Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๘๘

eddy_cover

Jamie’s Dream School : โรงเรียนในฝันของเจมี่ โอลิเวอร์

โดย aston27
aston2

boh188

สำหรับใครหลายคน ชื่อของเจมี่ โอลิเวอร์ เป็นสัญลักษณ์รับประกันความอร่อยชนิดน้ำลายสอ เพราะเขาคือเชฟที่มีอิทธิพลต่อการปฏิวัติวิธีการปรุงอาหารและโภชนาการของคนอังกฤษและอเมริกัน

แต่น้อยคนจะทราบว่าตัวเจมี่เรียนมัธยมไม่จบ ต้องออกจากโรงเรียนตอนอายุ ๑๖ เพราะมีอาการที่เรียกว่า Dyslexia หรือที่บางคนรู้จักในชื่อสั้นๆว่า LD คืออาการบกพร่องทางทักษะการเรียนรู้

แต่เขาไม่ปิดโอกาสตัวเอง และเบนเข็มไปเข้าอบรมที่ Westminster Catering College หรือวิทยาลัยสอนการทำอาหารเวสมินเตอร์ ก่อนจะไปฝึกงานในร้านอาหารอิตาเลียนและไต่เต้าจนมาเป็นเชฟชื่อดังของโลกในปัจจุบัน

เจมี่มีความเชื่อเสมอว่า เด็กที่เรียนไม่จบเกรดต่ำแบบเขา ไม่ได้แปลว่า ไม่มีอะไรดีหรือไม่มีคุณค่า และน่าจะมีโรงเรียนหรือหลักสูตรที่เหมาะกับเด็กเหล่านี้

เขาจึงคิดโปรเจคท์ชื่อว่า Jamie’s Dream School หรือโรงเรียนในฝันของเจมี่ โดยคัดเลือกเด็กที่เรียนแย่ ถูกให้ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบมัธยม แล้วหาคนที่เก่งเฉพาะทางในหลากหลายวิชามาเป็นครูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็ก ในการเห็นคุณค่าของตัวเองและการเรียนอีกครั้ง

ผมได้ดูรายการนี้ตอนแรกโดยบังเอิญในช่องไทยพีบีเอส แน่นอนครับ วันแรกๆของการเรียนมันเกิดปัญหามากมาย และเจมี่กับครูหลายคนก็ได้เรียนรู้ว่า ปัญหาของเด็กเหล่านี้เริ่มต้นมาจาก การขาดทักษะที่จะเป็นผู้ฟังที่ดี ทำให้ในห้องเรียนเต็มไปด้วยคนที่อยากจะพูด แต่ไม่พร้อมจะฟัง

อย่างในวิชาประวัติศาสตร์ชั่วโมงแรก ต้องจบลงด้วยการโต้เถียงปะทะคารมระหว่างอาจารย์ที่ตั้งใจมาสอนเต็มร้อย จนเกิดอารมณ์กับนักเรียนที่ไม่พร้อมจะเรียน และนำมาซึ่งการพูดดูถูกนักเรียน ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูลจริง แต่ก็ทำให้นักเรียนเกิดความรู้สึกต่อต้านอย่างรุนแรง

น่าเสียดายที่ผมยังดูไม่จบครับ แต่ผมเชื่อว่าในตอนท้ายๆ ทั้งครูกับนักเรียนจะมีพัฒนาการของตัวเองในการปรับตัวและหันหน้าเข้าหากัน เพื่อทำความเข้าใจอีกฝ่าย ด้วยความเคารพในความเป็นมนุษย์ของอีกคน

คำถามคือ แล้วถ้าไม่ใช่แค่โรงเรียนที่มีคนไม่กี่สิบคนอยู่รวมกันล่ะ ถ้าเรามองภาพให้ใหญ่กว่านั้น เป็นประเทศๆหนึ่ง ที่มีคนหกสิบกว่าล้าน สถานการณ์มันจะต่างกันหรือเหมือนกันไหม

ในความเห็นผม ผมว่ามันต่างกันในเรื่องขนาดเรื่องปริมาณขนาดความใหญ่และความรุนแรงของปัญหา แต่ในเชิงคุณภาพคงไม่ต่างกันหรอกครับ เพราะถ้าใช้คำว่าประเทศในฝัน ย่อมแปลว่าประเทศในความจริงมันมีปัญหาของมันอยู่

และการที่มีคนจำนวนมากแบ่งฝักฝ่าย เกลียดกันสุดขั้ว ดูถูกกัน ด่ากัน กระพือไฟโทสะ และอยากจะพูดจะแสดงออกในสิ่งที่ตนต้องการโดยไม่พร้อมจะรับฟังคนอื่นที่คิดต่างเห็นต่าง ก็คงต้องวุ่นวายเหมือนตอนแรกของโรงเรียนในฝันของเจมี่เป็นธรรมดา

รายการโรงเรียนในฝันของเจมี่ โอลิเวอร์ จบไปแล้ว และสามารถไปหาดูได้ในยูทูป ด้วยการพิมพ์คำว่า Jamie’s Dream School หรือถ้าต้องการดูแบบพากย์ไทยก็ต้องตามดูในไทยพีบีเอส

แต่รายการประเทศในฝันของคนไทย ยังไม่จบ และยังไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร

ได้แต่หวังว่าเราจะมีสติ สัมปชัญญะ และเมตตากันให้มากๆ เพื่อจะได้นำพาประเทศไปสู่แสงสว่าง ถึงแม้ตอนนี้จะเป็นแค่แสงสว่างจากปลายอุโมงค์ก็ตามที

บุญรักษา ธรรมรักษาทุกท่านนะครับ