Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๒๐๑

ข้อแนะนำก่อนบวช (ตอนจบ)

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree

(ต่อจากตอนที่แล้ว)
เมื่อตอนที่แล้วได้คุยเรื่องโทษของการเป็นพระภิกษุทุศีลนะครับว่า
การที่บวชเป็นพระภิกษุไม่ได้แปลว่าจะต้องได้บุญกุศลมากเสมอไป
เพราะย่อมขึ้นอยู่กับการประพฤติปฏิบัติในระหว่างที่บวชนั้นเป็นสำคัญ
โดยหากประพฤติทุศีลแล้ว ก็ย่อมจะต้องไปอบายภูมิ
และย่อมได้รับโทษหนักกว่าการเป็นฆราวาสธรรมดาเสียอีก
(เพราะพระภิกษุนั้นดำรงชีวิตด้วยปัจจัยสี่ที่โยมถวายด้วยศรัทธา)

สังเกตว่าใน “อัคคิขันธูปมสูตร” (ที่ได้กล่าวในตอนที่แล้ว) นั้น
เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสธรรมเทศนาจบลงแล้ว
ได้มีโลหิตร้อนพุ่งออกจากปากของภิกษุ ๖๐ รูป (เข้าใจว่าน่าจะเป็นพระภิกษุทุศีล)
และได้มีภิกษุ ๖๐ รูป ลาสิกขา สึกมาเป็นคฤหัสถ์ ด้วยเห็นเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก
(โดยเห็นว่าถ้าบวชอยู่ต่อไปน่าจะเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก จึงลาสึกขาดีกว่า)
และมีภิกษุ ๖๐ รูป บรรลุธรรมสำเร็จเป็นพระอรหันต์
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=23&A=2629&Z=2793&pagebreak=0

ดังนั้นแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจบวช ไม่ว่าจะบวชยาว หรือบวชสั้นเพียงไหนก็ตาม
(เช่น บวชหน้าไฟเพียงแค่วันเดียว เป็นต้น) การตั้งใจประพฤติปฏิบัติ
และรักษาศีลของพระภิกษุเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับท่านที่จะบวช
เพราะหากไม่ได้สนใจรักษาศีลของพระภิกษุแล้ว
ย่อมทำให้มีโอกาสเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกได้มากกว่าเป็นฆราวาสเสียอีก
ทั้งนี้ แม้ในกรณีที่จะบวชเป็นสามเณรก็ตาม ก็พึงพิจารณาในทำนองเดียวกันครับ

(หมายเหตุ ขอแทรกเรื่องคำว่า “บวช” “บรรพชา” และ “อุปสมบท” สักเล็กน้อยครับ
ในพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
โดยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายว่า
“บรรพชา” (แปลว่า เว้นความชั่วทุกอย่าง) หมายถึง การบวชทั่วไป
คือ การบวชอันเป็นบุรพประโยคแห่งอุปสมบท หรือ การบวชเป็นสามเณร
(เดิมทีเดียว คำว่า “บรรพชา” หมายความว่า บวชเป็นภิกษุ
เช่น เสด็จออกบรรพชา อัครสาวกบรรพชา เป็นต้น
ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้ คำว่า “บรรพชา” หมายถึง บวชเป็นสามเณร
ถ้าบวชเป็นภิกษุ ใช้คำว่า “อุปสมบท” โดยเฉพาะเมื่อใช้ควบกันว่า “บรรพชาอุปสมบท”)
http://www.84000.org/tipitaka/dic/v_seek.php?text=%BA%C3%C3%BE%AA%D2&original=1

ทีนี้ เรา ๆ ที่เป็นฆราวาสอาจจะไม่ทราบทั้งหมดว่า ศีลของพระภิกษุมีอะไรบ้าง
เพราะอาจจะเพียงทราบกว้าง ๆ ว่ามีอยู่ ๒๒๗ ข้อ
บางท่านก็อาจจะมองว่า เราก็บวชเป็นพระภิกษุไปก่อน
แล้วค่อยไปเริ่มศึกษาเรื่องศีลของพระภิกษุก็ได้
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อทำพิธีบวชเป็นพระภิกษุเสร็จแล้ว
ท่านที่บวชนั้นก็ย่อมเป็นพระภิกษุ และมีหน้าที่รักษาศีลของพระภิกษุในทันที
การที่จะไปอ้างว่าเรายังไม่ได้มีเวลาหรือเริ่มศึกษาเรื่องศีลของพระภิกษุเลย
ดังนี้ หากเราทำอะไรผิดพลาดผิดศีลไปแล้ว ก็น่าจะอนุโลมไปก่อน และไม่เป็นอาบัติ
ขอเรียนว่าไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ โดยก็ยังถือว่าเป็นอาบัติอยู่ดี
ยกตัวอย่างเช่น แม้จะไม่ทราบเรื่องศีลในเรื่องปาราชิกก็ตาม
แต่ถ้าประพฤติผิดศีลในเรื่องปาราชิกแล้ว ก็ถือว่าปาราชิกและพ้นจากความเป็นพระภิกษุอยู่ดี
ฉะนั้นแล้ว ในช่วงที่เตรียมตัวบวชนั้น นอกเหนือจากจะเตรียมท่องบทคำขอบวชแล้ว
ท่านที่จะบวชควรจะศึกษาในเรื่องของศีลของพระภิกษุด้วย
เพื่อที่ว่าเมื่อผ่านพิธีบวชสำเร็จเป็นพระภิกษุแล้ว
ย่อมจะถือศีลของพระภิกษุได้เป็นอย่างดี เพราะมีความรู้ความเข้าใจอยู่ก่อนแล้ว

การศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องศีลของพระภิกษุก่อนที่จะบวชนี้
นอกจากจะทำให้มีความรู้ที่จะสามารถถือศีลได้ทันที เมื่อผ่านพิธีการบวชแล้ว
ยังช่วยให้ผู้ที่จะบวชได้พิจารณาและตัดสินใจตนเองก่อนว่า
ตนเองจะสามารถถือศีลของพระภิกษุได้หรือไม่ในระหว่างที่บวช
โดยหากพิจารณาแล้ว เห็นว่าตนเองไม่สามารถจะถือศีลของพระภิกษุได้
เพราะเหตุว่าเป็นเรื่องยาก หรือมีข้อจำกัดที่ตนเองไม่สามารถทนได้หรือทำได้ เป็นต้น
ก็จะได้ย้อนกลับมาพิจารณาว่าตนเองสมควรที่จะบวชหรือไม่
ซึ่งในเรื่องการบวชนี้ บางท่านอาจจะได้ทราบแต่เรื่องของอานิสงส์อย่างนั้นอย่างนี้
แต่ไม่ค่อยจะได้ทราบว่าหากประพฤติทุศีลแล้ว โทษก็จะหนักเป็นทวีคูณเช่นกัน
ก็ทำให้ไปมองแต่เฉพาะในแง่ดี และเข้าใจว่ามีแต่ผลดีเท่านั้น

เมื่อได้ทราบเรื่องศีลหรือข้อปฏิบัติของพระภิกษุแล้ว
หากเป็นไปได้ ท่านที่จะบวชก็ควรจะฝึกปรับพฤติกรรมหรือการใช้ชีวิตตนเองล่วงหน้า
เช่น จากเดิมที่ตนเองนอนบนเตียงมีฟูกหนานุ่ม ก็อาจจะฝึกนอนบนเสื่อบนพื้น
จากเดิมที่ทานอาหารตอนบ่ายและตอนเย็น ก็ควรฝึกงดมื้ออาหารดังกล่าว และทานน้ำปานะ
(อย่างน้อย ๆ ก็คือฝึกถือศีล ๘ ให้ได้อย่างสบายหลาย ๆ วันก่อนที่จะบวช)
และฝึกช่วยเหลือดูแล และทำงานบ้านเองในเรื่องอื่น ๆ ด้วย
เช่น จากเดิมที่อาจจะไม่ได้ซักผ้าตากผ้าเอง เพราะมีคนอื่นซักผ้าตากผ้าให้
ก็ควรจะฝึกหัดซักผ้าเองตากผ้าเอง เป็นต้น

ในเรื่องของการศึกษาและปฏิบัติธรรม ก็ควรมีการเตรียมตัวด้วยเช่นกัน
บางท่านอาจจะมองว่าตนเองไม่รู้เรื่องการปฏิบัติธรรมเลย
แต่ก็จะบวชเข้าไปเป็นพระก่อนแล้วค่อยไปศึกษาและปฏิบัติธรรมก็ได้
โดยจะไปรอให้พระภิกษุในวัดช่วยสอนแนะนำให้ตนเอง
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราควรที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังเป็นฆราวาสนี้
แม้ว่าจะยังไม่ได้เลือกที่จะบวชหรือตัดสินใจที่จะบวชก็ตาม
เพราะการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นสิ่งสำคัญและเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ชีวิตเรา
นอกจากนี้ เมื่อเราเข้าใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรมแล้ว
เราย่อมจะสามารถพิจารณาได้ด้วยว่า เราสมควรบวชที่วัดไหนและไม่สมควรจะบวชที่วัดไหน
(เพราะก็ต้องยอมรับว่ามีบางวัดที่สอนเรื่องการปฏิบัติธรรมไปอย่างผิดทิศผิดทางเหมือนกัน)
และแม้ว่าในระหว่างบวชนั้น หากเราไม่ได้มีโอกาสได้รับคำแนะนำจากพระภิกษุอื่น ๆ
เราก็ยังสามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมของเราต่อไปได้

ในเวลาที่เราหาข้อมูลและพิจารณาวัดที่เราสนใจจะบวชนั้น
นอกจากจะพิจารณาเรื่องข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุในวัดแล้ว
เราควรจะพิจารณาเรื่องของความปลอดภัยด้วยนะครับ
เพราะกรณีไม่ใช่ว่าวัดทุกแห่งจะต้องเป็นสถานที่ปลอดภัยเสมอไป
โดยเราอาจจะได้เคยพบเห็นข่าวเป็นระยะ ๆ ว่า
พระภิกษุค้ายาบ้าก็มี หรือพระภิกษุฆ่ากันทำร้ายกันก็มี เป็นต้น

นอกจากนี้ แม้กระทั่งข่าวเรื่องพระภิกษุเป็นชายรักชายก็มีเช่นกัน
การที่เราไปบวชเป็นพระภิกษุในวัด ก็มีโอกาสจะถูกคุกคามทางเพศได้
เช่น เคยมีญาติธรรมท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า
ในระหว่างที่บวชเป็นพระภิกษุที่วัดแห่งหนึ่งนั้น
ได้เคยมีพระภิกษุรูปหนึ่งชอบมาเคาะประตูห้องของท่านกลางดึก
เพื่อถามหาพระภิกษุอีกรูปหนึ่งว่าอยู่ในห้องของท่านหรือไม่
ซึ่งญาติธรรมท่านนี้ (ในขณะนั้นเป็นพระภิกษุ) ก็ไม่ได้เปิดประตูให้นะครับ
เพราะไม่แน่ใจว่าพระภิกษุรูปที่มาเคาะประตูจะเข้ามาทำอะไรท่านหรือไม่
จึงเพียงแต่ตะโกนบอกไปว่าท่านอยู่เพียงรูปเดียว ไม่มีพระภิกษุรูปอื่นในห้องท่าน
ฉะนั้นแล้ว แม้ว่าจะเป็นผู้ชายบวชอยู่ในวัดก็ตาม
ก็ไม่ได้แปลว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์นะครับ จึงควรพิจารณาก่อนให้ดีด้วย

อีกกรณีหนึ่งก็คือ มีบางท่านที่วางแผนว่าเมื่อเกษียณแล้ว จะไปบวชตลอดชีวิต
เช่น มีญาติธรรมอีกท่านหนึ่งเคยมาเล่าให้ผมฟังว่า
คุณพ่อของเขาใกล้จะเกษียณแล้ว และตั้งใจว่าจะไปบวชตลอดชีวิต
เพื่อที่จะได้ใช้เวลาศึกษาและปฏิบัติธรรม
ผมก็ถามเขาว่า แล้วในขณะนี้ คุณพ่อได้ใช้เวลาศึกษาและปฏิบัติธรรมบ้างหรือไม่
ญาติธรรมท่านนี้ตอบว่า ไม่เห็นว่าคุณพ่อจะศึกษาและปฏิบัติธรรมเท่าไร
เพราะว่าท่านมีงานและภาระต่าง ๆ ที่ต้องรับผิดชอบมากมาย
ท่านจึงวางแผนว่าจะไปบวชตลอดชีวิตภายหลังเกษียณแล้ว
เพื่อใช้เวลาในช่วงดังกล่าวในการศึกษาและปฏิบัติธรรมได้อย่างเต็มที่

ผมจึงแนะนำญาติธรรมท่านนี้ให้ลองหารือกับคุณพ่อว่า ที่สำคัญข้อแรกคือ
เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะมีชีวิตอยู่ถึงเกษียณ จะได้มีโอกาสไปบวช
และจะมีโอกาสไปศึกษาและปฏิบัติธรรมในอนาคต
แล้วเราจะพิจารณาได้อย่างไรว่าเราจะไปวัดไหนถึงจะดี
ฉะนั้นแล้ว เราจึงควรที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมเสียตั้งแต่ในขณะนี้
และเราก็จะสามารถนำความรู้ความเข้าใจที่ได้นี้ไปช่วยพิจารณาเลือกวัดที่จะบวชด้วย

นอกจากนี้ คุณพ่อควรจะพิจารณาเปรียบเทียบอีกด้วยว่า
การที่ท่านจะศึกษาและปฏิบัติธรรมในระหว่างที่เป็นพระภิกษุ
เทียบกับการเป็นฆราวาสอย่างไหนจะง่ายกว่ากัน?
บางท่านอาจจะมองว่าเป็นพระภิกษุน่าจะง่ายกว่า
เพราะบรรยากาศและปัจจัยต่าง ๆ เอื้ออำนวยให้
แต่ผมเห็นว่าอาจจะไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไปนะครับ
เพราะอย่างเช่นสมมุติว่าท่านเป็นพระภิกษุแล้วอยากจะได้หนังสือธรรมะบางเล่ม
อยากจะได้คอมพิวเตอร์ต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อไปดาวน์โหลดไฟล์ธรรมะมาฟัง
ท่านก็อาจจะไม่สามารถหาหรือใช้สิ่งเหล่านั้นได้โดยสะดวก
ในขณะที่คุณพ่อแก่ชราจนเกษียณแล้ว ก็อาจจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างด้วย
การที่จะไปอาศัยอยู่ในวัด ซึ่งก็ย่อมจะไม่ได้สะดวกสบายเหมือนอยู่บ้านนั้น
อาจจะไม่ได้เป็นการสะดวกในการศึกษาและปฏิบัติธรรมเสมอไป

ฉะนั้น ในบางกรณีนั้น หากคุณพ่ออยู่เป็นฆราวาสจะสามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมได้สะดวกกว่า
(และก็จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องที่จะประพฤติทุศีลดังที่กล่าวแล้วในตอนต้นด้วย)
และเวลาเจ็บป่วยใด ๆ ลูกหลานก็สามารถช่วยเหลือดูแลได้สะดวกกว่าด้วย
แต่สิ่งที่สำคัญคือ พึงต้องให้ความสำคัญและสนใจที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน
ตั้งแต่ขณะที่เป็นฆราวาสในปัจจุบันนี้แหละ
ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้ผ่านเลยไปเรื่อย ๆ หรือคิดเพียงว่าเอาไว้โอกาสหน้าในอนาคต
และไม่ใช่มองว่าการศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของพระภิกษุเท่านั้น
เพราะในความเป็นจริงแล้ว การศึกษาและปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของทุกคน
รวมทั้งฆราวาสด้วยเช่นกัน

โดยสรุปแล้ว ก่อนที่จะตัดสินใจบวชนั้น ก็มีข้อพึงพิจารณา และข้อพึงปฏิบัติหลายประการ
(แล้วแต่เหตุปัจจัยของแต่ละท่านซึ่งอาจจะแตกต่างกัน)
โดยที่ได้กล่าวมาแล้วในสองตอนนี้ ก็เป็นเพียงข้อแนะนำในบางเรื่องเท่านั้น
ทั้งนี้ ที่กล่าวมานี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะห้ามท่านบวช หรือคัดค้านการที่ท่านจะบวชนะครับ
(ยกเว้นว่าท่านใดจะรักษาศีลไม่ได้ และจะไปประพฤติทุศีลแล้ว ก็ไม่ควรจะบวชครับ)
เพียงแต่ต้องการให้พิจารณาตัดสินใจให้ดี และเตรียมตัวให้พร้อมเสียก่อน
ประกอบกับพึงใช้เวลาในระหว่างที่เป็นฆราวาสอย่างเป็นประโยชน์
โดยศึกษาและปฏิบัติธรรมไปด้วยในปัจจุบัน เพื่อที่จะได้ประโยชน์สูงสุด