Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๓๕

"สี่แผ่นดิน: ทุกข์ ทุกแผ่นดิน"

aston2โดย aston27

 


spd_20110812144058_b

ภาพจาก: http://lovesiamoldbook.tarad.com/shop/l/lovesiamoldbook/img-lib/spd_20110812144058_b.jpg

 

สำหรับใครที่เป็นนักอ่าน คงไม่เคยมีใครไม่รู้จักผลงานของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เรื่องนี้

สี่แผ่นดินเล่าเรื่องชีวิตของแม่พลอย ผู้หญิงที่เห็นการเปลี่ยนรัชกาลมาถึงสี่ครั้งสี่ครา
เคยมีคนวิเคราะห์ว่าอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์เขียนแบบลำเอียง
คือให้น้ำหนักกับฝ่ายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
ที่กษัตริย์ทรงมีอำนาจสิทธิขาดในการปกครอง มากกว่าระบอบประชาธิปไตย
เพราะท่านอาจารย์หม่อมฯ ก็ชื่อว่าเป็นเจ้าองค์หนึ่งเหมือนกัน

จริงไม่จริงขอไม่แตะ ไม่พูดถึง ให้เป็นเรื่องวิจารณญาณส่วนบุคคลไปนะ
แต่ที่อยากพูดถึง เพราะเพิ่งไปดูฉบับเดอะมิวสิคัลมา แล้วเห็นอะไรบางอย่าง

สิ่งที่ดีที่สุดของบทประพันธ์สี่แผ่นดิน ที่ผมสัมผัสได้
ไม่ใช่เรื่องประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องวัฒนธรรม
ไม่ใช่เรื่องการเมืองที่แทรกอยู่ในระหว่างบรรทัด

แต่เพราะสี่แผ่นดิน ได้โยงเรื่องประวัติศาสตร์
ช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
เข้ากับธรรมะว่าด้วย "ทุกข์" ได้น่าสนใจและเห็นภาพครับ

พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์ว่า มี ๑๒ จำพวก คือ
๑. ความเกิด ๒. ความแก่ ๓. ความเจ็บ ๔. ความตาย
๔. ความโศกเศร้า ๕. ความร่ำไรรำพันคร่ำครวญ
๖. ความไม่สบายกาย ๗. ความไม่สบายใจ เสียใจ
๘. ความคับแค้นใจ ๙. การต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
๑๐. การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
๑๑. ปรารถนา อยากได้อะไรแล้วไม่สมอยาก ก็เป็นทุกข์
๑๒. ท่านบอกว่า สังขิตเตนะ ปัญจุปาทา ทุกขา
(ว่าโดยย่อ) อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ (กาย-ใจ) นั่นแหละคือตัวทุกข์

ในสี่แผ่นดิน จะค่อยๆ บอกเล่าถึงทุกข์ทั้ง ๑๒ ชนิด
ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของแม่พลอย ใครไปดูลองนับดูนะครับ ว่าครบไหม

มักจะมีคำถามตามมาว่า แล้วจะจัดการกับทุกข์ยังไง?
ตอบว่า พระพุทธเจ้าสอนว่า "ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ"
ท่านให้รู้ทุกข์ตามจริงด้วยสติ
ส่วนสมุทัยคือความอยากนั้น ให้ละเสีย

คนส่วนมากมีทุกข์แล้วจัดการผิดวิธี
คือพยายามไป "ละทุกข์" ไม่ได้ "รู้ทุกข์"
ไม่ได้มีสติ รู้กายใจตัวเองที่เป็นที่ตั้งของทุกข์
ไม่เรียนรู้ที่เหตุของมัน แต่ไปจดจ้องจะแก้ผลที่ปลายเหตุ

พูดง่ายๆคือ ไม่ยอมรับทุกข์ แต่ปฏิเสธมัน
ลืมไปว่า "ทุกข์" นี่เป็นอริยสัจ เป็นความจริงตัวแรกในสี่ตัวเลยที่ต้องเรียน
คนเราถ้าปฏิเสธความจริง ไม่เรียนรู้ความจริง ก็ไม่เข้าใจความจริง
เมื่อไม่เข้าใจความจริง ก็ยากจะยอมรับความจริงได้
ถ้าไม่ยอมรับทุกข์ว่าเป็นความจริงของชีวิต
ก็อย่าหวังว่าจะพ้นทุกข์ได้ ไม่มีทางเลยนะ

ขนาดคุณบอย โกสิยพงศ์เป็นคริสต์ยังเข้าใจตรรกะตัวนี้เลย ถึงเขียนว่า
"อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน ตามความคิดสติเราให้ทัน"

ครูบาอาจารย์สอนว่า รู้ทุกข์ รู้กายรู้ใจ รู้ตามที่เป็นจริงนะ
แล้ววันหนึ่งจะเข้าใจความจริงว่าด้วยทุกข์
เข้าใจแล้ว มีปัญญาพอ จิตจะยอมรับ และปล่อยวางเอง

ว่ามีกายมีใจที่ไหน ก็มีทุกข์ที่นั่น อันนี้หลวงพ่อปราโมทย์บอกว่า
พวกเรายังเห็นว่า มันสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่เป็นไร
ดูๆ ไป คอยรู้สึกตัวไป วันหนึ่งจะเห็นเอง

อาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์กับแม่พลอยจะเห็นหรือยัง ผมไม่ทราบ
ทราบแต่ตอนผมเด็กๆ เคยได้ยินเพลงลูกทุ่งเขาร้องว่า
“คึกฤทธิ์ เป็นคนคิดลึก”

ใครเคยได้ยิน แปลว่าคุณแก่แล้วล่ะ ^^

สุขสันต์วันที่เรายังมีแผ่นดินให้อยู่นะครับ