Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๘

ทำไมเขาจึงไม่เข้าใจ

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 198

เมื่อไม่นานมานี้ มีญาติธรรมท่านหนึ่งมาเล่าให้ผมฟังว่า
เธอไม่เข้าใจว่าทำไมเพื่อนบางคนหรือเพื่อนร่วมงานบางคนจึงไม่เข้าใจ
ในบางเรื่องบางอย่างที่ควรจะเข้าใจได้ไม่ยาก เพราะเป็นเรื่องพื้นฐาน
อย่างเช่นเรื่องความมีน้ำใจให้แก่กันบ้าง การลดละความเห็นแก่ตัว
การละเว้นการทำชั่วหรือเบียดเบียนผู้อื่น หรือการพิจารณาว่าอะไรดีอะไรชั่ว เป็นต้น
ซึ่งบางเรื่องนั้นไม่จำเป็นต้องอธิบายเลย พวกเขาก็ควรจะเข้าใจได้อยู่แล้ว
และบางเรื่องนั้น ได้พยายามอธิบายแล้ว แต่พวกเขาก็ยังไม่เข้าใจ หรือไม่ใส่ใจ
โดยเพื่อนบางคนหรือเพื่อนร่วมงานบางคนเหล่านั้นก็ยังประพฤติตนเหมือนเดิม

ผมก็ได้อธิบายว่าเป็นปกติธรรมดาของโลกนะครับ
ถ้าทุกคนฟังอะไรแล้ว สามารถเข้าใจได้เหมือนกันหมด และทำได้เหมือนกันหมด
อย่างนี้ นักเรียนในห้องเรียนก็ย่อมสอบได้ที่หนึ่งทุกคน โดยทำข้อสอบได้เหมือนกันทุกคน
ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะพื้นฐานความรู้ ความสามารถ
และความขยันของนักเรียนแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
แต่ละคนจึงสามารถทำข้อสอบได้ไม่เหมือนกัน โดยก็เป็นไปตามปัจจัยของแต่ละคน

ในเรื่องของความเข้าใจในธรรม หรือความประพฤติดีประพฤติไม่ดี ก็ทำนองเดียวกัน
โดยแต่ละคนมีอินทรีย์ ๕ (ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) ไม่เท่ากัน
ดังนั้น ความเข้าใจก็ย่อมไม่เท่ากัน และความประพฤติก็ย่อมแตกต่างกันไป
ซึ่งก็เป็นไปตามปัจจัยของแต่ละคน
คนที่มีอินทรีย์แก่กล้าก็ฟังเข้าใจได้ง่าย นำไปประพฤติปฏิบัติได้ง่าย
คนที่มีอินทรีย์อ่อนก็ฟังเข้าใจได้ยาก นำไปประพฤติปฏิบัติได้ยาก

ในเรื่องนี้เราทำอะไรไม่ได้มากนักหรอกครับ
เราทำได้ดีที่สุดก็เพียงแค่บอก เตือน หรือแนะนำเท่านั้น
แต่เวลาบอก เตือน หรือแนะนำ ก็พึงต้องระวังด้วย
โดยต้องพิจารณาคนที่ฟังด้วยว่าเราบอก เตือน หรือแนะนำได้แค่ไหน
(ไม่เช่นนั้นแล้วคนฟังอาจจะเข้าใจผิดว่า เราไปตำหนิเขา แล้วอาจทำให้ทะเลาะกันได้)

แม้แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ยังทรงเปรียบพระองค์เองว่าเป็นเสมือนผู้บอกทาง
คนที่เดินทางจะเดินทางไปถึงเป้าหมายหรือไม่ก็ย่อมขึ้นอยู่กับคนที่เดินทางนั้นเอง
โดยใน “คณกโมคคัลลานสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) ได้เล่าว่า
มีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่า “คณกะโมคคัลลานะ” ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“สาวกของพระโคดมผู้เจริญ อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
ย่อมยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน ทุกรูปทีเดียวหรือ
หรือว่าบางพวกก็ไม่ยินดี?”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ สาวกของเรา อันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี”

พราหมณ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าต่อไปว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในเมื่อนิพพานก็ยังดำรงอยู่ ทางให้ถึงนิพพานก็ยังดำรงอยู่
พระโคดมผู้เจริญ ผู้ชักชวนก็ยังดำรงอยู่ แต่ก็สาวกของพระโคดมผู้เจริญ
อันพระโคดมผู้เจริญโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อยจึงยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี?”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในเรื่องนี้
ท่านชอบใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น
ดูกรพราหมณ์ ท่านชำนาญทางไปเมืองราชคฤห์มิใช่หรือ?”

พราหมณ์กราบทูลว่า “แน่นอน พระเจ้าข้า”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
บุรุษผู้ปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ได้มาในสำนักของท่าน เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า
ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์
ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ มาเถิดทางนี้ไปเมืองราชคฤห์
ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์
ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์
บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ จำทางผิด กลับเดินไปเสียตรงกันข้าม

ต่อมา บุรุษคนที่สองปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์ ได้มาในสำนักของท่าน
เข้ามาหาท่านแล้วพูดอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าปรารถนาจะไปเมืองราชคฤห์
ขอท่านจงชี้ทางไปเมืองราชคฤห์แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพึงบอกแก่เขาอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ มาเถิดทางนี้ไปเมืองราชคฤห์
ท่านจงไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นบ้านชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นนิคมชื่อโน้น
ไปตามทางนั้นชั่วครู่หนึ่งแล้ว จักเห็นสวนที่น่ารื่นรมย์ ป่าที่น่ารื่นรมย์
ภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ สระโบกขรณีที่น่ารื่นรมย์ของเมืองราชคฤห์
บุรุษนั้นอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอยู่อย่างนี้ พึงไปถึงเมืองราชคฤห์โดยสวัสดี
ดูกรพราหมณ์ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัย ในเมื่อเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่
ทางไปเมืองราชคฤห์ก็ดำรงอยู่ ท่านผู้ชี้แจงก็ดำรงอยู่
แต่บุรุษอันท่านแนะนำพร่ำสั่งอย่างนี้ คนหนึ่งจำทางผิด กลับเดินไปทางตรงกันข้าม
คนหนึ่งไปถึงเมืองราชคฤห์ได้โดยสวัสดี?”

พราหมณ์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ในเรื่องนี้ ข้าพเจ้าจะทำอย่างไรได้
ข้าพเจ้าเป็นแต่ผู้บอกทาง”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรพราหมณ์ ฉันนั้นเหมือนกันแล
ในเมื่อนิพพานก็ดำรงอยู่ ทางไปนิพพานก็ดำรงอยู่ เราผู้ชักชวนก็ดำรงอยู่
แต่ก็สาวกของเราอันเราโอวาทสั่งสอนอยู่อย่างนี้
บางพวกเพียงส่วนน้อยยินดีนิพพานอันมีความสำเร็จล่วงส่วน บางพวกก็ไม่ยินดี
ดูกรพราหมณ์ ในเรื่องนี้ เราจะทำอย่างไรได้ ตถาคตเป็นแต่ผู้บอกหนทางให้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=14&A=1571&Z=1734&pagebreak=0

ถามต่อไปว่านอกเหนือจากบอก เตือน และแนะนำแล้ว
เราจะไปดลบันดาลให้เขาเข้าใจ หรือมีความรู้ในเรื่องนั้นได้ไหม?
ตอบว่าไม่ได้ครับ เราไม่สามารถดลบันดาลให้เขาเข้าใจได้
โดยใน “โธตกปัญหา” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย
ขุททกปาฐะ-ธรรมบท-อุทาน-อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต) ได้เล่าว่า
โธตกมาณพได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้แสวงหาคุณอันใหญ่
ข้าพระองค์ปรารถนาอย่างยิ่งซึ่งพระวาจาของพระองค์
ข้าพระองค์ได้ฟังพระสุรเสียงของพระองค์แล้ว พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตน”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรโธตกะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงมีปัญญารักษาตน
มีสติกระทำความเพียรในศาสนานี้เถิด ท่านจงฟังเสียงแต่สำนักของเรานี้แล้ว
พึงศึกษาธรรมเป็นเครื่องดับกิเลสของตนเถิด”

โธตกมาณพกราบทูลว่า “ข้าพระองค์เห็นพระองค์ผู้เป็นพราหมณ์หากังวลมิได้
ทรงยังพระกายให้เป็นไปอยู่ในเทวโลกและมนุษยโลก
ข้าแต่พระองค์ผู้มีพระจักษุรอบคอบ เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระองค์
ข้าแต่พระองค์ผู้ศากยะ ขอพระองค์จงทรงปลดเปลื้องข้าพระองค์เสียจากความสงสัยเถิด”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรโธตกะ เราจักไม่อาจเพื่อจะปลดเปลื้องใคร ๆ
ผู้ยังมีความสงสัยในโลกให้พ้นไปได้ ก็ท่านรู้ทั่วถึงธรรมอันประเสริฐอยู่
จะข้ามโอฆะนี้ได้ด้วยอาการอย่างนี้”

โธตกมาณพกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นพรหม
ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาสั่งสอนธรรมเป็นที่สงัดกิเลสที่ข้าพระองค์ควรจะรู้แจ้ง
และขอพระองค์ทรงพระกรุณาสั่งสอนไม่ให้ข้าพระองค์ขัดข้องอยู่เหมือนอากาศเถิด
ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้นี่แหละ จะพึงเป็นผู้ไม่อาศัยแอบอิงเที่ยวไป”

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ดูกรโธตกะ เราจักแสดงธรรมเครื่องระงับกิเลสแก่ท่าน
ในธรรมที่เราได้เห็นแล้วเป็นธรรมประจักษ์แก่ตนที่บุคคลได้รู้แจ้งแล้วเป็นผู้มีสติ
พึงดำเนินข้ามตัณหาอันซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ ในโลกเสียได้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=25&A=11116&Z=11153&pagebreak=0

ดังนี้เราจะเห็นได้ว่าในกรณีของบุคคลที่มีความสงสัย ความไม่เข้าใจ
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ไม่สามารถดลบันดาลเสกให้เขาพ้นจากความไม่เข้าใจได้นะครับ
แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงอาศัยการแสดงธรรมให้ผู้นั้นได้ฟัง
อย่างไรก็ดี พึงทราบว่ามีความแตกต่างกันก็คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็น
สุดยอดแห่งบรมครูของเหล่าเทวดา พรหม และมนุษย์ทั้งหลาย
แต่เรา ๆ ที่ไปบอก เตือน หรือแนะนำคนอื่นนั้นไม่ได้มีความสามารถขนาดนั้น
เราก็สามารถทำได้เพียงเล็กน้อยเท่าที่ตามเหตุปัจจัยเท่าที่มีนะครับ
ดังนั้นแล้ว ก็เป็นธรรมดาที่เขาอาจจะไม่เข้าใจ ไม่ฟัง ไม่เชื่อถือ ไม่สนใจ หรือไม่นำไปปฏิบัติ

ในกรณีนี้ หากเราได้ลองมองย้อนมาที่ตัวเราเองแล้ว
เราก็อาจจะเห็นได้ว่ากรณีตัวเราเองก็เป็นไปในทำนองเดียวกันนะครับ
โดยเราก็ฟังธรรมเทศนาของครูบาอาจารย์มามาก
แต่เราเองก็ไม่ได้สามารถจะเข้าใจทุกอย่างและบรรลุธรรมในทันทีทันใด
เราก็ต้องอาศัยเวลา อาศัยการศึกษาฟังบ่อย ๆ อาศัยการขยันฝึกฝนประพฤติปฏิบัติไปเรื่อย
เพื่อขัดเกลาตนเองให้จิตใจสะอาดบริสุทธิ์มากขึ้น ๆ ให้มีสติบ่อยขึ้น ๆ
ให้สมาธิและปัญญามากขึ้น ๆ ซึ่งก็ย่อมจะต้องอาศัยการลงทุนลงแรงทำ และใช้เวลาเช่นกัน
(แม้จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมนะครับ ก็ยังต้องขวนขวายสนใจศึกษาและปฏิบัติอยู่)

ในเมื่อแม้แต่ตัวเราเองก็ยังไม่ได้ฟังแล้วเกิดปัญญาเข้าใจทุกอย่างบรรลุธรรมในทันที
เราจะไปคาดหวังหรือบังคับว่า คนอื่นฟังแล้วจะต้องเข้าใจทุกอย่าง กลับตัวกลับใจทันที
ปรับเปลี่ยนความประพฤติในทันใด มันก็ย่อมจะเป็นไปไม่ได้เช่นกัน (หรือเป็นไปได้ยากมาก)
ดังนี้แล้ว แทนที่เราจะมามัวสงสัยว่า ทำไมเขาจึงไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจ
เราควรจะย้อนกลับมามองตัวเองว่า เราพึงเข้าใจว่าเป็นธรรมดาที่เขาไม่เข้าใจ หรือไม่สนใจ
และพิจารณาว่าเราเองก็ยังมีเรื่องสำคัญอื่น ๆ ที่เรายังไม่เข้าใจหรือไม่ใส่ใจเช่นกัน
เราก็พึงมุ่งนำเวลาชีวิตของเราไปศึกษาและปฏิบัติเรื่องสำคัญ
ที่เรายังไม่เข้าใจหรือยังไม่ใส่ใจนั้น ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่านะครับ
เพราะกรณีของคนอื่นที่ไม่เข้าใจนั้นก็ถือว่างานรองครับ แต่เราพึงมุ่งงานหลักคือตัวเราเองก่อน