Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๒๕

ต้นแบบ

aston2โดย aston27




bank-124
(ขอบคุณภาพประกอบแสนสวยจากตากล้องใจดีชื่อ SevenDaffodils ครับ)

ว่ากันว่า ในทุกสาขาเรามักจะมีใครสักคนที่เป็น “ต้นแบบ” ของเราอยู่
ถ้าถามคนทำงานสายไอที มักมีชื่อของมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก, สตีฟ จ๊อบส์ หรือบิล เกตส์
คนในวงการนักลงทุนในหุ้น ก็อาจมีชื่อของวอร์เรน บัฟเฟต์
วงการโทรทัศน์ก็อาจมีชื่อของโอปราห์ วินฟรีย์ หรือแลร์รี่ คิง เป็นต้นแบบของหลายคน

ในฐานะคนเขียนหนังสือ มีชื่อของนักเขียนสองท่านที่ผมเคารพ
ในฐานะต้นแบบผู้มีอิทธิพลต่องานเขียนของผม นั่นคือ ป. อินทรปาลิต และวาณิช จรุงกิจอนันต์
ท่านแรกคือผู้เขียนนิยายขบขันชุดที่ดีที่สุดที่ผมเคยอ่าน นั่นคือ พล นิกร กิมหงวน
ต้องขอพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ถ้าไม่มีหนังสือชุดนี้ ผมคงไม่ได้เป็นผมในวันนี้

ส่วนท่านที่สองเป็นเจ้าของหนังสือรวมเรื่องสั้นรางวัลซีไรท์ ชื่อ “ซอยเดียวกัน”
ผมเริ่มรู้จักคุณวาณิช เพราะครูสอนภาษาไทยสมัยเรียน ม.๔
ชื่อคุณครูธเนศ เวศร์ภาดา เป็นผู้แนะนำให้ผมอ่าน
จะว่าไป ครูธเนศนี่แหละ ที่เป็นต้นแบบของคนที่รู้จักเลือกอ่านหนังสือของผม
ตอนนั้นนั่ง “จดหมายถึงเพื่อน” แบบไม่หลับไม่นอน อ่านไปแล้วก็ขำไป
แล้วตัวเองก็ซึมซับบางอย่างจากตัวหนังสือคุณวาณิชมาโดยไม่รู้ตัว
มารู้ตัวอีกทีตอนที่อ่านงานเขียนตัวเอง แล้วกลับไปอ่านงานเขียนของคุณวาณิชนี่แหละ

ในฐานะชาวพุทธผู้ศึกษาตนเอง ผมมีต้นแบบคือหลวงพ่อปราโมทย์ กับคุณดังตฤณ
จริงๆ อยากพูดว่ามีพระพุทธเจ้าเป็นต้นแบบ แต่เกรงใจเพราะผมเกิดไม่ทันสมัยพระองค์ท่าน
หรืออาจจะทันแต่สงสัยจะเป็นพวกเดียรถีย์ที่ไม่ยอมเรียนคำสอนท่าน
ไม่งั้นคงเรียนจบตั้งแต่ยุคนั้น ไม่ต้องเกิดมาจนถึงยุคนี้

ถามว่าต้นแบบมีความสำคัญไหม ตอบตรงๆ ว่าสำหรับท่านอื่นผมไม่ทราบ
แต่สำหรับผม สำคัญตรงที่ “ต้นแบบ” จะเป็นตัวสะท้อนวิธีคิด วิธีใช้ชีวิตของเรา
อย่างหลวงพ่อฯ หรือคุณดังตฤณ ก็เป็นต้นแบบของการภาวนาตั้งแต่สมัยยังเป็นฆราวาส
ทำให้ผมเห็นว่าเราสามารถเป็นคนธรรมดาที่อยู่กับโลกด้วยธรรมะแท้ๆ ได้
ทั้งเป็นต้นแบบในเรื่องการถ่ายทอดธรรมะด้วยภาษาที่ง่าย ใช้สำนวนภาษาที่คนรุ่นเราพอเข้าใจได้
อีกทั้งหลวงพ่อฯ ก็เป็นต้นแบบของการรับมือกับผู้มุ่งร้ายด้วยขันติ ทมะ ความสงบ และเมตตา

เมื่อวานเจอรุ่นน้องท่านหนึ่ง ที่อ่อนกว่าด้วยวัย แต่อาวุโสกว่าผมในเรื่องภูมิธรรม
เขาพูดให้ฟังเรื่อง “รูปแบบการใช้ชีวิต” ที่มีผลต่อการภาวนา
เขาบอกว่า สำหรับผู้ปฏิบัติจริงๆ มันแยกกันไม่ออกหรอก ระหว่างการใช้ชีวิตกับการภาวนา
เพราะเราใช้ชีวิตแบบไหน ก็มักจะภาวนาแบบนั้น

ผมขยายความให้ว่า เช่น ถ้าปกติเป็นคนใจร้อน เวลาภาวนา เราก็จะใจร้อน
ถ้าปกติเป็นคนขี้เกียจทำงาน เวลาจะภาวนาก็มักขี้เกียจ
ถ้าปกติเป็นคนคิดมาก เวลาภาวนาก็จะฟุ้งซ่านไปในความคิด
ถ้าเป็นคนมีรูปแบบมาก เคร่งเครียด ไม่ยืดหยุ่น
เวลาภาวนาก็มักจะเคร่งเครียด มีรูปแบบเยอะ ด้วยเช่นกัน

ดังนั้นการมีต้นแบบที่มี “รูปแบบชีวิต” ที่ไปในทางเจริญ สว่าง สงบ
ก็น่าจะเหนี่ยวนำใจเราให้โน้มน้อมไปในทางนั้นด้วย
ลองสำรวจดูนะครับ ว่าต้นแบบในชีวิตเราเป็นใคร
ไม่ต้องเดินตามรอยเท้าท่านไปทุกก้าวก็ได้ เอาแค่เดินบนทางเดียวกัน
ไม่ได้บอกว่าต้องทำทุกอย่างเหมือนต้นแบบ แค่อาศัยแนวทาง
แล้วหาวิธีของตัวเอง ที่เหมาะกับจริตของตัวเอง

พระพุทธเจ้า อาจารย์ใหญ่ของพวกเรา ท่านยังบอกว่า
ความเข้าใจธรรมะ มันเป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ”
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ ก็รู้ได้เฉพาะตน ไม่จำต้องมีใครเหมือน และไม่เหมือนใคร

ครูบาอาจารย์เคยเปรียบว่าผู้ปฏิบัติเหมือนเดินบนทางเดียวกัน
ไปสู่บ่อน้ำเดียวกัน แต่รอยเท้าไม่ซ้ำกัน

สุขสันต์วันที่ยังมีทางดีๆ ให้เราค้น ต้นแบบดีๆ ให้เราดูก็แล้วกันนะครับ