Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๑๓

คุยเรื่องสุขภาพ (๘) – รู้พักรู้เพียรให้พอดี

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

dharmajaree 213 

(ต่อจากฉบับที่ ๒๑๒ คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนที่ ๗) เทคนิค ๙ ข้อ)

ในตอนก่อน ๆ เราได้คุยเทคนิค ๙ ข้อไปแล้วทั้งหมด ๕ ข้อนะครับ
โดยเหลืออีก ๔ ข้อที่เรายังคุยไม่จบ
ในคราวนี้ เราจะมาคุยเทคนิคข้อที่ ๙ คือรู้พักรู้เพียรให้พอดี
ซึ่งเทคนิคข้อนี้ดูเหมือนว่าจะง่าย แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่ง่าย
เพราะโดยพฤติกรรมที่เคยชินของเราแล้ว
หลายท่านก็ชอบที่จะไม่พัก และชอบที่จะนอนดึกกัน

แม้เราจะทานอาหารอย่างสมดุล และออกกำลังกายอย่างเหมาะสมแล้วก็ตาม
แต่หากไม่รู้พักรู้เพียรให้พอดี ก็อาจจะเกิดอาการเจ็บป่วยได้
เช่น ไม่ได้พักผ่อนหรือไม่ได้นอนติดต่อกันหลายวัน ก็ย่อมจะป่วยได้
โดยการทำงานหนักเกิน หรือไม่พักผ่อนให้เพียงพอ
ก็ทำให้ร่างกายเสียความสมดุล และเกิดอาการเจ็บป่วยได้เช่นกัน

การไม่ได้พักให้พอดี ไม่ใช่แค่ทำงานหนักเกินจนไม่ได้พักเท่านั้น
แต่รวมถึงการไม่พักในเวลาที่ร่างกายสมควรพักด้วย
โดยผมขอแนะนำให้เราศึกษาในเรื่องของนาฬิกาชีวิต (circadian rhythm)
ซึ่งทำหน้าที่บริหารระบบในร่างกายให้ทำงานสอดคล้องกับธรรมชาติ
กล่าวคือ สิ่งมีชีวิตและธรรมชาติมีปฏิสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา
ดังเช่นพืชที่ทำการสังเคราะห์แสงในเวลากลางวัน
ร่างกายเราก็ทำงานสอดคล้องกับเวลากลางวันและกลางคืนเช่นกัน ดังต่อไปนี้

เวลา ๐๑.๐๐ – ๐๓.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของตับที่ทำงานกำจัดสารพิษในร่างกาย
จึงควรนอนหลับให้สนิทให้ช่วงเวลาดังกล่าว
ถ้าเราไม่นอนพักในเวลาดังกล่าว ตับก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่
เวลา ๐๓.๐๐ – ๐๕.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของปอดที่ระบบหายใจได้ทำงานได้เต็มที่
จึงควรตื่นนอน และหายใจสูดอากาศบริสุทธิ์
เวลา ๐๕.๐๐ – ๐๗.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้ใหญ่ จึงควรขับถ่ายของเสียออกจากร่างกาย
เวลา ๐๗.๐๐ – ๐๙.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะอาหาร จึงควรรับประทานอาหารมื้อเช้า
เวลา ๐๙.๐๐ – ๑๑.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของม้ามและตับอ่อน
โดยม้ามทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กำจัดเม็ดเลือดแดงที่เสื่อมสภาพ
ส่วนตับอ่อนจะผลิตเอนไซม์มาช่วยย่อยอาหารที่ลำไส้เล็ก
ช่วงนี้ร่างกายจะตื่นตัวเหมาะต่อการทำงานหรือกิจกรรมอื่น ๆ โดยช่วงเวลานี้ไม่ควรนอน
เวลา ๑๑.๐๐ – ๑๓.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของหัวใจ ซึ่งจะทำงานหนักในช่วงเวลานี้
จึงควรหลีกเลี่ยงความเครียด และงานที่ต้องใช้ความคิดหนัก
เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของลำไส้เล็ก ซึ่งทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหาร
ควรงดทานอาหารทุกประเภทในช่วงเวลานี้เพื่อให้ลำไส้เล็กทำงานเต็มที่
เราจึงควรทานอาหารกลางวันให้เสร็จก่อนเวลาดังกล่าว
เวลา ๑๕.๐๐ – ๑๗.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของกระเพาะปัสสาวะ
โดยเป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การออกกำลังกายให้เหงื่อออก
เวลา ๑๗.๐๐ – ๑๙.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของไต เพื่อกรองของเสียออกจากเลือด
ช่วงนี้จึงควรดื่มน้ำสะอาด และไม่ควรนอนหลับในช่วงนี้ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับในช่วงกลางคืน
เวลา ๑๙.๐๐ – ๒๑.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของเยื่อหุ้มหัวใจ
เป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการสวดมนต์ ทำสมาธิ ไม่ควรทำอะไรตื่นเต้นหรืออารมณ์แปรปรวน
เวลา ๒๑.๐๐ – ๒๓.๐๐ น. เป็นช่วง เวลาของระบบความร้อนในร่างกาย
ร่างกายจะเริ่มหลั่งสารเมลาโทนิน ช่วงนี้จึงเป็นช่วงที่ควรนอนหลับพักผ่อน
เวลา ๒๓.๐๐ – ๐๑.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี
เพื่อเก็บน้ำดีที่ได้จากตับและส่งน้ำดีมาช่วยย่อยไขมันที่ลำไส้เล็ก

หมายเหตุ ๑. ข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับนาฬิกาชีวิตข้างต้นนำมาจาก
หนังสือคู่มือการอบรมโครงการฟื้นฟูและส่งเสริมสุขภาพองค์รวม ๘ อ.
๒. เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่เกิดจากการสร้างขึ้นในร่างกาย
โดยมีความมืดเป็นตัวกระตุ้นและหยุดหลั่งเมื่อเจอแสงสว่าง
ปริมาณของเมลาโทนินจะเพิ่มสูงขึ้นในตอนกลางคืนเริ่มตั้งแต่ประมาณ ๒๒ นาฬิกา
ปริมาณสูงสุดประมาณ ๓ นาฬิกา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับฤดูกาลด้วย
เมลาโทนินถือว่าเป็นสารที่ช่วยปรับสภาพร่างกายในรอบวัน
โดยมีคุณสมบัติที่เกี่ยวข้องกับความสว่างและความมืด (circadian rhythm)
นอกจากนี้ เมลาโทนินยังเหนี่ยวนำให้เกิดการนอนหลับลึก
ช่วยกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนการเจริญเติบโต (Growth hormone)
และยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย
http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%82%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%99

ในข้อมูลอีกด้านหนึ่ง ถ้าลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับแพทย์แผนไทยแล้ว
จะพบว่าการหมุนรอบตัวเองของโลกในแต่ละวัน
ทำให้ธาตุต่าง ๆ ในร่างกายกำเริบในแต่ละวันในเวลาที่แตกต่างกัน ดังนี้
เวลา ๐๖.๐๐ – ๑๐.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาที่ธาตุน้ำกำเริบ
เวลา ๑๐.๐๐ – ๑๔.๐๐ น. และ ๒๒.๐๐ – ๐๒.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาที่ธาตุไฟกำเริบ
เวลา ๑๔.๐๐ – ๑๘.๐๐ น. และ ๐๒.๐๐ – ๐๖.๐๐ น. เป็นช่วงเวลาที่ธาตุลมกำเริบ
ซึ่งในช่วงเวลา ๒๒.๐๐ – ๐๒.๐๐ น. ที่กล่าวนี้เป็นช่วงเวลาธาตุไฟกำเริบ
โดยหากเราไม่พักผ่อน และไม่นอน ก็ยิ่งทำให้ร่างกายเรามีความร้อนสะสมมากขึ้น
แต่เวลาที่เราไม่นอนในเวลาดึกดังกล่าว บางทีเราก็จะหิว
และสิ่งที่เราจะหามาทานในเวลากลางคืนดังกล่าวก็มักจะเป็นอาหารฤทธิ์ร้อน
เช่น บะหมี่สำเร็จรูป ขนมปัง กาแฟ นมวัว เป็นต้น ซึ่งการทานอาหารฤทธิ์ร้อนในช่วงเวลานี้
ก็ยิ่งทำให้ร่างกายร้อนมากขึ้น และเสื่อมโทรมลงไปอีก
(หากจำเป็นจะต้องอยู่ดึกแล้ว ควรจะทานอาหารฤทธิ์เย็นเพื่อลดความร้อน
ไม่ใช่ทานอาหารฤทธิ์ร้อนทำให้ร่างกายภายในร้อนมากยิ่งขึ้นไปอีก)
นอกจากนี้ เวลาที่หลายท่านอยู่ดึก ก็อาจจะใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรศัพท์มือถือ
หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ ซึ่งก็เพิ่มความร้อนเข้าไปในร่างกายมากขึ้นอีก

รายละเอียดในเรื่องนาฬิกาชีวิต และเรื่องธาตุกำเริบในแต่ละเวลาดังกล่าวข้างต้น
อาจจะมีรายละเอียดไม่น้อยที่เราอาจจะจำได้ไม่หมด
แต่หากจะจำให้ง่าย ๆ ก็คือ ไม่ควรนอนดึกครับ
ควรจะนอนเช้า และตื่นเช้า ร่างกายจะแข็งแรงกว่านอนดึกและตื่นสาย
แม้ว่าจะใช้เวลานอนเท่ากันก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น เราเข้านอนเวลา ๓ ทุ่ม และตื่นตี ๔ เท่ากับนอน ๗ ชั่วโมง
เทียบกับเข้านอนเวลาตี ๑ และตื่น ๗ โมงเช้า ก็นอน ๗ ชั่วโมงเท่ากัน
แต่หากใช้ชีวิตอย่างนี้ต่อเนื่องไปนาน ๆ แล้ว
คนที่เข้านอนตี ๑ จะป่วยมากกว่า
แต่คนที่เข้านอนเวลา ๓ ทุ่มจะสุขภาพแข็งแรงกว่า

นอกจากควรพักให้พอดีแล้ว ก็ควรเพียรให้พอดีด้วย
โดยเวลากลางวันก็ควรจะใช้เวลาทำงาน และไม่ควรจะนอนครับ
(เว้นแต่จะเพลียและเหนื่อยจริง ๆ) เพราะหากนอนพักมากเกินไป
ก็ทำให้ร่างกายไม่ได้ทำงานตามที่สมควร และทำให้เสียสมดุลได้
ในขณะที่หากเรานอนกลางวันมาก ก็ทำให้กลางคืนนอนไม่หลับอีก

ถ้าเราลองค้นข้อมูลเกี่ยวกับข้อเสียของการนอนดึกแล้ว
ยังจะพบข้อมูลอื่น ๆ อีกนะครับ เช่น
การนอนดึกทำให้โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ไม่หลั่ง
หรือทำให้ไม่มีการหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมาซ่อมแซมร่างกายตามปกติ
หรือการนอนน้อยและนอนดึกทำให้มีผลต่อฮอร์โมนเลปติน (Leptin)
ที่ส่งสัญญาณต่อระบบประสาทว่าควรจะอิ่มเร็วหรือช้าเท่าใด
ซึ่งเมื่อระดับฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ลดลงจากการนอนน้อยหรือนอนดึก
ก็จะทำให้รู้สึกอยากอาหารมากขึ้น และทำให้ทานอาหารมาก และอ้วนในที่สุด
นอกจากนี้ การนอนไม่พอหรือการนอนดึกทำให้ส่งผลต่อเม็ดเลือดขาว
และกลไกการตอบสนองภูมิคุ้มกันต่าง ๆ และทำให้ขาดภูมิต้านทานอีกด้วย
บางท่านที่นอนดึก อาจทำให้ร่างกายจัดการไขมันได้ไม่ดี และทำให้เป็นสิว

ถ้าจำเป็นจะต้องนอนดึกหรือนอนน้อยทำให้เสียสุขภาพแล้ว
ก็ควรจะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งจริง ๆ เช่น ภาวนาในรูปแบบ เป็นต้น
ไม่ใช่ว่าอยู่ดึก ไม่ยอมนอน และเสียสุขภาพ เพราะว่าไปเที่ยวกลางคืน
ดูละคร เล่นเกม เล่นโซเชียลมีเดีย คุยเล่น หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ก่อประโยชน์

ในกรณีที่เราอยู่ดึกเพราะว่าต้องทำงานเร่งด่วนบางอย่าง
ก็พึงพิจารณาว่าเราจะเข้านอนก่อน แล้วค่อยตื่นขึ้นมาทำงานทีหลังได้หรือไม่
ส่วนกรณีที่ต้องอยู่ดึก เพราะต้องทำงานเป็นกะ หรือต้องเข้าเวร ก็เลี่ยงยาก
ก็ควรทานอาหารฤทธิ์เย็นหรือน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น เพื่อลดความร้อนในร่างกาย
และพึงทำใจให้เย็นสบาย ไม่ควรไปสร้างโทสะให้ใจร้อนยิ่งขึ้นไปอีก

อนึ่ง บางท่านอาจจะรู้สึกว่า เราอยู่ดึกไหว เราไม่พักผ่อน เราก็ไหว
ก็ขอเรียนว่าแม้เราอาจจะรู้สึกว่า เราไหวก็ตาม
แต่ตับและอวัยวะอื่น ๆ ภายในของร่างกายเราอาจจะไม่ไหวด้วยนะครับ
เพียงแต่อวัยวะภายในของร่างกายไม่ได้มีเสียงตะโกนออกมาบอกได้ว่าไม่ไหวแล้ว
แต่มันก็จะเสื่อมสภาพและเสียหายไปเรื่อย ๆ

บางท่านอาจจะอ้างว่า ในเมื่อบอกว่าเราไม่ควรเพียรมากเกิน
อย่างนี้เราก็ไม่ต้องเพียรภาวนาให้มากใช่หรือเปล่า
ในประเด็นนี้ก็ขอชี้แจงว่าไม่ควรตกเป็นเหยื่อกิเลสครับ
กิเลสก็มักจะหาเหตุโน่นเหตุนี่มาเพื่อให้เราไม่ต้องภาวนา
เรื่องภาวนานั้นเราก็ต้องเพียรให้เต็มกำลัง
แต่สิ่งที่เราควรทำคือไปตัดเวลาที่เราใช้กับเรื่องอื่น ๆ ที่ไร้สาระออกไปครับ
ไม่ใช่ไปตัดเวลาในการทำสิ่งที่มีสาระและเป็นประโยชน์แก่ชีวิต

สรุปแล้วก็คือรู้พักรู้เพียรให้พอดีครับ
ไม่พักมากเกิน และไม่เพียรมากเกิน
พักให้เป็นเวลา และเพียรให้เป็นเวลา
เวลาที่ควรพักก็พัก เวลาที่ควรเพียรก็เพียร
ก็จะช่วยทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น และลดความเจ็บป่วยลงครับ

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้า)