Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๕

ค้นหาโทษด้วยปาก

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dhammarjaree 195

ในตอนที่แล้ว เราได้คุยเรื่อง “ตำหนิคนอื่นเป็นบาปอกุศลหรือไม่”
ซึ่งในเนื้อหานั้น ผมได้ยก “ขตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) ซึ่งได้สอนว่า
“ผู้ใดย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น
ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์ทั้งหมด พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย
การที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ เป็นโทษใหญ่กว่า (โทษการพนัน)
ผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนพระอริยเจ้า
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุททะ และห้าอัพพุททะ”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=42&Z=73&pagebreak=0

ในพระธรรมคำสอนท่านสอนว่า บุคคลผู้สรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ
ย่อมได้ชื่อว่าค้นหาโทษด้วยปาก และย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น
ซึ่งในยุคปัจจุบันนี้ เราก็คงจะเห็นตัวอย่างในชีวิตจริงกันอยู่ไม่น้อยนะครับ
ที่บุคคลบางคนอาจจะสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ

ส่วนที่เป็นโทษหนักหนาสากรรจ์ ก็คือหากการหาโทษด้วยปากดังกล่าว
ได้กระทำโดยตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนต่อพระอริยเจ้า (ท่านผู้ดำเนินไปดีแล้ว)
บุคคลนั้นย่อมเข้าถึงนรกสิ้น “แสนสามสิบหกนิรัพพุททะ และห้าอัพพุททะ”

ในคราวนี้ จึงจะขอขยายความว่า “นิรัพพุททะ” และ “อัพพุททะ” เป็นระยะเวลาเท่าไร
โดยใน “โกกาลิกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต) ได้เล่าว่า
ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชื่อ “โกกาลิกะ” ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า และได้กราบทูลว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีความปรารถนาลามก
ลุอำนาจแห่งความปรารถนาลามก
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า โกกาลิกะ เธออย่ากล่าวอย่างนั้น
เธอจงยังจิตให้เสื่อมใสในสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
เพราะสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก
แม้ครั้งที่ ๒ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดิม
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสตอบเช่นเดิม
แม้ครั้งที่ ๓ โกกาลิกภิกษุก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าเช่นเดิม
พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสตอบเช่นเดิม

ในคราวนั้น โกกาลิกภิกษุได้ลุกขึ้นจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า
กระทำประทักษิณแล้วจากไป โดยที่ไม่ละทิฐิที่อาฆาตร้ายต่อพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
เมื่อโกกาลิกภิกษุจากไปแล้ว ไม่นาน ร่างกายก็มีตุ่มเท่าเมล็ดพันธุ์ผักกาดเกิดขึ้นทั่วตัว
ตุ่มเหล่านั้นเท่าเมล็ดถั่วเขียว แล้วก็โตเท่าเมล็ดถั่วดำ แล้วก็โตเท่าเมล็ดพุทรา
แล้วก็โตเท่าเมล็ดกระเบา แล้วก็โตเท่าผลมะขามป้อม แล้วก็โตเท่าผลมะตูมอ่อน
แล้วก็โตเท่าผลมะตูมแก่ แล้วจึงแตกหนองและเลือดหลั่งไหลออก
โกกาลิกภิกษุนั้นนอนบนใบตองกล้วยเหมือนปลากินยาพิษ

ในครั้งนั้น “ตุทิปัจเจกพรหม” ซึ่งเป็นอดีตพระอุปัชฌาย์ของโกกาลิกภิกษุ ชื่อ “ตุทิเถระ”
ท่านได้บรรลุอนาคามิผล แล้วไปบังเกิดในพรหมโลก
ท่านได้ยินเสียงตำหนิตั้งแต่ภุมมัฏฐกเทวดาต่อ ๆ กันไปจนถึงพรหมโลกว่า
ภิกษุโกกาลิกะกล่าวตู่พระอัครสาวก
ตุทิปัจเจกพรหมคิดว่า น่าสงสาร เราควรสั่งสอนเขาเพื่อให้จิตเลื่อมใสในพระอัครสาวกทั้งสอง
ดังนี้แล้ว ตุทิปัจเจกพรหมได้เข้าไปหาโกกาลิกภิกษุยังที่อยู่
แล้วได้กล่าวกับโกกาลิกภิกษุว่า
“โกกาลิกะ ท่านจงยังจิตให้เลื่อมใสในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเถิด
เพราะพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก”
แต่โกกาลิกภิกษุก็ไม่ยอมเชื่อตุทิปัจเจกพรหมนะครับ
(เพราะแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงสอนแล้ว โกกาลิกภิกษุก็ไม่ยอมเชื่อ)

ต่อมา โกกาลิกภิกษุจึงได้กระทำกาละด้วยอาพาธนั้นเอง แล้วได้ไปเกิดในปทุมนรก
เพราะยังจิตให้อาฆาตในพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
จากนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ภิกษุทั้งหลายทราบ
ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ประมาณอายุใน “ปทุมนรก” นานเท่าไรหนอ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสอธิบายเปรียบเทียบว่า
“ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนหนึ่งเกวียนเมล็ดงาของชนชาวโกศลมีอัตรา ๒๐ ขารี
เมื่อล่วงไปแสนปี บุรุษนำเอาเมล็ดงาเมล็ดหนึ่งออกจากเกวียนนั้น
ดูกรภิกษุ เมล็ดงาหนึ่งเกวียนของชาวโกศลซึ่งมีอัตรา ๒๐ ขารีนั้น
พึงถึงความสิ้นไปหมดไปโดยทำนองนี้เร็วกว่า นั่นยังไม่ถึงหนึ่งอัพพุทะในนรกเลย
ดูกรภิกษุ ๒๐ อัพพุทะในนรกจึงเป็น ๑ นิรัพพุทะ ๒๐ นิรัพพุทะเป็น ๑ อพัพพะ
๒๐ อพัพพะเป็น ๑ อหหะ ๒๐ อหหะเป็น ๑ อฏฏะ ๒๐ อฏฏะ เป็น ๑ กุมุทะ
๒๐ กุมุทะเป็น ๑ โสคันธิกะ ๒๐ โสคันธิกะเป็น ๑ อุปปละ ๒๐ อุปปละเป็น ๑ ปุณฑรีกะ
๒๐ ปุณฑรีกะเป็น ๑ ปทุมะ ดูกรภิกษุ โกกาลิกภิกษุเกิดในปทุมนรก
เพราะยังจิตให้อาฆาตในสารีบุตรและโมคคัลลานะ”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=3916&Z=4009&pagebreak=0
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=24&i=89

ทั้งนี้ ๑ ขารีเท่ากับ ๒๔๖ ทะนาน โดย ๑ ทะนานจะมีปริมาตรประมาณ ๑ ลิตร
ฉะนั้นแล้ว ๑ ขารีเท่ากับ ๒๔๖ ลิตร ๒๐ ขารีจึงเท่ากับ ๔,๙๒๐ ลิตร
http://th.wikipedia.org/wiki/มาตราตวง

เราลองนึกถึงเมล็ดงาที่มีปริมาตรเท่ากับ ๔,๙๒๐ ลิตรวางกองอยู่นะครับ
แล้วเราใช้เวลา ๑ แสนปีหยิบเมล็ดงาออกไป ๑ เมล็ด
หยิบไปเรื่อย ๆ ทุก ๑ แสนปีทีละเมล็ด จนกระทั่งเมล็ดงาหมดกองแล้ว
ระยะเวลาดังกล่าวก็ยังเร็วกว่า และยังไม่ถึง “๑ อัพพุทะ” ในนรกเลย
เราจึงจะเห็นได้ว่าระยะเวลา ๑ อัพพุทะเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมากนะครับ

ทีนี้ ๒๐ อัพพุทะเท่ากับ ๑ นิรัพพุทะ ดังนั้นที่ใน “ขตสูตร” หรือ “โกกาลิกสูตร”
ได้บอกจำนวนแสนสามสิบหกนิรัพพุททะ และห้าอัพพุททะนั้น ทั้งหมดจึงเท่ากับ
(๑๐๐,๐๓๖ x ๒๐) + ๕ = ๒,๐๐๐,๗๒๕ อัพพุททะ
ซึ่งเป็นระยะเวลาโดยประมาณสำหรับโทษสำหรับ
การตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนต่อพระอริยเจ้า (ท่านผู้ดำเนินไปด้วยดีแล้ว)
ฉะนั้นแล้ว ก็ถือว่าเป็นโทษที่หนักหนาสาหัสมากมายจริง ๆ

อนึ่ง ในกรณีของโกกาลิกภิกษุนั้น
ไม่ได้เพียงแค่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนต่อพระอริยเจ้าเท่านั้น
แต่ได้ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนพระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวก
จึงได้ไปอยู่ใน “ปทุมนรก” ซึ่งถ้าจะนำระยะเวลา “ปทุมนรก” มาเทียบกับ “อัพพุททะ” แล้ว
ก็จะเท่ากับ ๒๐ ยกกำลัง ๙ จึงเท่ากับ ๕๑๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ อัพพุททะ

ดู ๆ ไปแล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่าสังสารวัฏนี้น่ากลัวมากนะครับ
หากในชีวิตใดชีวิตหนึ่งนั้น เราได้พลั้งพลาดไปกระทำกรรมชั่วหนักเพียงชั่วครู่
เวลาที่กรรมให้ผลนั้น กลับส่งให้เราต้องไปอยู่ในนรกเป็นระยะเวลาเนิ่นนานถึงเพียงนั้น

นอกเหนือจากโทษที่ต้องไปรับวิบากกรรมในนรกแล้ว
ใน “พยสนสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต) ยังได้สอนว่า
ภิกษุใดด่าบริภาษเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย หรือกล่าวโทษพระอริยะ
ภิกษุนั้นย่อมพึงถึงความฉิบหาย ๑๐ ประการคือ
ภิกษุนั้นไม่บรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ ๑ เสื่อมจากธรรมที่บรรลุแล้ว ๑
สัทธรรมของภิกษุนั้นย่อมไม่ผ่องแผ้ว ๑ เป็นผู้เข้าใจว่าตนได้บรรลุในสัทธรรมทั้งหลาย ๑
เป็นผู้ไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ๑ ต้องอาบัติเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง ๑
ย่อมถูกโรคอย่างหนัก ๑ ถึงความเป็นบ้า มีจิตฟุ้งซ่าน ๑
เป็นผู้หลงใหลกระทำกาละ ๑ เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=24&A=3904&Z=3915&pagebreak=0

ฉะนั้นแล้ว เราย่อมจะเห็นได้ว่าการค้นหาโทษด้วยปาก
กล่าวคือด้วยการสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ
หรือตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนต่อพระอริยเจ้า (ท่านผู้ดำเนินไปดีแล้ว) นั้น
เป็นเรื่องที่สมควรต้องระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงอย่างมาก เพราะจะให้โทษอย่างมากมายแก่ผู้กระทำครับ
ซึ่งจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่แค่เพียงการก่อบาปอกุศลด้วยวาจาเท่านั้นที่ควรหลีกเลี่ยงนะครับ
เราพึงปฏิบัติหลักตามโอวาทปาฏิโมกข์ครับว่า พึงละเว้นบาปอกุศลทั้งปวง