Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๗

ทำบาปเพราะจำเป็น

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dhamajaree

ในคราวที่แล้ว เราได้เปรียบเทียบการทำบาปของ
คนที่ทำบาปโดยรู้อยู่ว่าเป็นบาป และคนทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป
ว่าคนที่ทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปย่อมได้รับผลแห่งบาปมากกว่านะครับ
เพราะเราย่อมจะมีโอกาสได้รับผลแห่งบาปที่ทำนั้นตามเหตุปัจจัย
โดยเราจะมาอ้างว่า ไม่รู้ว่าการกระทำของเรานั้นเป็นบาป เพื่อไม่รับผลแห่งบาปไม่ได้
ในคราวนี้ เราจะมาพิจารณาว่าหากเราทำบาปเพราะจำเป็นต้องทำ
เราจะยังคงต้องได้รับผลแห่งบาปอยู่หรือไม่

ใน “ธนัญชานิสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์) ได้เล่าว่า
ในสมัยหนึ่ง พระสารีบุตรได้ไปเยี่ยมธนัญชานิพราหมณ์ ซึ่งเป็นเพื่อนของท่านในนครราชคฤห์
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
พระสารีบุตรได้ถามธนัญชานิพราหมณ์ว่า “ธนัญชานิ ท่านยังเป็นผู้ไม่ประมาทหรือ”
ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร ข้าพเจ้าจะไม่ประมาทได้ที่ไหน
เพราะข้าพเจ้าต้องเลี้ยงมารดาบิดา ต้องเลี้ยงบุตรและภรรยา
ต้องเลี้ยงพวกทาส กรรมกร และคนรับใช้
ต้องทำกิจสำหรับมิตรและอำมาตย์ แก่มิตรและอำมาตย์
ต้องทำกิจสำหรับญาติสาโลหิต แก่ญาติสาโลหิต
ต้องทำกิจสำหรับแขกแก่แขก ต้องทำบุญที่ควรทำแก่ปุพเปตชนส่งไปให้ปุพเปตชน
ต้องทำการบวงสรวงแก่พวกเทวดา ต้องทำราชการให้แก่หลวง
แม้กายนี้ก็ต้องให้อิ่มหนำต้องให้เจริญ”

พระสารีบุตรถามต่อไปว่า “ธนัญชานิ ท่านเข้าใจว่าอย่างไร
บุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบิดามารดา
เมื่อนายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติผิดธรรม
หากเขาจะคร่ำครวญว่าเขาประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
ขอนายนิริยบาลอย่างพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย เขาผู้นั้นจะได้ตามที่ตนปรารถนาหรือไม่?”
ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “ไม่ได้เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร
ถึงเขาผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้”

จากนั้น พระสารีบุตรก็ถามในทำนองเดียวกันถึงเหตุอื่น ๆ
ว่าบุคคลบางคนในโลกนี้เป็นผู้ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา
เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์
เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขก เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน
เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งพระราชา
หรือเพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุทำนุบำรุงกายก็ตาม
เมื่อนายนิริยบาลจะพึงฉุดคร่าเขาผู้นั้นไปยังนรก เพราะเหตุแห่งการประพฤติผิดธรรม
หากเขาจะคร่ำครวญว่าเขาประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุใดเหตุหนึ่งหรือเหตุต่าง ๆ เหล่านั้น
ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย ผู้นั้นจะได้ตามที่ตนปรารถนาหรือไม่
ธนัญชานิพราหมณ์ก็ล้วนตอบว่า ไม่ได้เช่นนั้น ท่านพระสารีบุตร
ถึงผู้นั้นจะคร่ำครวญมากมาย นายนิริยบาลก็พึงโยนเขาลงในนรกจนได้
ธนัญชานิสูตร เรื่องธนัญชานิพราหมณ์

ดังนี้แล้ว การที่เราทำบาปอกุศลโดยอ้างว่าต้องทำเพราะเหตุจำเป็นใด ๆ ก็ตาม
กรณีไม่ได้เป็นข้อยกเว้นว่าบาปอกุศลที่เราทำนั้นจะไม่ให้ผลแห่งบาปนะครับ
เพราะว่าผลแห่งบาปนั้นย่อมเกิดขึ้นตามเหตุและปัจจัย
ยกตัวอย่างเช่น เรามีน้ำอุณหภูมิห้องอยู่ในแก้วใบหนึ่ง
ถ้าเราเติมน้ำร้อนลงไป น้ำในแก้วก็ย่อมจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ทีนี้ หากเราเติมน้ำร้อนลงไปด้วยเหตุจำเป็นใด ๆ ก็ตาม
ถามว่าเราจะคร่ำครวญถึงเหตุจำเป็นนั้น แล้วขอให้น้ำในแก้วอุณหภูมิไม่สูงขึ้นได้ไหม?
เราก็คงตอบว่า ไม่ได้นะครับ น้ำในแก้วก็ย่อมจะอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ทีนี้ ถามว่ากรณีทำบาปด้วยความจำเป็นนั้น จะให้ผลแห่งบาปเพียงไร?
ตอบว่า ในการทำบาปด้วยความจำเป็นนั้น
หากเป็นการทำบาป โดยรู้อยู่ว่าการกระทำนั้นเป็นบาปแล้ว
เหตุปัจจัยคือ เราเกรงกลัวต่อการทำบาป ละอายต่อการทำบาป
รู้สึกผิดต่อการทำบาป ไม่ยินดีพอใจในการทำบาปนั้น
กรณีย่อมจะได้รับผลแห่งบาปน้อยกว่ากรณีทำบาปโดยไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นบาป
เพราะในกรณีหลัง เหตุปัจจัยคือ ทำบาปเต็มที่ ยินดีพอใจในการทำบาป
ไม่เกรงกลัวต่อการทำบาป ไม่ละอายต่อการทำบาป ไม่รู้สึกผิดต่อการทำบาป

ถามต่อไปว่า แล้วเรามีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงการทำบาปอกุศลนั้น
ตอบว่า แม้ว่าเราจะมีเหตุจำเป็นก็ตาม แต่เราก็มีทางเลือกอื่นนะครับ
โดยใน “ธนัญชานิสูตร” ที่ยกมาข้างต้นนั้น พระสารีบุตรได้ถามธนัญชานิพราหมณ์ต่อไปว่า
“ธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจอย่างไร บุคคลผู้ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา
กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน?”
ธนัญชานิพราหมณ์ตอบว่า “ข้าแต่ท่านพระสารีบุตร
ผู้ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไม่ประเสริฐ
ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดานั้น ประเสริฐ
ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมประเสริฐกว่าการประพฤติผิดธรรม”

พระสารีบุตรจึงกล่าวต่อไปว่า “ธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงมารดาบิดาได้ โดยไม่ต้องทำกรรมอันลามก
และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้นั้น มีอยู่”

จากนั้น พระสารีบุตรได้ถามธนัญชานิพราหมณ์ต่อไปถึงเหตุอื่น ๆ ว่า
บุคคลผู้ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งบุตรและภรรยา
เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกรและคนรับใช้ เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์
เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต เพราะเหตุแห่งแขก เพราะเหตุแห่งปุพเปตชน
เพราะเหตุแห่งเทวดา เพราะเหตุแห่งพระราชา
หรือเพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย เพราะเหตุทำนุบำรุงกายก็ตาม
กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม เพราะเหตุดังกล่าวเหล่านั้น อย่างไหนจะประเสริฐกว่ากัน?
ธนัญชานิพราหมณ์ก็ตอบว่า ผู้ประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุเหล่านั้น ไม่ประเสริฐ
ส่วนผู้ประพฤติชอบธรรม เพราะเหตุเหล่านั้น ประเสริฐ
ด้วยว่าการประพฤติชอบธรรมประเสริฐกว่าการประพฤติผิดธรรม”

พระสารีบุตรจึงกล่าวต่อไปว่า การงานอย่างอื่นที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงบุตรและภรรยาได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงพวกทาส กรรมกรและคนรับใช้ได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่มิตรและอำมาตย์ได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่ญาติสาโลหิตได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่แขกได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่ปุพเปตชนได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแก่เทวดาได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจทำกรณียกิจแห่งพระราชาได้
เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงกาย ทำนุบำรุงกายได้
โดยไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้นั้น มีอยู่

ดังนี้ แม้ว่าเราจะอ้างเหตุจำเป็นใด ๆ ก็ตามในการทำบาปอกุศลใด ๆ
แต่ว่าทางเลือกในการประพฤติธรรม เพื่อเหตุจำเป็นต่าง ๆ เหล่านั้น ก็ยังมีอยู่
และเป็นการประพฤติธรรม เพื่อเหตุจำเป็นเหล่านั้น โดยได้บุญกุศลด้วย
เราจึงไม่ควรไปผูกมัดชีวิตตนเอง หรือสร้างภาพลวงใจตนเองว่า
เราไม่มีทางเลือกอื่นแล้วนอกจากการทำบาปอกุศล
เช่นนั้นแล้วย่อมเท่ากับว่าเราโดนกิเลสหลอกลวง เพื่อให้ไปรับผลแห่งบาปเท่านั้นเอง
เราพึงพยายามมองหาทางเลือกที่เป็นการประพฤติชอบธรรม
และเลือกประพฤติในทางประพฤติชอบธรรมดังกล่าวครับ