Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๑๖

คุยเรื่องสุขภาพ (๙) – การล้างพิษ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 216 

(ต่อจากฉบับที่ ๒๑๓ คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนที่ ๘) รู้พักรู้เพียรให้พอดี)

ในคราวนี้เราจะมาคุยกันต่อในเรื่องของการล้างพิษนะครับ
ซึ่งในเรื่องของการล้างพิษนั้นมีประเด็นสำคัญที่ถกเถียงโต้แย้งกันไม่น้อย
โดยฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ยกบางประเด็นว่า
คนในสมัยอดีตรุ่นปู่ย่าตายายของเราก็ไม่เห็นจำเป็นจะต้องล้างพิษอะไร
แล้วทำไมคนเราในยุคสมัยนี้จะต้องมาล้างพิษอะไรกันด้วย
ฝ่ายที่เห็นด้วยก็อธิบายว่า ในสมัยอดีตยุคปู่ย่าตายายเรานั้นไม่ได้มีพิษมากมายดั่งในปัจจุบัน
เช่น สารเคมี สารพิษ ควันพิษ หรือของเสียต่าง ๆ ก็มีน้อย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก็มีน้อย
หากเทียบกับในสมัยปัจจุบันแล้ว จะพบว่ามีสารเคมี สารพิษ ควันพิษต่าง ๆ มากมาย
แถมเราก็ใช้และอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือบ่อย ๆ
อาหารต่าง ๆ ก็มีส่วนผสมของสารเคมี เช่น สารแต่งกลิ่นสี ยาฆ่าแมลง
ยาปฏิชีวนะ ฮอร์โมนสารเร่งเติบโต เป็นต้น
นอกจากนี้ อาหารดัดแปลง อาหารขยะ และอาหารเสียสุขภาพก็มีมากมาย
ซึ่งเราจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างในปัจจุบันที่แตกต่างจากในอดีต
ที่จะทำให้เราได้รับพิษต่าง ๆ เข้ามามาก และทำให้การล้างพิษมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

อนึ่ง คำว่าพิษในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องเป็นพิษจากสารเคมีเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงพิษร้อนเย็นเกิน หรือพิษอื่น ๆ ที่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น
ในส่วนของพิษร้อนเย็นเกินนั้น ก็ได้คุยอธิบายไปแล้วว่า
ในการใช้ชีวิตและทานอาหารของสังคมคนเมืองมีโอกาสที่จะทำให้มีภาวะร้อนเกินได้มาก
ดังนั้นแล้ว การล้างพิษร้อนจึงย่อมเป็นประโยชน์ที่จะช่วยในการปรับสมดุลร้อนเย็นอีกด้วย

ก่อนที่จะลงรายละเอียดในเรื่องของวิธีการล้างพิษในบางวิธีการนั้น
ผมขอเรียนก่อนว่าในอันที่จริงแล้ว “การล้างพิษ” มีอยู่หลายวิธีการ
(และโดยปกติแล้ว ร่างกายของเราก็มีการระบายพิษออกจากร่างกายอยู่เรื่อย ๆ อยู่แล้ว)
ยกตัวอย่างเช่น วิธีการกดจุดลมปราณ และกายบริหาร (ซึ่งได้คุยไปแล้วในฉบับที่ ๒๑๒ (ตอนที่ ๗))
ก็เป็นการช่วยปรับสมดุลให้ร่างกายขับพิษได้ดีเช่นกัน
http://www.dharmamag.com/mag/index.php/dhammajaree-issues/1127-2014-11-19-09-33-47
หรือบางท่านออกกำลังกายและมีเหงื่อออก ก็ถือว่าเป็นการช่วยระบายพิษออกจากร่างกาย
หรือบางท่านใช้วิธีการอดอาหารในบางช่วงเวลา เพื่อให้ร่างกายได้เผาผลาญไขมันที่สะสมไว้
ก็ถือว่าเป็นการช่วยระบายพิษออกจากร่างกายได้เช่นกัน (โดยพิษบางอย่างก็สะสมอยู่กับไขมันด้วย)
หรือบางท่านใช้วิธีการทานยาถ่าย หรือทานอาหารบางประเภทที่ทำให้ถ่าย
ก็ถือว่าเป็นการล้างพิษหรือระบายพิษในร่างกายเช่นกัน

บางท่านใช้วิธีการอบตัวให้เหงื่อออก ก็ถือว่าเป็นการระบายพิษออกจากร่างกายเช่นกัน
ซึ่งเรื่องการอบตัวเพื่อระบายพิษนี้ ในสมัยพุทธกาลก็มีทำกันนะครับ
ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงอนุญาตเรือนไฟสำหรับภิกษุด้วย
โดยในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ทายกทายิกาในพระนครเวสาลีเริ่มจัดปรุงอาหารประณีตขึ้นตามลำดับ
ภิกษุทั้งหลายฉันอาหารอันประณีตแล้ว มีร่างกายอันโทษสั่งสมมีอาพาธมาก
ครั้งนั้น หมอชีวกโกมารภัจได้ไปสู่เมืองเวสาลีด้วยกิจจำเป็นบางอย่าง
ได้เห็นภิกษุทั้งหลาย มีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก
ครั้นแล้วได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค และกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
พระพุทธเจ้าข้า บัดนี้ ภิกษุทั้งหลายมีร่างกายอันโทษสั่งสม มีอาพาธมาก
ข้าพระพุทธเจ้าขอประทานพระวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาค ได้โปรดทรงอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟแก่ภิกษุทั้งหลายเถิด พระพุทธเจ้าข้า
เมื่อเป็นเช่นนี้ ภิกษุทั้งหลายจักมีอาพาธน้อย
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงรับสั่งกับภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลายเราอนุญาตที่จงกรมและเรือนไฟ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=7&A=576&Z=656

สำหรับในตอนนี้ ผมจะคุยเฉพาะเรื่องวิธีการล้างพิษหรือขับพิษเพียงแค่ ๓ วิธีการนะครับคือ
๑. การกัวซา หรือขูดพิษ ๒. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ และ ๓. การล้างพิษตับ
ซึ่งในเรื่องของการกัวซา และการสวนล้างลำไส้ใหญ่นี้
ผมนำมาคุยในตอนนี้ตามที่ได้เคยเรียนไว้แล้วในฉบับที่ ๒๑๒ (ตอนที่ ๗) นะครับ

การกัวซาเป็นวิถีการแพทย์ดั้งเดิมของชาวไทยภูเขา ชาวจีน พม่า ลาว เวียดนาม
และประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ซึ่งมีประสิทธิภาพในการเอาพิษออกจากร่างกาย
โดยระบายพลังงานที่เป็นพิษจากเลือดที่ถูกกระตุ้นให้เคลื่อนที่มาระบายพิษที่่ผิวหนัง
ทำให้สามารถบรรเทาอาการไม่สบาย (ในอาการโรคที่ถูกกัน) ได้อย่างรวดเร็ว

การกัวซานั้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง และไม่ยาก
โดยสถานที่ขูดกัวซาจะต้องไม่เป็นบริเวณที่มีลมแรง หรือบริเวณที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ
(เนื่องจากเราขูดให้กระตุ้นให้ผิวหนังขับพิษออกทางรูขุมขน
แต่ลมแรง หรืออากาศเย็นดังกล่าวสามารถทำให้รูขุมขนปิดได้)
วิธีกัวซาก็คือ นำอุปกรณ์ขอบเรียบ เช่น ช้อน ชาม เหรียญ หรือไม้ขอบเรียบ
หรือวัสดุขอบเรียบต่าง ๆ มาขูดตามผิวหนังตรง ๆ หรือจะขูดผ่านเสื้อผ้าก็ได้
ซึ่งก่อนที่จะขูด เราก็อาจจะทาขี้ผึ้งหรือสมุนไพรที่ถูกกับภาวะร้อนเย็นของเราก็ได้ เช่น
ใช้ขี้ผึ้งย่านางหรือเสลดพังพอน น้ำมันเขียว น้ำมันเหลือง น้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น
หรือน้ำสมุนไพรอื่น ๆ (ที่ถูกกับภาวะร้อนเย็นของเรา) มาทาบนผิวหนังก่อนขูด
หรือในกรณีที่อากาศเย็น ก็อาจจะใช้น้ำอุ่น หรือน้ำสมุนไพรอุ่น ๆ มาทาก่อนก็ได้

ในการขูดนั้นปกติแล้วก็จะใช้วิธีการขูดในทิศทางลงนะครับ
จำนวนครั้งที่ขูด ก็ขูดเท่าที่เรารู้สึกสบาย โดยจะขูดกี่ครั้งก็ได้
เช่น ๑๐-๕๐ ครั้ง เป็นต้น โดยอาจขูดมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็ได้เท่าที่รู้สึกสบาย
และไม่ควรขูดในจุดที่เป็นแผล ฝี หนอง หรือจุดที่เมื่อถูกขูดแล้วรู้สึกไม่สบายเจ็บปวดแสบร้อน
แต่เราสามารถขูดตรงข้ามกับจุดที่ไม่สบายนั้น ๆ ได้
เช่น ถ้าเป็นแผลตรงหน้าอก เราก็สามารถไปขูดที่ตรงข้ามคือขูดหลัง เป็นต้น

หลังจากทำกัวซาแล้ว ไม่ควรอาบน้ำทันที
แต่ควรรอสัก ๕ – ๘ ชั่วโมงก่อนจึงค่อยอาบน้ำ เพื่อให้เวลาแก่ผิวหนังที่จะระบายพิษออก
หากเราจำเป็นจะต้องอาบน้ำ ก็ควรจะรอ ๓๐ นาทีแล้วเช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นจะดีกว่าอาบน้ำเย็น

ในการกัวซานั้น เราสามารถดูอาการพิษสะสมในร่างกายได้ด้วย โดยดูที่สีผิว ดังนี้
- หากเป็นสีชมพูหรือสีแดงเรื่อ ๆ แสดงว่า ดี
- หากเป็นปื้น แสดงว่า พิษเริ่มสะสมแล้ว
- หากเป็นจ้ำเหมือนไข้เลือดออก แสดงว่า พิษสะสมนานแล้ว
- หากเป็นลักษณะช้ำ แสดงว่า มีพิษสะสมมาก
- หากเป็นลักษณะช้ำจนถึงขั้นสีม่วงหรือสีดำ แสดงว่า มีพิษมากถึงขั้นมะเร็ง

ในรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการกัวซานั้น
ท่านผู้อ่านสามารถค้นหาได้ไม่ยากในอินเตอร์เน็ตนะครับ
และอุปกรณ์กัวซาก็ไม่ได้จำเป็นต้องไปหาซื้อแพงอะไร
โดยเราสามารถใช้ช้อนไม้ (หรือทัพพีไม้ก็ได้) ในบ้านเรานี่แหละ
ซึ่งสำหรับท่านผู้อ่านที่สนใจ ผมแนะนำให้ลองดูข้อมูลตามลิงค์ และคลิปวิดีโอต่อไปนี้ครับ
http://fansclubmorkeaw.blogspot.com/p/2.html
http://www.morkeaw.net/k-guasa.html
http://youtu.be/jeI65lGIM3w

สำหรับการสวนล้างลำไส้ใหญ่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยล้างพิษในร่างกาย
โดยพิษที่หมักหมมอยู่ในลำไส้ใหญ่นี้ ก็สามารถทำให้ร่างกายเราเจ็บป่วยได้เช่นกัน
ในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง พระวรกายของพระผู้มีพระภาคหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ
พระผู้มีพระภาคจึงรับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ กายของตถาคตหมักหมมด้วยสิ่งอันเป็นโทษ ตถาคตต้องการจะฉันยาถ่าย

ท่านพระอานนท์ได้ไปแจ้งความดังกล่าวแก่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้กล่าวว่า พระคุณเจ้า ถ้าอย่างนั้น
ขอท่านจงโปรดทำพระวรกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่นสัก ๒-๓ วัน
ต่อมา ท่านพระอานนท์ได้ทำพระวรกายของพระผู้มีพระภาคให้ชุ่มชื่น ๒-๓ วันแล้ว
และได้ไปแจ้งให้ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ทราบ

เมื่อทราบแล้ว ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้อบก้านอุบล ๓ ก้านด้วยยาต่างๆ
ครั้นแล้วท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๑ แด่พระผู้มีพระภาค
โดยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๑ นี้
การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๒ แด่พระผู้มีพระภาค
โดยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดอุบลก้านที่ ๒ นี้
การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
แล้วได้ทูลถวายก้านอุบลก้านที่ ๓ แด่พระผู้มีพระภาค
โดยกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงสูดก้านอุบลก้านที่ ๓ นี้
การทรงสูดก้านอุบลนี้จักยังพระผู้มีพระภาคให้ถ่ายถึง ๑๐ ครั้ง
ด้วยวิธีนี้ พระผู้มีพระภาคได้ทรงถ่ายถึง ๓๐ ครั้ง
ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงถ่ายครบ ๓๐ ครั้งแล้ว
ต่อมาไม่นานนัก พระกายของพระผู้มีพระภาคได้เป็นปกติแล้ว
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=3587&Z=3733&pagebreak=0

แต่ทีนี้ ในปัจจุบันนี้ เราก็ไม่ทราบนะครับว่า
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ใช้ยาอะไรอบก้านบัว ๓ ก้านถวายพระผู้มีพระภาค
แต่ที่เราทราบแน่ ๆ อย่างหนึ่งก็คือหากพิษหมักหมมอยู่ในร่างกายแล้ว
ก็ทำให้เจ็บป่วยได้ และหากสามารถขับถ่ายพิษที่หมักหมมเหล่านี้ออกไปได้
ก็ช่วยให้ร่างกายกลับเป็นปกติได้เช่นกัน
ซึ่งในการที่จะขับพิษที่สะสมในลำไส้ใหญ่ออกไปนี้
บางท่านที่ขับถ่ายดีเป็นประจำและเป็นปกติก็อาจจะไม่มีปัญหาอะไร
แต่บางท่านที่ไม่ได้ขับถ่ายเป็นปกติแล้ว อาจจะขอใช้ยาถ่ายก็ได้
ซึ่งถ้าใช้แล้ว อาการดีขึ้น หรือทำให้ร่างกายกลับเป็นปกติแล้ว ก็สามารถใช้ได้ครับ
แต่ยาถ่ายนั้นก็ไม่ได้ช่วยล้างพิษและปรับสมดุลได้เท่ากับการสวนล้างลำไส้ใหญ่

เราพึงทราบว่าการสวนล้างลำไส้ใหญ่ก็มีการทำในโรงพยาบาลบางแห่งนะครับ
โดยเป็นการสวนล้างลำไส้โดยใช้เครื่องสวนล้าง
แต่ที่เราจะคุยและอธิบายกันในที่นี้เป็นการสวนล้างลำไส้ด้วยตนเอง
โดยใช้ขวดพลาสติกและสายสวน หรือถุงพลาสติกและสายสวน
(ซึ่งเป็นขวดพลาสติก หรือถุงพลาสติก และสายสวนสำหรับเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)
โดยเราสามารถหาซื้อได้ไม่ยากและในราคาไม่แพงครับ (ราคาไม่กี่สิบบาท)

พิษในลำไส้ใหญ่นั้นจะเกิดขึ้นเป็นธรรมชาติของร่างกายทุกวัน
ซึ่งหากไม่ได้มีการระบายออกที่สมควร หรือมีการหมักหมมสะสมมากเกินไป
ก็จะถูกดูดซึมกลับหรือแพร่กระจายกลับไปส่งผลเสียต่ออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
หรือทำให้ร่างกายทรุดโทรม และเจ็บป่วย
ในกรณีดังกล่าว การสวนล้างสำไส้ใหญ่ย่อมจะช่วยให้สามารถระบายพิษดังกล่าว
ออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว
นอกจากนี้แล้ว เราสามารถใส่สมุนไพรที่ถูกกันกับอาการของเราเพื่อช่วยปรับสมดุลได้ด้วย

สิ่งที่ควรจะพิจารณาในการสวนล้างลำไส้ใหญ่ก็คือ
- น้ำที่ใช้ควรจะเป็นน้ำที่สะอาด (โดยเราสามารถดื่มได้)
- อุณหภูมิของน้ำไม่ควรร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะจะทำให้ป่วยได้
- ปริมาณของน้ำไม่ควรมากหรือน้อยเกินไป ควรจะพอดีให้เรารู้สึกสบาย
- ความสูงในการแขวนขวดพลาสติกใส่น้ำหรือถุงพลาสติกใส่น้ำไม่ควรอยู่สูงเกินไป
เพราะอาจจะทำให้น้ำไหลแรงและทำให้รู้สึกไม่สบายตัว
แต่หากแขวนต่ำเกินไป น้ำก็อาจจะไหลช้ามาก หรือบางทีอาจจะไม่ไหล เป็นต้น
- ในกรณีที่มีการผสมสมุนไพรใด ๆ ลงในน้ำที่ใช้ในการสวนล้างแล้ว
ควรจะเลือกสมุนไพรที่ถูกกันกับอาการของเรา เช่น
หากเรามีภาวะอาการร้อนเกิน ก็ควรจะใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น
ไม่ควรใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อน หรือไม่ควรใช้กาแฟ ซึ่งมีฤทธิ์ร้อน เป็นต้น
และไม่ควรจะผสมสมุนไพรเข้มข้นเกินไป
เพราะจะทำให้สมุนไพรเคลื่อนเข้าร่างกายมากเกินไป และทำให้เกิดอาการไม่สบายตัวได้
- ไม่ควรกลั้นอุจจาระนานจนเกินไปทำให้ร่างกายทรมาน
แต่ควรกลั้นเพียงในจุดที่เรารู้สึกทนได้โดยไม่ยากหรือไม่ลำบากเกินไป

ในเรื่องของการสวนล้างลำไส้ใหญ่นั้น สามารถช่วยรักษาโรคได้หลายอาการนะครับ
อย่างผมเองเคยสอนพระภิกษุชาวศรีลังการูปหนึ่งให้ท่านทำการสวนล้างลำไส้ใหญ่
(ท่านเป็นชาวศรีลังกาแต่อยู่เมืองไทยมานานจนพูดไทยได้แล้ว)
ท่านทำแล้วได้มาเล่าให้ฟังว่าก่อนที่จะสวนล้างลำไส้นั้น ท่านเคยปวดหลังมาก
เวลาหลังจากทำวัตรเช้าหรือทำวัตรเย็นนั้นกว่าท่านจะลุกขึ้นได้ ท่านใช้เวลานานมากเพราะปวด
แต่พอได้ทำการสวนล้างลำไส้ใหญ่แล้ว อาการปวดลดลงมากเลยทีเดียว
โดยทำวัตรเสร็จแล้วก็ลุกขึ้นมาได้ทันที โดยไม่ปวดรุนแรงเหมือนแต่ก่อน

ในรายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการสวนล้างลำไส้ใหญ่นั้น
ผมแนะนำให้ลองดูข้อมูลตามลิงค์และคลิปวิดีโอต่อไปนี้ครับ
โดยขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านที่สนใจนั้น ควรศึกษาข้อมูลในครบถ้วนก่อนที่จะลงมือทำนะครับ
http://fansclubmorkeaw.blogspot.com/p/3.html
http://www.morkeaw.net/k-detox.html
http://youtu.be/QeDCjGzPUAA

ต่อมา เรามาคุยเรื่องวิธีการล้างพิษตับ ซึ่งเป็นเรื่องสุดท้ายที่จะคุยกันในตอนนี้
เรื่องล้างพิษตับนี้ก็มีการถกเถียงกันมากมายหลายแห่งนะครับ
โดยในหลักการนั้น ขออธิบายย่อ ๆ ว่าตับเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่มากมายหลากหลาย
รวมทั้งทำหน้าที่ทำลายสารพิษและยาต่าง ๆ ด้วย
ซึ่งหากตับไม่สามารถทำลายสารพิษต่าง ๆ ได้ แต่สะสมสารพิษไว้มาก
ก็ทำให้ตับไม่สามารถทำหน้าที่ตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การล้างพิษตับจะช่วยเป็นการล่อให้ตับขับพิษหรือของเสียออกมา
เพื่อให้ตับสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของวิธีการแล้ว ก็จะมีการสวนล้างลำไส้ใหญ่เพื่อให้ลำไส้สะอาดเสียก่อน
ในขณะเดียวกันก็จะมีการอดอาหารช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อสะสมปริมาณน้ำดีไว้ในตับ
จากนั้นก็จะมีการทานน้ำมันมะกอกผสมน้ำมะนาว
เพื่อให้น้ำมันมะกอกไปล่อน้ำดีจากตับ
โดยเมื่อตับขับน้ำดีออกมาปริมาณมากในคราวเดียว
พิษต่าง ๆ หรือของเสียอื่น ๆ ที่สะสมไว้ในตับก็จะออกมาพร้อมกันด้วย

วิธีการล้างพิษตับทำนองนี้ ไม่ได้เพิ่งมาทำในยุคสมัยนี้เท่านั้นนะครับ
แต่ในสมัยพุทธกาลนั้น ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เคยใช้วิธีการทำนองนี้
รักษาอาการประชวรโรคผอมเหลืองแก่พระเจ้าปัชโชตมาแล้ว
โดยในพระไตรปิฎก พระวินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒ ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง พระเจ้าปัชโชตราชาในกรุงอุชเชนีทรงประชวรด้วยโรคผอมเหลือง
นายแพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังหลายคนมารักษาก็ไม่สามารถรักษาให้โรคหายได้
ต่อมา พระเจ้าปัชโชตจึงได้ส่งราชทูตถือพระราชสาส์นไปที่พระราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร
เพื่อขอให้ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ไปช่วยรักษาอาการประชวรให้

พระเจ้าพิมพิสารทรงสั่งให้ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ไปช่วยรักษาพระเจ้าปัชโชตที่เมืองอุชเชนี
ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้ทำการรักษาโรคผอมเหลืองของพระเจ้าปัชโชต
ด้วยการหุงเนยใสถวาย ซึ่งต่อมาพระเจ้าปัชโชตทรงหายประชวร
และได้ส่งผ้าสิไวยกะคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นผ้าเนื้อดีเลิศ เยี่ยมกว่าผ้าทั้งหลายเป็นอันมาก
ไปพระราชทานแก่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์
และท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้นำผ้าสิไวยกะดังกล่าวไปถวายพระผู้มีพระภาค
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=5&A=3514&Z=3586&pagebreak=0

ในยุคพุทธกาลนั้น ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ใช้เนยใสนะครับ
แต่ในสูตรของการล้างพิษตับในปัจจุบัน จะใช้น้ำมันมะกอกเป็นหลัก
โดยในรายละเอียดของการล้างพิษตับนั้น ก็มีหนังสือเขียนขายกันเป็นเล่ม ๆ
รวมทั้งก็มีการถกเถียงกันตามเว็บบอร์ดต่าง ๆ เยอะแยะนะครับ
ซึ่งท่านผู้อ่านก็ย่อมจะสามารถค้นหาข้อมูลดังกล่าวได้ไม่ยาก
แต่ถ้าจะสนใจศึกษาข้อมูลในเบื้องต้นแล้ว ผมก็ขอแนะนำให้ลองดูลิงค์ดังต่อไปนี้ครับ
http://youtu.be/QRGzo2wFw-U
http://youtu.be/ObqXvanL-CM
http://youtu.be/oMHw3HggEKo

แต่ประสบการณ์ส่วนตัว และคนที่รู้จักที่เคยทำกันมาหลายสิบคนแล้ว
หลายท่านทำแล้วอาการดีขึ้น โดยไม่พบว่ามีคนไหนที่ทำแล้วอาการแย่ลงนะครับ
บางท่านทำแล้ว อาการโรคบางอย่างหายเลยก็มี เช่น โรคความดัน เป็นต้น
แต่ก็หลังจากนั้นก็ต้องปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมด้วยนะครับ
ไม่เช่นนั้นแล้ว โรคความดันก็จะกลับมาหาใหม่

(ทั้งนี้ กรณีมีข้อสังเกตที่สำคัญที่ต้องเรียนให้ทราบว่า
การล้างพิษตับไม่ได้เป็นวิธีการตามหลักการแพทย์วิถีธรรม
และไม่ได้อยู่ในเทคนิค ๙ ข้อ (หรือยา ๙ เม็ด) นะครับ
เนื่องจากการล้างพิษตับจะต้องใช้น้ำมันมะกอก
ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ใช่สิ่งที่พึ่งพาตนเองได้)

ในบทความนี้ผมได้อธิบายวิธีการล้างพิษมา ๓ วิธีดังกล่าวข้างต้น
พร้อมกับบอกด้วยว่ามีวิธีการล้างพิษอื่น ๆ อีก เช่น อดอาหาร เป็นต้น
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะมีคำถามว่าแล้วเราต้องทำทุกวิธีหรือเปล่า หรือจะเลือกทำวิธีไหนดี
ขอตอบว่า ไม่จำเป็นต้องทำทุกวิธีนะครับ
แต่หากเราจะทำ ก็ควรเลือกทำวิธีการที่สะดวก และถูกกับโรคของตนเองก็พอ
แต่หากเราไม่สนใจ หรือเห็นว่าไม่ได้จำเป็น หรือไม่เป็นประโยชน์ ก็ไม่ต้องทำครับ

ก่อนที่จะจบ ก็ต้องขอเรียนว่าวิธีการล้างพิษทั้งหลายนี้
เป็นเพียงการรักษาโรคที่กลางน้ำเท่านั้นนะครับ
แต่สิ่งที่ดีกว่าการรักษาโรคที่กลางน้ำก็คือ การรักษาโรคที่ต้นน้ำ
กล่าวคือ เราพยายามไม่ใส่สิ่งที่เป็นพิษลงในร่างกายเรานะครับ
(ถ้าหากเราป่วยที่ร่างกายเพราะเหตุปัญหาที่จิตใจ เช่น เครียดจัด เป็นต้น
เราก็ต้องไม่ใช่สิ่งที่เป็นพิษลงในจิตใจเราครับ)
การที่เราหลีกเลี่ยงไม่ใส่สิ่งที่เป็นพิษลงไปตั้งแต่แรกย่อมจะดีกว่า
และเป็นประโยชน์กว่าใส่พิษลงไปก่อน แล้วค่อยไปหาทางล้างพิษออกในภายหลังครับ

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)


+ + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + + +


หมายเหตุ ขอเรียนเชิญญาติธรรมท่านที่สนใจร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม
เพื่อประโยชน์ในการจัดค่ายคุณธรรมสอนธรรมะแก่เด็ก ๆ เยาวชน
โดยการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ดังต่อไปนี้

ชื่อบัญชี นายสันติ คุณาวงศ์ นางปราณี ศิริวิริยะกุล และนางพจนา ทรัพย์สมาน
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาแฟรี่แลนด์ นครสวรรค์
บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 881-223306-7

ทั้งนี้ ท่านสามารถติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างศาลาปฏิบัติธรรมได้ที่
http://www.facebook.com/rooguyroojai
และสามารถติดตามความคืบหน้าของการเรี่ยไรและสำเนาหน้าสมุดบัญชีรับบริจาคได้ที่
กระทู้ในเว็บไซต์ลานธรรมตามลิงค์นี้ครับ
เชิญร่วมสมทบทุนสร้างศาลาปฏิบัติธรรม ชมรมเรียนรู้กายใจ จังหวัดนครสวรรค์