Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๙๔

ตำหนิคนอื่นเป็นบาปอกุศลหรือไม่

ngod-ngam2 งดงาม
  This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 dharmajaree 194

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้สนทนากับญาติธรรมท่านหนึ่งในเรื่องการตำหนิคนอื่น
โดยญาติธรรมท่านนี้บอกว่าในช่วงที่ผ่านมา เขาได้เห็นข้อความตำหนิคนอื่นเยอะแยะ
จึงเห็นว่ามีการทำอกุศลกรรมกันเยอะด้วยการตำหนิกัน
ผมจึงเสนอความเห็นว่า การตำหนิคนอื่นไม่ได้แปลว่าเป็นอกุศลกรรมเสมอไป
เราต้องพิจารณาในรายละเอียดมากกว่านี้ โดยขออธิบายดังนี้นะครับ

ใน “สาเลยยกสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์)
ได้อธิบายว่า “อกุศลกรรมบถ ๑๐” แบ่งออกเป็น
ความไม่ประพฤติธรรมทางกาย ๓ ทางวาจา ๔ และทางใจ ๓ กล่าวคือ
ทางกาย ๓ ได้แก่ ปาณาติบาต ลักทรัพย์ และประพฤติผิดในกาม
ทางวาจา ๔ ได้แก่ พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ
ทางใจ ๓ ได้แก่ โลภมาก มีจิตพยาบาท และมีความเห็นผิด

ในส่วนของวาจา ๔ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอธิบายว่า
“ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความไม่ประพฤติธรรมทางวาจา ๔ อย่าง เป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้กล่าวเท็จคือ ไปในที่ประชุมหรือไปในหมู่ชน
หรือไปในท่ามกลางญาติ หรือไปในท่ามกลางขุนนาง หรือไปในท่ามกลางราชสกุล
หรือถูกนำไปเป็นพยาน ถูกถามว่า แน่ะบุรุษผู้เจริญ เชิญเถิด ท่านรู้เรื่องใด ก็จงบอกเรื่องนั้น
เขาเมื่อไม่รู้ก็บอกว่า รู้บ้าง เมื่อรู้บอกว่า ไม่รู้บ้าง เมื่อไม่เห็น ก็บอกว่าเห็นบ้าง
เมื่อเห็นก็บอกว่า ไม่เห็นบ้าง เป็นผู้กล่าวคำเท็จทั้งรู้อยู่ เพราะเหตุตนบ้าง
เพราะเหตุผู้อื่นบ้าง เพราะเหตุเห็นแก่สิ่งเล็กน้อยบ้าง

เป็นผู้ส่อเสียด คือ ได้ฟังข้างนี้แล้ว นำไปบอกข้างโน้น เพื่อทำลายพวกข้างนี้บ้าง
หรือฟังข้างโน้นแล้ว นำไปบอกข้างนี้ เพื่อทำลายพวกข้างโน้นบ้าง
ยุพวกที่พร้อมเพรียงกันให้แตกกันไปบ้าง ส่งเสริมพวกที่แตกกันบ้าง
ส่งเสริมพวกที่แตกกันแล้วบ้าง ชอบใจในคนที่แตกกันเป็นพวก
ยินดีในความแตกกันเป็นพวก ชื่นชมในพวกที่แตกกัน และกล่าววาจาที่ทำให้แตกกันเป็นพวก

เป็นผู้มีวาจาหยาบ คือ กล่าววาจาที่เป็นโทษหยาบ อันเผ็ดร้อนแก่ผู้อื่น อันขัดใจผู้อื่น
อันใกล้ต่อความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อความสงบจิต

เป็นผู้กล่าวคำเพ้อเจ้อ คือ พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดเรื่องที่ไม่เป็นจริง พูดไม่เป็นประโยชน์
พูดไม่เป็นธรรม พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด
ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ โดยกาลไม่สมควร”

ในส่วนของทางใจ ๓ นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงอธิบายว่า
“ดูกรพราหมณ์และคฤหบดีทั้งหลาย ความไม่ประพฤติธรรมทางใจ ๓ อย่าง เป็นไฉน?
บุคคลบางคนในโลกนี้ เป็นผู้มีความโลภมาก คือ
เพ่งเล็งทรัพย์อันเป็นอุปกรณ์เครื่องปลื้มใจของผู้อื่นว่า ขอของผู้อื่นพึงเป็นของเราเถิด ดังนี้

เป็นผู้มีจิตพยาบาท คือ มีความดำริในใจอันชั่วช้าว่า ขอสัตว์เหล่านี้จงถูกฆ่าบ้าง
จงถูกทำลายบ้าง จงขาดสูญบ้าง อย่าได้มีแล้วบ้าง ดังนี้

เป็นผู้มีความเห็นผิด คือ มีความเห็นวิปริตว่า ผลแห่งทานที่ให้แล้วไม่มีผลแห่งการบูชาไม่มี
ผลแห่งการเซ่นสรวงไม่มี ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วไม่มี โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี
มารดาไม่มี บิดาไม่มี สัตว์ทั้งหลายที่เป็นอุปปาติกะไม่มี
สมณะและพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ
ผู้ทำโลกนี้และโลกหน้าให้แจ้งชัดด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสั่งสอนให้ผู้อื่นรู้ไม่มีอยู่ในโลก ดังนี้”
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=12&A=8867&Z=9055

ในการกล่าวตำหนิผู้อื่นนั้น หากไม่ได้เข้าเรื่องอกุศลกรรมทางวาจา และทางใจแล้ว
ย่อมไม่ถือว่าเป็นอกุศลกรรมบถ ยกตัวอย่างว่าการกล่าวตำหนินั้น
ไม่ได้เป็นการพูดเท็จ ไม่ได้พูดคำหยาบ ไม่ได้พูดส่อเสียด ไม่ได้พูดเพ้อเจ้อ
และไม่ได้เป็นการพูดด้วยความโลภมาก ความพยาบาท หรือความเห็นผิด

ในทางกลับกัน พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ได้ทรงสอนว่าห้ามตำหนิคนอื่น
แต่ทรงสอนว่าสัตบุรุษหรือบัณฑิตนั้นพึงใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว
กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน กล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ

ใน “ขตสูตร” (พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต) ได้สอนว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นคนพาล
ไม่เฉียบแหลม ไม่ใช่สัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนที่ ปราศจากคุณสมบัติ
ย่อมเป็นผู้ประกอบไปด้วยโทษ นักปราชญ์ติเตียน และย่อมประสบกรรมมิใช่บุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญคุณของผู้ไม่ควรสรรเสริญ ๑
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
ไม่ใคร่ครวญสืบสวนให้รอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นบัณฑิต
เฉียบแหลม เป็นสัตบุรุษ ย่อมคุ้มครองตนให้ประกอบไปด้วยคุณสมบัติ เป็นผู้หาโทษมิได้
ทั้งนักปราชญ์ไม่ติเตียน และย่อมประสบบุญเป็นอันมาก
ธรรม ๔ ประการเป็นไฉน คือ
ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน ๑
ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวสรรเสริญผู้ที่ควรสรรเสริญ ๑
ใคร่ครวญ สืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความไม่เลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ไม่ควรเลื่อมใส ๑
ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว ยังความเลื่อมใสให้เกิดในฐานะที่ควรเลื่อมใส ๑

ผู้ใดย่อมสรรเสริญผู้ที่ควรนินทา หรือย่อมนินทาผู้ที่ควรสรรเสริญ
ผู้นั้นชื่อว่าย่อมค้นหาโทษด้วยปาก ย่อมไม่ได้ประสบสุขเพราะโทษนั้น
ความพ่ายแพ้การพนันด้วยทรัพย์ทั้งหมด พร้อมด้วยตน มีโทษน้อย
การที่ยังใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้วนี้แหละ เป็นโทษใหญ่กว่า (โทษการพนัน)
ผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนพระอริยเจ้า
ย่อมเข้าถึงนรกสิ้นแสนสามสิบหกนิรัพพุททะ และห้าอัพพุททะ”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=42&Z=73&pagebreak=0

ใน “ขตสูตร” นี้ไม่ได้ห้ามการติเตียนนะครับ
เพียงแต่มีเงื่อนไขว่า พึงใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว กล่าวติเตียนผู้ที่ควรติเตียน
ทีนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาที่เราติเตียนผู้อื่นนั้น
บางทีเราติเตียนด้วยคำเท็จ คำหยาบ คำพูดส่อเสียด คำพูดเพ้อเจ้อ
(เช่น พูดในเวลาไม่ควรพูด พูดไม่เป็นประโยชน์ พูดไม่เป็นธรรม
พูดไม่เป็นวินัย กล่าววาจาไม่มีหลักฐาน ไม่มีที่อ้าง ไม่มีที่สุด เป็นต้น)
หรือติเตียนด้วยความโลภ ความพยาบาท หรือความเห็นผิด เป็นต้น ซึ่งย่อมเป็นการก่ออกุศลกรรม

ยกตัวอย่างว่าสมมุติว่าเราเป็นหัวหน้าในที่ทำงาน และมีลูกน้องคนหนึ่งไม่ตั้งใจทำงาน
เขามาสาย อู้งาน ขี้เกียจ เหลวไหล ทำงานบกพร่องเสียหาย
เราเป็นหัวหน้าเขา เราก็พึงมีหน้าที่ต้องใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว
ตำหนิติเตียนลูกน้องที่ประพฤติตนเหลวไหลดังกล่าว
(ไม่ใช่ว่าปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ดูแลสั่งสอนลูกน้องภายใต้บังคับบัญชา)
ปัญหาคือว่า เวลาที่เราติเตียนนั้น เราได้ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้วหรือไม่
เราพูดในเวลาควรพูดหรือไม่ พูดเป็นประโยชน์หรือไม่ พูดเป็นธรรมหรือไม่
พูดถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ พูดด้วยโทสะหรือไม่ พูดด้วยความโลภมากหรือไม่ เป็นต้น

ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นนั้น บางทีก็เช่น เราพูดด้วยโทสะ เพราะความไม่พอใจลูกน้องคนนั้น
เราก็ตำหนิไปด้วยโทสะ อันย่อมเท่ากับว่าเป็นอกุศลกรรมทางใจ
ในขณะที่วาจาที่กล่าวออกมาในขณะที่มีโทสะนั้น ย่อมจะเป็นคำพูดเพ้อเจ้อด้วย
เพราะเป็นการพูดในเวลาที่ไม่สมควร กล่าวคือเวลานั้นเรามีโทสะในใจ

แต่ในทางกลับกัน หากเราได้ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว
เห็นแน่นอนว่าลูกน้องเราเป็นผู้ที่สมควรต้องถูกตำหนิติเตียน
แล้วเราก็ตำหนิติเตียนโดยธรรม เป็นประโยชน์ โดยสมควรด้วยกาล
ติเตียนด้วยใจเมตตา ไม่ได้มีโทสะ หรือโลภมาก หรือเห็นผิดในใจแล้ว
การตำหนิหรือติเตียนดังกล่าว ย่อมไม่เป็นอกุศลกรรมบถ แต่เป็นสิ่งที่บัณฑิตพึงกระทำ

ดังนั้น หากเราเข้าใจในลักษณะนี้แล้ว ย่อมจะเห็นได้ว่า
การตำหนิติเตียนผู้อื่นไม่ได้เป็นอกุศลกรรมเสมอไปนะครับ
แต่ต้องดูในรายละเอียดเนื้อหาและวิธีการติเตียนของผู้ติเตียนด้วยว่าประพฤติอย่างไร

อย่างไรก็ดี กรณีก็ไม่ใช่ว่าเราจะเที่ยวติเตียนคนโน้นคนนี้ไปทั่ว
แล้วก็อ้างว่าเราติเตียนด้วยธรรม ติเตียนด้วยเมตตา ด้วยประโยชน์ และถูกกาล
และอ้างว่าได้ใคร่ครวญสืบสวนรอบคอบแล้ว
แต่ในความเป็นจริงแล้ว เราติเตียนด้วยพยาบาทครอบงำใจ โดนกิเลสหลอกแต่รู้ไม่ทัน
ในลักษณะนั้นก็จะก่อโทษมหันต์นะครับ เพราะหากเราติเตียนผู้อื่นเพลิดเพลินไปแล้ว
พลาดพลั้งไปติเตียนหรือตั้งใจให้ประทุษร้ายในท่านผู้ดำเนินไปดีแล้ว
หรือพระอริยเจ้าแล้ว ย่อมถือว่าเป็นโทษใหญ่กว่าโทษเล่นการพนันเสียอีก
เพราะผู้ที่ตั้งวาจา และใจอันเป็นบาปไว้ติเตียนพระอริยเจ้านั้น
ย่อมเข้าถึงนรกเป็นระยะเวลาอันเนิ่นนานมากครับ
แต่ถึงแม้จะไม่ได้ไปติเตียนพระอริยเจ้าก็ดี ก็ย่อมจะเป็นการก่ออกุศลกรรมอยู่เนือง ๆ
แล้วท้ายที่สุด ก็จะนำพาเราไปสู่อบายภูมิหรือทุคติภูมิได้ครับ

ในกรณีของครูบาอาจารย์ที่ติเตียนลูกศิษย์เพื่อที่จะต้องการสอนก็มีนะครับ
เท่าที่ผมลองค้นดูก็ขอยกตัวอย่างเรื่องของหลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม
โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ
หลวงปู่ตื้อ อจลธมฺโม ท่านได้รับนิมนต์ขึ้นเทศน์ในการจัดอบรมกรรมฐานให้แก่พระและญาติโยม
มีผู้สนใจใคร่ธรรมมาเข้าร่วมอย่างเนืองแน่น
ในวันนั้น หลวงปู่ท่านแสดงธรรมได้อย่างจับใจได้อรรถรส
พอหลวงปู่เทศน์จบลง ท่านกล่าวว่า “เอวัง ก็มีด้วยประการฉะนี้” แล้ว
ญาติโยม “สาธุ” เสียงดังสนั่นน่าอนุโมทนายิ่ง
มีอุบาสิกาท่านหนึ่งแหวกผู้คนเข้ามาข้างหน้าสุด ใกล้กับหลวงปู่ที่สุด
แล้วรายงานว่า “หลวงปู่เจ้าคะ ดิฉันได้ฟังหลวงปู่เทศน์แล้วรู้สึกเบากายเบาใจ
ดิฉันปล่อยวางได้หมดเลยเจ้าค่ะ”
หลวงปู่กล่าวด้วยเมตตา “อนุโมทนาด้วยคุณโยมที่ได้ดวงตาเห็นธรรม”
“จริงๆ นะคะหลวงปู่ เดี๋ยวนี้ดิฉันไม่ยึดมั่นถือมั่นอีกต่อไปแล้ว ปล่อยวางได้หมดเลยเจ้าค่ะ”
“อีตอแหล” ไม่มีใครคาดคิดว่าหลวงปู่จะอนุโมทนาด้วยการหักมุมเช่นนั้น
“ว้าย! ตายแล้ว ทำไมหลวงปู่จึงมาด่าอีฉัน!” แล้วรีบผลุนผลัน
ลุกหนีด้วยความโกรธอย่างเป็นฟืนเป็นไฟ บ่งบอกลักษณะความไม่ปล่อยวางได้อย่างประจักษ์ชัด
http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/lp-tue/lp-tue-hist-06.htm

ในลักษณะนี้ บางทีครูบาอาจารย์บางท่านก็ต้องใช้วิธีการตำหนิติเตียน
เพื่อกระตุ้นให้ลูกศิษย์ได้เห็นกิเลสที่ซุกซ่อนอยู่ในใจตนเอง ก็มีเหมือนกันนะครับ
กรณีไม่ได้แปลว่าการตำหนิติเตียนลูกศิษย์ดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ไม่สมควร
หรือเป็นเรื่องที่มุ่งทำไปด้วยเจตนาจะเบียดเบียนผู้อื่นทางวาจาแต่อย่างใด

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เราสามารถที่จะไม่ตำหนิหรือยกย่องบุคคลใด
แต่สามารถอธิบายและสอนเฉพาะธรรมเท่านั้นก็ได้
โดยใน “อรณวิภังคสูตร” (พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์) ได้สอนว่า
“ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ
ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้นนั่น เราอาศัยอะไรกล่าวแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไรเป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม
คือเมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดตามประกอบความประกอบเนือง ๆ
ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์
มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง

เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความประกอบเนือง ๆ
ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ
ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง

เมื่อกล่าวว่าชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมดมีทุกข์
มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง

เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด
ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน
เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง

เมื่อกล่าวว่าชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์
มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าตำหนิชนพวกหนึ่ง

เมื่อกล่าวว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์
ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่ายกยอชนพวกหนึ่ง
ดูกรภิกษุทั้งหลายอย่างนี้แล เป็นการยกยอ เป็นการตำหนิ และไม่เป็นการแสดงธรรม”

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อย่างไร ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้
คือ ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดตามประกอบความประกอบเนืองๆ
ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลวเป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ
มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด
กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรม มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ
มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบความประกอบเนืองๆ
ซึ่งโสมนัสของคนที่มีความสุขโดยสืบต่อกาม อันเลว เป็นของชาวบ้าน เป็นของปุถุชน
ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ
ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ
กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรม ไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ
ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่า แสดงแต่ธรรมเท่านั้น

ไม่กล่าวอย่างนี้ว่าชนเหล่าใดประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์
มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด
กล่าวอยู่ว่า อันความตามประกอบนี้แล เป็นธรรมมีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ
มีความเร่าร้อนเป็นความปฏิบัติผิด ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดไม่ตามประกอบ ซึ่งความเพียรเครื่องประกอบตนให้ลำบาก
อันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์
ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ
กล่าวอยู่ว่า อันความไม่ตามประกอบนี้แล เป็นธรรมไม่มีทุกข์ ไม่มีความคับใจ
ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นความปฏิบัติชอบ ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้ว
ชนเหล่านั้นทั้งหมด มีทุกข์ มีความคับใจ มีความแค้นใจ มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติผิด
กล่าวอยู่ว่า เมื่อยังละสัญโญชน์ในภพไม่ได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละไม่ได้
ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

ไม่กล่าวอย่างนี้ว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งละสัญโญชน์ในภพได้แล้ว ชนเหล่านั้นทั้งหมด ไม่มีทุกข์
ไม่มีความคับใจ ไม่มีความแค้นใจ ไม่มีความเร่าร้อน เป็นผู้ปฏิบัติชอบ
กล่าวอยู่ว่า ก็เมื่อละสัญโญชน์ในภพได้แล้วแล ภพย่อมเป็นอันละได้
ดังนี้ ชื่อว่าแสดงแต่ธรรมเท่านั้น

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ไม่เป็นการยกยอ ไม่เป็นการตำหนิ เป็นการแสดงธรรมแท้
ข้อที่เรากล่าวดังนี้ว่า พึงรู้จักการยกยอและการตำหนิ ครั้นรู้แล้วไม่พึงยกยอ ไม่พึงตำหนิ
พึงแสดงแต่ธรรมเท่านั้น นั่น เราอาศัยเนื้อความดังนี้กล่าวแล้ว”

ดังนี้ หากเราจะไม่ตำหนิ หรือยกยอบุคคลใด และมุ่งแสดงแต่ธรรมเท่านั้นแล้ว
เราก็ไม่พึงกล่าวว่าบุคคลใดประพฤติผิด หรือบุคคลใดประพฤติชอบ
แต่เราพึงกล่าวถึงเฉพาะการกระทำเท่านั้น
ว่าการกระทำใดที่ไม่สมควร ไม่เหมาะสม เป็นโทษ และให้ผลเป็นทุกข์
และการกระทำใดที่สมควร เหมาะสม เป็นประโยชน์ และให้ผลเป็นความสุข
ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถใช้ได้ โดยเป็นการแสดงแต่ธรรมเท่านั้นครับ