Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๒๒

เตรียมตัวเป็นผู้สูงวัย

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 222 

องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ให้นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ”
หมายถึง ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า ๖๐ ปีขึ้นไป
โดยได้แบ่งระดับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็น ๓ ระดับ ได้แก่
๑. ระดับ “สังคมผู้สูงอายุ” (Aging society) หมายถึง
สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรทั้งประเทศ
หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ ๖๕ ปีมากกว่าร้อยละ ๗ ของประชากรทั้งประเทศ
๒. ระดับ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” (Aged society) หมายถึง
สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ
หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ ๖๕ ปี มากกว่าร้อยละ ๑๔ ของประชากรทั้งประเทศ
๓. ระดับ “สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่” (Super-aged society) หมายถึง
สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ ๖๕ ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ
http://www.stou.ac.th/stouonline/lom/data/sec/Lom12/05-01.html

ในส่วนของประเทศไทยเรานั้น ขณะนี้เราได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุ” แล้ว
และคาดการณ์กันว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” ภายในไม่เกิน ๑๐ ปี
และต่อจากนั้นอีกไม่เกิน ๑๐ ปีประเทศไทยก็จะเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่”
หรือกล่าวได้ว่า ในอีกไม่เกิน ๒๐ ปี ประเทศไทยเราจะมีประชากรอายุ ๖๕ ปีขึ้นไป
มากกว่าร้อยละ ๒๐ ของประชากรทั้งประเทศ
http://www.thairath.co.th/content/415955
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000041848
http://www.hfocus.org/content/2015/04/9668
http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9560000015532
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000005551

ในคราวนี้ เราจะมาสนทนากันในเรื่องข้อคิดในการเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยกันครับ
ซึ่งในเรื่องการเตรียมตัวเป็นผู้สูงวัยโดยส่วนใหญ่ที่เรามักจะพบกันนั้น
หลายท่านมักจะเตรียมตัวแต่เฉพาะในเรื่องทางการเงินอย่างเดียว
โดยหลายท่านพิจารณาเพียงว่าหาเงินให้ได้เยอะ ๆ แล้วก็นำเงินไปลงทุน
เพื่อที่เวลาภายหลังตนเองเกษียณแล้วจะได้มีเงินเก็บเพียงพอไว้ใช้จ่าย
ซึ่งจริง ๆ แล้ว เรื่องการเงินนั้นถือเป็นเพียงประเด็นเรื่องเดียวเท่านั้น
แต่ก็มีประเด็นเรื่องอื่น ๆ ที่เราควรจะพิจารณาและเตรียมพร้อมด้วย ดังต่อไปนี้

๑. เตรียมพร้อมในเรื่องเป้าหมายชีวิต
โดยกำหนดเป้าหมายชีวิตของตนเอง เพื่อสร้างประโยชน์ที่มีคุณค่าให้แก่ชีวิต
ไม่ได้เพียงแค่เกิดมาแล้วก็อยู่ไปเรื่อย ๆ แล้วก็ตายอย่างสูญเปล่าไปชีวิตหนึ่ง
แต่มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจนว่าเราจะใช้โอกาสชีวิตนี้เพื่อสร้างประโยชน์ที่มีคุณค่าอย่างไร

๒. เตรียมพร้อมในเรื่องการปฏิบัติและการภาวนา
โดยเริ่มหมั่นศึกษาและฝึกฝนในเรื่องการปฏิบัติและการภาวนาไว้เสมอในปัจจุบัน
ไม่รอว่าจะให้แก่ชราก่อนแล้วค่อยเริ่มปฏิบัติและภาวนา
เนื่องจากการศึกษาและฝึกฝนในระหว่างที่ยังไม่แก่ชรานี้ทำได้ง่ายกว่า
และถือเป็นการไม่ประมาทในชีวิตด้วย

๓. เตรียมพร้อมในเรื่องจิตใจ
โดยเริ่มสร้างสมจิตใจที่ดี และสะสมจิตใจที่เป็นกุศลตั้งแต่ในปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อแก่ชราแล้ว เมื่อมีสิ่งใด ๆ ที่ไม่น่ายินดี หรือไม่น่าพอใจเกิดขึ้น
จิตใจก็สามารถยอมรับได้ และมีความสุขได้
ในทางกลับกัน หากสะสมแต่จิตใจที่มีโทสะ และไม่พอใจในปัจจุบัน
เมื่อยามแก่ชราแล้ว จิตใจก็จะมีแต่โทสะ และมีแต่เรื่องที่ไม่น่าพอใจ และชีวิตไม่มีความสุข

๔. เตรียมพร้อมในเรื่องสุขภาพ
โดยเริ่มศึกษาหาความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ และหมั่นดูแลสุขภาพตนเองให้ดีตั้งแต่ในปัจจุบัน
ซึ่งเมื่อยามแก่ชราแล้ว สุขภาพก็จะได้ไม่ทรุดโทรมมาก
และเราสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้ในแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพมากเกินไป
หากเราไม่มีความรู้ในเรื่องการดูแลสุขภาพ หรือเราใช้สุขภาพอย่างสิ้นเปลืองมากในปัจจุบัน
เมื่อยามแก่ชราแล้ว ค่าใช้จ่ายในเรื่องสุขภาพจะสูงมาก และเราเก็บเงินไว้เท่าไรก็ไม่เพียงพอ
ประกอบกับปัญหาเรื่องสุขภาพจะทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก

๕. เตรียมพร้อมในเรื่องวิถีการดำเนินชีวิตอย่างมักน้อยและสันโดษ
โดยฝึกใช้ชีวิตอย่างมักน้อยและสันโดษตั้งแต่ปัจจุบันนี้
ไม่หลงใหลใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อ หรือหลงไปตามระบบทุนนิยม
ซึ่งเมื่อเราสามารถใช้จ่ายและกินอยู่อย่างมักน้อยและสันโดษได้ในปัจจุบันแล้ว
ในอนาคต เราก็ย่อมจะปรับตัวให้กินอยู่อย่างมักน้อยและสันโดษได้
โดยไม่เดือดร้อนอะไร แม้ว่าเราจะมีรายได้ที่ลดลง
แต่หากเรากินอยู่และใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยไปเรื่อย
เงินเก็บก็จะไม่มี และเป็นการฝึกนิสัยที่ใช้จ่ายเยอะจนเคยตัว
เมื่อแก่ชราและมีรายได้ที่ลดลงแล้ว ก็จะปรับตัวในการใช้ชีวิตได้ยาก

๖. เตรียมพร้อมในเรื่องบุตรหลาน
ในกรณีที่เรามีบุตรหลานแล้ว สิ่งที่สำคัญคือต้องสั่งสอนให้บุตรหลานเป็นคนดี
และให้บุตรหลานสามารถช่วยเหลือดูแลตนเองได้
หากบุตรหลานเป็นคนไม่ดี และล้างผลาญแล้ว
ไม่ว่าเราจะเก็บเงินไว้มากมายอย่างไร ก็ไม่เพียงพอครับ
เพราะบุตรหลานก็สามารถล้างผลาญจนหมดได้ในเวลาไม่นาน
หรือทำให้เราต้องมีภาระใช้จ่ายและคอยดูแลบุตรหลานไปเรื่อยอย่างไม่สิ้นสุด

๗. เตรียมพร้อมในเรื่องการเงินและอาชีพ
โดยเตรียมความพร้อมในเรื่องการเงินไว้ใช้จ่ายยามฉุกเฉิน และใช้จ่ายยามเกษียณ
แต่เราไม่ควรมองว่าเมื่อเกษียณแล้ว เราจะอยู่บ้านเฉย ๆ โดยไม่ได้ทำอะไร
ในทางกลับกัน เราสามารถจะมองหาอาชีพอื่น ๆ ไว้ด้วยว่าเรายังทำงานอื่น ๆ ได้
โดยควรเป็นงานที่มีความเสี่ยงต่ำ และไม่ต้องลงทุนมาก
แต่ช่วยสร้างรายได้พอสมควรให้เราอยู่ได้อย่างมักน้อยและสันโดษ โดยไม่ฟุ้งเฟ้อ

ดังนี้ เราจะเห็นได้ว่าการเตรียมความพร้อมทางการเงินอย่างเดียวนั้น ยังไม่เพียงพอ
และไม่ช่วยให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข หรือสามารถเอาตัวรอดได้นะครับ
เพราะหากเราโดนโกงไปเพียงคราวเดียว เงินก็หมดได้
หรือหากมีลูกหลานล้างผลาญ เงินก็หมดได้
หรือหากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงมาก เงินก็หมดได้ เป็นต้น
โดยจะเห็นได้ว่าผมจัดลำดับการเตรียมความพร้อมเรื่องการเงินไว้ข้อสุดท้ายด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านบางท่านที่เป็นผู้สูงวัยแล้วในขณะนี้ก็ตาม
ก็สามารถนำข้อคิดเหล่านี้ไปปรับใช้ได้ตามสภาพและตามที่เหมาะสมครับ

 

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +  + +


หมายเหตุ

ณ วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้เทคอนกรีตเสาครบทุกต้นแล้ว และกำลังเริ่มทำคานบนสำหรับทำหลังคาครับ
โดย ณ วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๕๘ มียอดร่วมทำบุญสะสมทั้งหมด
ประมาณ ๖.๒๑๖ ล้านบาท (๙๖% ของงบประมาณ)
และยังขาดปัจจัยสำหรับก่อสร้างอยู่อีกประมาณ ๒.๘๔ แสนบาท (๔% ของงบประมาณ) ครับ
ก็ถือว่าญาติธรรมได้ร่วมช่วยเหลือทำบุญกันมาเกือบครบแล้ว ขาดอีกไม่มากครับ

ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายศีลธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้

 
ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai

และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์