Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๖

ทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dhammajaree 196

หลายท่านอาจจะเคยได้อ่านหรือได้ฟังคำถามว่า
หากมีคนทำบาปโดยรู้อยู่ว่าเป็นบาป กับคนทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป
คนไหนจะได้รับผลบาปมากกว่ากัน
ซึ่งคำตอบก็คือ คนที่ทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปย่อมได้รับผลบาปมากกว่านะครับ

โดยในคำถามนี้ ผมขออธิบายก่อนนะครับว่า
“ไม่รู้ว่าเป็นบาป” กับ “ไม่มีเจตนาทำบาป” นั้นแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น เรานำอาหารให้วัวกิน โดยไม่ทราบว่าในอาหารมียาพิษผสมอยู่
โดยเรามีเพียงเจตนาเมตตาวัว และต้องการที่จะให้อาหารแก่วัว
แต่วัวกินอาหารผสมยาพิษนั้นแล้ววัวก็ตาย กรณีนี้คือ “ไม่มีเจตนาทำบาป”
เพราะเราไม่ได้มีเจตนาจะฆ่าวัว เรามีเจตนาเมตตาให้อาหารแก่วัว

อีกกรณีหนึ่ง เราต้องการฆ่าวัวเพื่อบูชายัญแก่เทวดา
โดยเราเข้าใจว่าการฆ่าวัวเพื่อบูชายัญนั้นเป็นการทำบุญ
ทั้งที่แท้จริงแล้วการฆ่าย่อมเป็นการทำบาป
เรามีเจตนาฆ่าวัว แล้วเราก็ลงมือฆ่าวัว แล้ววัวก็ถึงแก่ความตาย
กรณีนี้คือ ทำบาปโดย “ไม่รู้ว่าเป็นบาป” แต่ก็คือเรามีเจตนาทำแล้ว
เพราะเรามีเจตนาฆ่าวัว และลงมือฆ่าวัวด้วย
เพียงแต่เราไม่ทราบว่าการทำเช่นนั้นเป็นบาป

คำถามที่ถามในตอนแรกเป็นเรื่องของการทำบาป โดย “ไม่รู้ว่าเป็นบาป”
เปรียบเทียบกับการทำบาป โดย “รู้ว่าเป็นบาป”
โดยเราไม่ได้เปรียบเทียบในกรณีที่ “ไม่มีเจตนาทำบาป” นะครับ

ในคำถามเปรียบเทียบดังกล่าว ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่เรานำมาจากคัมภีร์ชื่อ “มิลินทปัญหา”
ซึ่งเป็นเรื่องราวคำถามคำตอบระหว่างพระเจ้ามิลินท์ และพระนาคเสน
โดยมีอยู่คำถามหนึ่งที่พระเจ้ามิลินท์ได้ถามพระนาคเสนเกี่ยวกับการทำบาปโดยผู้รู้กับผู้ไม่รู้ ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์ทรงถามว่า “ข้าแต่พระนาคเสน สมมุติว่ามีคน ๒ คน
คนหนึ่งรู้จักบาป อีกคนหนึ่งไม่รู้จัก แต่กระทำบาปด้วยกันทั้งสองคน
คนไหนจะได้บาปมากกว่ากัน?”
พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร คนไม่รู้จักได้บาปมากกว่า"

พระเจ้ามิลินท์ทรงแย้งว่า “ข้าแต่พระนาคเสน ราชบุตรของโยมหรือราชมหาอำมาตย์คนใดรู้
แต่ทำผิดลงไป โยมลงโทษแก่ผู้นั้นเป็นทวีคูณ"
พระนาคเสนอธิบายว่า “ขอถวายพระพร มหาบพิตรจะเข้าพระทัยความข้อนี้อย่างไร
คือสมมุติว่ามีคน ๒ คน จับก้อนเหล็กร้อนจัดเหมือนกัน
คนหนึ่งรู้ว่าเป็นก้อนเหล็กร้อนจัด อีกคนหนึ่งไม่รู้ คนไหนจะจับแรงกว่ากัน?”
พระเจ้ามิลินท์ทรงตอบว่า “ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า คนไม่รู้จับแรงกว่า”
พระนาคเสนอธิบายว่า “ข้อนี้ก็ฉันนั้นแหละ มหาบพิตร คือผู้ไม่รู้บาปได้บาปมากกว่า”
พระเจ้ามิลินท์ตรัสว่า “ชอบแล้ว พระนาคเสน”
(ข้อมูลจากปัญหาที่ ๑๐ “ถามถึงการทำบาปแห่งผู้รู้กับผู้ไม่รู้” ในลิงค์เว็บไซต์ด้านล่างครับ)
http://www.dharma-gateway.com/dhamma/dhamma-25-07.htm

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมได้สนทนากับน้องคนหนึ่งในเรื่องทำบาป โดยรู้และโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป
น้องคนดังกล่าวมีความเห็นแย้งว่าคำตอบสำหรับคำถามนี้ไม่ยุติธรรม
โดยเขาเห็นว่าคนทำบาปโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป ควรจะได้รับผลบาปน้อยกว่า
ด้วยเหตุผลว่าเขาทำลงไป โดยไม่รู้ว่าบาป
ส่วนคนที่รู้ว่าเป็นบาปแล้วยังทำลงไปนั้น น่าจะได้รับผลบาปมากกว่า

ผมอธิบายว่า เรื่องยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมที่น้องเขาได้ยกมานั้น
เป็นเรื่องสมมุติบัญญัติทางโลกที่เราบัญญัติกันเอง
ยกตัวอย่างว่าในสมัยอดีต กฎหมายบอกว่ามนุษย์เราเป็นทาสกันได้
แต่พอเวลาผ่านไปถึงอีกยุคสมัยหนึ่ง กฎหมายก็บอกว่าไม่ให้มีระบบทาส
ความยุติธรรมตามแนวความคิดหรือความรู้สึกของสังคมเราเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

แต่ในเรื่องบุญกุศลหรือบาปอกุศลนั้น มันเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยและผล
โดยถ้ามีการสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดผลใด ๆ แล้ว ผลก็ย่อมเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยนั้น
ซึ่งก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยและผล ไม่ได้เกี่ยวกับว่ายุติธรรมหรือไม่
โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจจะไม่ได้สอดคล้องกับความยุติธรรมตามความคิดของเรา
ยกตัวอย่างว่ามีน้ำอุณหภูมิห้องอยู่ในแก้วใบหนึ่ง
ถ้าเราเติมน้ำร้อนลงไป น้ำในแก้วก็ย่อมจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น
แต่ถ้าเราเติมน้ำเย็นลงไป น้ำในแก้วก็ย่อมจะมีอุณหภูมิลดลง
ถามว่าการที่น้ำในแก้วอุณหภูมิสูงขึ้นหรือลดลงนั้นเป็นเรื่องยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมหรือไม่?
เราก็คงตอบว่าไม่เกี่ยวกันนะครับ เพราะมันเป็นเรื่องของผลที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

หรือยกอีกตัวอย่างหนึ่ง คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ประกอบด้วย
คาร์บอน ๑ อะตอม และออกซิเจน ๒ อะตอม
ถามว่าเมื่อเรานำคาร์บอน ๑ อะตอม และออกซิเจน ๒ อะตอมมารวมกัน
แล้วเราก็จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ อย่างนี้ถือว่ายุติธรรม หรือไม่ยุติธรรมหรือไม่?
เราก็คงตอบว่าไม่เกี่ยวกันนะครับ โดยมันก็เป็นไปตามเหตุปัจจัย

กรณีที่ทำบาปโดยรู้ว่าเป็นบาป กับโดยไม่รู้ว่าเป็นบาป ก็ทำนองเดียวกันครับ
ผลแห่งบาปที่เกิดขึ้นนั้นจะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่ใส่ลงไป
ซึ่งในกรณีของผู้ที่ทำบาปโดยรู้อยู่ว่าเป็นบาปนั้น
ในขณะที่ทำบาปนั้น ผู้กระทำย่อมเกิดความละอายและความเกรงกลัวในการทำบาปนั้น
หรือรู้สึกผิดในการทำบาปนั้น จึงทำบาปนั้นได้ไม่เต็มที่
นอกจากนี้ ผู้กระทำไม่ได้ยินดีพอใจในการทำบาป ไม่ได้ชื่นชอบในการทำบาปนั้น
และย่อมหาหนทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่ทำบาปนั้นอีก

ในทางกลับกัน ในกรณีของผู้ที่ทำบาป โดยไม่รู้ว่าเป็นบาปนั้น
ในขณะที่ทำบาปนั้น ผู้กระทำย่อมไม่เกิดความละอายและความกลัวในการทำบาปนั้น
ไม่รู้สึกผิดในการกระทำบาปนั้น จึงทำบาปนั้นได้อย่างเต็มที่
แถมยังจะยินดีพอใจในการทำบาป หรือชื่นชอบในการทำบาปนั้น
และย่อมจะยินดีพอใจในการทำบาปนั้นอีก

เราจึงเห็นได้ว่าเหตุปัจจัยทั้ง ๒ กรณีนี้แตกต่างกัน
โดยในกรณีแรกเหตุปัจจัยคือ ทำบาปไม่เต็มที่ ไม่ยินดีพอใจในการทำบาป
เกรงกลัวต่อการทำบาป ละอายต่อการทำบาป รู้สึกผิดต่อการทำบาป
ส่วนในกรณีหลัง เหตุปัจจัยคือ ทำบาปเต็มที่ ยินดีพอใจในการทำบาป
ไม่เกรงกลัวต่อการทำบาป ไม่ละอายต่อการทำบาป ไม่รู้สึกผิดต่อการทำบาป
ด้วยเหตุนี้เอง เหตุปัจจัยในกรณีหลังจึงส่งผลให้ได้รับผลแห่งบาปที่ทำนั้นมากกว่า
ซึ่งเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยที่ได้กระทำลงไป หรือได้สร้างขึ้น
โดยผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้องนั้น
กรณีไม่ได้เกี่ยวกับว่ารู้หรือไม่รู้แล้วจะยุติธรรม หรือไม่ยุติธรรม
เพราะผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นไปตามเหตุหรือปัจจัย

กรณีเปรียบเสมือนกับว่ามีน้ำอุณหภูมิห้องอยู่ในแก้วใบหนึ่ง
ถ้าให้คน ๆ หนึ่งเติมน้ำร้อนลงไปในแก้วนั้น โดยเขาไม่รู้ว่าน้ำที่เติมนั้นเป็นน้ำร้อน
ถามว่าการที่คนที่เติมน้ำเขาไม่รู้ว่าน้ำที่เติมลงไปเป็นน้ำร้อน
แล้วจะทำให้อุณหภูมิของน้ำในแก้วไม่สูงขึ้นเช่นนั้นหรือ?
เราก็คงตอบว่าไม่ใช่นะครับ แม้ว่าเขาจะไม่รู้ว่าน้ำที่เติมลงไปนั้นเป็นน้ำร้อนก็ตาม
แต่ในเมื่อเขาได้เติมเหตุปัจจัยคือน้ำร้อนลงไปแล้ว ผลคือน้ำในแก้วย่อมมีอุณหภูมิสูงขึ้น
ฉันใดก็ฉันนั้น ในเมื่อเราได้ใส่เหตุปัจจัย คือใส่การทำบาป
ใส่การยินดีพอใจในการทำบาป ใส่การไม่เกรงกลัวในการทำบาป
ใส่การคุ้นเคยต่อการทำบาป ฯลฯ ลงไปแล้ว
ผลที่เกิดขึ้นก็ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง
เราย่อมจะมาอ้างว่าไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นถือเป็นบาปย่อมไม่ได้ครับ

ด้วยเหตุนี้ การที่เราจะพึงศึกษาพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าให้เข้าใจว่า
การละเว้นบาปอกุศลทั้งปวงคืออย่างไร ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตเรา
ไม่อย่างนั้นแล้ว เราย่อมมีโอกาสที่จะทำบาปอกุศล โดยที่ไม่รู้ว่าบาป
เช่น บางทีเราเข้าใจผิดว่าทำอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะเป็นบุญกุศล จะเป็นประโยชน์
แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นบาปอกุศล และให้โทษ
ก็กลายเป็นว่าเราสร้างเหตุปัจจัยที่เป็นบาปอกุศลและให้โทษแก่ตัวเราเอง
และเมื่อถึงเวลาที่บาปซึ่งเราทำ (โดยไม่รู้ว่าเป็นบาป) นั้นให้ผลแล้ว
เราจะมาอ้างว่าเราไม่รู้ว่าการกระทำนั้นเป็นบาปย่อมไม่ได้
เพราะผลที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยที่เราได้สร้างขึ้นหรือได้ทำลงไปนั้น
โดยไม่ได้สนใจว่าเราจะรู้ว่าเป็นบาปหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ ยิ่งเราไม่รู้ว่าเป็นบาป เราจึงทำบาปได้เต็มที่ เราไม่เกรงกลัวในบาปนั้น
เราเพลิดเพลินพอใจในบาปที่เราทำแล้ว บาปที่เราทำนั้นยิ่งให้ผลหรือให้โทษหนักครับ