Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๑๒

คุยเรื่องสุขภาพ (๗) – เทคนิค ๙ ข้อ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 212

(ต่อจากฉบับที่ ๒๑๑ คุยเรื่องสุขภาพ (ตอนที่ ๖) อาหาร)

เราคุยกันมาได้พอสมควรแล้วนะครับ
ซึ่งบางท่านอาจจะสงสัยว่าผมจะคุยเรื่องสุขภาพทั้งหมดกี่ตอน
เพราะเห็นว่ามีรายละเอียดค่อนข้างจะเยอะแล้ว
ผมลองนับดูแล้วก็คาดว่าน่าจะคุยทั้งหมดไม่เกิน ๑๒ ตอนนะครับ
เพราะฉะนั้นขณะนี้ เราก็มากันได้ครึ่งทางแล้วล่ะ

ในตอนที่แล้วเราได้คุยกันในเรื่องอาหาร
และผมได้กล่าวถึงวิธีการดูแลสุขภาพตามหลักแพทย์วิธีธรรม
ซึ่งมีเทคนิค ๙ ข้อ (หรือที่เรียกว่ายา ๙ เม็ด) ได้แก่
๑. การทานสมุนไพรปรับสมดุล
๒. การกัวซา หรือขูดพิษ
๓. การสวนล้างลำไส้ใหญ่ (หรือดีทอกซ์)
๔. การแช่มือแช่เท้าในน้ำสมุนไพร
๕. การพอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบด้วยสมุนไพร
๖. การออกกำลังกาย การกดจุดลมปราณ กายบริหาร
๗. การทานอาหารปรับสมดุลร้อนเย็น
๘. การศึกษาและปฏิบัติธรรม
๙. รู้พัก รู้เพียรให้พอดี

ในเทคนิค ๙ ข้อนี้ก็เป็นไปเพื่อการปรับสมดุลของกายและใจให้มีความสมดุล
เพราะเมื่อกายและใจมีความสมดุล เราก็จะแข็งแรงแรงและมีสุขภาพดี
ในเทคนิค ๙ ข้อนี้ ข้อที่สำคัญกว่าคือ ๔ ข้อหลังที่เราจำเป็นต้องทำทุกข้อ
ส่วน ๕ ข้อแรกนั้น เราจะทำหรือไม่ทำข้อไหนก็ได้ แล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละท่าน
ดังนี้ ผมจะเริ่มอธิบายในส่วนของ ๔ ข้อหลังก่อนนะครับ เพราะสำคัญกว่า

ข้อ ๖ เรื่องการออกกำลังกาย การกดจุดลมปราณ กายบริหาร
ในสังคมของคนเมืองนี้ หลาย ๆ ท่านมีปัญหาว่าไม่ได้ออกกำลังกายเท่าที่ควร
หรือไม่ได้ออกกำลังกายเลย โดยในแต่ละวันไม่ค่อยได้เดินเท่าไร
ในการทำงานแต่ละวันไม่ได้โดนแดด อยู่แต่ในห้องแอร์ ไม่ได้ใช้กำลังอะไร
ทานอาหารอะไรเข้าไปก็สะสมไว้ โดยไม่ได้มีการเผาผลาญไขมันเท่าที่ควร
ในระยะยาวก็ทำให้ร่างกายเสียความสมดุล และเกิดอาการเจ็บป่วยได้
ฉะนั้นแล้ว การออกกำลังกายก็เป็นสิ่งสำคัญมากครับ

แม้หลายท่านจะออกกำลังกายก็ตาม
แต่ในการออกกำลังกายที่เราออกกันก็มักจะทำในลักษณะที่
เน้นในเรื่องการช่วยให้หัวใจ ปอด หรือกล้ามเนื้อให้แข็งแรง หรือช่วยการสูบฉีดโลหิต
แต่ไม่ได้ช่วยเหลือในด้านลมปราณต่าง ๆ ในร่างกายเท่าที่ควร
ในที่นี้ จึงแนะนำให้เราฝึกหัดกดจุดลมปราณด้วยครับ ซึ่งสามารถทำได้เองไม่ยาก
โดยผมแนะนำให้ลองฝึกตามคลิปวิดีโอของกลุ่มแพทย์วิถีธรรม ดังต่อไปนี้
ตอนที่ ๑ http://youtu.be/-xMAEtLK4KQ
ตอนที่ ๒ http://youtu.be/qn4-p-T4OXM
ตอนที่ ๓ http://youtu.be/9A2u7S0Rya8
ตอนที่ ๔ http://youtu.be/qumCfXcQFjU
ตอนที่ ๕ http://youtu.be/ff9gou6oaPE
ตอนที่ ๖ http://youtu.be/j9KKbSAoGCM
ตอนที่ ๗ http://youtu.be/FAcCoAWb5FQ
ตอนที่ ๘ http://youtu.be/hRNhn1HpSs4
ตอนที่ ๙ http://youtu.be/r5SkHGQITAk
ตอนที่ ๑๐ http://youtu.be/eDvIabGWD1k
ตอนที่ ๑๑ http://youtu.be/eVhXE_9VxPo

อนึ่ง ท่ากายบริหารหรือโยคะบางท่าที่เราทำไม่ถนัดหรือทำไม่ได้
เราก็ไม่จำเป็นต้องทำนะครับ โดยก็สามารถข้ามไปได้

บางท่านอาจจะสงสัยว่าการกดจุดลมปราณนี้จะช่วยอะไรได้
ตอบว่าการกดจดลมปราณนี้ย่อมมีผลช่วยกระตุ้นการทำงาน
ของจุดลมปราณ หรือเส้นลมปราณต่าง ๆ ทำนองเดียวกับ
การฝังเข็มในแพทย์แผนจีนนะครับ
ยกตัวอย่างว่า ผมเองเคยไปช่วยทำงานจิตอาสาที่ชมรมธรรมะแห่งหนึ่ง
แล้วก็มีญาติธรรมท่านหนึ่งกำลังจะพาอากงอายุ ๘๐ กว่าไปโรงพยาบาล
เนื่องจากในวันนั้น อากงมีอาการป่วยหายใจติดขัด
ซึ่งจากอาการปกติที่อากงเคยเป็นในลักษณะนี้
ก็จะต้องพาไปนอนรักษาโรงพยาบาลอย่างน้อยคืนหนึ่งถึงจะหาย
แต่ญาติธรรมก็พาอากงแวะมาที่ชมรมธรรมะ เพื่อมาหาครูบาอาจารย์ท่านหนึ่งก่อน

ระหว่างที่รอครูบาอาจารย์จะมาพบนั้น
ญาติธรรมท่านนี้ก็ขอให้ผมลองช่วยกดจุดลมปราณให้อากง
(โดยญาติธรรมท่านนี้เคยมาคุยเรื่องการดูแลสุขภาพกับผมมาก่อนแล้ว)
เพื่อจะไม่ให้อากงรู้สึกเบื่อ และจะได้รู้สึกว่ามีอะไรทำในระหว่างที่รอ
ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญในด้านนี้นะครับ
เพียงแค่เคยฝึกกดจุดตามคลิปวีดีโอข้างต้นมาบ้างเท่านั้นเอง
แถมอากงท่านนี้ยังเป็นโรคไตอีกด้วย แขนข้างหนึ่งก็กดจุดไม่ได้
เพราะเส้นที่แขนข้างนั้นใช้สำหรับฟอกไตไปเยอะแล้ว
ผมจึงช่วยกดให้เฉพาะที่แขนอีกข้างหนึ่ง และช่วงลำตัว
โดยก็กดอยู่ประมาณ ๑๐ กว่านาที
หลังจากนั้นอากงก็ได้พบกับครูบาอาจารย์ แล้วก็ได้ไปโรงพยาบาล

ต่อมาญาติธรรมได้พาอากงไปถึงโรงพยาบาล
แล้วก็โทรศัพท์กลับมาเล่าให้ผมฟังว่า
พอไปถึงโรงพยาบาลแล้ว คุณหมอถามอากงว่าเป็นอะไรมา มีอาการอะไร
อากงเงียบไปพักหนึ่งแล้วก็บอกคุณหมอว่าหายแล้ว รู้สึกดีขึ้นแล้ว
ญาติธรรมก็เลยพาอากงกลับบ้าน
โดยไม่ต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล และไม่ต้องเสียเงินค่ารักษาเลย
กรณีนี้ก็ยกเป็นตัวอย่างนะครับว่าการกดจุดลมปราณก็มีประโยชน์

ในข้อ ๗ เรื่องการทานอาหารปรับสมดุลร้อนเย็นนั้น
เราได้คุยกันไปหมดแล้วนะครับ
รวมทั้งเราได้คุยข้อ ๑ เรื่องการทานสมุนไพรปรับสมดุล ไปหมดแล้วด้วย
(ขอให้ไปหาอ่านเองได้จากตอนก่อน ๆ ครับ)

ในส่วนของข้อ ๘ เรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมนั้น
ผมจะขอยกไปคุยรวมกันกับเรื่อง “กรรม” นะครับ
โดยในที่นี้จะขออธิบายในเบื้องต้นว่า เรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งจำเป็น
บางท่านอาจจะบอกว่าอาการเจ็บป่วยเกิดขึ้นที่ร่างกายไม่ใช่หรือ
แล้วการศึกษาและปฏิบัติธรรมจะมาเกี่ยวข้องอะไรด้วย
ขอตอบว่า หากเราพิจารณาในเชิงของธาตุแล้ว
เราจะเห็นได้ว่าชีวิตเราประกอบด้วยธาตุ ๖ ได้แก่
ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุมาผสมรวมกัน
โดยหากวิญญาณธาตุไม่ดีหรือไม่สมดุลแล้ว ก็ย่อมส่งผลทำให้เกิดความไม่สมดุล
และทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมาได้

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่คนเราโกรธจัด ๆ กับเวลาที่รู้สึกเฉย ๆ
ถามว่าความดันโลหิตจะเท่ากันไหม
ตอบว่า ไม่เท่ากันนะครับ ถ้าเราโกรธจัด ความดันโลหิตก็จะเพิ่มสูงขึ้น
ดังนั้น ถ้าเราโกรธจัด เครียดจัด แค้นจัด โลภจัด ก็ทำให้ป่วยได้ครับ
แม้จะทานยาบำรุงวิเศษแค่ไหนก็ตาม
แต่ในเมื่อวิญญาณธาตุมีปัญหาเสียแล้ว ก็ทำให้ร่างกายไม่สมดุลและป่วยได้ครับ

ในส่วนของข้อ ๙ เรื่องรู้พัก รู้เพียรให้พอดีนั้น
ผมจะขอยกไปคุยเป็นตอนหนึ่งแยกต่างหากนะครับ
เพราะต้องคุยกันยาวพอสมควร
ในที่นี้ จะขออธิบายเบื้องต้นว่า การเพียรพักให้พอดีเป็นสิ่งจำเป็น
เพราะหากเราไม่พักเลย เราทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ ไม่ได้นอนเลย
ต่อให้เราจะทานยาบำรุงวิเศษแค่ไหนก็ตาม เราก็สามารถเจ็บป่วยได้ครับ

สำหรับในข้อ ๒ เรื่องการกัวซา หรือขูดพิษ
และในข้อ ๓ เรื่องการสวนล้างลำไส้ใหญ่ (หรือดีทอกซ์) นั้น
เป็นวิธีการปรับสมดุลในร่างกาย โดยวิธีการล้างพิษหรือขับพิษ
โดยผมจะขอยก ๒ ข้อนี้ไปคุยพร้อมกับเรื่องการล้างพิษครับ

เหลือเทคนิคอีก ๒ ข้อคือข้อ ๔ และข้อ ๕ ซึ่งเราจะคุยกันให้จบในคราวนี้
ในข้อ ๔ เรื่องการแช่มือแช่เท้าในน้ำสมุนไพร
เป็นวิธีการเพื่อช่วยในการปรับสมดุลร้อนเย็น
โดยวิธีการก็คือนำสมุนไพรฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์ร้อนที่เหมาะกับอาการเราไปต้ม
กล่าวคือหากเรามีอาการฤทธิ์ร้อนเกิน เราก็ใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น
หากเรามีอาการฤทธิ์เย็นเกิน เราก็ใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อน
หากเรามีอาการร้อนเย็นพันกัน เราก็ใช้สมุนไพรฤทธิ์ร้อนและเย็นผสมกัน
โดยได้คุยไปหมดแล้วว่าอะไรเป็นสมุนไพรฤทธิ์เย็นและสมุนไพรร้อนนะครับ
(ไม่จำเป็นต้องไปซื้อหาเสียเงินแพง ๆ ที่ไหน)
ทั้งนี้ หากเราใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็นต้ม เราก็ต้องใช้ไฟอ่อนค่อย ๆ ต้มไป
ทำนองเดียวกับการทำอาหารฤทธิ์เย็นตามที่ได้เคยคุยไปแล้ว

หลังจากนั้น ก็นำน้ำสมุนไพรดังกล่าวมาผสมกับน้ำอุณหภูมิห้อง
ให้ได้น้ำอุ่นพอสมควร ไม่ร้อนเกิน และไม่เย็นเกิน
แล้วนำมาใส่กะละมังขนาดพอเหมาะ เพื่อแช่มือและแช่เท้า
โดยทำการแช่ครั้งละ ๓ นาที แล้วยกขึ้นพัก ๑ นาที
ระหว่างที่ทำการพักนั้น จะเติมน้ำสมุนไพรลงไปเพื่อเพิ่มอุณหภูมิก็ได้
แช่ทั้งหมด ๓ ครั้งแล้วก็พอแล้วครับ

ถามว่าทำไมต้องแช่ที่มือและเท้า
ตอบว่า บริเวณมือและเท้าเป็นจุดที่สามารถดูดซึมและระบายความร้อนได้ดี
โดยเมื่อเราแช่ที่มือและเท้าแล้ว
บริเวณที่แช่นั้นก็จะดูดซึมฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์ร้อนของสมุนไพรเข้าไปปรับสมดุล
รวมทั้งระบายพิษร้อนหรือพิษเย็นไปด้วย
บางคนอาจจะมีอาการปวดหรือไม่สมดุลในส่วนอื่น ๆ บางที เช่น ที่สะโพก หรือเอว
เราก็จะสามารถเตรียมน้ำสำหรับแช่ แล้วลงไปแช่ที่สะโพกหรือเอวก็ได้
หากสนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมของการแช่มือแช่เท้า แนะนำให้ลองดูคลิปนี้ครับ
http://youtu.be/rIZ6BGPAPBM

ในข้อ ๕ เรื่องการพอก ทา หยอด ประคบ อบ อาบด้วยสมุนไพร
ก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งเพื่อช่วยในการปรับสมดุลร้อนเย็นเช่นกัน
โดยวิธีการก็คือ นำสมุนไพรฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์ร้อนที่เหมาะกับอาการเรา
มาใช้ในการพอก ทา ประคบ หรืออบ
หรือนำน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์ร้อนที่เหมาะกับอาการเรามาหยอด หรืออาบ
ก็จะมีผลทำให้สมุนไพรฤทธิ์เย็นหรือฤทธิ์ร้อนนั้นดูดซึมเข้าร่างกาย
รวมทั้งเป็นการขับพิษร้อนหรือพิษเย็นในร่างกายช่วยให้ร่างกายปรับสมดุล

เรื่องอบนั้น ส่วนตัวแล้วผมยังไม่เคยทำ เพราะไม่สะดวก
แต่เรื่องพอก ทา หยอด และประคบนั้น ได้มีโอกาสทำอยู่เป็นระยะๆ
ซึ่งเห็นว่ามีผลช่วยในการปรับสมดุลร้อนเย็นในร่างกายได้ดีเช่นกัน
หากท่านไหนสนใจศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในเรื่องการพอก ทา หยอด ประคบ
อบ อาบด้วยสมุนไพรแล้ว แนะนำให้ลองดูคลิปนี้ครับ
https://www.youtube.com/watch?v=2CQpHqZ8Qr4

ในที่นี้ ขอเรียนย้ำว่าสมุนไพรที่เราจะนำมาใช้ในการแช่มือแช่เท้าก็ดี
หรือจะนำมาใช้ในการพอก ทา ประคบ อบ อาบนั้น
ไม่จำเป็นต้องไปเสียเงินแพง ๆ ซื้อนะครับ
ถ้าเรามีสมุนไพรฤทธิ์เย็นที่ปลูกไว้เองในบ้านอยู่แล้ว ก็ใช้ได้
(ต้นสมุนไพรฤทธิ์เย็นขึ้นง่ายครับ เช่น ย่านาง รางจืด อ่อมแซบ เป็นต้น)
หรือถ้าไม่มีพื้นที่ปลูก เราก็ใช้ผักฤทธิ์เย็นที่ซื้อมาทำกับข้าวทานนี้แหละ
แบ่งส่วนหนึ่งมาทำน้ำคลอโรฟิลด์หรือน้ำสมุนไพรปรับสมดุลทาน
กากที่เหลือนำมาต้มสำหรับทำน้ำสมุนไพรสำหรับแช่มือแช่เท้า
กากที่เหลือจากต้มนำมาประคบ พอก ทา
น้ำคลอโรฟิลด์ที่ได้นำแบ่งใช้หยอด ทา หรือผสมน้ำอาบก็ได้
กรณีไม่ได้จำเป็นว่าต้องไปเสียเงินอะไรมากมาย
นอกจากนี้ ตามที่ได้เรียนไว้แล้วว่าข้อ ๑ ถึง ๕ นี้ไม่ได้จำเป็นต้องทำทุกข้อ
โดยหากเราสะดวก และรู้สึกว่าทำข้อไหนแล้วอาการดี ก็ทำข้อนั้นครับ

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)