วยกับแพทย์ที่ออกมาให้ข่าว
โดยเห็นว่าควรเปิดกว้างให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเลือกทางรักษาในหลาย ๆ ทาง
ไม่ควรจะมาปิดกั้นโอกาสหรือทางเลือกในการรักษาที่ผู้ป่วยจะตัดสินใจเลือก

ในเรื่องนี้ ก่อนอื่นผมต้องขอเรียนว่า ในบทความนี้ ผมไม่ได้จะมาสรุปให้ทุกท่าน
ทราบว่าท่านควรจะใช้ใบทุเรียนเทศในการรักษาโรคมะเร็งหรือไม่นะครับ
แต่ผมตั้งใจจะวิเคราะห์และให้ข้อคิดจากข่าวเรื่องใบทุเรียนเทศดังกล่าว
โดยหากเราจะวิเคราะห์กันในเรื่องใบทุเรียนเทศนี้ให้เข้าใจด้วยกัน
ก็ควรจะต้องอ่านเนื้อหาข่าวเสียก่อน
ซึ่งหากท่านผู้อ่านท่านใดสนใจจะพิจารณาเรื่องนี้ไปด้วยกันแล้ว
ผมขอให้ท่านลองไปอ่านข่าวในเรื่องนี้ตามลิงค์นี้เสียก่อนครับ
http://www.manager.co.th/Qol/ViewNews.aspx?NewsID=9580000082386
แล้วเราค่อยมาพิจารณาเรื่องนี้ไปด้วยกันต่อไป

(อนึ่ง จริง ๆ แล้ว สามารถค้นหาข่าวเรื่องนี้ได้จากหลายแหล่งนะครับ
ซึ่งอาจจะมีข้อมูลเหมือนหรือแตกต่างกันบ้าง
แต่ผมเลือกมาแหล่งเดียวเพื่อความสะดวกในการพิจารณาไปด้วยกัน
หากเลือกมาหลายแหล่งจะยุ่งยากและใช้เวลามากขึ้นในการพิจารณา)

หากท่านได้อ่านข่าวเรื่องใบทุเรียนเทศตามลิงค์ดังกล่าวแล้ว
ผมขอให้สังเกตว่า ในข่าวมีบางอย่างที่เราควรต้องจำแนกให้ดี ดังนี้
๑. ข่าวบอกว่า "ขณะนี้พบกระบวนการขายยาที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศ
ชาใบทุเรียนเทศต่างๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งทางโซเชียลมีเดีย เคเบิลทีวี และรถเร่
โดยอ้างว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้ทุกชนิด"
สังเกตว่าการขายสินค้าดังกล่าวเป็นการขาย "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศ

ต่อมา แพทย์ในข่าวได้กล่าวว่า "การขายโดยอ้างสรรพคุณเช่นนี้
ทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งหลงผิดไปรับประทานเป็นจำนวนมาก
ซึ่งคนไข้โรคมะเร็งที่รับประทานทุเรียนเทศ ยังมีผลเกิดการเคลื่อนไหวร่างกายที่ผิดปกติ
คล้ายกับผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน เนื่องจากทุเรียนเทศเป็นพิษต่อระบบประสาท" และกล่าวว่า
“ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้ารับการรักษาตัวจากภาวะตับและไตวายเฉียบพลัน
จากการรับประทานทุเรียนเทศจำนวนมาก”
สังเกตนะครับว่า ตอนแรกบอกว่าโฆษณา "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศ
แต่พอตอนสรุปบอกว่าหลงไปทาน “ใบทุเรียนเทศ”
หรือมีปัญหาภาวะตับและไตวายจาก “ใบทุเรียนเทศ”
ไม่ได้บอกว่าหลงไปทาน "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศ
หรือมีปัญหาภาวะตับและไตวายจาก "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศ

๒. กรณีย่อมมีความแตกต่างระหว่าง “ใบทุเรียนเทศ”
และ "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศนะครับ
เพราะถ้าจะคุยถึงใบทุเรียนเทศเฉย ๆ เราอาจจะคุยว่าเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่ง
ซึ่งยังไม่ได้มีส่วนผสมอื่นใด ๆ ในใบทุเรียนเทศนั้น
แต่หากเราคุยถึง "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศที่นำมาขายกันในท้องตลาด
ก็ควรจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะในตัว "ยา" หรือ "ชา" นั้นอาจจะมีส่วนผสมอื่น ๆ ด้วยก็ได้
ซึ่งส่วนผสมอื่น ๆ ดังกล่าวอาจเป็นตัวที่ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาก็ได้
ดังนั้นแล้ว ในการจำกัดขอบเขตของความเป็นอันตรายน่าจะจำกัดอยู่ที่
"ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศที่ผู้ป่วยนั้นได้ทานไป
ไม่ใช่กล่าวเหมารวมทันทีว่าสมุนไพรใบทุเรียนเทศเป็นสิ่งอันตราย และทำให้ตับไตวาย
ยกตัวอย่างว่า หากสมมุติว่ามีคนป่วยเพราะทาน “ยา” หรือ “ชา” ที่ทำมาจาก “ขิง” แล้ว
เราจะสรุปได้เลยหรือว่าไม่ควรทาน “ขิง” ทั้งหมด
หรือเราควรจะจำกัดขอบเขตที่ “ยา” หรือ “ชา” ที่ทำมาจาก “ขิง” ที่ผู้ป่วยนั้นทานเท่านั้น
และต้องพิจารณาด้วยไหมว่าผลกระทบนั้นเป็นอาการเฉพาะตัวหรือเปล่า
เหมือนดังเช่นผู้ป่วยบางท่านแพ้ยาบางอย่าง แต่ผู้ป่วยท่านอื่นไม่ได้แพ้ด้วย

๓. หากเราเห็นว่าควรจำกัดขอบเขตอยู่เพียง "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศแล้ว
ในอันที่จริง หน่วยงานของรัฐควรเข้าไปตรวจสอบว่า
"ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศที่ผู้ป่วยได้ทานและมีปัญหานั้น
ได้มีส่วนผสมใด ๆ หรือมีกระบวนการผลิตใด ๆ ที่เป็นอันตรายหรือไม่
หรือมีการโฆษณาในเรื่องสรรพคุณเกินจริงหรือไม่
โดยหาก "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศรายใด
มีส่วนผสมใด ๆ หรือมีกระบวนการผลิตใด ๆ ที่เป็นอันตราย
หรือมีการโฆษณาในเรื่องสรรพคุณเกินจริงแล้ว
ก็ควรดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ผลิตหรือผู้ขายต่อไปเป็นราย ๆ

๔. นอกจากเรื่องของส่วนผสม หรือกระบวนการผลิตของ "ยา" หรือ "ชา" ที่กล่าวแล้ว
ยังมีข้อควรตรวจสอบในเรื่องของปริมาณที่ทานด้วย
เช่น บางทีตัว "ยา" หรือ "ชา" เองอาจจะไม่ได้เป็นปัญหา
แต่ด้วยความที่ผู้ป่วยทานเกินปริมาณที่เหมาะสม
ทำให้เกิดปัญหาตับหรือไตวายแก่ผู้ป่วยนั้น ๆ
ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ควรต้องตรวจสอบและชี้แจงกันด้วย
ยกตัวอย่างเปรียบเทียบว่า หากมีผู้ป่วยทานยาพาราเซตามอลเกินขนาดทุกวัน
และต่อมาทำให้ผู้ป่วยดังกล่าวมีปัญหาเรื่องตับแล้ว
เราจะกล่าวเหมารวมว่าเป็นความผิดของยาพาราเซตามอลได้หรือ
หรือเราควรจะกล่าวว่าเป็นความผิดของผู้ป่วยนั้นที่ทานเกินขนาดเอง
เพราะฉะนั้นในประเด็นนี้ก็ควรจะต้องมีการพิจารณากันด้วย

๕. นอกจากเรื่องส่วนผสม กระบวนการผลิต และปริมาณที่ทานดังกล่าวแล้ว
อีกสิ่งหนึ่งที่ในข่าวไม่ได้ให้ข้อมูลก็คือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาตับวายและไตวายดังกล่าว
อยู่ในระหว่างที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือไม่
เพราะว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดบางประเภทก็ส่งผลกระทบต่อตับและไตได้เช่นกัน
http://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/chemotherapy/side-effects-chemotherapy
http://www.cancer.ca/en/cancer-information/diagnosis-and-treatment/chemotherapy-and-other-drug-therapies/chemotherapy/side-effects-of-chemotherapy/liver-damage-and-chemotherapy/?region=on
http://www.cancer.ca/en/cancer-information/diagnosis-and-treatment/chemotherapy-and-other-drug-therapies/chemotherapy/side-effects-of-chemotherapy/kidney-damage-and-chemotherapy/?region=on
ในเมื่อข่าวไม่ได้ให้ข้อมูลดังกล่าวแล้ว ปัญหาของผู้ป่วยบางรายที่ตับหรือไตวายในข่าว
อาจจะไม่ได้เกิดจากการที่ไปใช้สมุนไพรอื่นก็ได้
แต่อาจจะเกิดจากการที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็ได้
หรือเกิดจากทำทั้งสองอย่างร่วมกันก็ได้ (ถ้าเลือกเพียงอย่างเดียวอาจไม่เป็นปัญหาก็ได้)
ซึ่งไม่มีการให้ข้อมูลในส่วนนี้

๖. ในเมื่อเรายังไม่ได้มีการตรวจสอบส่วนผสม กระบวนการผลิต
และปริมาณที่ทานของ "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศแล้ว
และไม่ได้ตรวจสอบว่าอาการตับวายหรือไตวายเกิดจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดด้วยหรือไม่
การกล่าวเหมารวมว่าสมุนไพรชนิดหนึ่ง ๆ คือ ใบทุเรียนเทศ
เป็นสมุนไพรที่เป็นสาเหตุที่ทำให้ตับวายหรือไตวายนี้ จะเหมาะสมแล้วหรือ
หากสมมุติว่าผู้ป่วยไม่ได้ไปซื้อ "ยา" หรือ "ชา" ที่ทำมาจากใบทุเรียนเทศมาทาน
แต่ว่าเขามีต้นทุเรียนเทศอยู่ที่บ้าน และเขาเด็ดใบมาทำให้แห้ง และต้มทานเอง
โดยทานในปริมาณที่เหมาะสมไม่มากเกินไปด้วย แล้วก็ควรต้องห้ามด้วยหรือ?

อนึ่ง หากเราลองพิจารณาข่าวจากลิงค์ด้านล่างนี้จะพบว่า
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คนไทยนำทุเรียนเทศมาประกอบอาหาร
ภาคใต้นิยมนำผลอ่อนใช้ทำแกงส้ม เชื่อม และคั้นทำเครื่องดื่ม
ส่วนเมล็ดใช้เบื่อปลาและเป็นยาฆ่าแมลงได้
ส่วนใบมีสรรพคุณทางยาใช้รักษาโรคผิวหนัง แก้ไอ ปวดตามข้อและความดันโลหิตสูง
ดังนี้จะเห็นได้ว่า ใบทุเรียนเทศก็เป็นสมุนไพรที่คนไทยใช้ได้มาแต่เดิมอยู่แล้ว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9570000031759

๗. กรณีในข่าวตามลิงค์ที่ยกมาในตอนต้น อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้กล่าวว่า
“ใบทุเรียนเทศถ้าเป็นใบแห้งแล้วนำมาต้มสกัดนั้น พบว่า มีฤทธิ์ในการฆ่าเซลล์มะเร็งได้
แต่เป็นเพียงกระบวนการวิจัยในขั้นหลอดทดลองในห้องแล็บ
ซึ่งการที่ใบทุเรียนเทศมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์มะเร็งได้
ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถนำมารักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ในทันที
การจะนำใบทุเรียนเทศแห้งมาต้มกินเพื่อรักษามะเร็งตับก็อยู่ที่การใช้วิจารณญาณของผู้ป่วย
ถือว่าเป็นแค่เพียงทางเลือกของผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มีทางเลือกรักษาแล้วเท่านั้น
เนื่องจากทางการแพทย์ยังไม่มีการวิจัยว่ารักษามะเร็งได้
นอกจากนี้ ยังมีข้อบ่งชี้ที่ว่าใบทุเรียนเทศสดมีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ดีในร่างกาย
ดังนั้น จึงควรใช้อย่างระมัดระวัง”
สังเกตว่าในส่วนที่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ดีในร่างกายนั้นเป็นใบสดนะครับ
(แต่ในส่วนของใบแห้งนั้นไม่ได้กล่าวว่ามีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ดีหรือไม่)
จึงมีปัญหาที่ควรพิจารณาด้วยว่าบรรดาผู้ป่วยที่ทาน “ยา” หรือ “ชา” แล้วมีปัญหานั้น
เป็น “ยา” หรือ “ชา” จากใบทุเรียนเทศสดหรือเปล่า (ไม่ได้ทำจากใบทุเรียนเทศแห้ง) ด้วย

นอกจากนี้ ในวิธีการนำใบทุเรียนเทศแห้งมาใช้ในการรักษาตามที่
ท่านอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้กล่าวนั้น
ท่านกล่าวว่า “การจะนำใบทุเรียนเทศแห้งมาต้มกินเพื่อรักษามะเร็งตับ”
ท่านไม่ได้แนะนำว่าให้ไปซื้อ “ยา” หรือ “ชา” ที่ทำจากใบทุเรียนเทศนะครับ

๘. ถ้าเราจะปฏิเสธการใช้สมุนไพร “ใบทุเรียนเทศแห้ง” เป็นทางเลือกในการรักษา
เพราะเหตุว่า “ใบทุเรียนเทศสด” มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ดีในร่างกาย จะถูกต้องหรือไม่
และมันเป็นเรื่องเดียวกันหรือเปล่า ในเมื่อในการรักษาใช้ใบแห้ง ไม่ได้ใช้ใบสด
นอกจากนี้ หากเราจะสรุปว่าสิ่งที่มีฤทธิ์ฆ่าเซลล์ดีในร่างกายไม่ควรนำมารักษาแล้ว
เราลองพิจารณาว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัด (หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่าการให้คีโม)
มีผลเป็นการทำลายเซลล์ดีในร่างกายไหม
ซึ่งหากจะพิจารณาแล้ว จะเห็นได้ว่าการให้คีโมมีผลฆ่าเซลล์ดีหลายแห่งในร่างกาย
ไม่ใช่เฉพาะตับและไตเท่านั้น (และต้องเสียเงินซื้อแพงด้วย)
เช่น ในลิงค์นี้ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบ ๑๙ ข้อตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าจากการให้คีโม
แต่เรากลับบอกว่าการรักษาอย่างนี้ถือว่าโอเค แม้จะมีผลฆ่าเซลล์ดีก็ตามเช่นนั้นหรือ
http://www.healthline.com/health/cancer/effects-on-body

ถ้าเราจะมองว่าน้ำต้มใบทุเรียนเทศแห้งนี้อันตรายมากแล้ว
เราลองพิจารณาว่าอย่างไหนจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากกว่ากัน
ระหว่างการให้คีโมเข้าร่างกายคนหนึ่งสัปดาห์ละเข็ม
กับการดื่มน้ำต้มใบทุเรียนเทศแห้งวันละแก้ว
สมมุติว่าให้ทำไปเรื่อย ๆ แล้ว เราเห็นว่าอย่างไหนจะโคม่าหรือจะตายก่อนกัน

๙. แม้ผมจะวิเคราะห์ไปในเชิงที่ว่าไม่ควรด่วนสรุปใด ๆ
ที่จะเป็นการทำลายโอกาสของผู้ป่วยที่จะได้ใช้สมุนไพรพื้นบ้านก็ตาม
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมจะเห็นด้วยกับการใช้ “ยา” หรือ “ชา”
ที่ทำจากใบทุเรียนเทศที่มีการโฆษณาสรรพคุณมากมายนะครับ
โดยผมเห็นว่าผู้ป่วยก็ควรจะระมัดระวังอย่างสูงในการที่จะซื้อ
“ยา” หรือ “ชา” ดังกล่าวมาทานหรือมาใช้ในการรักษา
เพราะไม่ทราบว่าส่วนผสมทำมาจากอะไรบ้าง หรือผสมสิ่งอันตรายลงไปด้วยหรือไม่
กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร และปลอดภัยหรือไม่ เป็นต้น
แต่ในเวลาเดียวกัน ผมก็ไม่เห็นด้วยกับการที่จะด่วนสรุปว่า
สมุนไพรพื้นบ้านชนิดใด ๆ เป็นอันตรายโดยที่ไม่ได้จำแนกให้ชัดเจน
และยังไม่ได้มีการศึกษาตรวจสอบให้แน่นอนเสียก่อน

๑๐. หากท่านผู้อ่านจะถามว่า เช่นนี้แล้วจะแนะนำให้ทำการรักษาอย่างไร
ผมตอบว่า ขอแนะนำให้ท่านศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้รอบด้านครบถ้วนเสียก่อน
และจึงใช้วิจารณญาณที่สมควรเลือกทางเลือกรักษา
โดยไม่หลงเป็นเหยื่อของการโฆษณาใด ๆ ที่สุดโต่งในทั้งสองด้าน
ถ้าหากหลงตามโฆษณาและหลงเชื่อตาม โดยที่ไม่มีความเข้าใจแล้ว
ก็มีโอกาสที่จะโดนหลอก หรือเกิดผลที่ไม่พึงประสงค์ในการรักษาได้
สรุปคือต้องศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการรักษาในทางต่าง ๆ
แล้วท่านผู้ป่วยก็จะทราบได้ว่าควรจะเลือกรักษาในแนวทางไหนที่เหมาะสมกับตนเอง

หากจะนำหลักในทางธรรมมาใช้กับการเลือกทางเลือกในการดูแลสุขภาพนี้แล้ว
ผมขอแนะนำให้ท่านนำหลักกาลามสูตรมาปรับใช้ครับว่า
๑. อย่าได้เชื่อโดยได้ฟังตามกันมา
๒. อย่าได้เชื่อโดยลำดับสืบ ๆ กันมา
๓. อย่าได้เชื่อโดยความตื่นว่าได้ยินอย่างนี้ ๆ
๔. อย่าได้เชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าได้เชื่อโดยเหตุนึกเดาเอา
๖. อย่าได้เชื่อโดยนัยคือคาดคะเน
๗. อย่าได้เชื่อโดยความตรึกตามอาการ
๘. อย่าได้เชื่อโดยชอบใจว่าต้องกันลัทธิของตน
๙. อย่าได้เชื่อโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้
๑๐. อย่าได้เชื่อโดยความนับถือว่า สมณะผู้นี้เป็นครูของเรา

แต่เมื่อใดที่เรารู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอกุศล มีโทษ สิ่งเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน
สิ่งเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์
ดังนี้ เราควรละเว้นสิ่งเหล่านั้นเสีย
และเมื่อใดที่เรารู้ด้วยตนเองว่า สิ่งเหล่านี้เป็นกุศล เป็นคุณ สิ่งเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ
สิ่งเหล่านี้ใครประพฤติให้เต็มที่แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งเป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อพ้นทุกข์
ดังนี้ เราควรประพฤติสิ่งเหล่านั้น

ในทางเลือกของการดูแลรักษาสุขภาพก็เช่นเดียวกันครับ
อย่าเพิ่งรีบเชื่อคนอื่น ๆ (รวมทั้งผมด้วย) ในคำแนะนำหรือคำโฆษณาใด ๆ ก็ตาม
แต่เมื่อใดที่รู้ได้ด้วยตนเองแล้วว่าการดูแลรักษาสุขภาพในทางใดเป็นประโยชน์
และในทางใดที่เป็นโทษแก่ตนเองแล้ว จึงตัดสินใจเดินในทางนั้น
ซึ่งการที่จะทำดังกล่าวแล้ว ก็ต้องอาศัยการศึกษาหาความรู้ในแนวทางต่าง ๆ
รวมทั้งการหมั่นสังเกตอาการด้วยตนเองด้วยว่าใช้แนวทางนั้นแล้วเป็นอย่างไร
โดยอาจจะเปรียบได้กับโยนิโสมนสิการนั่นเองครับ

แต่หากเราเป็นประเภทเชื่อง่าย ใครโฆษณาว่าดี ก็รีบเชื่อ หรือโฆษณาว่าไม่ดี ก็รีบเชื่อ
โดยไม่จำแนก และไม่ศึกษาให้ดี และไม่ใช้โยนิโสมนสิการพิจารณาตนเองแล้ว
ก็อาจจะไปผิดทางได้ง่าย ๆ หรือไปในทางที่ไม่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ตนเอง
ทั้งในเรื่องทางเลือกการดูแลรักษาสุขภาพ
หรือจะในเรื่องของการศึกษาและปฏิบัติธรรม ก็เช่นกัน

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

หมายเหตุ ณ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรม อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้ทาสีผนังภายนอกศาลาแล้ว และทำฝ้าเพดานภายนอกศาลาเสร็จแล้ว
เริ่มทำงานติดตั้งกระจกหน้าต่างศาลา และดำเนินการปูกระเบื้องพื้นศาลา
เริ่มดำเนินการวาดภาพและตกแต่งผนังด้านหลังพระประธาน
ในส่วนภายนอกศาลานั้น ได้ติดตั้งระบบหอแท็งก์น้ำประปาใกล้เสร็จแล้ว

ทั้งนี้ ตามที่ได้เคยเรียนไว้ว่าก่อนหน้านี้ว่าทีมงานได้เรี่ยไรครบ
จำนวน ๖.๕ ล้านบาทตามประมาณการงบประมาณแล้ว
อย่างไรก็ดี ในระหว่างการก่อสร้างก็มีงานบางอย่างเพิ่มขึ้น และทำให้มีค่าใช้จ่ายบางรายการเพิ่มขึ้น
ซึ่งก็ได้มีญาติธรรมหลายท่านได้กรุณาช่วยทำบุญมาเพิ่มเติม
ผมได้อัพเดทสำเนาสมุดบัญชี รวมทั้งภาพความคืบหน้าต่าง ๆ ในการก่อสร้าง
ไว้ในกระทู้ในเว็บบอร์ดลานธรรมนะครับ

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์