Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๒๒

ของดี

aston2โดย aston27




bank-122

(ขอบคุณภาพประกอบโดยความเอื้อเฟื้อจากคุณแป๋ว SevenDaffodils ครับ)

ใครที่ตามอ่านบทความผมมาระยะหนึ่ง อาจพอจำที่ผมเคยเล่าเรื่องนาฬิกาข้อมือได้
ในบรรดานาฬิกาข้อมือที่ผมมีไม่กี่เรือนนั้น มีอยู่สองเรือนที่เป็นระบบออโตเมติก
แปลว่ามันสามารถแปลงการเคลื่อนไหวเป็นพลังงานแทนการใช้แบตเตอรี่ หรือไขลาน

แต่ทุกอย่างที่มีข้อดีก็ย่อมมีข้อเสียใช่ไหมครับ
ข้อเสียของนาฬิกาออโตเมติกคือ มันมักมีขนาดค่อนข้างใหญ่และน้ำหนักมาก
นานๆ ทีผมถึงจะเลือกหยิบมันมาใช้งานสักครั้ง

หลายปีผ่านไป ผมพบว่ามันกลายเป็นนาฬิกาที่เดินไม่ค่อยเที่ยงตรงนัก
พอเอาไปให้ช่างนาฬิกาดู เขาบอกว่านาฬิกาอัตโนมัติแบบนี้
ควรจะใช้งานสม่ำเสมอ ถ้าไม่ได้ใช้งานควรจะมี “เครื่องเขย่า” ไว้เก็บมัน
เพื่อจะให้ลานของนาฬิกาได้ทำงานสม่ำเสมอและไม่ฝืด
แปลว่าผมก็ต้องซื้อถ่านไฟฉายหรือเสียบปลั๊กเจ้าเครื่องที่ว่าอีกที

ตกลงว่าเราเลือกนาฬิกาอัตโนมัติเพื่อหวังจะได้ไม่ต้องพึ่งพาถ่าน
แต่กลับต้องใช้ถ่านอยู่ดีในที่สุด ตลกดีนะครับ

ผมยังพบอีกว่าในชีวิตของคนเรามีอาการแบบนี้บ่อยๆครับ
เรามักจะลงทุนจ่ายเงินเพื่ออะไรบางอย่างที่คิดว่าจะช่วยทุ่นแรงแบ่งเบาภาระ
เพียงเพื่อจะพบว่ามันมีภาระให้เราเพิ่มอีกหลายอย่าง

อย่างผมซื้อไอโฟนมาใช้งานเครื่องนึง ก็ต้องจ่ายเงินอีกหลายรายการ
เพื่อเป็นค่ากรอบใส่กันกระแทก ค่าฟิล์มกันรอย ค่าแบตสำรอง
ไม่นับรวมค่า application อีกหลายตัวเพื่อความสมบูรณ์ในการใช้

บางคนอุตส่าห์หาคนมาทำงานบ้าน เพื่อจะได้ทุ่นแรงและเฝ้าบ้าน
แต่เอาเข้าจริง ก็ต้องปวดหัวกับการเฝ้าระวังคนงานจะขโมยของในบ้านอีกที

หรืออย่างภาระอันใหญ่อีกอันที่ส่วนมากจะมีกัน คือบ้านกับรถครับ
ตอนมีรถคันแรกผมเห่อมาก พามันไปเปลี่ยนยาง เปลี่ยนผ้าเบรก ติดฟิล์ม
แถมด้วยเปลี่ยนเครื่องเสียงใหม่ เดชะบุญสมัยนั้นยังไม่มี ทีวี DVD ติดรถเหมือนยุคนี้
ไม่ต้องพูดถึงค่าน้ำมัน ค่าประกัน ค่าภาษี ค่าขัดเคลือบสี พ่นกันสนิม
ไม่พูดถึงค่าบำรุงรักษาทุกๆ ๕ พัน หรือหมื่น กม. หรือแบตที่ต้องเปลี่ยนหลังจากปีแรกไม่นาน
แต่พอเข้าปีที่สี่ มันก็เริ่มแสดงอาการจุกจิกให้เห็น และเกเรขนาดดับบนสะพานพระปิ่นเกล้ามาแล้ว
นี่ขนาดผมเป็นคนดูแลรถ เอาใจใส่รถนะ

แต่ภาระที่ใหญ่สุด ไม่ใช่อะไรหรอกครับ ตัวเราเองนี่แหละ
เพราะร่างกายก็เป็นภาระที่เราต้องป้อนข้าวป้อนน้ำทำความสะอาดมันทุกวัน
แต่เชื่อเถอะครับว่า คุณจะดูแลมันดีขนาดไหน วันนึงมันก็จะหักหลังคุณอยู่ดี
ร่างกายก็มีไตรลักษณ์ของเขานะ เขามีความไม่เที่ยงเขาต้องเปลี่ยนแปลง
เพราะมีภาวะของทุกข์คอยบีบคั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
และที่สำคัญ เขาไม่ได้อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาของเราเลย

จิตใจเองก็ใช่ย่อย อย่าคิดว่าไม่เป็นภาระนะครับ
ขณะที่ร่างกายหิวอาหาร จิตใจก็หิวอารมณ์เหมือนกัน
เดี๋ยวก็คิด นึก ปรุงแต่ง เดี๋ยวอยากสุข เดี๋ยวอยากเสพอารมณ์ที่ถูกใจ พอใจ

ครูบาอาจารย์บอกว่า ไอ้ตัวที่เราคิดว่าเป็นของดีของวิเศษ นี่แหละตัวทุกข์
เพราะพระพุทธเจ้าบอกว่า อุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ คือตัวทุกข์
ขันธ์ ๕ ก็คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาน
ย่อลงอีกก็คือ รูป นาม บางทีก็หยวนๆ อนุโลมให้เรียกง่ายหน่อยว่า “กาย ใจ”

ถามว่ารู้แล้วต้องทำไง ตอบว่าไม่ต้องทำไงครับ แค่คอยมีสติรู้ทันมันไว้
เห็นความมีอยู่ เห็นความเป็นไป เห็นความปรุงแต่ง เห็นกิริยาของมัน
เพื่อจะได้เห็นความจริงในวันหนึ่งว่า กายนี้ ใจนี้ มันเป็นตัวทุกข์
เพราะมันไม่เที่ยง มันมีความบีบคั้น มันบังคับสั่งการไม่ได้

ก็เพราะมันไม่ใช่ตัวตนอะไรของเราจริง เราถึงสั่งหรือบังคับอะไรมันไม่ได้
มากไปกว่าคอยเรียนรู้มัน ตามที่มันเป็นจริง
ด้วยเหตุว่าสักวันจิตมันจะได้ฉลาดพอจนยอมรับได้ว่า “มันไม่ใช่เรา”
และ “ตัวเรา” ไม่ใช่สิ่งที่มีถาวรอย่างที่เราเข้าใจ
เห็นว่าตัวเราไม่มีนี่ เป็นพระโสดาบันเลยนะ

แต่ถึงชาตินี้จะยังไปไม่ถึงความเป็นพระโสดาบัน
ถ้ามีสติรู้อยู่เฉพาะหน้าเนืองๆ ก็ยังพอได้รู้ทันว่า
จะอยู่กับสมมติทางโลกยังไงไม่ให้โดนโลกมันหลอกเอา
รู้ว่าอะไรเป็นภาระ อะไรเป็นของหนัก อะไรควรปล่อย ควรวาง

ถามว่า แล้วจะถึงตอนนั้นเมื่อไหร่
ตอบว่า... เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นแหละนะ

สุขสันต์วันที่โลกยังหมุนรอบพระอาทิตย์ครับ