Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๙

เหตุแห่งพระสัทธรรมเลือนหาย

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 199

หลายท่านคงเคยได้พบเห็นข่าวพระภิกษุสงฆ์ประพฤติผิดพระธรรมวินัยอยู่เป็นระยะ ๆ
เช่น ข่าวพระภิกษุทำร้ายหรือฆ่าพระภิกษุอื่นในวัด พระภิกษุเสพเมถุน
พระภิกษุทำเสน่ห์เรียกปัจจัยจากญาติโยม ฯลฯ
หรือบางท่านก็อาจจะเคยมีประสบการณ์ได้พบเห็นด้วยตนเองโดยตรง
ส่วนตัวผมเองนั้น นอกจากได้อ่านพบตามสื่อแล้ว ก็เคยพบด้วยตนเองเหมือนกัน
โดยมีอยู่บางคราวที่ผมพาญาติอาวุโสไปไหว้พระและถวายสังฆทานตามวัดต่าง ๆ
ก็ยังเคยพบว่าในวัดบางแห่งมีการขายล็อตเตอรี่หน้าอุโบสถ หรือในอุโบสถก็มี
หรือพระภิกษุในวัดบางแห่ง ท่านรับสังฆทานแล้วก็ใบ้หวยให้เราไปแทงหวยก็ยังมี

เวลาที่เราได้ทราบข่าวประพฤติผิดพระธรรมวินัยเหล่านี้ หรือได้พบเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว
บางท่านรู้สึกสลดหดหู่ใจท้อแท้ บางท่านรู้สึกโมโหไม่พอใจ บางท่านรู้สึกเบื่อหน่าย
บางท่านหมดศรัทธา เลิกเข้าวัด หรือเลิกทำบุญกับวัดและพระภิกษุ
บางท่านหมดกำลังใจในการศึกษาและปฏิบัติธรรม
บางท่านเลิกสนใจธรรมะแล้วก็กลับไปใช้ชีวิตไหลตามกิเลสไปวัน ๆ
ซึ่งย่อมเท่ากับว่าเรานำเรื่องประพฤติผิดหรือบกพร่องของผู้อื่น
มาทำให้เราเองต้องเสียหาย หรือเสื่อมถอยไปด้วย ซึ่งไม่เป็นประโยชน์แก่เราเองครับ

ในอันที่จริงแล้ว การที่เรายึดพระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) เป็นที่พึ่งนั้น
“พระสงฆ์” ในพระรัตนตรัย มุ่งหมายถึง “พระอริยสงฆ์”
(ได้แก่พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี จนถึงพระอรหันต์)
โดยไม่ได้หมายถึงพระภิกษุที่เป็น “สมมุติสงฆ์”
ดังนั้น การที่พระภิกษุบางรูปที่เป็นสมมุติสงฆ์จะประพฤติผิดพระธรรมวินัย
หรือประพฤติตนเป็นที่น่าเสื่อมศรัทธาก็ตาม
ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเสื่อมศรัทธาต่อพระรัตนตรัยไปด้วย

ปัญหาที่สำคัญก็คือ เราจะมีศรัทธายึดถือพระรัตนตรัยได้หนักแน่นไปตามลำดับ
ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนจนเห็นผลของการปฏิบัติ
แต่เพียงแค่ตอนเริ่มต้นจะทำการศึกษาพระธรรมคำสอนนั้น บางทีก็ยากแล้ว
เพราะเราไม่สามารถเข้าไปหาพระธรรมคำสอนได้ในทุกวัด
โดยในวัดบางแห่งก็มีแต่เรื่องเรี่ยไรให้ทำบุญ หรือมีแต่เรื่องพิธีกรรมให้โชคลาภ
พระภิกษุในวัดบางแห่งไม่ได้สอนให้ญาติโยมปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน
แต่กลับสอนชักจูงให้ญาติโยมซื้อวัตถุมงคล เพื่อหวังลาภลอย หรือโชคลาภ
สอนมุ่งแต่ให้ได้ความร่ำรวย เน้นไปแต่ทางวัตถุนิยม
โดยไม่ได้สอนอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเลย

ถามว่าทำไมในวัดบางแห่งไม่ได้มุ่งสอนให้ญาติโยมปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน?
ใน “สัทธรรมปฏิรูปกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปะได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้เมื่อก่อน สิกขาบทมีน้อย และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีมาก
และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้บัดนี้ สิกขาบทมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในพระอรหัตผลมีน้อย

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ข้อนั้นเป็นอย่างนี้คือ
เมื่อหมู่สัตว์เลวลง พระสัทธรรมกำลังเลือนหายไป สิกขาบทจึงมีมากขึ้น
ภิกษุที่ตั้งอยู่ในพระอรหัตผล จึงน้อยลง
สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป
และสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป
ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป
และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น ทองคำธรรมชาติจึงหายไป ฉันใด
พระสัทธรรมก็ฉันนั้น สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเมื่อใด
เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป
(“สัทธรรมปฏิรูป” หมายถึง สัทธรรมปลอมหรือสัทธรรมเทียม)

ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
ที่แท้ โมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไป
เปรียบเหมือนเรือจะอับปาง ก็เพราะต้นหนเท่านั้น
พระสัทธรรมยังไม่เลือนหายไปด้วยประการฉะนี้

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการ คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑
เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน
ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม เหตุ ๕ ประการ คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ มีความเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ในพระธรรม ๑ ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑
เหตุ ๕ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความตั้งมั่น
ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรม
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=16&A=5846&Z=5888&pagebreak=0

ใน “สัทธรรมปฏิรูปกสูตร” สอนว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ไม่สามารถยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้
แต่พระสัทธรรมเลือนหายไปนั้นก็เพราะโมฆบุรุษในโลกนี้ต่างหาก
ซึ่งเหตุที่ทำให้พระสัทธรรมเลือนหายไปนั้น
ก็เพราะว่าภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ (ขณะนี้ไม่มีภิกษุณีแล้ว)
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑
โดยเมื่อไม่เคารพยำเกรงดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ได้สนใจศึกษาและปฏิบัติตามที่สมควร
เมื่อสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ว่า
สิ่งไหนเป็นสัทธรรมปฏิรูปและสิ่งไหนเป็นพระสัทธรรม
ในขณะที่บางคนก็ไปมุ่งยึดถือและปฏิบัติตามสัทธรรมปฏิรูปมากกว่าพระสัทธรรม

ถามต่อไปว่า ในเมื่อเราอยู่ในยุคสมัยที่มีสัทธรรมปฏิรูปอยู่มากมาย
แล้วเราสมควรจะทำอย่างไร?
ใน “อาณิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค) เล่าว่า
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว
ตะโพนชื่ออานกะของพวกกษัตริย์ผู้มีพระนามว่าทสารหะได้มีแล้ว
เมื่อตะโพนแตก พวกทสารหะได้ตอกลิ่มอื่นลงไป
สมัยต่อมา โครงเก่าของตะโพนชื่ออานกะก็หายไป ยังเหลือแต่โครงลิ่ม ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย พวกภิกษุในอนาคตกาล เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว
อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ จักไม่ปรารถนาฟัง
จักไม่เข้าไปตั้งจิตเพื่อรู้ และจักไม่สำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเล่าเรียน ควรศึกษา
แต่ว่าเมื่อเขากล่าวพระสูตรอันนักปราชญ์รจนาไว้ อันนักปราชญ์ร้อยกรองไว้
มีอักษรอันวิจิตร มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นของภายนอก เป็นสาวกภาษิตอยู่
จักปรารถนาฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้
และจักสำคัญธรรมเหล่านั้น ว่าควรเรียน ควรศึกษา

ภิกษุทั้งหลาย พระสูตรเหล่านั้น ที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก
เป็นโลกุตตระ ประกอบด้วยสุญญตธรรม จักอันตรธาน ฉันนั้นเหมือนกัน
เพราะเหตุดังนี้นั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า
เมื่อเขากล่าวพระสูตรที่ตถาคตกล่าวแล้ว อันลึก มีอรรถอันลึก เป็นโลกุตตระ
ประกอบด้วยสุญญตธรรมอยู่ พวกเราจักฟังด้วยดี จักเงี่ยโสตลงสดับ
จักเข้าไปตั้งไว้ซึ่งจิตเพื่อรู้ และจักสำคัญธรรมเหล่านั้นว่า ควรเรียน ควรศึกษา ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka2/v.php?B=16&A=7046&Z=7066&pagebreak=0

ดังนี้แล้ว หนทางที่เราจะไม่พลาดพลั้งไหลไปตามสัทธรรมปฏิรูปก็คือ
เราพึงตั้งใจศึกษาพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า
และนำพระธรรมคำสอนนั้นไปประพฤติปฏิบัติตามที่สมควรแก่ธรรม
เราก็ย่อมจะสามารถแยกแยะสัทธรรมปฏิรูปและพระสัทธรรมได้
แม้ว่าในปัจจุบัน เราอาจจะไม่สามารถหาพระธรรมคำสอนในวัดบางแห่งได้
แต่ว่าเราก็ยังสามารถค้นหาหรือศึกษาพระธรรมคำสอนในอินเตอร์เน็ตได้ไม่ยาก
และก็เป็นการค้นหามาศึกษาได้ฟรี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย
โดยเมื่อเรามีความรู้ความเข้าใจพระธรรมคำสอนแล้ว
เราก็จะแยกแยะได้ว่าคำสอนใดเป็นสัทธรรมปฏิรูป และคำสอนใดเป็นพระสัทธรรม
และเลือกที่จะศึกษาได้ถูกต้อง และไม่หลงไปผิดทิศผิดทาง

โดยสรุปแล้ว เมื่อเราได้พบเห็นข่าวหรือพบเห็นด้วยตนเองว่า
พระภิกษุบางรูปหรือวัดบางแห่งไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน
หรือสอนสิ่งใด ๆ ที่ไม่ใช่พระธรรมคำสอน แต่เป็นสัทธรรมปฏิรูปแล้ว
สิ่งที่เราพึงทำนั้นไม่ใช่ว่าเราควรท้อถอย เบื่อหน่าย หรือเลิกสนใจศึกษาพระสัทธรรม
ในทางกลับกัน เราพึงเห็นความสำคัญของพระสัทธรรมว่า เป็นสิ่งมีค่าและหายาก
เราพึงมุ่งตั้งใจและสนใจศึกษา และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน โดยไม่ประมาท
ไม่เช่นนั้นแล้ว เราย่อมไม่สามารถแยกแยะและจำแนก
สัทธรรมปฏิรูปออกจากพระสัทธรรมได้
และทำให้เราเองอาจจะผิดพลาดเดินตามหรือปฏิบัติตามสัทธรรมปฏิรูปก็ได้
แต่หากเราศึกษา และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน โดยไม่ประมาทแล้ว
เมื่อเราฟังคำสอนใด ๆ หรือของใครก็ตาม เราก็ย่อมจะแยกแยะได้ว่า
คำสอนนี้สอดคล้องและเป็นไปตามพระสัทธรรม หรือคำสอนนี้เป็นสัทธรรมปฏิรูป

อนึ่ง การที่เราตั้งใจสนใจศึกษา และประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนนั้น
นอกจากจะอำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเอง และคนรอบข้างแล้ว
ย่อมถือเป็นการที่เราเคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑ ในพระธรรม ๑
ในพระสงฆ์ ๑ ในสิกขา ๑ ในสมาธิ ๑ อันย่อมเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
เพื่อความตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือน ไม่เลือนหายแห่งพระสัทธรรมอีกด้วยครับ