Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๒๕

อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 225 

เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้พบคำถามจากญาติธรรมในเว็บบอร์ด
ในเรื่องเกี่ยวกับอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ ซึ่งท่านที่ถามคำถามนั้นได้ฟังแนวทางปฏิบัติมาว่า
“ถ้าจิตไปรู้อะไรให้รีบทิ้ง ทิ้งให้เร็วที่สุดเท่ากะพริบตา
ทิ้งแล้วมารู้ลมหายใจเป็นกายคตาสติ
โดยหากทิ้งได้เร็วเท่ากะพริบตาแล้ว ถือเป็นอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ”

ในคราวนี้ เราก็จะมาพิจารณากันว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวข้างต้น
สอดคล้องกับพระธรรมคำสอนในเรื่องอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ
และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร
โดยผมจะขอยกพระสูตรมาอ้างอิงและพิจารณาในหลาย ๆ แง่มุมนะครับ

ใน “อินทริยภาวนาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) สอนว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคตรัสถามอุตตรมาณพ ศิษย์พราหมณ์ปาราสิริยะว่า
“ดูกรอุตตระ ปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกหรือเปล่า”
อุตตรมาณพตอบว่า “แสดง พระโคดมผู้เจริญ”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า “ดูกรอุตตระ แสดงอย่างใด ด้วยประการใด”
อุตตรมาณพตอบว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้
ท่านปาราสิริยพราหมณ์แสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างนี้ว่า
อย่าเห็นรูปด้วยจักษุ อย่าได้ยินเสียงด้วยโสต”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ ดูกรอุตตระ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่เจริญอินทรีย์แล้ว
ตามคำของปาราสิริยพราหมณ์ ต้องเป็นคนตาบอด ต้องเป็นคนหูหนวก
เพราะคนตาบอดไม่เห็นรูปด้วยจักษุ คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียงด้วยโสต”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ อุตตรมาณพ ศิษย์ปาราสิริยพราหมณ์
นั่งนิ่ง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา หมดปฏิภาณ

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกับท่านพระอานนท์ว่า
“ดูกรอานนท์ ปาราสิริยพราหมณ์ย่อมแสดงการเจริญอินทรีย์แก่สาวกทั้งหลายอย่างหนึ่ง
ส่วนการเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ ย่อมเป็นอีกอย่างหนึ่ง”
จากนั้น พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงสอนว่า
“การเจริญอินทรีย์อันไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะเป็นอย่างไร
ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้น เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ
เธอรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ ก็สิ่งนั้นแล เป็นสังขตะ
หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา
เธอจึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย
อุเบกขาจึงดำรงมั่น ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที
โดยไม่ลำบากเหมือนอย่างบุรุษมีตาดีกะพริบตา ฉะนั้น อุเบกขาย่อมดำรงมั่น
ดูกรอานนท์ นี้เราเรียกว่า การเจริญอินทรีย์ในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ
อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=14&A=10912&pagebreak=0

ผมยกมาอ้างอิงเฉพาะในกรณีเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
หรือทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุเท่านั้น
โดยกรณียังมีประการอื่นอีกได้แก่ กรณีเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
หรือเกิดทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ เพราะได้ยินเสียงด้วยโสตก็ดี
เพราะดมกลิ่นด้วยฆานะก็ดี เพราะลิ้มรสด้วยชิวหาก็ดี
เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายก็ดี หรือเพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนก็ดี
ซึ่งเมื่อเกิดสิ่งดังกล่าวแล้ว เรารู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเกิดความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจขึ้นแล้วเช่นนี้ สิ่งนั้นเป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น
ยังมีสิ่งที่ละเอียด ประณีต นั่นคือ อุเบกขา จึงดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ
ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจอันเกิดขึ้นแล้วนั้นเสีย อุเบกขาจึงดำรงมั่น
โดยหากสามารถดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจ ทั้งความชอบใจและไม่ชอบใจ
อันเกิดขึ้นแล้วอย่างนี้ได้เร็วพลันทันที โดยไม่ลำบากเหมือนอย่าง
บุรุษมีกำลัง ดีดนิ้วมือโดยไม่ลำบากก็ดี
หยาดน้ำกลิ้งไปบนใบบัว ย่อมไม่ติดในที่ที่กลิ้งไปสักน้อยหนึ่งก็ดี
บุรุษมีกำลัง ตะล่อมก้อนเขฬะไว้ตรงปลายลิ้น แล้วถ่มไปโดยไม่ลำบากก็ดี
บุรุษมีกำลัง เหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียดโดยไม่ลำบากก็ดี
หรือบุรุษมีกำลัง หยดหยาดน้ำสองหรือสามหยาดลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน
ความหยดลงแห่งหยาดน้ำยังช้า ทันทีนั้นหยาดน้ำนั้นจะถึงความสิ้นไป แห้งไปเร็วทีเดียวก็ดี
เช่นนี้เรียกว่า การเจริญอินทรีย์อย่างไม่มีวิธีอื่นยิ่งกว่าในวินัยของพระอริยะ
หรือที่บางท่านเรียกว่าอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ

อนึ่ง “สังขตะ” แปลว่า มีเหตุปัจจัยผสมปรุงแต่งให้มีขึ้น
การที่เราเห็นว่าสิ่งนี้อาศัยกันและกันเกิดขึ้น หรือเป็นไปตามเหตุปัจจัยผสมปรุงแต่งให้มีขึ้น
ก็คือการเห็นอนัตตานั่นเอง ซึ่งเมื่อรู้ชัดว่าสิ่งนี้เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน
และมีสิ่งที่ละเอียดกว่าคืออุเบกขาแล้ว จึงดับความชอบใจและความไม่ชอบใจนั้น
โดยเราจะสังเกตได้ว่าในกระบวนการนี้ มีการรู้ชัด และเห็นความเป็นไตรลักษณ์
ในสภาวธรรมของความชอบใจและไม่ชอบใจนั้นด้วย
คำสอนในพระสูตรท่านไม่ได้สอนว่าเมื่อเห็นจักษุเห็นรูปแล้ว
ให้รีบดับอารมณ์ หรือดับความชอบใจ ความไม่ชอบใจนั้น

ในส่วนท้ายของข้อแรกมีประโยคบอกว่า “ทิ้งแล้วมารู้ลมหายใจเป็นกายคตาสติ”
เราจึงควรไปพิจารณาพระสูตรในเรื่อง “กายคตาสติ” ด้วย
ใน “กายคตาสติสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) สอนว่า
“กายคตาสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่นเฉพาะหน้า
เธอย่อมมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจออก
ว่าเราจักเป็นผู้กำหนดรู้กองลมทั้งปวง หายใจเข้า
สำเหนียกอยู่ ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจออก ว่าเราจักระงับกายสังขาร หายใจเข้า
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้
ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้
จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังเดิน หรือยืนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังยืน
หรือนั่งอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนั่ง หรือนอนอยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังนอน
หรือเธอทรงกายโดยอาการใดๆ อยู่ ก็รู้ชัดว่ากำลังทรงกายโดยอาการนั้น ๆ
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้
ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้
เพราะละความดำริพล่านนั้นได้ จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น
ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้นตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ประการอื่นยังมีอีก
ภิกษุย่อมเป็นผู้ทำความรู้สึกตัวในเวลาก้าวไปและถอยกลับ
ในเวลาแลดู และเหลียวดู ในเวลางอแขนและเหยียดแขน
ในเวลาทรงผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร ในเวลา ฉัน ดื่ม เคี้ยว และลิ้ม
ในเวลาถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ในเวลา เดิน ยืน นั่ง นอนหลับ ตื่น พูด และนิ่ง
เมื่อภิกษุนั้นไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่อย่างนี้
ย่อมละความดำริพล่านที่อาศัยเรือนเสียได้ เพราะละความดำริพล่านนั้นได้
จิตอันเป็นไปภายในเท่านั้น ย่อมคงที่ แน่นิ่ง เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุก็ชื่อว่าเจริญกายคตาสติ”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=4182&Z=4496&pagebreak=0

ผมยกมาเพียงบางย่อหน้าจาก “กายคตาสติสูตร” แต่เราก็จะเห็นได้ว่า
คำกริยาของการเจริญกายคตาสติใน ๓ ย่อหน้าที่ได้ยกมาดังกล่าวก็คือ
“รู้ชัด” หรือ “เป็นผู้ทำความรู้สึกตัว”
โดยเมื่อไม่ประมาท มีความเพียรในการเป็นผู้รู้สึกตัวหรือรู้ชัดเช่นนี้แล้ว
ผลก็คือ ย่อมละความดำริพล่านเสียได้
เช่นนี้ พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ “รู้ชัด” ในกาย
ซึ่งเมื่อเพียรทำแล้ว ย่อมละความดำริพล่านได้
ท่านไม่ได้ทรงสอนว่าเมื่ออารมณ์อะไรผ่านมาแล้วปัดทิ้ง เพื่อละความดำริพล่านครับ

ในเรื่องของการ “รู้ชัด” เห็นความชอบใจและความไม่ชอบใจเหล่านี้ เป็นสังขตะ
อาศัยกันเกิดขึ้น หรือเป็นไตรลักษณ์นี้ ยังได้มีสอนในพระสูตรอื่น ๆ อีก ยกตัวอย่างเช่น
ใน “อนิจจสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) สอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา เธอทั้งหลาย พึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
นั่นไม่ใช่ของเรา. นั่นไม่เป็นเรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา
เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้
จิตย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่ถือมั่น”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=17&A=1007&Z=1024&pagebreak=0

ในโสณสูตร (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค) สอนว่า
“ท่านพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
รูปทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
เวทนาทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
สัญญาทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

สังขารอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
สังขารทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน เป็นภายในหรือภายนอก
หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต อยู่ในที่ไกลหรือใกล้
วิญญาณทั้งหมดนั่น ไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ดูกรโสณะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย
แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว
ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=17&A=1083&Z=1138&pagebreak=0

จากอนิจจสูตร และโสณสูตรข้างต้น เราจะเห็นได้ว่า
พระผู้มีพระภาคทรงสอนว่า “ให้เห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง”
ถามว่า เห็นความจริงว่าอย่างไร?
ตอบว่า เห็นว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณไม่เที่ยง
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
สิ่งใดเป็นอนัตตา เราพึงเห็นสิ่งนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงว่า
สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่เป็นเรา และไม่ใช่ตัวตนของเรา
ซึ่งเมื่อเห็นความจริงอยู่อย่างนี้แล้ว จิตย่อมคลายกำหนัด
หรือย่อมเบื่อหน่ายในรูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ
ซึ่งเมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด โดยเป็นเหตุปัจจัยตามลำดับขั้นตอน
โดยเราจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคไม่ได้ทรงสอนว่า ให้เธอจงเบื่อหน่าย
หรือจงคลายกำหนัดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
หรือทรงสอนว่ามีอารมณ์อะไรผ่านมา ให้ปัดทิ้งให้หมดแต่อย่างใดครับ

ในเรื่องของการเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามจริงนี้ ผมจะขออธิบายในอีกมุมหนึ่ง
โดยพิจารณาจากเรื่อง “โพชฌงค์” นะครับ
ใน “อวิชชาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต) สอนว่า
สติปัฏฐาน ๔ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ ที่บริบูรณ์ ย่อมยังวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=2712&Z=2781&pagebreak=0

โพชฌงค์ประกอบด้วย สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
ทีนี้ หากจิตไปรับรู้ธรรมารมณ์ใด ๆ แล้ว เรารู้ชัด โดยเห็นความเป็นสังขตะ หยาบ อาศัยกันเกิดขึ้น
กล่าวคือเราเห็นตามจริง ถามว่าเห็นอะไร?
ตอบว่าเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของธรรมารมณ์นั้น
ซึ่งตอนที่รู้เรียกว่า สติสัมโพชฌงค์
เมื่อรู้แล้วไม่แทรกแซง ตามดูมันไปตามจริง เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ (หรือวิจัยธรรมะ)
เราเพียรตามดูไปเรื่อย ๆ เรียกว่ามีวิริยสัมโพชฌงค์
เมื่อมีความเพียรดูไปเรื่อย ๆ แล้ว ย่อมเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของธรรมารมณ์ต่าง ๆ
ย่อมเกิดมีปีติ เรียกว่า ปีติสัมโพชฌงค์
เมื่อเพียรดูไปเรื่อย ๆ เห็นความเป็นสังขตะดังกล่าวแล้ว
ย่อมละความดำริพล่าน เกิดความสงบ เรียกว่า ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
เมื่อจิตใจมีความสงบ ย่อมมีกำลัง ทำให้เกิดความตั้งมั่น นี้เรียกว่า สมาธิสัมโพชฌงค์
เมื่อจิตใจมีความตั้งมั่นแล้ว ด้วยการเห็นความเป็นสังขตะของธรรมารมณ์ตามจริง
ย่อมทำให้เกิดความเป็นกลางนี้เรียกว่า อุเบกขาสัมโพชฌงค์

แต่หากมาลองพิจารณาในอีกทางหนึ่ง หากจิตไปรับรู้ธรรมารมณ์ต่าง ๆ แล้วให้ละทิ้งทันที
ตอนที่รู้นั้น ก็มี “สติสัมโพชฌงค์” นะครับ
แต่ในเมื่อไม่ได้ดูไปตามจริง ก็ไม่มี “ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์” แล้ว
เราจะไปวิจัยรูปนามที่เกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อรู้อะไร ก็ละหรือโยนทิ้งหมด
ก็จะไม่ครบองค์ประกอบของโพชฌงค์แล้ว

หากเราจะลองพิจารณาจากอีกมุมหนึ่งในเรื่องของการละอวิชชาบ้าง
ใน “อวิชชาสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค)
ซึ่งชื่อเหมือนกับอวิชชาสูตรที่ยกมาแล้วข้างต้นแต่เป็นคนละพระสูตรกัน ได้สอนว่า
“ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่ง ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว
ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่หรือ พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้
วิชชาย่อมเกิดขึ้น มีอยู่”

ภิกษุทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมข้อหนึ่งซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว
ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาเกิดขึ้นนั้น เป็นไฉน พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ ธรรมข้อหนึ่ง คือ อวิชชาแล
ซึ่งเมื่อภิกษุละได้แล้ว ย่อมละอวิชชาได้ วิชชาย่อมเกิดขึ้น”

ภิกษุทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างไร เห็นอยู่อย่างไร จึงละอวิชชาได้
วิชชาจึงเกิดขึ้น พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งจักษุ โดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งรูป จักษุวิญญาณ จักษุสัมผัส
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย
โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งหู โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น
เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งเสียง โสตวิญญาณ โสตสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะโสตสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งจมูก โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น
เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งกลิ่น ฆานวิญญาณ ฆานสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะฆานสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งลิ้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น
เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งรส ชิวหาวิญญาณ ชิวหาสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งกาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น
เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งโผฏฐัพพะ กายวิญญาณ กายสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะกายสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

เมื่อภิกษุรู้อยู่ เห็นอยู่ซึ่งใจ โดยความเป็นของไม่เที่ยง จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น
เมื่อภิกษุรู้อยู่เห็นอยู่ซึ่งธรรมารมณ์ มโนวิญญาณ มโนสัมผัส สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

ดูกรภิกษุ เมื่อภิกษุรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้แล จึงละอวิชชาได้ วิชชาจึงเกิดขึ้น”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=1165&Z=1182&pagebreak=0

สังเกตว่าแม้ในอวิชชาสูตร (อีกพระสูตรหนึ่ง) ที่ยกมานี้ ก็ทรงสอนให้เห็นว่า
อินทรีย์ทั้ง ๖ และผัสสะทั้งหลายที่มากระทบรวมทั้ง สุขเวทนา ทุกขเวทนา
หรืออทุกขมสุขเวทนา ที่เกิดขึ้นเพราะผัสสะทั้งหลายเป็นปัจจัยว่าเป็นของไม่เที่ยง
จึงจะเป็นหนทางในการละอวิชชาได้ และวิชชาจึงเกิดขึ้น
ท่านไม่ได้ทรงสอนว่าอะไรก็ตามที่มากระทบแล้ว ให้รีบละทิ้งให้หมด
แต่ท่านทรงสอนว่าให้เห็น โดยความเป็นของไม่เที่ยง
ซึ่งก็คือการเห็น “อนิจจัง” ซึ่งเป็นหนึ่งในไตรลักษณ์นั่นเอง

เราได้พิจารณากันมาในหลายพระสูตร และในหลายแง่มุมแล้วดังที่กล่าวข้างต้น
ซึ่งก็จะเห็นได้ว่าไม่มีพระธรรมคำสอนพระสูตรไหนสอนว่า
“ถ้าจิตไปรู้อะไรให้รีบทิ้ง ทิ้งให้เร็วที่สุด”
แต่ในพระธรรมคำสอนพระสูตรล้วนแต่สอนให้เห็นสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นสังขตะ
เห็นในความเป็นของไม่เที่ยง เห็นเป็นสิ่งที่อาศัยกันเกิดขึ้น เห็นในความเป็นอนัตตา
หรือเป็นไตรลักษณ์ ซึ่งเมื่อเห็นดังกล่าว จึงจะละอวิชชาได้ วิชชาจึงจะเกิดขึ้น

เช่นนี้แล้ว แนวทางปฏิบัติที่ว่า ถ้าจิตไปรู้อะไรให้รีบทิ้ง ทิ้งให้เร็วที่สุด ในคำถามตอนแรกนั้น
ผมจึงเห็นว่าแนวทางปฏิบัติดังกล่าวไม่สอดคล้องกับคำสอนใน “อินทริยภาวนาสูตร”
และพระสูตรอื่น ๆ ที่ได้ยกขึ้นมาข้างต้นนะครับ
เพราะไม่มีเรื่อง “รู้ชัด” และไม่เห็นความเป็นสังขตะของขันธ์ต่าง ๆ
แต่กลับไปพยายามดับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจิตใจ

บางท่านอาจจะรู้สึกว่า ๒ แบบนี้ก็ใกล้เคียงกัน หรือเหมือนกันนั่นแหละ
เพราะว่าท้ายสุดแล้ว ความชอบใจและความไม่ชอบใจก็ดับเหมือนกัน
แต่ว่าจริง ๆ แล้ว มีความแตกต่างกันเยอะมากนะครับ
เพราะว่าการภาวนาในแบบที่มีสติรู้และเห็นความเป็นสังขตะหรือเห็นไตรลักษณ์นี้
จะต้องมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมาเท่านั้น เราจึงจะมีโอกาสศึกษาและปฏิบัติในเรื่องนี้
ส่วนกรณีที่ให้ดับอารมณ์นั้น ไม่ได้เห็นไตรลักษณ์อะไร
แม้ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นมา บรรดาฤๅษีต่าง ๆ ก็ฝึกดับอารมณ์เหล่านี้เป็น
แล้วก็ไปเป็นพรหมได้ แต่ไม่สามารถไปนิพพานได้ครับ

(อนึ่ง ในกระทู้ที่สนทนาเรื่องนี้ นอกจากจะสนทนาเรื่องอินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศแล้ว
ยังได้สนทนาเรื่องสติเกิด ทำให้อารมณ์ดับหรือไม่ด้วย
แต่ผมจะขอยกไปสนทนาในตอนหน้าครับ เพราะตอนนี้มีเนื้อหายาวมากแล้ว)

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +

หมายเหตุ ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ญาติธรรมท่านหนึ่งได้โอนเงินร่วมทำบุญ
เพื่อปิดยอดที่ขาดอยู่ สำหรับศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์แล้วจนครบแล้ว
ผมจึงขอเรียนญาติธรรมทุกท่านว่า การเรี่ยไรจัดสร้างศาลาปฏิบัติธรรมดังกล่าว
ได้เงินครบถ้วนตามงบประมาณจำนวน ๖.๕ ล้านบาทแล้วครับ
อย่างไรก็ดี ผมก็จะอัพเดทการก่อสร้างศาลาต่อไปจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
และเปิดใช้งานได้ตามวัตถุประสงค์ที่ทำการเรี่ยไรนะครับ
อนึ่ง ณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๘ การก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
อยู่ระหว่างวางโครงเหล็กหลังคา และสร้างฐานและเสาห้องน้ำนอกศาลาครับ

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามกิจกรรมการจัดค่ายเรียนรู้กายใจสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน ได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์