Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๙

เจริญมรณานุสติ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 209

ผมยังคุยหัวข้อ “คุยเรื่องสุขภาพ” ไม่จบนะครับ
แต่ขออนุญาตพักเรื่องสุขภาพมาแทรกคุยเรื่องอื่นก่อนครับ

ท่านผู้อ่านที่เคยอ่านบทความเพื่อนธรรมจารีในตอนเก่า ๆ
อาจจะพอจำได้ว่า ผมเคยเล่าถึงคุณอาช่างตัดผมที่ผมไปตัดผมกับท่านเป็นประจำ
ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้วผมและญาติอีก ๒ คนตั้งใจจะไปตัดผมกับคุณอาเช่นเคย
แต่เมื่อผมโทรศัพท์ไปหาคุณอาที่โทรศัพท์มือถือ ก็ปรากฏว่ามีคนอื่นมารับสาย
แล้วแจ้งให้ผมทราบว่า คุณอาได้ถึงแก่กรรมไปแล้ว
ผมสอบถามต่อไปว่าได้มีการนำศพคุณอาไปสวดที่วัดไหน
คนที่รับสายก็แจ้งว่า ญาติคุณอานำศพไปสวดเพียงคืนเดียว แล้วก็เผาไปแล้ว

ญาติคนหนึ่งที่จะไปตัดผมกับคุณอาด้วยก็รู้สึกตกใจว่า
เมื่อเดือนที่แล้วที่ได้ไปตัดผมกับคุณอา ก็ยังคุยกันอยู่ดี ๆ และยังเห็นแข็งแรงอยู่เลย
โดยคุณอาก็ยังยืนตัดผมให้พวกเรา ๓ คนติดต่อกัน โดยไม่มีอาการอ่อนเพลียอะไร
ปรากฏว่าไม่ทันไร คุณอาก็จากไปเสียแล้ว ซึ่งเป็นการจากไปอย่างรวดเร็วมาก
(แต่ถ้าหากมองในอีกมุมหนึ่งแล้ว การที่จากไปอย่างรวดเร็วเช่นนี้
ยังจะสบายกว่ากรณีที่ป่วยหนัก และต้องเจ็บปวดทรมานเนิ่นนานก่อนตายเสียอีก)

นอกจากคุณอาช่างตัดผมที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว
ก่อนหน้านี้ในเดือนเดียวกัน ก็มีคุณลุงเจ้าของร้านขายก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง
ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากที่ทำงานของผม และผมกับเพื่อนที่ทำงานก็ไปทานกันอยู่
โดยคุณลุงก็จากไปด้วยอาการป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด และไตวายในช่วงไล่เลี่ยกัน

ในเวลาที่เราได้ทราบว่าคนรู้จักถึงแก่กรรม หรือเวลาที่เราได้ไปงานศพใครก็ตาม
หรือเวลาที่เราได้อ่านข่าวหรือทราบข่าวการตายของใครก็ตาม
ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ให้เราได้เห็นว่าความตายเป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา
เราจะตายเมื่อไร ก็ไม่อาจจะทราบล่วงหน้าได้ เราจึงพึงไม่ประมาท
โดยการระลึกถึงความตายอยู่เสมอ ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราไม่ประมาทด้วย

การระลึกถึงความตาย หรือที่เราเรียกว่าการเจริญ “มรณานุสติ” นั้น
มีประโยชน์หลายประการ ยกตัวอย่างเช่น
๑. ช่วยให้เราไม่ประมาทในชีวิต และเพียรศึกษาปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์สิ้นเชิง
๒. ช่วยให้เราลดความยึดติดในสิ่งทั้งหลายในโลก
โดยเมื่อสูญเสียสิ่งต่าง ๆ ไป ก็ไม่ทุกข์ใจจนเกินสมควร
๓. ช่วยให้เราลดละความโลภ โกรธ หลงลงได้
โดยเมื่อคิดถึงว่าจะตายแล้ว ก็ไม่คิดว่าจะต้องโลภได้อะไรมากมาย
หรือจะไปโกรธอะไรเขามากมาย หรือจะไปหลงอะไรกันมากมาย
๔. ช่วยให้จิตใจเราสงบ และลดความฟุ้งซ่านไปในเรื่องอื่น ๆ
๕. ช่วยให้เราขยันหมั่นเพียรทำสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันอย่างดีที่สุด
หรือทำสิ่งต่าง ๆ ทั้งหลายในแต่ละวันให้ดีอย่างเต็มที่ โดยไม่ผัดผ่อน

อนึ่ง ใน “มรณัสสติสูตรที่ ๑” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสอนว่ามรณานุสติที่เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก
มีอานิสงส์มากถึงขนาดว่าทำให้หยั่งลงสู่พระนิพพาน และมีพระนิพพานเป็นที่สุด

บางท่านอาจจะสงสัยว่า เราควรจะเจริญมรณานุสติบ่อยเพียงไหน?
ใน “มรณัสสติสูตรที่ ๑” เล่าว่า ได้มีภิกษุหลายรูปกราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า
ถึงการเจริญมรณานุสติของตนเอง
โดยภิกษุรูปหนึ่งกราบทูลว่า ตนเองเจริญมรณานุสติหนึ่งครั้งต่อวัน
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า ตนเองเจริญมรณานุสติหนึ่งครั้งต่อครึ่งวัน
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า ตนเองเจริญมรณานุสติหนึ่งครั้งต่อชั่วเวลาฉันมื้อหนึ่ง
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า ตนเองเจริญมรณานุสติหนึ่งครั้ง
ต่อชั่วเวลาเคี้ยวคำข้าวสี่คำกลืนกิน (เราลองพิจารณาครับว่าเคี้ยวข้าวสี่คำใช้เวลาเท่าไร)
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า ตนเองเจริญมรณานุสติหนึ่งครั้ง
ต่อชั่วเวลาเคี้ยวคำข้าวหนึ่งคำกลืนกิน (เราลองพิจารณาครับว่าเคี้ยวข้าวหนึ่งคำใช้เวลาเท่าไร)
ภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า ตนเองเจริญมรณานุสติหนึ่งครั้ง
ต่อชั่วเวลาหายใจเข้าแล้วหายใจออก หรือชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้า

หลังจากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุที่เจริญมรณานุสติหนึ่งครั้งต่อวัน
หนึ่งครั้งต่อครึ่งวัน หนึ่งครั้งต่อชั่วเวลาฉันมื้อหนึ่ง
และหนึ่งครั้งต่อชั่วเวลาเคี้ยวคำข้าวสี่คำกลืนกิน เรียกได้ว่าเป็นผู้ประมาทอยู่
ส่วนภิกษุที่เจริญมรณานุสติหนึ่งครั้งต่อชั่วเวลาเคี้ยวคำข้าวหนึ่งคำกลืนกิน
หรือหนึ่งครั้งต่อชั่วเวลาหายใจเข้าแล้วหายใจออก
หรือชั่วเวลาหายใจออกแล้วหายใจเข้า เรียกได้ว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=7188&Z=7254&pagebreak=0

บางท่านอาจจะมีคำถามต่อไปว่า การระลึกถึงความตายทำอย่างไร?
ใน “มรณัสสติสูตรที่ ๑” ได้สอนว่า ในเวลาที่ระลึกถึงความตายนั้น
เราระลึกว่าเราพึงมีชีวิตอยู่เพียงชั่วเวลานั้น
เราพึงมนสิการคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า เราพึงกระทำกิจให้มาก
(หมายถึงกิจที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิง)
กล่าวคือ เราไม่ได้เพียงแค่ระลึกถึงความตาย แล้วก็จบหรือพอเท่านั้นนะครับ
แต่เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว เราพึงระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
และระลึกว่าเราพึงเพียรในการศึกษาและปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์สิ้นเชิงด้วย

อีกพระสูตรหนึ่งคือ “มรณัสสติสูตรที่ ๒”
(พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต) ได้สอนว่า
ในเวลากลางคืน เราพึงพิจารณาว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมาก
คืองูพึงกัดเรา แมงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น
อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย
ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ
เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
เราพึงพิจารณาว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้
อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืน ยังมีอยู่หรือไม่
ถ้ายังมีอยู่ เราพึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้
พึงทำฉันทะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ผ้าโพกศีรษะหรือไฟที่ศีรษะนั้น

อนึ่ง ในเวลากลางวัน เราก็พึงพิจารณาและปฏิบัติเช่นเดียวกับในเวลากลางคืนข้างต้น
กล่าวคือ เราพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ตามศึกษาเช่นนั้น ทั้งกลางวันกลางคืน
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=22&A=7255&Z=7306&pagebreak=0

ใน “มรณัสสติสูตรที่ ๒” ไม่ได้สอนเพียงว่าให้เราระลึกถึงความตาย แล้วก็พอนะครับ
แต่เราพึงระลึกต่อไปว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้นั้นยังมีอยู่หรือไม่
ถ้ายังมีอยู่ เราก็พึงมีฉันทะ เพียรพยายาม ไม่ท้อถอยที่จะละธรรมอันเป็นบาปอกุศลนั้น
ซึ่งเมื่อเจริญมรณานุสติเช่นนี้ให้มากแล้ว เจริญแล้ว ย่อมมีผลมาก
โดยมีอานิสงส์มากถึงขนาดว่าทำให้หยั่งลงสู่พระนิพพาน และมีพระนิพพานเป็นที่สุด