Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๒

คุยเรื่องสุขภาพ (๑) – สายน้ำแห่งการเจ็บป่วย

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 202

ในบทความหลายตอนต่อจากนี้ (หรือบางทีจะขอเรียกว่าในซีรีส์นี้)
ผมจะขอนำท่านผู้อ่านมาคุยเรื่องสุขภาพกันบ้างนะครับ
ซึ่งในเนื้อหาก็จะมีกล่าวถึงเรื่องธรรมะด้วยในส่วนที่เกี่ยวข้อง
โดยก่อนที่จะเริ่มคุยในเรื่องสุขภาพ ผมต้องขอเรียนท่านผู้อ่านว่า
ผมไม่ใช่แพทย์นะครับ (ไม่ว่าจะแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนไหนก็ตาม)
แต่ที่ผมจะมาคุยหรือแบ่งปันเรื่องสุขภาพนี้ เรียกได้ว่าผมคุยในฐานะคนป่วยคนหนึ่ง
ซึ่งได้ใช้เวลาศึกษาเรื่องแพทย์ทางเลือกและการดูแลสุขภาพมาพอสมควร
และมีประสบการณ์บางประการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ
จึงนำข้อมูลที่ผมเชื่อว่าเป็นประโยชน์มาแบ่งปันแก่ท่านผู้อ่าน

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะเริ่มรู้สึกว่า
เดี๋ยวผมคงจะโฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมชนิดนั้นชนิดนี้
เหมือน ๆ กับที่บางท่านอาจจะเคยได้ฟังโฆษณาขายยา
หรืออาหารเสริมต่าง ๆ ตามวิทยุชุมชน
หรืออาจจะได้ชมตามโฆษณาขายยาหรืออาหารเสริม
ในช่องโทรทัศน์เคเบิ้ลที่มีการอ้างสรรพคุณวิเศษสารพัดสารพันมากมาย

ในประเด็นนี้ ผมขอเรียนหลักการที่สำคัญ ๓ ข้อนะครับว่า
๑. ข้อมูลที่นำเสนอจะมีความเป็นเหตุเป็นผล หรือมีความเป็นวิทยาศาสตร์
ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถที่จะพิจารณาและทำความเข้าใจได้
ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาว่าจะเลือกนำไปประพฤติปฏิบัติหรือไม่
ยกตัวอย่างว่า กรณีจะไม่ใช่ว่า หากท่านปวดหัวหรือปวดท้องแล้ว
ผมจะแนะนำว่าให้นำของไหว้ ๑๐ อย่างไปกราบไหว้เทพเทวดาองค์นั้นองค์นี้
เพื่อให้หายปวด ในกรณีลักษณะอย่างนั้น มันไม่มีความเป็นเหตุผลนะครับ

๒. แนวทางของการดูแลสุขภาพที่นำเสนอจะเป็น
สิ่งที่ท่านผู้อ่านสามารถนำไปปฏิบัติได้เอง โดยสามารถพึ่งตนเองได้
และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาบุคคลอื่น ๆ หรือสถานที่ดูแลรักษาสุขภาพแห่งใด ๆ

๓. แนวทางของการดูแลสุขภาพที่นำเสนอนี้ จะเป็นแนวทางที่ประหยัด
เสียค่าใช้จ่ายน้อย และสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มเติมไปกว่าที่เราได้ใช้จ่ายอยู่ปกติอยู่แล้ว
และผมจะไม่นำเสนอขายยา อาหารเสริม หรือขายสินค้าใด ๆ ทั้งนั้นนะครับ

นอกจากนี้ ข้อมูลที่ผมนำมาแบ่งปันทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่ได้มาโดยเป็นวิทยาทาน
และผมก็นำมาแบ่งปันต่อ โดยเป็นวิทยาทานเช่นกัน
กรณีจึงจะไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งนั้น
โดยตลอดบทความหลายตอนในเรื่องนี้ ผมก็ขอให้ท่านผู้อ่านตรวจสอบว่า
เนื้อหาของเรื่องราวจะต้องสอดคล้องอยู่ในหลักการ ๓ ข้อดังกล่าวนี้ครับ

แต่ประเด็นที่อาจจะยุ่งยากสำหรับท่านผู้อ่านบางท่านอยู่บ้างก็คือ
เนื้อหาที่ควรทราบเกี่ยวกับเรื่องการดูแลสุขภาพที่ผมจะนำมาอธิบายนี้
จะมีเนื้อหาที่ค่อนข้างกว้าง และเยอะพอสมควร
ซึ่งผมอาจจะไม่สามารถนำเนื้อหามาอธิบายในบทความได้ทั้งหมด
เพราะข้อจำกัดในเรื่องเวลาเขียน หรือความสามารถในการอธิบายของผมก็ดี
ดังนั้นแล้ว ในบางหัวข้อหรือบางเรื่องนั้น ๆ
ผมอาจจำเป็นต้องให้ลิงค์ข้อมูล หรือเว็บไซต์ข้อมูล
เพื่อท่านผู้อ่านที่สนใจในหัวข้อหรือในเรื่องนั้นไปศึกษาเพิ่มเติมเอง
(หรือบางครั้ง ผมก็อาจจะให้ลิงค์ข้อมูล หรือเว็บไซต์ข้อมูล เพื่อเป็นการอ้างอิงก็ได้)
ดังนั้นแล้ว ในบางกรณีท่านอาจต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการไปศึกษาต่อเองด้วย

ผมจะขอเริ่มต้นด้วยการอธิบายถึงสายน้ำแห่งการเจ็บป่วยนะครับ
โดยสมมุติว่าการเจ็บป่วยของคนเราก็เหมือนกับแม่น้ำสายหนึ่ง
โดยแบ่งเป็น ต้นน้ำ คือเหตุที่ทำให้เกิดโรค
กลางน้ำ คือตัวโรค
และปลายน้ำ คืออาการของโรค

ขอยกตัวอย่างสมมุติว่า เรามีอาการปวดฟันเพราะว่าฟันผุ
แต่เราไม่ยอมไปหาทันตแพทย์ เพื่อรักษาโรคฟันผุ
โดยเราไปหาอายุรแพทย์ เพื่อขอยาแก้ปวดมาทาน
ซึ่งในอันที่จริงแล้ว อายุรแพทย์ก็คงจะบอกให้เราไปหาทันตแพทย์นะครับ
แต่สมมุติว่าอายุรแพทย์ได้จ่ายยาแก้ปวดมาให้เรา
(หรือสมมุติว่าเราไปซื้อยาแก้ปวดที่ร้านขายยามาทานเองก็ได้)
และเมื่อเราทานยาแก้ปวดนั้นแล้ว เราก็หายจากอาการปวดฟัน

ทีนี้ ถามว่าการที่เราทานยาแก้ปวด แล้วทำให้เราหายปวดฟันเช่นนี้
ถือว่าเราหายจากโรคฟันผุแล้วหรือยัง?
ตอบว่ายังไม่หายจากโรคฟันผุนะครับ
เพราะยาแก้ปวดนั้นเพียงแค่ระงับอาการปวดเท่านั้น แต่ไม่ได้รักษาโรคฟันผุ
การทานยาแก้ปวดสามารถช่วยระงับอาการปวดได้ก็จริง
แต่เมื่อเรางดทานยาแก้ปวดเมื่อไร อาการปวดฟันก็กลับมาอีก
เพราะว่าโรคฟันผุนั้นยังอยู่

การทานยาแก้ปวดเพื่อระงับอาการปวดนั้นก็เปรียบได้กับ
เป็นการรักษาที่ปลายน้ำ คือเป็นการรักษาที่อาการของโรค ไม่ได้รักษาที่ตัวโรค
เปรียบเสมือนกับกลางน้ำมีขยะสกปรกลอยอยู่เต็มไปหมด
แม้ว่าเราจะเก็บขยะที่ปลายน้ำจนหมดแล้วก็ตาม
ขยะที่กลางน้ำก็จะลอยไปที่ปลายน้ำอยู่ดี และทำให้เกิดอาการของโรคได้อีก

ทีนี้ หากเราไปหาทันตแพทย์ เพื่อให้รักษาโรคฟันผุ
โดยทันตแพทย์ได้ทำการขูดเนื้อฟันที่ผุออก แล้วอุดฟันจนเรียบร้อย
หรืออาจจะทำการรักษารากฟัน แล้วครอบฟันจนเรียบร้อย
ถามว่าเราได้รักษาโรคฟันผุหายแล้วหรือยัง?
ตอบว่าหายจากโรคฟันผุแล้วนะครับ
แต่ถามต่อไปว่าเราจะมีฟันผุได้อีกหรือไม่
เช่น ฟันซี่เดิมที่รักษาแล้วจะผุได้อีกไหม หรือฟันซี่อื่น ๆ จะผุได้ไหม
ตอบว่าฟันผุได้อีกนะครับ ทั้งฟันซี่เดิมหรือฟันซี่อื่น ๆ ก็ตาม
เพราะว่าเรายังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำคือเหตุที่ทำให้เกิดโรค
ซึ่งตราบใดที่เรายังไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เหตุที่ทำให้เกิดโรค
โดยเรายังคอยสร้างเหตุเหล่านี้อยู่ เหตุเหล่านั้นก็ทำให้เกิดตัวโรค
แล้วตัวโรคก็ทำให้เกิดอาการของโรคต่อไป ก็คือเราป่วยไม่รู้จักหาย
หายแล้วก็ป่วยอีก และป่วยซ้ำซากอยู่อย่างนั้น
เสมือนกับว่าเราเก็บขยะที่กลางน้ำและปลายน้ำจนหมดแล้ว
แต่ว่าเราเองก็ยังทิ้งขยะที่ต้นน้ำอยู่เหมือนเดิม
พอเราทิ้งไปสักพักหนึ่งขยะก็ลอยไปที่กลางน้ำและปลายน้ำอีก
กล่าวคือพฤติกรรมของเราก่อให้เกิดโรคอีก แล้วก็เกิดอาการของโรคต่อไป

ฉะนั้นแล้ว ในการที่เราจะรักษาโรคให้หายขาดนั้น
เราพึงจะรักษากันที่ต้นน้ำ หรือเหตุที่ทำให้เกิดโรค
โดยเรางดสร้างเหตุที่ทำให้เกิดโรค
และเราสร้างเหตุที่ทำให้หายจากโรคตั้งแต่ต้นน้ำ
ไม่ใช่เพียงแค่ไปรักษากันที่กลางน้ำและปลายน้ำนะครับ
(จริง ๆ แล้วจะมีรักษาก่อนต้นน้ำอีก แต่ขอเอาไว้ค่อย ๆ คุยกันไปครับ)

บางท่านอาจจะบอกว่าการรักษาโรคให้หายขาดที่ต้นน้ำดังกล่าว
ย่อมจะทำด้วยการงดสร้างเหตุที่ทำให้เกิดโรค
ซึ่งเท่ากับว่าเราจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างในชีวิตเรา
แต่เราไม่อยากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างนั้นในชีวิต
เพราะเราอยากจะใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ
โดยเรารู้สึกว่าเราใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ ก็สบายดีอยู่แล้ว

กรณีนี้ผมจะขอยกตัวอย่างอีกกรณีหนึ่ง
สมมุติว่า เราอยู่ในบ้าน และโดยปกติเมื่อเราทานอาหารเสร็จแล้ว
เราก็จะเอาจานชามพร้อมด้วยเศษอาหารที่เหลือไปวางไว้ในอ่างล้างจานในครัว
โดยเราไม่นำเศษอาหารไปแยกทิ้งแล้วรีบล้างจานชามให้สะอาด
แต่เราปล่อยจานชามและเศษอาหารให้สกปรกไว้อย่างนั้น
รอเมื่อเวลาผ่านไปถึงมื้ออาหารต่อไป และเราจะต้องใช้จามชามใด
เราค่อยล้างจานชามเท่าที่ต้องการใช้ ส่วนที่เหลือก็กองปล่อยสกปรกไว้อย่างเดิม
พอเราประพฤติอย่างนี้ไปได้สักช่วงเวลาหนึ่งแล้ว
ในห้องครัวเราก็เริ่มมีมด หนู และแมลงสาบเข้ามากินเศษอาหาร
แล้วก็เริ่มมาอาศัยอยู่ในมุมต่าง ๆ ในห้องครัว
จากนั้นก็เริ่มเพ่นพ่านเดินไปเดินมาในบ้านจนมาถึงห้องนอนของเรา

เมื่อบรรดามด หนู และแมลงสาบเริ่มบุกเข้ามาถึงห้องนอนของเราแล้ว
เราจึงทำการแก้ไขปัญหาในห้องนอนด้วยการใช้ยาฆ่าแมลงมาฉีดมด และแมลงสาบ
และหายาเบื่อหนู มาดักเบื่อหนู
(วิธีการฆ่าสัตว์ตามที่ยกตัวอย่างนี้ เป็นการผิดศีล และไม่แนะนำนะครับ)
ห้องนอนเราก็ปราศจากมด หนู และแมลงสาบไปได้สักช่วงเวลาหนึ่ง
เมื่อยาฆ่าแมลงหมดฤทธิ์แล้ว บรรดามดและแมลงสาบก็กลับมาใหม่
หรือเมื่อหนูเริ่มไม่กินอาหารผสมยาเบื่อหนู บรรดาหนูก็กลับมาวิ่งเพ่นพ่านใหม่

ในกรณีดังกล่าว ย่อมเปรียบเทียบได้ว่า
การทิ้งเศษอาหารไว้ในห้องครัว ก็คือต้นน้ำ คือเหตุแห่งโรค
บรรดามด หนู และแมลงสาบที่เข้ามาในบ้าน ก็คือกลางน้ำ คือตัวโรค
และการที่มด หนู และแมลงสาบเพ่นพ่านในบ้าน และไปที่ห้องนอน
ก็คือปลายน้ำ คืออาการของโรค
ซึ่งการที่ใช้ยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนูในห้องนอนนั้น
ก็เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายน้ำ คือแก้ไขที่อาการของโรค
โดยไม่ได้แก้ไขที่ต้นน้ำ และกลางน้ำ

ถามว่าในกรณีนี้ เราจะทนใช้วิธีการฉีดยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนู
ในห้องนอนไปเรื่อย ๆ โดยไม่ไปแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำ
คือไม่ไปจัดการเศษอาหารสกปรกในห้องครัวหรือเปล่า?
เราจะบอกไหมว่า เราไม่อยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา
โดยเราอยากจะทิ้งเศษอาหารไว้ในห้องครัวไปเรื่อย ๆ
และเรายอมที่จะทนใช้ยาฆ่าแมลงและยาเบื่อหนูต่อไปเรื่อย ๆ
หรือเรายอมที่จะอยู่กับมด หนู และแมลงสาบในห้องนอนเรา?

ถ้าเราบอกว่า เราจะไม่ปรับพฤติกรรมที่เป็นต้นเหตุ
โดยเรายินดีที่จะทนอยู่เหมือนเดิมต่อไป
ในเรื่องการดูแลสุขภาพ ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันครับ
ก็คือเราก็ต้องทนรักษาอาการที่ปลายน้ำต่อไป
แต่ถ้าเราบอกว่าเราทนไม่ได้ เราไม่ต้องการรักษาอาการที่ปลายน้ำ
เราต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำ เราก็ต้องปรับพฤติกรรมที่ทำให้เกิดโรคครับ

หากจะลองเปรียบเทียบกับปัญหาบางเรื่องในชีวิตประจำวัน
สมมุติว่ามีนักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งขี้เกียจและไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ
พอผลคะแนนสอบออกมา ก็ปรากฏว่าเขาสอบตก เขาก็โดนพ่อแม่ตำหนิ
แฟนเขาเตือนให้เขาตั้งใจเรียน เขาก็ไม่สนใจ แฟนจึงเริ่มออกห่างและตีจากเขา
เขารู้สึกกลุ้มใจมาก จึงแก้ไขปัญหาด้วยการไปเที่ยวดูหนังฟังเพลงให้ลืมไปวัน ๆ
หรือบางทีเขาก็ไปดื่มสุรากับเพื่อน ๆ ให้เมามายเพื่อลืมเรื่องกลุ้มใจไปวัน ๆ
ถามว่าระหว่างที่ไปดูหนังฟังเพลง หรือไปดื่มสุราให้เมามายนั้น
จะช่วยให้เขาลืมปัญหากลุ้มใจของเขาได้ไหม?
ตอบว่า ก็ช่วยให้ลืมได้ แต่ว่าเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นมาก ๆ ครับ
กรณีก็ไม่ต่างกับเขาเกิดปวดอุจจาระและต้องรีบหาห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระ
ในช่วงเวลานั้น เขาก็ลืมเรื่องกลุ้มใจเรื่องคะแนนสอบ และลืมเรื่องแฟนเช่นกัน
เพราะจิตใจไปหมกมุ่นอยู่กับเรื่องการรีบหาห้องน้ำเพื่อถ่ายอุจจาระแล้ว
แต่สิ่งที่เขาทำนั้นไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นน้ำ และกลางน้ำเลย
(โดยในกรณีเช่นนี้ การที่เขาขี้เกียจและไม่ตั้งใจเรียน คือต้นน้ำ
ผลคะแนนสอบตก โดนพ่อแม่ตำหนิ และโดนแฟนตีจาก คือกลางน้ำ
ซึ่งส่งผลให้เขาต้องกลุ้มใจในสิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือปลายน้ำ)
เพราะเป็นเพียงการระงับอาการกลุ้มใจตรงปลายน้ำเพียงชั่วครู่ในเวลาที่สั้นมาก ๆ
ในขณะเดียวกัน วิธีการที่เขาเลือกประพฤติเพื่อระงับอาการกลุ้มใจดังกล่าว
กลับจะยิ่งทำให้เขาประสบปัญหาหนักยิ่งขึ้นในภายหลัง

หากเราจะพิจารณาเทียบในเชิงธรรมะแล้ว ก็จะเห็นได้ว่าสอดคล้องกัน
เพราะสิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมเป็นไปตามเหตุและปัจจัย ไม่ใช่ตัวตนที่เราสั่งได้ดังใจ
ในเมื่อเราหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวลงไปในพื้นดิน มันก็จะไม่งอกมาเป็นต้นแตงโม
ในทางกลับกัน หากเราหว่านเมล็ดพันธุ์แตงโมลงไปในพื้นดิน
มันก็จะไม่งอกขึ้นมาเป็นต้นข้าว
ฉันใดก็ฉันนั้น หากเราสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เราป่วย ผลก็คือเราจะป่วย
หากเราสร้างเหตุและปัจจัยที่จะทำให้เราไม่ป่วย ผลก็คือเราจะไม่ป่วยนะครับ

เราสร้างเหตุและปัจจัยอย่างไร ก็จะก่อผลตามเหตุและปัจจัยนั้น
การที่สร้างเหตุและปัจจัยอย่างหนึ่ง แต่หวังผลอีกอย่างหนึ่ง ก็มีแต่จะผิดหวัง
อย่างสมมุติว่าบางท่านมีปัญหาว่าไปคบแฟนที่เป็นคนพาล แล้วก็ทำให้ทุกข์ใจ
ไม่ว่าจะเปลี่ยนแฟนกี่คน ก็เลือกคบแต่คนพาล แล้วก็ทุกข์อยู่อย่างนั้น
หากเราไม่ต้องการที่จะทุกข์ใจจากการที่คบแฟนที่เป็นคนพาล
เราก็ต้องเลิกหรือหยุดที่จะไปคบแฟนที่เป็นคนพาลเหล่านั้น
เราจะบอกว่า เราขอคบแฟนที่เป็นคนพาล แต่ขอให้ไม่ทุกข์ และขอให้มีความสุข
มันก็จะสวนทางกับเหตุและปัจจัยนะครับ
เสมือนกับเราบอกว่าเราขอทิ้งเศษอาหารไว้ในห้องครัว
แต่ขอให้ไม่มีมด หนู และแมลงสาบนั่นแหละ (ตามตัวอย่างที่ได้ยกมาแล้วข้างต้น)
เราสร้างเหตุและปัจจัยเอาไว้ แต่เราอยากให้ไม่เกิดผลสำหรับเหตุและปัจจัยนั้น
ขอเรียนว่า ผลมันก็จะไม่ได้เป็นไปตามความอยากเราหรอกนะครับ
เพราะว่าผลมันเกิดขึ้นโดยเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

เสมือนกับเราบอกว่า เราจะกระโดดลงแม่น้ำ แต่ไม่อยากให้ตัวเปียก
เราจะเอามือไปแช่น้ำเดือด แต่ไม่อยากให้น้ำเดือดลวกมือพอง
เราจะทานอาหารเยอะ ๆ แต่ไม่อยากให้เราอิ่ม
เราอยากจะทานอาหารเสียสุขภาพ อยากจะใช้ชีวิตในเชิงเสียสุขภาพ
แต่เราไม่อยากให้เราป่วย และเราอยากให้เราแข็งแรง เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้มันเป็นเหตุและปัจจัยที่ไม่ตรงกับผลที่เราอยากให้เกิดขึ้น

ถึงตรงนี้แล้ว สมมุติว่าเราป่วยเป็นโรคใด ๆ อยู่ก็ตาม
เราลองหันมาพิจารณาตรวจสอบตนเองกันดูนะครับว่า
ขณะนี้เราใช้วิธีการรักษาตรงไหนของสายน้ำ
เรารักษาที่ต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ

ทั้งนี้ ขอเรียนผมไม่ได้บอกว่าการรักษาที่ปลายน้ำไม่ดีหรือไม่จำเป็นนะครับ
ในหลาย ๆ กรณีนั้น การรักษาเพื่อระงับอาการของโรคเป็นสิ่งที่ดี และจำเป็น
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องยึดถือวิธีการนี้เป็นหลัก
โดยไม่ต้องพยายามไปรักษาที่ต้นน้ำ และปลายน้ำเลย
ยกตัวอย่างว่า ชายคนหนึ่งไปยกของหนักแล้วมีอาการปวดหลังมาก
เขาเองก็อาจจะควรหรือจำเป็นจะต้องทานยาระงับปวดหรือพ่นยาระงับปวด
แล้วก็ปรับพฤติกรรมโดยการเลิกไปยกของหนักที่ทำให้ปวดหลัง
กรณีไม่ได้แปลว่าให้เขางดยกของ และเขาไม่ต้องทานยาหรือพ่นยาอะไร
แล้วก็ให้เขาทนปวดหลังไปเรื่อยจนกว่าจะหายปวดเอง ไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ
นอกจากนี้ กรณีก็ไม่ได้แปลว่า ให้เขาทานยาหรือพ่นยาระงับปวดไปเรื่อย ๆ
โดยไม่ต้องหยุดยกของหนักที่ทำให้ปวดหลังนั้น
เพราะก็เท่ากับว่าเขาต้องใช้ยาไปเรื่อย ๆ และเมื่อใช้ยาไปนาน ๆ แล้ว
ยานั้นอาจจะส่งผลกระทบข้างเคียงทำให้ป่วยโรคอื่นอีกด้วยก็ได้

แต่ทีนี้ ปัญหาสำคัญก็คือในหลาย ๆ กรณีนั้น
เราไม่ทราบว่า เราสร้างเหตุและปัจจัยอะไรเอาไว้ จึงทำให้เราป่วย
ทั้ง ๆ ที่เราก็เข้าใจว่า เราดูแลรักษาสุขภาพของเราเป็นอย่างดีแล้ว
ในส่วนนี้ เดี๋ยวเราจะค่อย ๆ คุยกันไปนะครับ เพราะคงต้องคุยกันหลายตอน

(ขอไปคุยต่อในตอนหน้าครับ)