Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๑๐๙

พ่อครัวหัวป่าก์ ภาค ๒

aston2โดย aston27




bank109-1

ตอนที่แล้วผมเขียนถึงเรื่องการปรุงอาหาร
ในเชิงเปรียบเทียบกับการทำเหตุแห่งความสุขในชีวิต 

พอกลับมาอ่านย้อนดูอีกที ก็เห็นว่าน่าจะพูดเลยไปอีกหน่อย
(ฉะนั้น ท่านใดยังไม่ได้อ่านภาคแรกของตอนนี้
แนะนำให้ย้อนไปอ่านก่อนนะครับ) 

เคยมีคนถกกันว่าตกลงการทำอาหาร มันเป็นศาสตร์หรือศิลป์
เป็นศาสตร์ หมายถึงต้องมีหลักการ มีทฤษฎีมารองรับจับต้องได้
เป็นศิลป์ หมายถึงต้องใช้ ใจทำ มากกว่ากางตำรา

ถ้าถามผม ผมว่ามันเป็นทั้งสองอย่าง แล้วแต่จะเริ่มจากอะไร
บางคนเริ่มต้นจากศิลป์ก่อน คือดุ่ยๆ ลุยทำ คลำทางไป ใช้ความรู้สึก
พวกนี้เขาไม่ค่อยเน้นความเป๊ะของส่วนผสม
บางทีใส่เกลือ พริกไทย ก็ใช้มือกะๆหยิบๆโยนๆ
ชิมดูให้มันกลมกล่อม ถูกปาก ไม่สากลิ้น เป็นใช้ได้

แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีหลักการอะไรเลยนะ
อย่างน้อยก็ต้องแยกออกบ้างว่าอันไหนเนื้อหมู หมา กา ไก่
ต้องรู้จักเกลือว่าไม่ใช่น้ำตาล รู้ว่าใบมะกรูดไม่ใช่ตะไคร้

ทำไประยะหนึ่ง ถ้าช่างสังเกตก็จะเริ่มเกิดความรู้เองว่า
จะทอดไข่ ใช้น้ำมันอะไรดี ตีให้ขึ้นฟองต่างกับไม่ขึ้นฟองยังไง
น้ำปลาใส่เท่าไหร่ น้ำมันหอย ต้นหอม ใส่ดีไหม

บางคนเริ่มจากทฤษฎี พวกนี้ความรู้จะแน่น
รู้กระทั่งว่า ส่วนผสมแต่ละอย่าง มันทำหน้าที่อะไรในจานนั้น
รู้ว่าอะไรให้รสเปรี้ยว รสฝาด รสเฝื่อน เพื่อแก้เลี่ยน
แต่ถ้ามัวแต่เรียนจากตำรา ไม่เข้าครัวลงมือลองทำเลย
ชาติหน้าตอนบ่ายๆ ก็อย่าหมายจะทำอาหารได้เก่ง

จะเริ่มต้นวิธีไหน มันก็มีความยากของมัน
แต่สุดท้ายก็ต้องไปลงที่จุดเดียวกัน คืออาหารอร่อย
และส่งผ่านปาก ลากลงคอ ไปที่เดียวกัน

อยากบอกว่าการปฏิบัติธรรมก็มีลักษณะคล้ายกัน
คือมันเริ่มต้นได้สองทาง บางคนไปเรียนปริยัติอัดทฤษฎีก่อน
บางคนลงมือเจริญสติ ทำสมถะ วิปัสสนากรรมฐาน กันไปเลย

กระทั่งกรรมฐานก็ยังมีฐานให้ลงมือกระทำ หรือเจริญสติตั้งหลายอัน
กระทั่งจะรู้กาย เวทนา หรือรู้จิต ก็ยังมีเทคนิคแตกต่างกันเยอะแยะ
บางคนเรียนมาทางนั่งสมาธิดูพองยุบ ดูลมบ้าง พุทโธบ้าง
บางคนเน้นเดินจงกรมบ้าง ขยับมือสร้างจังหวะบ้าง

ก็เหมือนอาหารที่มีหลากหลายสไตล์ให้เราเลือกทำ
จะอิตาเลี่ยน เดียนเบียนฟู ดูไบ ไทยอีสาน อาหารญวน
ลงท้ายก็มาจบที่ความอิ่มอร่อย ผ่านลิ้นลงคอไปหากระเพาะเหมือนกัน

ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่เราปรุงอาหารอะไร
อันนั้นมันเป็นเรื่องจริต ความชอบ
อย่าไปนั่งเถียงกันว่าลาซานญ่าดีกว่าน้ำพริกปลาทู

ถ้าที่สุดแล้ว มันเป็นกรรมฐานที่เนื่องด้วยกาย ใจ
มันเป็นไปเพื่อเห็นความจริงของกายและจิต
เห็นความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย
ไม่ใช่เพราะการสั่งการ ตามใจอยากของเรา

กรรมฐานอันนั้น ใช้ได้เหมือนกันครับ

เหมือนอาหารที่ไม่สำคัญว่ามันมาจากชาติอะไร สวยงามขนาดไหน
ถ้าทำแล้วไม่สามารถเอาเข้าปากไม่ได้ กลืนไม่ลง ก็คงจบกัน

สุดท้ายอยากบอกว่าตอนเริ่มต้นทำอาหารใหม่ๆ
มันก็จะเก้ๆกังๆ ละล้าละลังอยู่บ้าง ก็ช่างมัน

รู้ทันใจตัวเองไว้ แล้วอย่าเพิ่งท้อหรือล้มเลิก
ค่อยๆสังเกตตัวเอง แล้วเทียบกับหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าให้ไว้

ไม่ว่าจะเป็นผู้ภาวนาหรือพ่อครัวหัวป่าก์
ชั่วโมงบินเป็นสิ่งสำคัญนะครับ

สุขสันต์วันที่เรายังทานอาหารทางปากครับ