Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๑๖

เติมคำในช่องว่าง

astonโดย aston27




bank-116
(ภาพประกอบโดยความเอื้อเฟื้อของคุณ SevenDaffodils ครับ)

ช่วงนี้เป็นเวลาสอบไล่ปลายภาคของเด็กหลายคน
เด็กบางคนสอบเสร็จแล้ว บางคนยังไม่เสร็จ
บางคนเสร็จแล้วแต่ “เสีย” ต้องสอบใหม่
เสียตรงไหนไม่รู้ล่ะ รู้แต่ครูท่านเรียกให้ไป “ซ่อม”  ^^”

ข้อสอบสมัยนี้จะต่างจากสมัยผมเป็นนักเรียนไหม ผมก็ไม่แน่ใจ
แต่สมัยผมจะแบ่งเป็นสองอย่างใหญ่ๆ คือปรนัยกับอัตนัย
ปรนัยคือข้อสอบที่มีตัวเลือก ก ข ค ง จ
ที่เด็กหัวซนบางคนอย่างผมจะมองเป็นรหัสว่า..“ก่อน เขียน คิดสิ โง่ จริง”
ส่วนอัตนัยคือข้อสอบที่ตั้งคำถามให้ผู้สอบเขียนอธิบายคำตอบ

วิธีออกข้อสอบปรนัยมีแบบหนึ่งที่เห็นบ่อย นั่นคือ “จงเติมคำในช่องว่าง”
เช่น ๑) นายแอสตันหน้าเหมือน.........
ก. เคน ทีละเด้ด
ข. โดม ไปก่อนรำ
ค. แบรต พิษ
ง. มาริโอ้ เมาแล้วเรอ
จ. เห้งเจีย
ไม่ได้ล้อคนหล่อเขานะ ผมล้อตัวเองให้คุณอมยิ้มกัน ^^

ที่พูดถึงข้อสอบแบบนี้ เพราะผมเคยนั่งสังเกตการใช้ชีวิตของผมเองที่ผ่านมา
และชีวิตของคนรอบข้าง ผมพบว่ามันมีลักษณะคล้ายๆ การพยายาม
“เติมคำในช่องว่าง”

ทุกคนคิดคล้ายๆกันว่า ชีวิตมันจะสมบูรณ์ เมื่อ........................
ชีวิตจะมีความสุข ถ้า........................................................
ชีวิตจะดีกว่านี้ถ้า ............................................................

กิจกรรมหลายอย่างที่เราอยากทำ ทำอยู่ และพยายามจะทำ
ไม่ว่าจะมีแฟน มีลูก เล่นเกม ดูทีวี ตีสนุก ขลุกกับเพื่อน  ไปชอปปิง ฯลฯ
ล้วนแต่เป็นไปเพื่อเติมเต็ม “ช่องว่าง” เหล่านี้เป็นส่วนมาก

ข้อสอบสมัยเรียน มันมีถูกมีผิด เติมช่องว่างให้ชีวิตก็มีผิดได้เช่นกัน
อาจมีบางเวลาที่เติมอะไรก็ “ถูกทุกข้อ” และมีบางเวลาที่ “ผิดหมดทุกข้อ”

จุดที่น่าสังเกตมากๆ คือ
กระทั่งคำตอบที่ให้เลือกว่า “ผิดหมดทุกข้อ” ก็ยังได้คะแนนถ้าตอบถูก
เพราะอะไรครับ? ใครตอบได้มั่ง : )

เพราะการรู้ว่าอะไรผิดนั่นแหละ สำคัญไม่แพ้การรู้ว่าอะไรถูกเลยนะ
เคยมีติวเตอร์บางคนสอนวิธีทำข้อสอบว่า อย่าเพิ่งมองหาข้อที่ถูก
เพราะบางทีคนออกข้อสอบเขาสับขาหลอกพวกมือไวใจเร็วนี่แหละ
แต่ให้ตั้งสติ แล้วตัดข้อที่ผิดออกไปก่อน จนเหลือตัวเลือกน้อยที่สุด

แล้วถ้าคนออกข้อสอบชีวิตให้เราตอบเป็นมือระดับพญามาร
ท่านก็คงสับขาหลอกเก่งไม่แพ้คริสเตียนโน โรนัลโด เหมือนกัน

บางคนได้ข้อเสนอที่ (ดูเหมือน) ดี เพราะดูสบาย แถมเงินงามไปสามชั่วคน
แต่ต้องเกี่ยวข้องกับอะไรที่ผิดศีล ผิดธรรม ทำให้ตัวเองและคนอื่นเดือดร้อน
ถ้าไม่ใช้วิธีตัดข้อผิดออกไป เราก็อาจเลือกทางสายนี้ได้ง่าย
ด้วยเหตุผลอย่างที่เราได้ยินบ่อยๆ ว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน”

การเจริญสติ พัฒนาจิต จนมีสมาธิตั้งมั่น เดินปัญญาได้
เบื้องต้นก็เป็นไปเพื่อให้รู้ทันกิเลสที่อัดเต็มช่องว่างในใจเรา
ตัดตัวเลือกที่ผิดออกไปได้ ก่อนจะเรียนรู้สิ่งที่ถูกนี่เอง

ไม่ว่าวันนี้โจทย์ชีวิตคุณจะยากขนาดไหน
ขอให้เติมคำในช่องว่างนั้น ด้วยสติ เมตตา และปัญญานะครับ

สุขสันต์วันที่ชีวิตยังมีช่องว่างให้เติมอยู่ครับ