Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๕๔

eddy_coverมีในความว่าง ว่างในความมี

โดย aston27
aston2

bank-154

(ภาพประกอบโดยความใจดีของคุณ SevenDaffodils ครับ)

“อ่อนหยุ่นชนะแข็งกร้าว ความสงบสยบความเคลื่อนไหว
สูงสุดคืนสู่สามัญ ที่สุดของกระบวนท่า คือไร้กระบวนท่า”
ประโยคทำนองนี้ ผมคุ้นมาตั้งแต่เด็กครับ
เพราะผมเริ่มอ่านนิยายกำลังภายในมาตั้งแต่ ป. ๓ โน่น
แต่ถามว่าเข้าใจความหมายมั้ย ไม่เข้าใจครับ

ในทางหนึ่งก็เป็นเรื่องไร้สาระนะ เพราะมันดูเพ้อๆฝันๆ ทั้งวิชาตัวเบา
ทั้งกำลังภายใน ลมปราณ พลังดัชนี จี้จุด
ไปจนถึงกระบวนท่าที่ปลิดชีวิตได้ในฝ่ามือเดียว

สิ่งที่น่าสังเกตคือ นิยายกำลังภายในส่วนมาก มักจะมีเคล็ดวิชาหลากหลาย
แต่ท้ายที่สุด สุดยอดวิชาในแต่ละเรื่องนั้น มักเป็นวิชาที่ย้อนกลับเข้าสู่จิตเสมอ

อย่างในเคล็ดวิชาไทเก๊ก ซึ่งเตียซำฮง ท่านมีตัวตนจริงๆนะ
มีบทหนึ่งที่บอกว่า
“ทั้งหมดล้วนเป็นจิตหยั่งรู้
ย่อมไม่ใช่สิ่งภายนอก
ถ้ามีขึ้น ย่อมมีลง
ถ้ามีขึ้นหน้า ก็มีถอยหลัง
ถ้ามีซ้ายก็มีขวา
ถ้าจิตหยั่งรู้ อยากขึ้นบน
ในขณะเดียวกัน มันก็ประกอบด้วยความคิดที่จะลงล่าง”

“สามัญลักษณะคือว่างกับนิ่ง
ว่างกับนิ่ง เหมือนไร้พลัง เหมือนไร้การเคลื่อนไหว
แท้จริงกลับเปี่ยมด้วยพลัง
และเปี่ยมด้วยการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังด้วย”


“คนทั่วไปไม่รู้จักความว่าง

ทั้งที่ความว่างยิ่งใหญ่ ไร้ขอบเขต ไร้ข้อจำกัดใดๆ”

“หมื่นแสนโลกธาตุหรือหมื่นแสนระบบสุริยะอันยิ่งใหญ่นั้นตั้งอยู่ที่ไหนเล่า
ก็ตั้งอยู่ในความว่างนั่นเอง นี่คือความว่างทางกายภาพหรือทางฟิสิกส์
ซึ่งเป็นความว่างเพียงชนิดหนึ่งชนิดเดียวในบรรดาความว่างทั้งหลาย

ในร่างกายของเรานี้ก็มีความว่างที่ยิ่งใหญ่
ความว่างหนึ่งคือความว่างภายในอณู
และระหว่างอณูอันประกอบเข้าเป็นร่างกายนี้


อีกความว่างหนึ่งซึ่งยิ่งใหญ่กว่าคือความว่างแห่งจิต
จิตไร้อานุภาพ อ่อนแอ หงอยเหงาเศร้าซึม ก็เพราะขาดไร้ซึ่งความว่าง

เมื่อใดจิตถึงซึ่งภาวะความว่างอันยิ่งใหญ่หรือวิมุตตะมิติแล้ว เมื่อนั้นจิตก็มีอานุภาพยิ่งใหญ่”


เตียซำฮงเป็นนักบวชในลัทธิเต๋า เป็นเจ้าสำนักบู๊ตึ้ง
แต่ก็เคยเป็นศิษย์วัดเส้าหลินมาก่อน

มองได้สองมุมว่า หนึ่ง ท่านก็ได้อิทธิพลจากพุทธธรรมนั่นแหละ
สอง ไม่ใช่เพียงแต่ศาสนาพุทธที่สนใจเรื่องจิต เต๋าก็สนใจ
หลายๆศาสนาก็สนใจ แต่ความต่างอยู่ที่วิธีการ ขั้นตอน
หรือกระบวนการไปสู่ความว่างของจิต

เพราะพระพุทธเจ้าบอกวิธีไว้ชัดเจน เป็นขั้นตอน เป็นลำดับ
เหมือนเปิดของคว่ำให้หงาย งดงามทั้งในเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย
ที่ต้องระวังคือ ว่าง มันมีหลายแบบ
ว่างแบบซื่อบื้อก็แบบนึง หรือว่างแบบมีสติมีปัญญา ก็อีกแบบ

หลวงพ่อปราโมทย์ฯ ท่านเคยสอนว่า ว่างแบบพุทธน่ะ
คือว่างจากความเห็นผิด ว่างจากความมีตัวมีตน ว่างจากความปรุงแต่งของกิเลส
ไม่ใช่ว่างแบบไม่มีอะไรเลย มันมีนะ ก็มีความไม่มี ไม่เป็นอะไรนั่นแหละ

ไม่ใช่อยู่ๆก็ไปทำจิตให้ว่างๆ ไม่คิดไม่นึกอะไร กลายเป็นคนเอ๋อๆ
แต่ต้องทำเหตุให้จิตมีสติ จดจำสภาวะได้บ่อยๆ จนเป็นสติอัตโนมัติขึ้นมา
จิตถึงจะมีสมาธิแบบตั้งมั่น เห็นขันธ์แต่ละขันธ์ เห็นกายเห็นจิตแยกกันทำงาน
พอกายใจทำงานแยกกัน จะแสดงความจริงว่าไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่ใช่ตัวตน
จิตเห็นความจริงนั้นบ่อยๆเข้า จะมีปัญญา

มีปัญญาบ่อยๆเข้า มากเข้า ก็จะปล่อยวางและหลุดพ้น
จากความเห็นผิด การยึดมั่นสำคัญผิดๆเอง เข้าสู่ความว่างของจิต
ทางเดินของนักเรียนวิชาพุทธ ว่าด้วยการรู้จักตัวเอง เดินแบบนี้นะครับ

ไม่ต้องเชื่อ แต่ควรไปลองเรียน ด้วยการลงมือปฏิบัติเองนะ
ตั้งใจรักษาศีล ๕ แล้วฝึกมีสติ คอยขยันรู้สึกตัวบ่อยๆ
ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด คอยรู้สึกตัว
จะรำไทเก๊กตอนเช้าทุกวันก็ไม่ผิดกติกา

สุขสันต์วันที่จิตยังไม่ค่อยว่างนี่แหละครับ