Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๒๖

 

สติเป็นเครื่องกั้นกระแส

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dhammajaree226

 

 เมื่อตอนที่แล้ว เราได้คุยเรื่องอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศจากคำถามในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง
ซึ่งในกระทู้ดังกล่าวยังมีคำถามในเรื่องสติที่เกิดขึ้นและอารมณ์ดับ
โดยคำถามคือญาติธรรมที่ถามมีความเข้าใจดังต่อไปนี้ว่า
“อารมณ์ดับ เมื่อสติเกิด ถ้าสติเกิดเร็ว อารมณ์ก็ดับเร็ว
อารมณ์ที่ดับเร็ว ดุจกระพริบตา น่าจะเป็นผลของสติที่เกิดเร็ว
ไม่ใช่จากการฝึกดับอารมณ์ หรือเข้าไปแทรกแซง”

ในคราวนี้ เราจะมาพิจารณาว่าความเข้าใจข้างต้นถูกต้องหรือไม่
โดยก่อนอื่น เราควรจะพิจารณาความหมายของคำว่า “อารมณ์” เสียก่อน
ซึ่งจากพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
“อารมณ์” หมายความว่า เครื่องยึดหน่วงของจิต สิ่งที่จิตยึดหน่วง
หรือสิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่ อายตนะภายนอก ๖
ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
ในภาษาไทยความหมายเลื่อนไปเป็น ความรู้สึก หรือความเป็นไปแห่งจิตใจ
ในขณะหรือช่วงเวลาหนึ่งๆ เช่นกล่าวว่า อย่าทำตามอารมณ์ วันนี้อารมณ์ดี อารมณ์เสีย เป็นต้น
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%CD%D2%C3%C1%B3%EC&original=1

จากความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ข้างต้นได้ให้ ๒ ความหมายคือ
๑. สิ่งที่ถูกรู้หรือถูกรับรู้ ได้แก่อายตนะภายนอก ๖ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์)
และ ๒. ความรู้สึก (ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้กันในภาษาไทยโดยความหมายเคลื่อนไป)

เราลองพิจารณาความหมายแรกก่อนนะครับ
ถามว่าอายตนะภายนอก ๖ นี้ดับเพราะสติเกิดหรือเปล่า?
ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะตามพระธรรมคำสอนแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงสอนว่า
ทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอกล้วนแต่เป็นไตรลักษณ์
คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
(อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ)
ซึ่งการที่อายตนะภายในและอายตนะภายนอกนั้นไม่เที่ยง

ก็เพราะว่าทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอกมีสภาพเกิดและดับอยู่แล้ว

โดยขอยกพระสูตรมาอ้างอิงดังต่อไปนี้ครับ
ใน “อัชฌัตติกอนิจจสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
สอนว่าอายตนะภายในเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=0&Z=25&pagebreak=0

ใน “อัชฌัตติกทุกขสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
สอนว่าอายตนะภายในเป็นทุกข์

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=26&Z=34&pagebreak=0

ใน “อัชฌัตติกอนัตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
สอนว่าอายตนะภายในเป็นอนัตตา

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=35&Z=42&pagebreak=0

ใน “พาหิรอนิจจสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
สอนว่าอายตนะภายนอกเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=43&Z=53&pagebreak=0

ใน “พาหิรทุกขสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
สอนว่าอายตนะภายในเป็นทุกข์

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=54&Z=61&pagebreak=0

ใน “พาหิรอนัตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
สอนว่าอายตนะภายในเป็นอนัตตา

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=18&A=62&Z=68&pagebreak=0

สรุปแล้วไม่ว่าจะเป็นอายตนะภายนอกหรืออายตนะภายในก็ตาม
ก็ล้วนแล้วแต่มีสภาพเป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
ซึ่งสภาพความไม่เที่ยงก็คือสภาพเกิดดับนี่เอง

ในความหมายที่สองที่บอกว่า อารมณ์ หมายถึงความรู้สึก
ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้กันในภาษาไทย โดยความหมายเคลื่อนไปนั้น
ก่อนอื่นเราควรพิจารณาก่อนว่า ความรู้สึก คืออะไร?
หากเราจะเปรียบเทียบในขันธ์ ๕ แล้ว
ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ หรือเฉย ๆ คือเวทนา
ส่วนความรู้สึกที่เป็นอาการปรุงแต่งต่าง ๆ เช่น ดีใจ เสียใจ รัก โลภ โกรธ หลง
เหงา เศร้า วังเวง ตกใจ ตื่นเต้น เป็นต้น คือสังขาร
ดังนี้ ไม่ว่าเราจะใช้คำว่า “ความรู้สึก” ในความหมายของเวทนา หรือสังขารก็ตาม
เราก็ย่อมถือได้ว่า “ความรู้สึก” เป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕

ในเมื่อความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ ดังที่กล่าวแล้ว
ถามว่าขันธ์ ๕ นี้ดับเพราะสติเกิดหรือเปล่า?
ตอบว่า ไม่ใช่ เพราะตามพระธรรมคำสอนแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงสอนว่า
ขันธ์ ๕ เป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา
และแม้เหตุปัจจัยที่ทำให้ขันธ์เกิดขึ้นก็เป็นไตรลักษณ์เช่นกัน
ซึ่งการที่ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจังคือไม่เที่ยง จึงย่อมมีสภาพเกิดและดับอยู่แล้ว

โดยขอยกพระสูตรมาอ้างอิงดังต่อไปนี้ครับ
ใน “อนิจจสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
สอนว่าขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=461&Z=472&pagebreak=0

ใน “ทุกขสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) สอนว่าขันธ์ ๕ เป็นทุกข์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=473&Z=479&pagebreak=0

ใน “อนัตตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) สอนว่าขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=480&Z=488&pagebreak=0

ใน “อนิจจเหตุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
สอนว่าเหตุปัจจัยที่ให้ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=520&Z=528&pagebreak=0

ใน “ทุกขเหตุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
สอนว่าเหตุปัจจัยที่ให้ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นก็เป็นทุกข์

http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=529&Z=538&pagebreak=0

ใน “อนัตตเหตุสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค)
สอนว่าเหตุปัจจัยที่ให้ขันธ์ ๕ เกิดขึ้นก็เป็นอนัตตา

โดยสรุปแล้ว ไม่ว่าเราจะแปลว่าอารมณ์ว่าหมายถึงอายตนะภายนอกก็ดี
หรือจะแปลว่าหมายถึงความรู้สึก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของขันธ์ ๕ ก็ดี
อารมณ์นั้นก็ถือเป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยง และเกิดดับโดยสภาพ
เป็นทุกขัง คือมีสภาพที่ทนอยู่ไม่ได้
และเป็นอนัตตา คือเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่ตัวตน

ดังนี้แล้ว ความเข้าใจว่าอารมณ์ดับ เมื่อสติเกิดนั้น จึงคลาดเคลื่อน
เพราะไม่ว่าสติจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม อารมณ์ก็เกิดดับโดยสภาพอยู่แล้ว
เพราะว่าอารมณ์เป็นอนิจจัง ทุกขัง และเป็นอนัตตา
เพียงแต่ว่าเวลาที่เรามีสติเกิดขึ้นนั้น เราย่อมสามารถเห็นอารมณ์เกิดดับได้
ถ้าเรามีสติเกิดขึ้นบ่อย เราก็สามารถเห็นอารมณ์เกิดดับได้บ่อย
ถ้าเรามีสติเกิดขึ้นเร็ว เราก็สามารถเห็นอารมณ์เกิดดับได้เร็ว
แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้าสติเกิดดับเร็ว อารมณ์จะเกิดดับเร็วตาม ไม่ใช่เช่นนั้น

กรณีเสมือนกับว่าเราอยู่ในสนามแข่งรถ และรถกำลังวิ่งแข่งกันอยู่
ถ้าเราหลับตา เราก็ไม่เห็นการแข่งรถ
แต่เมื่อเราลืมตาดู เราก็เห็นการแข่งรถ
ถ้าเราลืมตาบ่อย เราก็เห็นการแข่งรถบ่อย
กรณีไม่ใช่ว่าเมื่อเราลืมตาดู การแข่งรถ ก็เริ่มแข่ง
และเมื่อเราหลับตาไม่ดู การแข่งรถ ก็หยุดแข่ง ไม่ใช่อย่างนั้นครับ
เราจะดูหรือไม่ดูก็ตาม รถแข่งในสนาม ก็แข่งไปตามเรื่องของเขา

ในเรื่องการเกิดดับของอารมณ์ก็ทำนองเดียวกัน
ถ้าเรามีสติดู เราก็เห็น ถ้าเราขาดสติ เราก็ไม่เห็น
แต่ไม่ว่าเราจะมีสติดูหรือขาดสติก็ตาม
อารมณ์ก็เกิดดับเพราะสภาพแห่งความเป็นอนิจจังอยู่แล้ว

ในหลักการของการภาวนาแล้ว ถามว่าเราภาวนาเพื่ออะไร?
ตอบว่า เราภาวนาเพื่อให้เกิดสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นที่ถูกต้อง
ถามว่าเห็นถูกต้องว่าอย่างไร?
ตอบว่าเห็นว่าขันธ์ ๕ หรือรูปนามอยู่ภายใต้ความเป็นไตรลักษณ์
คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา
แต่ถ้าเราภาวนาไปแล้ว เรากลับเป็นว่าอารมณ์เที่ยง คงอยู่โดยตัวมันเอง
แล้วอารมณ์จะดับไปต่อเมื่อเรามีสติเกิดขึ้นมา
เช่นนั้นแล้วย่อมเป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนแล้ว

ในประเด็นนี้ ผมจะขออธิบายในอีกมุมหนึ่ง คือในเวลาที่บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันนั้น
ในพระสูตรต่าง ๆ เช่นทีฆนขสูตร(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์)
จะใช้คำว่า ธรรมจักษุปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแล้วว่า
“สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=13&A=4661&Z=4768&pagebreak=0

เช่นนี้แล้วการที่เราหมั่นฝึกฝนภาวนามีสติรู้รูปนามตามความเป็นจริง
ก็เพื่อให้จิตยอมรับความจริงว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา
สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา”
แต่หากเราภาวนาไปแล้ว เราเกิดความเข้าใจว่าอารมณ์เกิดขึ้นแล้ว อารมณ์ไม่ดับ

อารมณ์เที่ยง และต่อเมื่อเรามีสติเกิด อารมณ์จึงจะดับ
เช่นนี้ย่อมเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และไม่ตรงกับความจริงของรูปนาม

ดังนี้ ผมขอสรุปคำตอบสำหรับคำถามในกระทู้ที่ยกมาข้างต้นนะครับว่า
สติไม่ได้ทำให้อารมณ์ดับ แต่อารมณ์เกิดดับเพราะมีสภาพเป็นอนิจจัง
แต่ทีนี้ กรณียังมีบางท่านสงสัยว่า ถ้าสติไม่ได้ทำให้อารมณ์ดับ
แล้วทำไมจึงเคยได้ยินพระธรรมคำสอนว่าสติเป็นเครื่องกั้นกระแส

ในประเด็นนี้ ขอยก “อชิตปัญหา” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) ซึ่งเล่าว่า
อชิตมาณพทูลถามปัญหาพระผู้มีพระภาคว่า
“กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
ขอพระองค์จงตรัสบอกเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยธรรมอะไร”

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก
เรากล่าวสติว่าเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
กระแสเหล่านั้นอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=10976&Z=11005&pagebreak=0

ในเวลาที่อ่าน “อชิตปัญหา” เราอาจจะสงสัยว่า
คำว่า “กระแสทั้งหลาย” นี้คือกระแสอะไร
ซึ่งหากเราลองพิจารณาในอรรถกถาของ “อชิตปัญหา” แล้ว จะพบคำอธิบายว่า
“กระแสทั้งหลายย่อมแล่นไปในอารมณ์ทั้งปวง
คือกระแสมีตัณหาเป็นต้น ย่อมแล่นไปในอายตนะทั้งหลายมีรูปายตนะเป็นต้นทั้งปวง”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=425

นอกจากนี้ เราลองพิจารณา “อชิตมาณวกปัญหานิทเทส” (พระสุตตันตปิฎก       
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส) จะพบคำอธิบายว่า
“กระแสเหล่านี้ใด เราบอกแล้ว เล่าแล้ว แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แต่งตั้งแล้ว

เปิดเผยแล้ว จำแนกแล้ว ทำให้ตื้นแล้ว ประกาศแล้ว
คือกระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต กระแสอวิชชา”
คำว่า “ในโลก” คือ ในอบายโลก มนุษยโลก เทวโลก ขันธโลก ธาตุโลก อายตนโลก
“สติ” คือ ความระลึก ความตามระลึก ความระลึกเฉพาะ ความไม่หลงลืม
เป็นเครื่องกั้น คือ เป็นเครื่องห้าม เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเครื่องรักษา เป็นเครื่องคุ้มครอง
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สติเป็นเครื่องกั้นกระแสเหล่านั้น

ในเมื่อกระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ กระแสกิเลส กระแสทุจริต
หรือกระแสอวิชชาไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง
สติความระลึกได้ย่อมเป็นตัวกั้นกระแสเหล่านั้น
ยกตัวอย่างว่า สมมุติว่าเรามีอารมณ์โกรธใครสักคนหนึ่ง
ในเวลานั้น จิตใจเราก็หมกมุ่นครุ่นคิดโกรธคนนั้นไปเรื่อย
ถามว่าในเวลานั้นอารมณ์โกรธไม่เกิดดับหรือ?
ตอบว่าอารมณ์โกรธก็เกิดดับตามสภาพความเป็นอนิจจัง
แต่ด้วยความเป็นอนัตตาหรือเป็นไปตามเหตุปัจจัยแล้ว
ในเมื่อมีเหตุปัจจัยให้ความโกรธนั้นเกิดขึ้น ความโกรธก็เกิดขึ้นไปเรื่อย
แต่ด้วยความที่เราขาดสติ เราจึงไม่เห็นความโกรธเกิดดับต่อเนื่องนั้น
ความโกรธจึงเกิดดับอย่างต่อเนื่องเสมือนกระแสไหลไปในอารมณ์ในใจเรา
(แต่ในเวลานั้นที่เราไม่มีสติ เราก็รู้สึกเหมือนกับว่าความโกรธมีตัวเดียวอยู่ต่อเนื่อง)
ทีนี้ ต่อมา เมื่อเราเกิดมีสติขึ้น สติย่อมเป็นเครื่องกั้นกระแสความโกรธนั้น

โดยที่ผ่านมาความโกรธเกิดดับอย่างต่อเนื่องเป็นกระแสกิเลสต่อเนื่อง
แต่เมื่อมีสติเกิดขึ้น เกิดกุศลขึ้นมา สติย่อมเป็นตัวกั้นกระแสกิเลสดังกล่าวได้
เมื่อกิเลสกั้นกระแสความโกรธไม่ให้ไหลเข้าไปในอารมณ์แล้ว
อารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่สติกั้นกระแสกิเลสแล้ว จึงไม่ใช่อารมณ์โกรธนั่นเอง

อย่างไรก็ดี ในการภาวนาจริงของเรานั้น บางทีสติเราก็กั้นกระแสกิเลสได้ไม่นานนะครับ
โดยเรามีสติรู้สึกตัวเพียงครู่เดียว แล้วกระแสกิเลสก็ย้อนกลับมาลากพาเราไปอีกแล้ว
ถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?
ตอบว่า เพราะอินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ของเรายังอ่อนครับ
โดยเราก็ต้องฝึกฝนและพัฒนาไตรสิกขาไปเรื่อย ๆ
และเมื่อถึงวันหนึ่งที่ อินทรีย์ ๕ หรือพละ ๕ มีพลังแก่กล้าพอแล้ว
สติก็ย่อมจะมีแรงที่จะกั้นกระแสได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สรุปโดยรวมนะครับว่า อารมณ์เป็นอนิจจังและเกิดดับโดยสภาพ ไม่ได้เกิดดับเพราะสติเกิด
แต่เมื่อกระแสกิเลสไหลไปในอารมณ์ทั้งปวงอย่างต่อเนื่องแล้ว
สติย่อมเป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลสเหล่านั้น
การที่สติเป็นเครื่องกั้นกระแสไม่ได้แปลว่าทำให้อารมณ์เกิดดับ
สติเป็นเครื่องกั้นกระแส หมายถึง เป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหา กระแสทิฏฐิ
กระแสกิเลส กระแสทุจริต หรือกระแสอวิชชาที่ไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง
ส่วนอารมณ์นั้นก็เกิดดับไปตามสภาพความเป็นไตรลักษณ์ครับ

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
หมายเหตุ ขณะนี้ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่ง ณ วันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๕๘
ได้ทำการดำเนินการประกอบโครงหลังคาเสร็จแล้ว
และเตรียมนำไปประกอบกับโครงสร้างอาคารศาลาปฏิบัติธรรม
ในส่วนของห้องน้ำด้านนอกศาลาก็ได้เทพื้นเสร็จแล้ว

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์