Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๕

คุยเรื่องสุขภาพ (๔) – เหตุที่ทำให้สุขภาพดี

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 205

(ต่อจากตอนที่แล้ว)

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยเรื่องเหตุที่ทำให้เจ็บป่วยนะครับ
ซึ่งก็ได้มีท่านผู้อ่านท่านหนึ่งได้กรุณาส่งข้อมูลมาแนะนำเกี่ยวกับ
คำว่า “ดีเป็นสมุฏฐาน” ในสิวกสูตร และปุตตสูตร โดยให้ข้อมูลว่า
“ดี” มี ๒ ชนิด คือ “ดีในฝัก” และ “ดีนอกฝัก”

ผมได้ไปค้นเพิ่มเติมเกี่ยวกับดี ๒ ชนิดดังกล่าว
และพบว่าจุลสารสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพออนไลน์
ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้ให้ข้อมูลว่า
“ดีในฝัก” (พัทธปิตตะ) หมายถึง ขบวนการผลิตน้ำดีของตับ
ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบน้ำดีภายในถุงน้ำดี ท่อน้ำดีอุดตัน
การผลิตน้ำดีของตับผิดปกติ ตับอักเสบ เกิดอาการตัวเหลือง ตาเหลือง
เกิดอาการน้ำดีอักเสบ เป็นนิ่ว เป็นต้น
“ดีนอกฝัก” (อพัทธปิตตะ) หมายถึง ขบวนการย่อยอาหาร โดยน้ำดีหรือน้ำดีในลำไส้
ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับการทำงานของน้ำดีในลำไส้ ระบบการย่อยอาหาร
อาการคือจุกเสียด อืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อย ดีซ่าน เหลืองทั้งตัว ถ่ายเป็นสีเขียว เป็นต้น

ซึ่งในจุลสารนี้ก็ได้อธิบายเรื่องเสมหะ และลมไว้ด้วย
โดยขอให้ท่านที่สนใจสามารถไปศึกษาเพิ่มเติมได้นะครับ
http://www.stou.ac.th/Schools/Shs/booklet/book55_2/easily.htm
บางท่านอาจจะรู้สึกว่ายิ่งอ่านแล้วก็ยิ่งงง และมีรายละเอียดมาก
ผมจึงขอเรียนดังที่ได้เรียนไว้แล้วในตอนที่แล้วว่า
ไม่ว่าดี เสมหะ และลม จะคืออะไรก็ตาม
ทั้งดี เสมหะ ลม และทั้ง ๓ อย่างร่วมกันนี้ ย่อมอยู่ภายในกายนี้
และเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาและเกิดอาพาธได้
ดังนั้นแล้ว เราก็พึงจะต้องดูแลทั้ง ๓ อย่างในกายนี้ให้เหมาะสมหรือสมดุล
(โดยรายละเอียดที่ว่าจะทำให้กายสมดุลอย่างไร จะคุยกันต่อไปครับ)

ในคราวนี้ เราจะมาคุยกันในเรื่องของเหตุที่ทำให้สุขภาพดีนะครับ
ในเมื่อเราทราบเหตุที่ทำให้ป่วยแล้ว (ตามที่ได้คุยในตอนที่แล้ว)
ข้อแรกของเหตุที่ทำให้สุขภาพดีก็คือ เราหลีกเลี่ยงเหตุที่จะทำให้ป่วย
ซึ่งหากพิจารณาจากปุตตสูตร สิวกสูตร และอาพาธสูตรแล้ว
เราสามารถสรุปได้ ดังต่อไปนี้
๑. ดูแลให้ “ดี เสมหะ ลม” ทั้ง ๓ อย่างนี้เป็นปกติ (ซึ่งจะขยายความให้ต่อไปในภายหลัง)
๒. ดูแลตนเองให้เหมาะสมเมื่อยามฤดูแปรปรวน
๓. ออกกำลังกายให้เหมาะสมและสม่ำเสมอ
๔. ระมัดระวังตนเองไม่ประมาทอันจะทำให้ประสบอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ
๕. ไม่สร้างผลกรรมที่จะทำให้ตนเองเจ็บป่วย (ซึ่งจะขยายความให้ต่อไปในภายหลัง)
๖. เพียรและพักให้พอดี โดยไม่เพียรเกินกำลัง

ในส่วนของ “สุขุมาลสูตร” ที่กล่าวถึงเหตุทำให้ป่วยเพราะความแก่นั้น
เราป้องกันความแก่ไม่ได้ แต่เราพึงระลึกว่าเรามีความแก่เป็นธรรมดา
(จึงไม่ควรประมาท และควรใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยมุ่งปฏิบัติธรรม)
ซึ่งในแง่ของการดูแลรักษาสุขภาพแล้ว ในการดำรงชีวิตของเรา
เราควรต้องพิจารณาถึงความแก่ และใช้ชีวิตให้สมวัยด้วย
ไม่ใช่ว่าแก่แล้ว แต่ก็ยังจะทำเหมือนเป็นคนหนุ่มสาว โดยไม่ยอมรับว่าตนเองแก่
เช่น ไปยกของหนัก ไปทำอะไรที่เกินกำลัง หรือทานอาหารย่อยยาก
หรือทานอาหารมากเกิน เป็นต้น ก็ย่อมเป็นเหตุที่ทำให้เจ็บป่วยได้

นอกเหนือจากเหตุที่ทำให้เจ็บป่วยข้างต้นแล้ว
ใน “อนายุสสสูตร (สูตรที่ ๑)” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้อายุสั้น และเหตุที่ทำให้อายุยืน ดังนี้
ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้นคือ ๑. บุคคลไม่เป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง
๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก
๔. เป็นผู้เที่ยวในกาลไม่สมควร ๕. ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม
ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืนคือ ๑. บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
๔. เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร ๕. เป็นผู้ประพฤติเพียงดังพรหม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=3384

ใน “อนายุสสสูตร (สูตรที่ ๒)” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต)
ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้อายุสั้น และเหตุที่ทำให้อายุยืนเช่นกันว่า
ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้นคือ ๑. บุคคลไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง
๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก
๔. เป็นคนทุศีล ๕. มีมิตรเลวทราม
ธรรม ๕ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืนคือ ๑. บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
๔. เป็นผู้มีศีล ๕. มีมิตรดีงาม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_line.php?B=22&A=3395

หากรวม “อนายุสสสูตร” ทั้ง ๒ พระสูตรแล้ว เราย่อมพิจารณาได้ว่า
ธรรม ๗ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุสั้นคือ ๑. บุคคลไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง
๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก
๔. เป็นผู้เที่ยวในกาลไม่สมควร ๕. ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม
๖. เป็นคนทุศีล ๗. มีมิตรเลวทราม
และธรรม ๗ ประการนี้ เป็นเหตุให้อายุยืนคือ ๑. บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
๔. เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร ๕. เป็นผู้ประพฤติเพียงดังพรหม
๖. เป็นผู้มีศีล ๗. มีมิตรดีงาม

ขอให้สังเกตว่าใน “อนายุสสสูตร” ไม่ได้บอกว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้มีอาพาธมากหรืออาพาธน้อยนะครับ
แต่บอกว่าธรรมเหล่านี้เป็นเหตุให้อายุสั้นหรืออายุยืน
ซึ่งในกรณีของอายุสั้นนั้น อาจจะไม่ได้ตายเพราะเหตุเจ็บป่วยก็ได้
อย่างเช่น ไม่รักษาศีล และไปประพฤติผิดลูกเมียคนอื่น หรือไปฉ้อโกงคนอื่น
หรือไปฆ่าทำร้ายคนอื่น ก็อาจจะโดนคนอื่นฆ่าก็ได้
หรือมีมิตรเลวทราม เช่น ไปค้ายาบ้าตามที่มิตรเลวทรามชักชวน
และต่อมาภายหลัง ถูกจับและถูกลงโทษประหารชีวิตก็ได้
หรือเพื่อนชอบขับรถซิ่งอันตราย และเราไปนั่งรถเพื่อนแล้วเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิต
ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือ ไม่ได้ตายเพราะเหตุเจ็บป่วยก็ได้ แต่ตายเพราะเหตุอื่น

แม้ว่าในกรณีของอายุสั้นอาจจะไม่ได้แปลว่าจะต้องเจ็บป่วยด้วย
แต่ในกรณีของอายุยืนนั้น ย่อมจะต้องมีสุขภาพที่เจ็บป่วย
กรณีย่อมไม่ใช่ว่าเราเจ็บป่วยมากมายสารพัดโรค ทั้งโรคมะเร็ง โรคหัวใจ
โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต ฯลฯ ตั้งแต่อายุยังน้อย แล้วก็จะมีอายุยืนได้
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะเคยเจ็บป่วยเป็นโรคร้ายแรงบางโรคก็ตาม
แต่หากเราสามารถปรับพฤติกรรมตนเองมาดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสม
และบรรเทาโรคนั้น ๆ ได้แล้ว เราก็ย่อมมีโอกาสจะมีอายุยืนได้เช่นกัน

ทีนี้ หากเรานำเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืนมาพิจารณาในเรื่องการดูแลสุขภาพแล้ว
ก็จะพบว่าสิ่งเหล่านี้ก็ย่อมเป็นเหตุและปัจจัยที่ทำให้สุขภาพไม่ดีเช่นกัน ดังนี้
๑. ไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง กล่าวคือ
เราประพฤติตนอันเป็นการทรมานร่างกายในประการต่าง ๆ เช่น
เราทำงานเยอะมากเกิน โดยไม่ยอมพักผ่อน ไม่ยอมนอน
หรือเจออากาศหนาวจัดแล้วไม่ดูแลร่างกายให้อบอุ่น
หรือเจอฝนแล้วไม่หลบ ก็ปล่อยให้ร่างกายตากฝนเปียกฝน เป็นต้น
ซึ่งทำสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อย ๆ แล้วก็จะทำให้เจ็บป่วยได้

๒. ไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย กล่าวคือทำสิ่งที่สบายมากเกิน ก็ทำให้ป่วยได้
เช่น เรานอนพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายสบาย แต่ว่านอนมากเกินไป
หรือพักมากเกินไป ในแต่ละวันไม่ได้ออกแรงอะไร ก็ทำให้เจ็บป่วยได้

๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยยาก ซึ่งการบริโภคอาหารที่ย่อยยากนี้
ย่อมจะส่งผลเสียต่อระบบการย่อย และระบบการขับถ่ายในร่างกาย
หรือบางครั้งเราทานอาหารย่อยง่ายก็ตาม แต่ว่าทานในปริมาณที่เยอะเกินพอดี
ซึ่งก็ย่อมจะทำให้ย่อยยากได้เช่นกัน
เนื่องจากทานในปริมาณมากเกินสมควรที่ระบบย่อยอาหารจะย่อยได้ดี
(หรือเราอาจมองว่าการทานเยอะเกิน ถือเป็นการไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบายก็ได้)

๔. เป็นผู้เที่ยวในกาลไม่สมควร ซึ่งในส่วนของคำว่า “เที่ยว” นี้
โดยส่วนตัวแล้ว เห็นว่าอาจจะไม่ได้หมายถึงการท่องเที่ยวเท่านั้นนะครับ
แต่ควรหมายถึงเดินทางทั่วไปในความหมายกว้าง ๆ ก็ได้
ซึ่งการเที่ยวไปในกาลไม่สมควร ก็ทำให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน
โดยเราอาจจะเคยพบว่ามีบางท่านเดินทางไปไหน แล้วเกิดเจ็บป่วย
(เช่น ไปต่างถิ่น ไปต่างจังหวัด หรือต่างประเทศก็ตาม)
โดยอาจจะด้วยเหตุว่าไม่ได้พัก หรือไปเจอสภาพอากาศที่ไม่เหมาะกับเรา
หรือไปทานอาหารที่ไม่เหมาะกับเรา หรือไปเจอมลพิษหรือสารพิษบางอย่าง
หรือไปเจอเชื้อโรคบางอย่าง เป็นต้น

๕. ไม่ประพฤติเพียงดังพรหม ซึ่งพรหมย่อมประพฤติพรหมวิหาร ๔ อันได้แก่
เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา โดยหากเราไม่ประพฤติธรรม ๔ ประการนี้
กล่าวคือ เรามีแต่โทสะ โลภะ และโมหะ ชอบหงุดหงิด ชอบพยาบาท ขี้โมโห
หรือมีโลภะ วัน ๆ หมกมุ่นคิดแต่อยากได้โน่นได้นี่ อยากให้คนนั้นเป็นอย่างนี้
อยากให้คนนี้เป็นอย่างนั้น อยากให้เราเป็นอย่างโน้น ก็ทำให้เครียด
และย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพให้เจ็บป่วยได้เช่นกัน

๖. เป็นคนทุศีล ซึ่งในกรณีที่เราไม่รักษาศีล และประพฤติปาณาติบาตแล้ว
ย่อมเป็นเหตุและปัจจัยกระทบต่อความเป็นผู้มีอายุยืน และมีสุขภาพดี
อันเนื่องมาจากผลกรรม (ซึ่งในส่วนนี้จะขอยกไปขยายความในภายหลัง)
หรือเราไม่รักษาศีล โดยเราดื่มสุรา หรือเสพยาเสพติด
ก็ย่อมเป็นเหตุและปัจจัยให้เรามีสุขภาพที่ไม่ดีเช่นกัน

๗. มีมิตรเลวทราม ซึ่งข้อนี้ถือว่าข้อที่ร้ายแรงและอันตรายเช่นกัน
โดยหากเรามีมิตรเลวทรามเพียงข้อเดียวแล้ว
มิตรเลวทรามสามารถชักนำเราไปสู่ข้ออื่น ๆ ได้ทุกข้อทั้ง ๗ ข้อเลย
กล่าวคือ มิตรเลวทรามสามารถชักนำให้เราไม่กระทำความสบายแก่ตนเอง
ชักนำให้เราไม่รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ชักนำให้เราไปบริโภคสิ่งที่ย่อยยาก
ชักนำให้เราเที่ยวไปในกาลไม่สมควร ชักนำให้เราไม่ประพฤติเพียงดังพรหม
ชักนำให้เราเป็นคนทุศีล และชักนำให้เราได้มิตรเลวทรามอื่น ๆ อีก

โดยเหตุที่มิตรเลวทรามสามารถชักนำสิ่งไม่ดีมาสู่ชีวิตเราได้มากมาย
ในมงคลชีวิต ๓๘ ประการ จึงได้จัดให้ “การไม่คบคนพาล” เป็นมงคลชีวิตข้อแรก
(มงคลสูตร พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=41&Z=72&pagebreak=0
โดยบางท่านอาจจะมองว่ายังไงก็เป็นเพื่อนกัน เป็นญาติกัน เป็นคนรู้จักกัน ฯลฯ
ก็คงไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่เราจะต้องคบกับใครที่เป็นคนพาล
แต่หากพิจารณาถึงตัวอย่างในสมัยพุทธกาลแล้ว
พระเจ้าอชาตศัตรูเลือกคบกับพระเทวทัต ซึ่งเป็นมิตรเลวทราม
ก็ทำให้ถูกพระเทวทัตชักนำไปให้ทำอนันตริยกรรม คือปิตุฆาต (คือฆ่าพระราชบิดาตนเอง)
และส่งผลให้พระเจ้าอชาตศัตรูต้องไปอยู่ในอเวจีมหานรกเนิ่นนาน

ตัวอย่างในชีวิตจริงของเราในปัจจุบัน ก็มีให้เห็นกันเยอะแยะนะครับ
ที่ว่าเพื่อนไม่ดีชักนำให้บางคนไปทำอกุศลกรรมมากมาย
แต่ในส่วนของการดูแลสุขภาพ ที่เราอาจจะได้เห็นบ่อย ๆ ก็ยกตัวอย่างเช่น
เพื่อนชวนไปดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือไปทานอาหารเสียสุขภาพ ก็ทำให้เสียสุขภาพ
เพื่อนชวนไปเที่ยวกลางคืนไม่ได้พักผ่อน ก็ทำให้เสียสุขภาพ
เพื่อนไม่ดีสร้างปัญหาชีวิตให้แก่เราส่งผลทำให้เครียด ก็ทำให้เสียสุขภาพ เป็นต้น

ในส่วนของธรรม ๗ ประการที่เป็นเหตุให้อายุยืน (และมีสุขภาพดี) ได้แก่
๑. บุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง
๒. รู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ๓. บริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
๔. เป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร ๕. เป็นผู้ประพฤติเพียงดังพรหม
๖. เป็นผู้มีศีล ๗. มีมิตรดีงาม นั้น โดยทั่วไปก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม
กับที่ได้อธิบายธรรม ๗ ประการที่ทำให้อายุสั้นดังที่ได้เรียนไว้แล้วข้างต้น

ในส่วนของการบริโภคอาหารที่ย่อยง่ายนั้น
ราอาจจะมีข้อสงสัยว่า อะไรเป็นอาหารที่ย่อยง่าย?
ผมขออธิบายในเชิงเปรียบเทียบว่าอะไรย่อยง่ายกว่าอะไรนะครับ
เช่น ผักและผลไม้ย่อยง่ายกว่าเนื้อสัตว์
อาหารที่ทำด้วยวิธีต้มย่อยง่ายกว่าอาหารที่ทำด้วยวิธีทอดน้ำมัน
อาการที่รสไม่จัดย่อยง่ายกว่าอาหารรสจัด
อาหารสดย่อยง่ายกว่าอาหารที่นำไปหมักดอง เป็นต้น
อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ย่อยอาหารได้ง่ายคือ การที่เราเคี้ยวอาหารให้ละเอียด
โดยหากเราใช้เวลาเคี้ยวอาหารให้ละเอียดแล้ว ก็จะช่วยให้อาหารชิ้นเล็กลง
และทำให้ระบบย่อยอาหารสามารถย่อยอาหารได้ง่ายขึ้น
(นอกจากนี้ ในปากยังมีเอ็นไซม์ที่จะช่วยย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลด้วย)

ในส่วนของมิตรดีงามนั้น ถือเป็นมงคลชีวิตข้อที่ ๒ คือการคบบัณฑิต
ซึ่งมิตรดีงามเพียงข้อเดียวย่อมจะสามารถนำพาข้ออื่นมาให้แก่เราได้ด้วย
กล่าวคือมิตรดีงามย่อมแนะนำให้เราเป็นบุคคลเป็นผู้ทำความสบายแก่ตนเอง
ย่อมแนะนำให้เรารู้จักประมาณในสิ่งที่สบาย ย่อมแนะนำให้เราบริโภคสิ่งที่ย่อยง่าย
ย่อมแนะนำให้เราเป็นผู้เที่ยวในกาลสมควร
ย่อมแนะนำให้เราเป็นผู้ประพฤติเพียงดังพรหม
ย่อมแนะนำให้เราเป็นผู้มีศีล และแนะนำมีมิตรดีงามอื่น ๆ ให้เราเพิ่มเติม

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)

หมายเหตุ ข้อมูลเกี่ยวกับพระสูตรต่าง ๆ ที่อ้างอิงข้างต้น ส่วนหนึ่งนำมาจาก
หนังสือ “ทำไฉนไกลโรค รักษาโรคตามพระไตรปิฎก” โดยณวมพุทธ