Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๒๖

ธรรมะจากความป่วยไข้

aston2โดย aston27




bank-124
(ขอบคุณภาพประกอบแสนสวยจากตากล้องใจดีชื่อ SevenDaffodils ครับ)

ผมป่วยอีกแล้วครับ

น่าแปลกใจว่า ทำไมถึงป่วยเป็นไข้หวัดได้สองครั้งติดๆกัน
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ก็เพิ่งฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดแล้วด้วยนะ

นี่แหละครับ คนมันถึงคราวกรรมไม่ดีจะให้ผล วัคซีนก็ช่วยไม่ได้
ฉะนั้น วันนี้ผมเขียนบทความท่ามกลางความป่วยไข้
ผิดถูกอย่างไร โปรดอภัยกันนะครับ ^^”

เวลาป่วย เป็นช่วงเวลาที่เหมาะควรแก่การภาวนามากครับ
เพราะมันจะมีทุกข์ มีเวทนาให้เห็น ให้ดูเยอะแยะไปหมด
อย่างผมเป็นไข้ เดี๋ยวก็เมื่อยเนื้อตัว ปวดเบ้าตา เจ็บคอ
ไม่สบายทั้งกาย ไม่สบายทั้งใจ นี่ธรรมะนะ ของแท้ๆ ทั้งนั้น

หลายท่านชอบคิดเองว่าเวลาภาวนา ต้องสงบนิ่งไม่รู้สึกรู้สา
ถ้าจิตฟุ้งซ่านภาวนาไม่ได้ ร่างกายมีทุกขเวทนา ภาวนาไม่ได้

เพราะเราชอบมองการภาวนาแบบสมถะครับ
คือจิตไม่ดี ทำให้ดี จิตไม่สงบ ทำให้สงบ จิตไม่นิ่ง ทำให้นิ่ง
เราเลยคิดว่า ถ้าตามรู้กาย รู้ใจ แล้วเห็นมันกระสับกระส่าย
เห็นมันทรมาน เห็นความไม่ชอบ เห็นการดิ้นรนทางใจ
แบบนี้แปลว่าภาวนาไม่ดี ซึ่งไม่ใช่วิถีสำหรับวิปัสสนาครับ

เพราะวิปัสสนาคือการเรียนรู้ตัวเองจนเห็นความจริง
ว่ากายนี้ใจนี้มีแต่ความไม่เทียง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแท้จริง
เพราะเราสั่งไม่ได้ว่า “อย่าทุกข์...อย่ามีไข้...พอได้แล้ว...หยุด!”

มันไม่เชื่อเราหรอกครับ มันมีเหตุปัจจัย ไข้มันก็ขึ้น
พอไข้ขึ้น ร่างกายก็จะเริ่มปวดหัว ปวดตัว น้ำมูกเริ่มมา
แล้วจะเริ่มไอ มีเสมหะ ฯลฯ เห็นแบบนี้แหละคือไตรลักษณ์

เราสั่งร่างกายให้ลดไข้ไม่ได้ แต่ทำเหตุให้ไข้ลดได้
เช่นกินยาลดไข้ เช็ดตัว จิบน้ำชาร้อนๆ ให้เหงื่อออก ฯลฯ

การบรรลุธรรมก็ไม่ต่างกันหรอกครับ มันเป็นสิ่งที่เราสั่งให้เกิดไม่ได้
แต่ทุกคนทำเหตุที่นำไปสู่การบรรลุธรรมได้ หน้าที่เรา คือทำเหตุนะ

อย่างการรู้สึกตัวตามความจริง นี่ก็ทำเหตุอยู่
แรกๆ อาจจะใช้การคิดนำ ช่วยมันนิดหน่อย ดีกว่าทุกข์ฟรีไม่มีสติ
แต่พอดู พอรู้ไป จิตเขาเห็นเองครับ เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น

ถามว่ารู้สึกตัวตามความจริง มันช่วยให้บรรลุธรรมได้ไง
ตอบว่า เพราะทุกข์ทั้งหลายในโลก มันเริ่มต้นเพราะคำว่า “เรา” ครับ
อันนี้พูดแบบสุภาพ แต่ถ้าเอาศัพท์ถึงใจแบบท่านอาจารย์พุทธทาส
ท่านจะเรียกว่า “ตัวกู ของกู” เวลาพูด ท่านจะพูดสองคำนี้ควบกัน

เพราะมีตัวเรา ถึงมีของเรา แล้วพอมีเราเมื่อไหร่ ทุกข์จะโผล่มาทันที
สังเกตดูสิครับเวลามีปัญหา เรามักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่โตที่สุดในโลก
เพราะอะไร?

เพราะมันเป็นปัญหา "ของเรา" ไง

ปัญหาเดียวกัน ถ้ามันเป็นของคนอื่น เราจะไม่รู้สึกทุกข์อะไร
แต่พอเป็นของเรา ของน้องเรา ของพ่อแม่เรา เพื่อนเรา มันมีทุกข์โผล่มาทันที

ฉะนั้นการมีความหลงยึดมั่นสำคัญผิดว่ามีตัวตน มีตัวเราของเรา
คือเหตุของทุกข์ทั้งหลาย จริงไม่จริง ลองนึกดูได้

พระอรหันต์ที่ว่าท่าน "พ้นทุกข์" ก็เพราะท่านทำลายตรงนี้ได้ครับ

ที่ทำลายการหลงยึดมั่นสำคัญผิดได้ ก็เพราะเห็นความจริงว่า
โลกนี้ไม่มีอะไรที่ยึดมั่นถือมั่นได้เลย แม้แต่ "ตัวเรา"
มันเป็นสิ่งชั่วคราว เกิดแล้วดับ เพราะมันมีความไม่เที่ยง ไม่ทน ไม่แท้

ย้ำว่าพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ทรงสอนให้เราทำลายตัวเรา หรือ “ตัวตน” นะ
ท่านว่า "ตัวตน" ไม่มีในอดีต ไม่มีในปัจจุบัน จะไม่มีในอนาคต
ไม่มีในกายนี้ใจนี้ ไม่มีนอกกายนี้ นอกใจนี้ :)

เมื่อมันไม่มีแล้วจะต้องทำลายอะไร? สงสัยใช่มะ?

ตอบว่าท่านให้ทำลาย "ความหลงผิด เข้าใจผิด ยึดมั่นถือมั่น ว่ามีตัวมีตน" ครับ
เหมือนเราไปดูหนัง มีผี มีสัตว์ประหลาด มีผู้ร้าย อยู่ในจอ
เราไปฆ่ามันบนจอไม่ได้หรอก มันของเก๊ทั้งนั้น
จะฆ่ามันจริง ต้องไปทำลายเครื่องฉายนะ :)

มีปัญหาก็ต้องแก้ที่เหตุฉันใด มีทุกข์ ก็ต้องทำลายที่เหตุฉันนั้น

เล่าให้ฟังซะยาว ขอตัวไปนอนพักก่อนนะครับ
เพราะผมสั่งให้หวัดหายไม่ได้ ได้แต่ทำเหตุให้ร่ายกายแข็งแรงไงครับ

สุขสันต์วันที่ยังมีกายสังขารให้ป่วยครับ