Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๒๐

ฝึกเจริญสติเพื่อเจริญศีลธรรม

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 220 

เมื่อวันมาฆบูชาที่ผ่านมา ผมได้เดินทางไปสนทนากับทีมงานญาติธรรมกลุ่มหนึ่ง
ซึ่งท่าน ๆ มีจิตกุศลช่วยกันจัดค่ายธรรมะสอนเด็ก ๆ ฝึกเจริญสติ
โดยมีเรื่องหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ และน่าจะนำมาสนทนากันในที่นี้
กล่าวคือ ในเวลาที่ทีมงานจัดค่ายธรรมะเพื่อสอนเด็ก ๆ ฝึกเจริญสตินั้น
ได้มีญาติธรรมบางท่านไม่เข้าใจว่าการสอนให้เด็กฝึกเจริญสติแล้วเด็ก ๆ จะได้อะไร
โดยมองว่าน่าจะสอนให้เด็ก ๆ มีศีลธรรม หรือจริยธรรมจะเป็นประโยชน์กว่า
เช่น สอนให้ซื่อสัตย์ กตัญญู มีศีลธรรม ละอายหรือเกรงกลัวต่อบาป เป็นต้น

ในประเด็นดังกล่าว ผมเห็นว่าการที่ทีมงานญาติธรรมมุ่งสอนเด็กให้ฝึกเจริญสตินั้น
เป็นสิ่งที่เหมาะสม และได้ประโยชน์มากกว่า
แต่เวลาที่ผมกล่าวอย่างนี้แล้ว ญาติธรรมบางท่านก็อาจจะหลงเข้าใจผิดว่า
เช่นนี้แสดงว่าไม่สมควรที่จะสอนเด็ก ๆ ให้มีศีลธรรมหรือจริยธรรมต่าง ๆ หรือไร
หรือว่าจะสอนเจริญสติอย่างเดียว โดยไม่สอนให้เด็ก ๆ เจริญศีลธรรมอื่น ๆ ด้วยหรือ
ในประเด็นนี้ ขอตอบว่าหากบางท่านเข้าใจเช่นนี้ แสดงว่าไม่เข้าใจเรื่องการเจริญสติ
และไม่เข้าใจประโยชน์ของการเจริญสตินะครับ
เพราะแท้จริงแล้ว การฝึกเจริญสตินี้แหละจะช่วยให้ศีลธรรมอื่น ๆ เจริญขึ้นด้วย

ในการนี้ ผมจึงขออธิบายว่าทำไมผมจึงเห็นว่าการสอนเด็ก ๆ ฝึกเจริญสตินั้น
เป็นสิ่งที่เหมาะสม และได้ประโยชน์มากกว่า ดังต่อไปนี้คือ
ประการที่ ๑ ปกติในโรงเรียน และในบ้านก็ได้สอนศีลธรรมและจริยธรรมกันเป็นปกติอยู่แล้ว
โดยคุณครูในโรงเรียนและผู้ปกครองที่บ้านก็ย่อมจะมุ่งสอนให้เด็ก ๆ เป็นคนดี
มีศีลธรรมและจริยธรรมที่เพียบพร้อมอยู่แล้ว
แต่ถามว่าการเรียนศีลธรรมและจริยธรรมในโรงเรียนและในบ้านนั้นได้ผลเพียงไร
ซึ่งเราก็คงจะพอเห็นได้ว่ายังมีเด็ก ๆ จำนวนมากที่มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมต่าง ๆ
โดยยังไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามศีลธรรมและจริยธรรมเท่าที่ควร

หากการเรียนศีลธรรมและจริยธรรมในโรงเรียนและในบ้านได้ผลจริง
เด็ก ๆ ก็ย่อมจะมีศีลธรรมและจริยธรรมพร้อม และเป็นเด็กดีแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนั้น ค่ายธรรมะก็ไม่มีความจำเป็นต้องสอนเรื่องเดิมนั้นอีก
นอกจากนี้ เด็ก ๆ ก็อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมาอบรมเข้าค่ายธรรมะด้วย
เพราะเด็ก ๆ มีศีลธรรมและจริยธรรมเพียบพร้อม และเป็นเด็กดีอยู่แล้ว
ในทางกลับกัน หากการสอนศีลธรรมและจริยธรรมในโรงเรียนและในบ้านไม่ได้ผลเท่าที่ควร
โดยเด็ก ๆ ไม่มีศีลธรรมและจริยธรรมเท่าที่ควร
แล้วทำไมค่ายธรรมะจึงควรดำเนินรอยตามวิธีการสอนเหล่านั้นด้วย ในเมื่อมันไม่ได้ผล

กล่าวโดยสรุปคือ ถ้าการสอนศีลธรรมและจริยธรรมในโรงเรียนและในบ้านได้ผลดีอย่างมาก
ก็คงไม่มีโรงเรียนไหนหรือบ้านไหนต้องส่งเด็กมาเข้าค่ายธรรมะ เพราะสอนได้ผลดีอยู่แล้ว
แต่ในเมื่อโรงเรียนและผู้ปกครองต้องการส่งเด็กมาเข้าค่ายธรรมะ
ก็แสดงว่าเด็ก ๆ ยังไม่มีศีลธรรมและจริยธรรมเท่าที่ควร
ค่ายธรรมะจึงควรจะหาวิธีการที่แตกต่างเพื่อมาสอนเด็กให้มีศีลธรรมและจริยธรรมให้ได้

ประการที่ ๒ คือ การเรียนรู้ธรรมะต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ควรจะเรียนรู้เข้ามาให้ถึงที่จิตใจ
การเรียนรู้ด้วยการฟังนั้นเป็นการเรียนรู้เข้าไปที่สมอง แต่ไม่ได้เข้าไปถึงที่จิตใจ
ยกตัวอย่างเช่น ทุกคนในสังคมต่างก็ได้เรียน และก็มีการสอนอยู่ทั่วไปว่า
การลักขโมยไม่ดี การคอรัปชั่นไม่ดี การดื่มสุราไม่ดี การประพฤติผิดในกามไม่ดี
การค้ายาเสพติดไม่ดี การเสพยาเสพติดไม่ดี การพูดเท็จไม่ดี ฯลฯ
แต่ในสังคมก็ยังมีคนจำนวนมากที่ประพฤติไม่ดีดังกล่าว ทำไมจึงยังเป็นเช่นนั้น
เพราะว่าคนที่ประพฤติผิดต่าง ๆ นั้นไม่เคยเรียนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมหรือ
หรือว่าไม่มีคนสอนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมแก่พวกเขาหรือ
ตอบว่าไม่ใช่ ในอันที่จริงแล้ว พวกเขาก็เคยเรียนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมมาก่อน
และในสังคมก็มีการสอนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมแก่พวกเขาอยู่แล้ว
แต่ว่าศีลธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ ที่ได้เรียนเหล่านั้น
ผ่านไปในแค่สมอง โดยไม่ได้เข้ามาถึงจิตใจ

ในขณะที่การประพฤติผิดศีลธรรมและจริยธรรมใด ๆ นั้น ไม่ได้เริ่มต้นที่สมอง
แต่เริ่มต้นที่จิตใจ โดยกิเลสหรือตัณหาเข้าครอบงำจิตใจก่อน
เมื่อจิตใจถูกกิเลสหรือตัณหาเข้าครอบงำแล้ว
สมองเราก็สั่งร่างกายให้ประพฤติหรือทำตามที่จิตใจปรารถนา
ซึ่งในเวลานั้น ศีลธรรมหรือจริยธรรมในสมองก็ต้านตัณหาในจิตใจได้ยากแล้ว
สมองก็จำได้อยู่ว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำ แต่ก็ไม่สามารถต้านความปรารถนาในจิตใจได้
เพราะว่าตัณหาได้ครอบงำจิตใจไว้หมดแล้ว

ในทางกลับกัน หากเราเรียนรู้ธรรมะเข้ามาถึงที่จิตใจ
กิเลสหรือตัณหาก็จะเข้าครอบงำจิตใจของเราได้ยาก
เมื่อจิตใจไม่ถูกกิเลสหรือตัณหาเข้าครอบงำแล้ว
สมองก็ย่อมจะไม่สั่งให้ร่างกายไปประพฤติผิดศีลธรรมใด ๆ
เพราะว่าจิตใจไม่ได้ปรารถนาดังนั้น

การฝึกเจริญสติเป็นการเรียนรู้ธรรมะเข้ามาถึงที่จิตใจ
ช่วยให้เรียนรู้และเห็นกิเลสหรือตัณหาในจิตใจเรา
และช่วยไม่ให้จิตใจเราถูกกิเลสหรือตัณหาเข้าครอบงำ
โดยเราสามารถเห็นกิเลสหรือตัณหาตั้งแต่ยังตัวเล็ก ๆ
ซึ่งหากเราได้เห็นกิเลสหรือตัณหาตั้งแต่มันยังตัวเล็ก ๆ มันก็ครอบงำจิตใจได้ยาก
แต่หากเราเห็นกิเลสหรือตัณหาตอนที่มันตัวใหญ่แล้ว หรือไม่เห็นมันเลย
กิเลสหรือตัณหานั้นก็ครอบงำจิตใจได้ง่าย

ประการที่ ๓ คือ การฝึกเจริญสติเป็นการเจริญศีลที่สำคัญคือ “อินทรียสังวรศีล”
“อินทรียสังวร” หมายถึง การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้าย
ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
ระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจ ในเวลารับรู้อารมณ์ทางอินทรีย์ทั้ง ๖
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_line.php?A=4384&Z=4384

การฝึกเจริญสติเป็นการฝึกเรียนรู้กายและใจตามความเป็นจริง
และรู้ทันสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกายและในใจเรา
ซึ่งเมื่อเราสามารถเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในกายและในใจได้แล้ว
กล่าวคือเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้รับการกระทบใด ๆ
ในเวลาเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ หรือรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ
และเรามีสติรู้ทัน เราก็ย่อมระวังไม่ให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้ทางอินทรีย์ทั้ง ๖ ได้
แต่ถ้าเรารู้ไม่ทัน เราก็ย่อมจะถูกกิเลสครอบงำใจได้ง่าย

เมื่อเรามีสติรู้ทัน และไม่ปล่อยให้กิเลสครอบงำใจในเวลารับรู้ทางอินทรีย์ทั้ง ๖
กล่าวคือ ใจไม่ไหลไปตามกิเลสเหล่านั้น ก็คือเรามีอินทรียสังวร ไม่ให้กิเลสครอบงำใจ
ซึ่งถือเป็นอินทรียสังวรศีล และเป็นการฝึกปฏิบัติธรรมเข้าถึงที่จิตใจ
และเป็นการถือศีลที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งกว่าการเรียนรู้ศีล ๕ ด้วยการท่องจำหรือการฟัง
โดยหากเรามีอินทรียสังวรศีลที่สมบูรณ์แล้ว การจะถือศีล ๕ ย่อมจะไม่ใช่เป็นเรื่องยาก
และไม่ใช่การถือศีล ๕ เพียงแค่กายและวาจาเท่านั้น แต่เป็นการถือเข้ามาถึงที่ใจด้วย

ในประเด็นนี้ ใน “กุณฑลิยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
ได้สอนว่า อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
(สุจริต ๓ คือ สุจริตทางกาย ทางวาจา และทางใจ)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=2334&Z=2401&pagebreak=0
โดยประการเช่นนี้แล้ว การฝึกเจริญสติย่อมได้ประโยชน์อย่างยิ่งในเรื่องศีล
เพราะอินทรีย์สังวรอันบุคคลกระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
อันเป็นการนำธรรมะและศีลธรรมต่าง ๆ เข้ามาถึงที่จิตใจ ไม่ใช่เพียงความจำที่สมองเท่านั้น
ดังนี้ หากญาติธรรมท่านไหนมองว่าการเจริญสติไม่ได้ช่วยให้เจริญในเรื่องศีลแล้ว
ควรจะปรับเปลี่ยนความเข้าใจเสียใหม่ครับ

ประการที่ ๔ การฝึกเจริญสติจะช่วยกั้นกระแสกิเลสตัณหาไม่ให้เข้าครอบงำจิตใจ
โดยที่คนทั่วไปในโลกนั้น จะมีกิเลสตัณหาเข้าครอบงำจิตใจอยู่เสมอ โดยไม่เห็น
แต่เมื่อเราฝึกเจริญสติแล้ว สติจะเป็นเครื่องกั้นกระแสกิเลสตัณหาไม่ให้ครอบงำจิตใจ
ใน “อชิตปัญหาที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ-
ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) เล่าเรื่องว่า
อชิตมาณพได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
“โลกคือหมู่สัตว์อันอะไรหุ้มห่อไว้ โลกย่อมไม่แจ่มแจ้งเพราะอะไร
อะไรเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ อะไรเป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอชิตะ โลกอันอวิชชาหุ้มห่อไว้
โลกไม่แจ่มแจ้งเพราะความตระหนี่ (เพราะความประมาท)
เรากล่าวตัณหา ว่าเป็นเครื่องฉาบทาโลกไว้ ทุกข์เป็นภัยใหญ่ของโลกนั้น”
อชิตมาณพได้กราบทูลถามต่อไปว่า
“กระแสทั้งหลายย่อมไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง อะไรเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย
กระแสทั้งหลายอันบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยธรรมอะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรอชิตะ สติเป็นเครื่องกั้นกระแสในโลก
สติเป็นเครื่องกั้นกระแสทั้งหลาย กระแสเหล่านั้นบัณฑิตย่อมปิดได้ด้วยปัญญา”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=10976&Z=11005&pagebreak=0

หากจะอธิบายเปรียบเทียบนะครับ สมมุติว่าตัณหาที่เข้ามาในจิตใจเป็นกองกำลังทหาร
โดยตอนแรกนั้น เราก็อาจจะไม่ได้ต้องการประพฤติผิดศีลธรรมอะไร
แต่พอตัณหาเริ่มส่งกองกำลังทหารเข้ามามากเข้า ๆ รวมกันเป็นกองทหารกองใหญ่
(หรือจะเปรียบเทียบว่าตัณหาตัวโตขึ้นจนกลายเป็นตัณหาตัวโตมากก็ได้)
ความต้องการประพฤติผิดศีลธรรมก็มากขึ้น ๆ
พอกองทหารของตัณหามีจำนวนมาก (หรือตัณหาตัวโต) ตัณหาก็รุนแรงครอบงำจิตใจแล้ว
ก็ส่งผลให้เราไปประพฤติผิดศีลธรรมได้
แต่หากเรามีสติแล้ว สติย่อมเป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหาเหล่านี้
อันเป็นการทอนกำลังไม่ให้ตัณหาส่งกองกำลังทหารเข้ามามาก หรือทำให้ตัณหาอ่อนกำลังลงได้

เมื่อตัณหาในการประพฤติผิดศีลธรรมใด ๆ นี้อ่อนกำลังลง
ก็ย่อมทำให้เรารักษาศีลธรรมและจริยธรรมทั้งหลายได้แข็งแรงขึ้นหรือเจริญขึ้น
ซึ่งไม่ใช่แต่เฉพาะศีล ๕ เท่านั้นนะครับ
แต่เป็นศีลธรรมหรือจริยธรรมสากลทั้งหลายทั้งปวงเลย
ดังที่ประสบการณ์ของญาติธรรมในค่ายสอนเด็ก ๆ ฝึกเจริญสติจะเห็นได้ว่า
เด็ก ๆ ที่เจริญสติเป็นนั้นจะไม่ใช่แค่เพียงถือศีล ๕ ได้แข็งแรงขึ้นเท่านั้น
แต่ศีลธรรมและจริยธรรมสากลอื่น ๆ ก็จะดีขึ้นด้วย เช่น มีมารยาทดีขึ้น
มีความประพฤติเรียบร้อยขึ้น มีความซื่อสัตย์ และความกตัญญูมากขึ้น เป็นต้น
นั่นก็เพราะว่าเด็ก ๆ เหล่านั้นมีสติเป็นเครื่องกั้นกระแสตัณหาทั้งหลาย
ทำให้กระแสตัณหาหรือสิ่งที่จะชักนำพาไปประพฤติผิดนั้นอ่อนกำลังลง

ในทางกลับกัน การเรียนเรื่องศีลธรรมหรือจริยธรรมสากล โดยการฟังหรือการท่องจำนั้น
ไม่สามารถจะช่วยกั้นกระแสตัณหาที่ไหลเข้ามาครอบงำจิตใจได้
เพราะการฟังหรือท่องจำศีลธรรมหรือจริยธรรมสากลนั้นเป็นการเรียนรู้ที่สมองเท่านั้น
แต่ไม่ได้เข้ามาถึงจิตใจ จึงไม่สามารถกั้นกระแสตัณหาที่เข้ามาสู่จิตใจได้
โดยเด็ก ๆ ก็ได้เคยฟังและท่องจำศีลธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ มาไม่น้อยแล้ว
แต่ก็จำไว้อยู่ภายในสมองเท่านั้น พอถึงเวลาจริง ตัณหาก็ครอบงำจิตใจไปหมด
แล้วสมองก็สั่งการไปตามที่จิตใจต้องการ ก็คือตามตัณหาไปนั่นเอง

ประการที่ ๕ การสอนเด็ก ๆ ให้ฝึกเจริญสตินั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก
ดังที่กล่าวแล้วว่าการฝึกเจริญสติย่อมเป็นการฝึกเจริญ “อินทรีย์สังวรศีล”
ซึ่งใน “กุณฑลิยสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค)
ได้สอนว่า อินทรีย์สังวรอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์
สุจริต ๓ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมยังวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=2334&Z=2401&pagebreak=0
ดังนี้ การสอนเด็ก ๆ ให้ฝึกเจริญสตินั้น ย่อมเท่ากับว่าสอนสิ่งที่มีคุณค่ามาก
เพราะสอนต้นทางที่จะสามารถดำเนินและต่อยอดตามลำดับไปจนถึงวิชชาและวิมุติได้
จึงย่อมเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแก่เด็ก ๆ มากกว่าการจะมาสอนให้ฟังหรือท่องจำ
ศีลธรรมหรือจริยธรรมสากลทั่วไปไว้ในสมอง โดยที่ธรรมะดังกล่าวไม่ได้เข้าถึงจิตใจ

สรุปแล้ว การสอนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมสากลนั้นมีสอนกันทั่วไปอยู่แล้ว
ทั้งในโรงเรียน และในบ้านของเด็ก ๆ แต่เราก็จะเห็นได้ว่าการสอนนั้นยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
เนื่องจากเป็นเพียงการสอนด้วยการฟังและท่องจำเข้าสมองเท่านั้น
โดยเด็ก ๆ ไม่ได้เรียนรู้ธรรมะเข้ามาถึงที่จิตใจแต่อย่างใด
แต่การสอนให้เด็ก ๆ ฝึกเจริญสติเป็นการสอนให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ธรรมะเข้าถึงที่จิตใจ
ช่วยพัฒนาอินทรียสังวรศีล อันช่วยพัฒนาให้กาย วาจา และใจสุจริต
(อันย่อมพัฒนาศีลธรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น ศีล ๕ ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ เป็นต้น)
เป็นการฝึกกั้นกระแสกิเลสหรือตัณหาไม่ให้เข้าครอบงำใจ
และเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะเป็นต้นทางที่พัฒนาตามลำดับไปถึงวิชชาและวิมุติได้
ในขณะที่ทีมงานที่จะสอนเรื่องการเจริญสตินี้มีอยู่น้อย
แต่ทีมงานที่จะสอนเรื่องศีลธรรมและจริยธรรมสากลนั้นมีอยู่มากมาย
ในเมื่อกลุ่มญาติธรรมดังกล่าวได้สอนในเรื่องธรรมะที่เข้าถึงจิตใจ
เป็นประโยชน์มากกว่า และก็ทำให้เด็ก ๆ เข้าถึงศีลธรรมที่ละเอียดลึกซึ้งกว่าแล้ว
ผมจึงเห็นว่าเป็นการสอนที่เหมาะสม และเป็นประโยชน์มากกว่านะครับ

 

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +  + +


หมายเหตุ

ขณะนี้ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ กำลังอยู่ระหว่างเทคานพื้น
ซึ่ง ณ วันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๘ มียอดเรี่ยไรสะสมทั้งหมดประมาณ ๔.๕๔ ล้านบาท (๗๐% ของงบประมาณ)
ยังขาดปัจจัยสำหรับก่อสร้างอยู่อีกประมาณ ๑.๙๖ ล้านบาท (๓๐% ของงบประมาณ)
จึงขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายศีลธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้

 
ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai

และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์