Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๑๙

คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนจบ) – หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 219 

(ต่อจากฉบับที่ ๒๑๘ คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนที่ ๑๑) กรรม)
เราได้คุยกันในหัวข้อ “คุยเรื่องสุขภาพ” กันมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๗
โดยในตอนนี้ก็เป็นตอนสุดท้ายแล้ว

ซึ่งหัวข้อนี้เป็นหัวข้อที่คุยกันมาต่อเนื่องหลายเดือนและเนื้อหายาวมาก
ดังนั้น ก่อนที่จะจบหัวข้อนี้ ผมจึงเห็นว่าควรจะสรุปประเด็นพิจารณาให้
และควรถามตอบข้อสงสัยบางประการที่บางท่านอาจจะมีนะครับ

ชื่อเรื่องของตอนนี้ ผมยืมมาจากคำขวัญของกลุ่มแพทย์วิธีธรรมนะครับว่า
หมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวคุณเอง หรือเราจะบอกว่าหมอที่ดีที่สุดในโลกคือตัวเราเองก็ได้
ทำไมจึงได้บอกเช่นนั้น?
ตรงนี้ผมต้องขอทำความเข้าใจก่อนนะครับว่า
ผมไม่ได้บอกว่า ตัวเราคือหมอที่ “เก่ง” ที่สุดในโลกนะครับ

แต่บอกว่าตัวเราคือหมอที่ “ดี” ที่สุดในโลก
ก็เพราะว่าดังที่ได้อธิบายมาแล้วทั้งหมด ๑๑ ตอนก่อนหน้านี้
การที่เราจะสามารถรักษาโรคได้ตั้งแต่ต้นน้ำ หรือรักษาโรคที่เกิดจากกรรมได้นั้น
ตัวเราเองเป็นผู้ที่จะสามารถประพฤติปฏิบัติเพื่อรักษาที่ต้นน้ำได้
ยกตัวอย่างเช่น อาการป่วยเกิดจากการทานอาหารไม่สมดุล
หรืออาการป่วยเกิดจากทานอาหารมากเกินไป
หรืออาการป่วยเกิดจากการไม่ออกกำลังกาย
อาการป่วยเกิดจากการทำงานหนักเกิน และพักผ่อนไม่เพียงพอ
อาการป่วยเกิดจากการที่จิตใจเคร่งเครียดเกิน หรือมีจิตที่เป็นอกุศลมาก เป็นต้น
ซึ่งสังเกตว่าในอาการป่วยที่เกิดจากสาเหตุเหล่านี้
แม้ว่าเราจะไปหาหมอและหมอจะจ่ายยาอะไรให้แก่เรามาทานก็ตาม
แต่หากเราไม่ได้รักษาเหตุปัจจัยที่ก่อโรคที่ต้นเหตุแล้ว โรคก็ไม่มีทางหายได้เด็ดขาด
เพราะโรคก็ย่อมจะเกิดขึ้นอีกตามเหตุและปัจจัยที่เราสร้างไว้

ทีนี้ เนื่องด้วยเนื้อหามีอยู่มาก ผมจึงขอสรุปประเด็นพิจารณาว่า
เราควรจะไปศึกษาและพิจารณาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องอะไรบ้าง อันได้แก่
๑. อาหาร โดยนอกจากจะทานอาหาร ๕ หมู่แล้ว
เราควรทานอาหารให้สมดุลร้อนเย็นด้วย ปริมาณอาหารไม่มากเกินไป
และไม่ควรทานอาหารที่ทำให้เสียสุขภาพ ถ้าอดไม่ไหว ก็ทานให้น้อย และไม่ทานบ่อย
๒. หาทางออกกำลังกายที่เหมาะสมกับร่างกาย และออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
โดยในการออกกำลังกายนั้นไม่ได้เน้นเฉพาะกล้ามเนื้อเท่านั้น แต่ให้เพิ่มเรื่องลมปราณด้วย
๓. ดูแลจิตใจให้ปลอดโปร่ง ไม่เคร่งเครียดเกินไป หรือโกรธ โลภ หรือหลงเกินไป
ควรให้จิตใจได้มีเวลาพักผ่อน และไม่นำสิ่งต่าง ๆ มาแบกใส่จิตใจจนเป็นภาระมากเกินไป
และไม่สร้างบาปอกุศลกรรม หรือประพฤติผิดศีลในเรื่องใด ๆ
๔. ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และไม่ควรทำงานหนักเกินสมควร

๕. ในการใช้ชีวิตประจำวันควรลดละพฤติกรรมที่ทำให้เสียสุขภาพ เช่น
ใช้เครื่องอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์นาน ๆ ดูโทรทัศน์นาน เล่นโทรศัพท์มือถือนาน ๆ
๖. แบ่งเวลาศึกษาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (รวมถึงเรื่องการล้างพิษ)
เพื่อที่จะสามารถนำความรู้มาปรับใช้ดูแลตนเองและคนใกล้ตัวได้อย่างเหมาะสม

ในข้างต้นนี้ ผมได้สรุปประเด็นพิจารณาไว้ เพื่อที่จะให้ท่านจำได้ง่าย ๆ
แต่ว่ารายละเอียดในแต่ละเรื่องนั้นมีไม่น้อย
ท่านผู้อ่านจึงต้องไปศึกษารายละเอียดต่อไปด้วยนะครับ
โดยก็ได้อธิบายรายละเอียดในแต่ละเรื่องไว้แล้วในตอนก่อน ๆ นี้

ต่อมา ผมก็จะขอยกคำถามและคำตอบในบางประเด็น
ที่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีข้อสงสัยนะครับ ดังต่อไปนี้
ถาม – เราจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการเจ็บป่วยของเราเองเกิดจากอะไร

และควรปรับอาหารหรือพฤติกรรมอย่างไร เพื่อให้หายหรือบรรเทาจากอาการเจ็บป่วยนั้น
ตอบ – ตัวเราเองย่อมเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดนะครับว่า เราทานอะไร และเราใช้ชีวิตอย่างไรในแต่ละวัน
เราจะสามารถรู้ได้ว่าอาหารหรือพฤติกรรมอะไรที่ก่อโรคให้แก่เรานั้น
ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาและมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเสียก่อน
โดยเมื่อเรารู้แล้วว่าอาหารหรือพฤติกรรมอย่างไรที่ทำให้เจ็บป่วย
และเรานำมาพิจารณาอาหารที่เราทาน และพฤติกรรมที่เราทำ
เราก็ย่อมจะสามารถรู้ได้ด้วยตนเองว่าเราควรปรับอาหารหรือพฤติกรรมอย่างไร

ถาม – อยากจะได้วิธีการที่ให้หายจากอาการเจ็บป่วยอย่างง่าย ๆ แบบทางลัด
โดยไม่ต้องใช้เวลาไปศึกษาอะไรมากมาย และไม่ต้องปรับเปลี่ยนอะไรด้วย
ตอบ – ไม่มีวิธีการเช่นนั้นครับ โดยแม้วิธีการบางอย่างที่เราใช้แล้วอาการดีขึ้นก็ตาม
แต่พอใช้ไปสักระยะหนึ่งแล้ว ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนก็ได้
เช่น เราเจ็บป่วยเพราะมีอาการร้อนเกิน เราจึงทานอาหารฤทธิ์เย็นมาก ๆ

แต่พอทานไปถึงจุดหนึ่ง ร่างกายเราสมดุล และอาการเจ็บป่วยดีขึ้นแล้ว
หากเรายังทานอาหารฤทธิ์เย็นมาก ๆ เหมือนเดิม ก็ย่อมจะทำให้มีภาวะเย็นเกิน
และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยจากภาวะเย็นเกินนั้นได้เช่นกัน
ดังนั้นแล้ว วิธีการดูแลรักษาสุขภาพตนเองนั้น ไม่ได้เป็นวิธีการที่ตายตัว
แต่จำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนไปตามสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมในขณะนั้นด้วย

ถาม – รายละเอียดเนื้อหาเรื่องการดูแลสุขภาพมีเยอะมาก
ศึกษาได้ไม่หมด จะทำอย่างไรดี
ตอบ – ต้องแบ่งเวลาศึกษาและทำความเข้าใจครับ
โดยแนะนำให้ศึกษาเรื่องที่ตนเองสนใจ และน่าจะเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยของตนเองก่อน
ซึ่งเราไม่ได้จำเป็นต้องศึกษาจนรู้ทุกเรื่อง
แต่ศึกษาแค่เฉพาะที่ดูแลสุขภาพตัวเรา และคนใกล้ตัวได้ก็ใช้ได้แล้ว

ถาม – อ่านบทความมา ๑๑ ตอนแล้ว ไม่เห็นแนะนำวิธีการรักษาโรคอะไรเลย
เช่น โรคมะเร็ง โรคกระเพราะ โรคความดันโลหิต โรคหัวใจ เป็นต้น
ตอบ – แนะนำวิธีการรักษาไปหมดแล้วครับ คือการดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้สมดุล
ซึ่งเมื่อร่างกายมีความสมดุลและแข็งแรงแล้ว อาการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ก็หายได้ครับ
เช่น สมมุติว่าร่างกายมีก้อนเนื้อมะเร็งร้ายก็ตาม
ถ้าหากร่างกายเราแข็งแรงแล้ว เม็ดเลือดขาวก็สามารถจัดการเชื้อมะเร็งได้ครับ

ถาม – มีคนที่รู้จักใช้วิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่งแล้วหายหรือได้ผลดี
เราควรจะลองใช้วิธีการเช่นเดียวกันนั้นหรือไม่
ตอบ – เราต้องเข้าใจก่อนนะครับว่า อาการเจ็บป่วยอย่างเดียวกัน
อาจจะไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียวกันก็ได้
วิธีการรักษาที่ได้ผลดีกับอาการเจ็บป่วย เนื่องจากสาเหตุอย่างหนึ่ง
อาจจะไม่ได้ผลดีกับอาการเจ็บป่วยเนื่องจากสาเหตุอีกอย่างหนึ่งก็ได้
ดังนั้นแล้ว เราต้องมีความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพ
แล้วพิจารณาว่าวิธีการรักษาดังกล่าวนั้นเหมาะสมกับอาการเจ็บป่วยของเราหรือไม่
หรือเป็นการรักษาที่สาเหตุของอาการเจ็บป่วยของเราหรือไม่
กรณีไม่ได้จำเป็นหรือสมควรจะไปทำตามเขาเสมอไปครับ
ไม่อย่างนั้นแล้ว หากสมมุติว่าเราไปพบว่าคนป่วย ๑๐ คน ใช้วิธีการรักษาไม่เหมือนกันแล้ว
เราก็จะต้องไปทำตามทั้งหมด ๑๐ วิธีเช่นนั้นหรือ

ถาม – นำความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพไปแนะนำคนใกล้ตัวแล้ว
แต่เขาไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตาม และเขาก็ยังป่วยอยู่อย่างเดิม
ตอบ – พึงนำความรู้ไปใช้เพื่อดูแลรักษาตนเองก่อนนะครับ
ในส่วนของคนใกล้ตัวนั้น เราก็แนะนำไปตามความเหมาะสม
แต่ถ้าเขาไม่ทำ เราก็พึงถืออุเบกขาเอาไว้ครับ
เปรียบเสมือนพระพรหมที่มี ๔ หน้า คือ มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
เราไม่ควรทำตัวเป็นพระพรหม ๓ หน้าคือ มีเฉพาะเมตตา กรุณา และมุทิตาเท่านั้น
ในเมื่อเราช่วยสอนแนะนำเขาแล้ว ถ้าเขาเห็นประโยชน์ เขาก็เลือกทำได้
ถ้าเขาไม่เห็นประโยชน์ เราก็พึงถืออุเบกขาครับ
ไม่ควรไปยัดเยียดหรือบังคับคนใกล้ตัวว่าจะต้องทำอะไร
และพอเขาไม่ทำตามหรือเขาต่อต้านแล้ว เราก็ไปโกรธหรือโมโหเขา
อย่างนั้นแล้วไม่เหมาะสมครับ และแถมอาจจะทำให้เราป่วยเองก็ได้


ถาม – ที่แนะนำว่าไม่ให้ทานอาหารเยอะเกินสมควรนั้น
บางทีเราจำเป็นจะต้องทานอาหารให้หมด เพราะหากเหลือไว้ก็รู้สึกเสียดาย
ตอบ – ผมเห็นด้วยกับการประหยัดทรัพยากร
และการไม่ทานอาหารให้เหลือทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ นะครับ
แต่หากเรารู้สึกเสียดายอาหาร และไม่อยากให้อาหารเหลือนั้น
สิ่งที่ควรทำคือ เราจะต้องปรับตั้งแต่ตอนที่เราสั่งอาหาร หรือทำอาหารแล้ว
ยกตัวอย่างว่า เราไปทานอาหารนอกบ้าน เราก็สั่งอาหารแต่พอดี
ไม่สั่งอาหารมากเกิน ไม่ใช่ว่าเราสั่งมาเสียเยอะเกิน
เสร็จแล้วมาบอกว่าต้องทานให้หมด เพราะเสียดาย เกรงว่าจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากร
กรณีเราทำอาหารทานเองอยู่ที่บ้านก็ทำนองเดียวกันว่า เราควรทำอาหารในปริมาณพอดี
ไม่ใช่ว่าเราทำอาหารในปริมาณเยอะเกิน แล้วบอกว่าต้องทานให้หมด เพราะเสียดาย

นอกจากนี้แล้ว ถ้าเราไปทานอาหารนอกบ้านแล้วทานไม่หมด เราก็ห่อกลับได้นะครับ
หากเกรงว่าจะเปลืองถุงหรือบรรจุภัณฑ์ เราก็เตรียมกล่องใส่อาหารไปด้วยก็ได้
ในขณะที่หากทำอาหารทานเองที่บ้านแล้ว

เราก็สามารถเก็บอาหารที่เหลือไว้ทานในมื้อต่อ ๆ ไปก็ได้
เราไม่ได้จำเป็นต้องทานให้หมดในมื้อนั้น ๆ
แม้ว่าทานหมดแล้ว อาจจะทำให้รู้สึกประหยัด และไม่เสียดายก็ตาม
แต่หากทำให้ไม่สบายตัว และเจ็บป่วยในระยะยาว ย่อมไม่คุ้มกันครับ

ถาม – อยากจะออกกำลังกาย แต่ไม่มีเวลา
ตอบ – แนะนำว่าให้เราพิจารณาเวลาที่เราใช้ในแต่ละวันว่าเราใช้เวลาทำอะไรบ้าง
โดยหาเวลาที่เราทำสิ่งไม่จำเป็น เช่น ใช้เวลานั่งดูโทรทัศน์ ดูละคร
เล่นเกม คุยแชทออนไลน์ อ่านข่าว ฟังเพลง นอนเยอะเกิน ฯลฯ
โดยเราย่อมจะเห็นได้ว่าเราใช้เวลาในแต่ละวันไปกับเรื่องไม่จำเป็นอยู่ไม่น้อย
ฉะนั้นแล้ว ข้ออ้างที่ว่าไม่มีเวลาออกกำลังกายนี้
จริง ๆ แล้วเกิดจากการไม่ให้ความสำคัญมากกว่าครับ
หากเราให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายแล้ว เราก็จะหาเวลาได้
กรณีทำนองเดียวกับการแบ่งเวลาภาวนาในรูปแบบ
ซึ่งหากเราให้ความสำคัญกับการภาวนาในรูปแบบแล้ว เราก็จะสามารถหาเวลาได้

ถาม – การปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมบางอย่างที่เขียนมานั้น
ไม่สามารถที่จะทำได้ในชีวิตจริง เนื่องจากข้อจำกัดในหน้าที่การงาน และอื่น ๆ
ตอบ – เราก็พึงพยายามปรับเปลี่ยนเท่าที่จะทำได้ครับ
โดยหากทำได้มาก ก็เห็นผลมาก ทำได้น้อย ก็เห็นผลน้อย และไม่ทำเลย ก็ไม่ได้ผล
แต่ที่กล่าวอ้างว่าไม่สามารถทำได้เลยนั้น เห็นว่าไม่น่าจะใช่นะครับ
ยกตัวอย่างเช่น การทานอาหารในปริมาณไม่มากเกิน
หรือการไม่ทานอาหารรสจัด เป็นต้น ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ครับ
เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ตรงข้อจำกัดในเรื่องหน้าที่การงานหรือการใช้ชีวิตใด ๆ
อนึ่ง แม้ว่าเราจะไปทานอาหารร่วมกับคนอื่นหรือในกลุ่มหลาย ๆ คนก็ตาม
เราก็เลือกได้ว่าเราจะตักอาหารอะไรใส่จาน และใส่ปากนะครับ
ถ้าเราเลือกตักแต่อาหารเสียสุขภาพ เราก็จะเจ็บป่วยง่าย

ถาม – ในเรื่องการล้างพิษนั้นมีหลายวิธีมากมาย
เราจะทราบได้อย่างไรว่าวิธีการไหนเหมาะสมกับเราเอง
ตอบ – เราก็ต้องมีความรู้ในเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพก่อนครับ
แล้วพิจารณาว่าอาการเจ็บป่วยของเราเองเกิดจากพิษสะสมอย่างไร
แล้วก็พิจารณาวิธีการล้างพิษที่เหมาะสมกับเหตุแห่งอาการเจ็บป่วยของตนเอง

ถาม – ได้ลองศึกษาและปฏิบัติในแนวทางแพทย์ทางเลือกที่แนะนำมาแล้ว
แต่ว่าไม่เห็นว่าอาการดีขึ้น หรือหายจากอาการเจ็บป่วยแต่อย่างใด
ตอบ – เราพึงพิจารณาว่าปฏิบัติได้ถูกกับเหตุปัจจัยที่ทำให้เจ็บป่วยหรือไม่
และได้ปฏิบัติได้พอสมควรแก่เหตุปัจจัยนั้นแล้วหรือยัง
ถ้าเจ็บป่วยเพราะเหตุหนึ่ง แต่ไปแก้ไขที่อีกเหตุหนึ่ง มันก็ไม่หายนะครับ
หรือปฏิบัติน้อยเกินไป ไม่สมควรแก่เหตุปัจจัยแล้ว มันก็ยังไม่หายครับ
แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เราก็พึงยอมรับและอยู่กับความเจ็บป่วยด้วยใจที่เป็นกลางนะครับ

เพราะตราบใดที่ยังมีเกิด ก็ต้องมีเจ็บครับ ถ้าไม่อยากเจ็บ ก็ต้องไม่เกิด

ถาม – จะพิจารณาได้อย่างไรว่าร่างกายเราแข็งแรง
ตอบ – แนะนำให้พิจารณาตาม “กกจูปมสูตร”
(พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์) นะครับ ซึ่งบรรยายว่า
“รู้สึกว่ามีอาพาธน้อย มีความลำบากกายน้อย

มีความเบากายมีกำลัง และอยู่อย่างผาสุก”
แต่ถ้ารู้สึกมีอาพาธมาก มีความลำบากกายมาก หนักกาย ไม่มีกำลัง
หรือไม่เป็นอยู่ผาสุกแล้ว ก็เรียกว่าร่างกายไม่แข็งแรงครับ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=4208&Z=4442&pagebreak=0

ในท้ายนี้ ผมหวังว่าท่านผู้อ่านที่สนใจก็น่าจะได้รับประโยชน์ตามสมควรนะครับ
ทั้งนี้ หากสนใจและได้ลองไปศึกษาในแพทย์ทางเลือกที่ผมแนะนำไปแล้ว
และเกิดมีข้อสงสัยหรือคำถาม โดยอยากจะอีเมลมากถามก็ได้นะครับ
แต่ประเภทที่ว่าส่งมาถกเถียงเอาสนุก โดยไม่ได้มีปัญหาอะไร ประเภทนี้ของดนะครับ
หรือประเภทที่ยังไม่ได้ศึกษาเท่าไรเลย และไม่ได้ปฏิบัติอะไรเลย

แล้วก็มาถามโดยหวังว่าจะทำให้เข้าใจได้อย่างเป็นทางลัดแล้ว
ประเภทนี้ก็ของดเช่นกันครับ เพราะถึงแม้ท่านจะถามมาก็ตาม
ผมก็จะตอบว่า ให้กลับไปอ่านสิ่งที่ได้เขียนไว้แล้ว
ดังนั้นแล้ว จึงแนะนำว่าให้ลองศึกษาให้เข้าใจ และทดลองปฏิบัติดูก่อน
ถ้าไม่เข้าใจประการใด ๆ หรือมีคำถามในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ค่อยอีเมลมาถามนะครับ


มาถึงตรงนี้ เราก็จบซีรีส์เรื่องคุยเรื่องสุขภาพแล้วนะครับ
โดยในตอนหน้า เราก็จะคุยเรื่องอื่นกันครับ

+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +  + +

หมายเหตุ ขณะนี้ศาลาปฏิบัติธรรมที่อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์
ได้สร้างฐานของศาลาเสร็จแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างหล่อเสาคอนกรีตครับ
โดยยังขาดแคลนปัจจัยสำหรับก่อสร้างอีกเป็นจำนวนมาก
จึงขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายคุณธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้
ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7


ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์