Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๖๓

eddy_coverLife Of Pi : ชีวิตของเรา

โดย aston27
aston2

bank-163

 

นี่เป็นหนึ่งในหนังที่ผมรอจะชมมากที่สุดเรื่องหนึ่งของปี

ไม่ใช่เพราะเคยอ่านหนังสือ หรือได้ยินคุณงามความดีอะไรของเรื่องนี้

แต่เพราะมันเป็นหนังที่มีความเป็นสหประชาชาติโดยแท้

กล่าวคือ สร้างจากนิยายที่เขียนโดยชาวแคนาดา

ออกทุนโดยอเมริกา ใช้ดาราอินเดีย ผู้กำกับจากจีน

แถมในเรื่อง เรือที่พายนั่งไปแล้วล่ม ยังเป็นเรือญี่ปุ่นอีกต่างหาก

 

“ชีวิตของพาย” ซึ่งคงไม่มีใครอ่านว่า ไลฟ์ ออฟ พี

เป็นเรื่องการผจญภัยของเด็กหนุ่มชาวอินเดียคนหนึ่ง

ที่สูญเสียครอบครัวจากอุบัติเหตุทางทะเล

ระหว่างการเดินทางย้ายถิ่นฐานจากอินเดียไปยังแคนาดา

 

พายรอดมาได้พร้อมกับเสือตัวหนึ่งชื่อริชาร์ด ปาร์เกอร์

ซึ่งมีที่มาของชื่อแบบพิสดาร พอๆกับชีวิตของพายนั่นแหละ

พร้อมม้าลายและลิงอุรังอุตัง ทั้งหมดอยู่ในเรือชูชีพลำเดียวกัน

พายเรียนรู้จะอยู่รอดด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา

ท่ามกลางความอดอยาก ยากแค้น สิ้นหวัง และโหดร้ายในบางครั้ง

 

ชีวิตเป็นการผจญภัยอย่างหนึ่งครับ

ชั่วชีวิตของเรา อาจต้องผจญสิ่งที่เราคาดไม่ถึงในหลายๆเรื่อง

แต่ภัยที่เราผจญอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ก็คือทุกข์

ทุกข์กายบ้าง ทุกข์ใจบ้าง บางอย่างเราก็ไม่ทันสังเกต

เช่นความปวดเมื่อยร่างกาย ที่พลิกขยับตัวก็คลายได้

 

บางอย่างเราก็ชินกับมันจนเห็นเป็นของปกติธรรมดา

เช่นทุกข์จากการที่หายใจเข้าแล้วไม่ได้หายใจออก

หรือหายใจออกแล้วไม่ได้หายใจเข้า 

หรือทุกข์จากการที่ร่างกายต้องการขับถ่ายของเสีย

เราไม่ค่อยเรียกมันว่าทุกข์ เพราะเราเจอมันบ่อย

เราอยู่กับมันจนชิน รู้แล้วว่าจะต้องจัดการกับมันยังไง

แต่กับทุกข์บางอย่าง ที่ไม่ได้มี ไม่ได้เจอกันบ่อยๆ

มักเป็นเรื่องยากสำหรับเรา

 

วันแรกๆที่พายต้องอยู่กับเจ้าเสือริชาร์ด ปาร์เกอร์ ก็เช่นกัน

เขาทั้งกลัว ทั้งหวาดหวั่น ขาดสติจนเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด

แต่พอเริ่มตั้งสติได้ เรียนรู้และเข้าใจธรรมชาติของเสือมากขึ้น

พายก็รู้วิธีที่จะอยู่ร่วมเรือลำเดียวกับริชาร์ด ปาร์เกอร์ได้จนวาระสุดท้าย

 

ถ้าเปรียบเสือเหมือนความทุกข์ที่น่าหวาดหวั่น

อยากการพลัดพรากจากคนที่รัก การต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ

ความแก่ ความเจ็บ และความตาย หรือทุกข์อื่นใด

การต้องอยู่กับมันแบบขาดสติ โดยไม่เคยเข้าใจธรรมชาติของทุกข์เลย

ย่อมเป็นเรื่องยากและลำบากเป็นอย่างยิ่ง

 

แต่กับคนที่มีสติ สังเกต เรียนรู้ธรรมชาติ ความจริงของทุกข์

อยู่ทุกวันๆ ย่อมมีโอกาสจะใช้ชีวิตแบบทุกข์น้อยกว่าผู้อื่น

 

สิ่งที่น่าสนใจในตอนท้ายเรื่องคือ

มีบางคนไม่เชื่อเรื่องที่พายเล่า เพราะมันพิสดารเหลือเชื่อเกินไป

พายเลยมีอีกเรื่อง ที่ยังคงโหดร้าย น่ากลัว แต่ดูเป็นไปได้มากกว่า

เอาไว้เล่าให้คนที่ “อยากได้ยินในสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า” ฟัง

อันนี้เป็นมุขของคนเขียนเขานะ ที่เจตนาทำให้คนสับสน

ว่าอันไหนเป็นเรื่องจริง อันไหนหลอก

แต่ลืมไปว่าทั้งสองเรื่อง มันคือนิยายเรื่องเดียวกัน

แต่สิ่งที่สำคัญ มันไม่ได้อยู่ตรงนั้นหรอก

เพราะเรื่องของพายกับริชาร์ด ปาร์เกอร์ อย่างไรก็เป็นนิยาย

แต่ทุกข์ที่เราทุกคนต้องเจอนี่สิ ของจริง

สุขสันต์วันที่เรือชีวิตยังไม่ถึงฝั่งนะครับ