Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๒๑

ไม่มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรม (ตอนที่ ๒)

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 221 

ผมได้เคยเขียนเรื่องไม่มีเวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมไปแล้วตอนหนึ่ง
ในฉบับที่ ๑๔๘ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๕ นะครับ

http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/676-2012-06-06-15-09-57

ในเรื่องไม่มีเวลานี้ ผมเชื่อว่าผู้อ่านบางท่านก็อาจมีภาระงานต้องรับผิดชอบหลายอย่าง
ทั้งงานในที่ทำงาน และงานภาระทางครอบครัวที่บ้าน
วันธรรมดาก็ต้องทำงานประจำหลายอย่างมากมาย กลับถึงบ้านก็หมดแรงสลบเหมือด
วันหยุดก็มีนัดหมายต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ กับครอบครัวหรือภาระหน้าที่งานอื่น ๆ
กลายเป็นว่าวันธรรมดาก็มีหน้าที่ต้องทำงานทั้งวัน
พอวันหยุดก็มีนัดหมายต้องทำกิจกรรมอื่น ๆ หรือรับผิดชอบหน้าที่อื่น ๆ อีก
เมื่อมองตารางเวลาของตนเองในแต่ละวันทั้งวันธรรมดา และวันหยุดแล้ว
ก็ไม่พบว่าจะมีเวลาไหนว่างเยอะ ๆ มาภาวนาได้
หันไปมองเทียบกับญาติธรรมอื่น ๆ ที่อาจมีเวลาไปภาวนาที่วัดหรือสถานปฏิบัติธรรม
(ไม่ว่าจะไปเข้าคอร์สภาวนา หรือไปภาวนาเองส่วนตัวก็ตามที)
แต่เราเองก็ไม่ได้มีโอกาสไปภาวนาเหมือนกับญาติธรรมอื่น ๆ เขา
ไม่ว่าจะด้วยข้อจำกัด หรือเหตุผลส่วนตัวใด ๆ ก็ตาม
ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าเราไม่ได้มีเวลาหรือโอกาสภาวนาเท่าไรในแต่ละวัน
ในขณะที่วันเวลาก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
เราก็อาจรู้สึกว่าเวลาผ่านไปแล้ว แต่เรายังภาวนาไปได้ไม่ถึงไหนเลย

ส่วนตัวผมเองก็มีปัญหาทำนองนี้เหมือนกันนะครับ
แม้ว่าจะพยายามแบ่งเวลาในแต่ละวันมาภาวนาในรูปแบบ
และพยายามใช้เวลาระหว่างวันเจริญสติในชีวิตประจำวันแล้วก็ตาม
แต่บางทีก็มีบ่อยครั้งที่รู้สึกอยากจะมีเวลาภาวนาให้มากกว่านี้
บ่อยครั้งก็อดน้อยใจไม่ได้ว่าทำไมภาระงานและความรับผิดชอบเราจึงเยอะเหลือเกิน
เทียบกับญาติธรรมใกล้ตัวบางท่านที่มีเวลาว่างเยอะกว่าเรามากในแต่ละวัน

ในกรณีที่ประสบปัญหาดังกล่าว ก่อนอื่นเราก็ควรต้องมีสติรู้ทันสิ่งที่เกิดขึ้นในใจเรานะครับ
หากใจรู้สึกอยากจะมีเวลาภาวนามากขึ้น อยากจะบรรลุมรรคผล ก็ให้รู้ทันความอยาก
หากใจรู้สึกหดหู่น้อยใจว่าไม่ได้มีเวลาภาวนา ก็ให้รู้ทันความหดหู่น้อยใจ
หากไม่พอใจว่าตนเองมีภาระงานและหน้าที่รับผิดชอบมาก ก็ให้รู้ทันความไม่พอใจ
โดยเราไม่ปล่อยให้กิเลสหรือตัณหาต่าง ๆ เข้ามาครอบงำใจ
และเราเห็นว่ากิเลสตัณหาทั้งหลายที่ผ่านมานี้ ก็อยู่ใต้ไตรลักษณ์ทั้งสิ้น
คือเป็นอนิจจัง (ไม่เที่ยง) เป็นทุกขัง (ทนอยู่ไม่ได้)
และเป็นอนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนที่จะยึดถือเอาได้ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้)

เมื่อเราไม่ถูกกิเลสหรือตัณหาต่าง ๆ ครอบงำใจแล้ว
เราก็ค่อย ๆ หาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยผมจะแบ่งเป็น ๒ ส่วนครับ
ส่วนแรกคือ เราก็ต้องพยายามจัดสรรเวลา และแบ่งเวลามาภาวนานะครับ
ซึ่งในส่วนนี้ ผมได้คุยไปแล้วในตอนที่หนึ่งในฉบับที่ ๑๔๘ เดือนมิถุนายน ๒๕๕๕
สำหรับในส่วนที่สองเป็นเรื่องการสร้างกำลังใจในการภาวนา
โดยต่อให้เราจะมีภาระงานและหน้าที่รับผิดชอบมากมายก็ตาม
แต่เราก็ไม่ควรท้อถอยหรือมองว่าเราจะไม่มีเวลาภาวนาเลย
ในทางกลับกัน เวลาตื่นนอนขึ้นมาในแต่ละวัน
เราควรจะพิจารณาและเห็นว่า เราจะได้ภาวนาเพิ่มขึ้นอีกแล้วในวันนี้
จะได้มากหรือได้น้อยก็แล้วแต่ความขยันและโอกาสในวันนั้น ๆ
แต่ว่าในแต่ละวันนั้น เราจะไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไป เราจะแบ่งเวลามาภาวนา
ได้น้อยหรือได้มากก็ตาม แต่ก็ถือว่าได้ภาวนาเพิ่มมากขึ้นจากเมื่อวานนี้
เมื่อสิ้นวันผ่านไป เราก็พอใจได้ว่าเราได้ภาวนาตามความขยันและโอกาสในวันนั้น ๆ แล้ว
หากคิดถึงในวันพรุ่งนี้ เราก็มองไปข้างหน้าได้อีกว่าเราจะได้ภาวนาเพิ่มอีก
โดยในการมองเช่นนี้ก็จะเป็นการสนับสนุนและสร้างกำลังใจให้แก่เราไม่ให้ท้อถอยครับ
เปรียบเสมือนกับว่าเราเติมน้ำลงไปในตุ่มวันละหนึ่งหยดหรือครึ่งหยดก็ตาม
แม้ว่าจะน้อย แต่น้ำในตุ่มก็เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ เราเติมไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุด อาจจะช้าบ้าง
แต่สักวันหนึ่งในอนาคต น้ำในตุ่มใบนี้ก็ต้องเต็มตุ่มเหมือนกันครับ

สิ่งที่ไม่สมควรทำอย่างยิ่งเลยก็คือ บางท่านอาจจะปล่อยเรื่องนี้ไปเลย
แล้วก็มองว่าเอาไว้ค่อยไปภาวนาตอนแก่ชรา หรือภายหลังเกษียณก็ได้
ถ้ามองอย่างนั้นแล้ว ถือว่าเสียโอกาสอย่างมากครับ และมีข้อเสียหลายประการ เช่น
๑. ในปัจจุบันนี้ ร่างกายเรายังแข็งแรงกว่า ยังเดินจงกรมได้สะดวก นั่งสมาธิได้สบาย
ความจำยังดี สมองยังดี ก็น่าจะสะดวกสบายกว่าในการที่จะภาวนา
หรือแม้แต่จะทำวัตรสวดมนต์ก็ตาม ถ้าหากเรารอไปจนแก่ชราหรือหลังเกษียณแล้ว
ร่างกายก็เสื่อมถอยลง ก็น่าจะภาวนาสู้ในขณะนี้ไม่ได้เป็นแน่
๒. กรณีก็ไม่แน่นอนว่าเราจะมีชีวิตอยู่ไปจนถึงแก่ชราหรือหลังเกษียณหรือไม่
เราอาจจะตายก่อนและไม่ได้มีโอกาสภาวนาเลยก็ได้ เพราะชีวิตเป็นของไม่แน่นอน
ถ้าจะให้แน่นอน ก็พึงทำตั้งแต่ปัจจุบันนี้ครับ โดยเก็บสิ่งที่มีคุณค่าที่สุดในชีวิตมนุษย์ไว้ก่อน
๓. หากเราไม่สนใจที่จะภาวนาในปัจจุบันนี้ แต่ปล่อยปละละเลยไปมัวสนใจแต่เรื่องอื่น ๆ
ก็จะเป็นการฝึกความเคยชินที่จะไม่ภาวนา ซึ่งในเมื่อปัจจุบันไม่สนใจภาวนา
และก็มัวแต่มุ่งไปสนใจในเรื่องอื่น ๆ แล้ว เราก็จะเคยชินเช่นนั้น
พอเราแก่ชรา เราก็จะสนใจทำสิ่งที่เคยชิน ก็คือไม่ได้ภาวนาอีกนั่นแหละครับ

สรุปแล้ว ถ้าเรารู้สึกว่าไม่มีเวลาภาวนาเลย ก็ให้มีสติรู้ทันใจก่อนนะครับ
จากนั้นก็สร้างกำลังใจในการมุ่งมั่นที่จะภาวนา โดยตั้งใจทำทุกวัน
และก็ให้กำลังใจตัวเองว่าบางวันอาจทำได้น้อย แต่ก็ยังถือว่าได้ภาวนาไว้เพิ่มมากกว่าเดิม
ก็ถือว่ายังดี และไม่ใช่เรื่องที่จะน่าน้อยใจหรือท้อใจ
นอกจากนั้น เราก็พึงบริหารจัดสรรเวลาให้ดีในแต่ละวัน พยายามตัดสิ่งไร้สาระออกไป
ส่วนที่สำคัญคือ เราจะต้องภาวนาโดยการเจริญสติในชีวิตประจำวันให้เป็นหรือให้ได้
ถ้าเราสามารถภาวนาโดยการเจริญสติในชีวิตประจำวันได้แล้ว
เราก็จะสามารถหาเวลามาภาวนาในแต่ละวันได้ง่ายมากขึ้น
เพราะว่าในการใช้ชีวิตธรรมดาในแต่ละวันของเรานั้น
ไม่ว่าจะเป็นการยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด หรือร่างกายจะอยู่ในอิริยาบถอื่นใด
เราก็ยังสามารถภาวนาได้เสมอครับ โดยเราก็ภาวนาตุนเอาไว้วันละนิด ๆ
เหมือนกับหยอดกระปุกออมสินสมัยเด็ก ๆ นั่นแหละครับ
เก็บออมไว้ทุกวัน ๆ จะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ตามกำลัง ถึงวันหนึ่งก็เต็มกระปุกได้ครับ

 

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +  + +


หมายเหตุ

ณ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๕๘ ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้เทคอนกรีตพื้นศาลาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่างทำแบบเสา และเทคอนกรีตเสาครับ
โดย ณ วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ มียอดเรี่ยไรสะสมทั้งหมดประมาณ ๕.๐ ล้านบาท (๗๗% ของงบประมาณ)
ยังขาดปัจจัยสำหรับก่อสร้างอยู่อีกประมาณ ๑.๕ ล้านบาท (๒๓% ของงบประมาณ)

จึงขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายศีลธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้

 
ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai

และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์