Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๙๖

หิว โหด หิน เรื่อง กิน โกรธ กับกิเลส

aston2โดย aston27




bank096
(ภาพประกอบโดยความเอื้อเฟื้อของคุณ
SevenDaffodils ครับ)

ผมเป็นคนมีสุขนิสัยในการทานอาหารค่อนข้างแย่
ถ้ามีแม่เป็นนักโภชนาการคงโดนบ่นเช้าบ่นเย็นเพราะทานไม่ค่อยเป็นเวลา
จนชวนสงสัยว่า ทำไมถึงไม่เป็นโรคกระเพาะมาถึงปูนนี้

ส่วนหนึ่งเพราะผมมีทัศนคติว่าการกินเป็นภาระของมนุษย์
และเป็นกิจกรรมสนองกิเลสได้ง่าย
บางวันผมไม่ทานอะไรเลยเพราะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ทำงานทั้งวัน
ก็ยังแอบรู้สึกดีรู้สึกเก่ง ว่าเรามีความสามารถในการอดอาหาร

ผมสังเกตว่าวันไหนไม่ได้ทานมื้อเที่ยง ผมจะต้องทานมากขึ้นในมื้อเย็น
ซึ่งเป็นภัยสำหรับคนต้องการห่างไกลพุงอย่างผม

หลายท่านหันมาสนใจปฏิบัติธรรม ก็มีลักษณะคล้ายกันคือ
มุ่งหวังตั้งใจจะเอาชนะกิเลส ด้วยการกดข่มมันไว้ หรือเพิกเฉยเสีย

เช่นอยากทาน ก็พยายามเอาชนะด้วยการอดอาหาร
หรือโกรธใคร ก็พยายามระงับความโกรธด้วยการบังคับใจไม่ให้โกรธ
ด้วยวิธีใช้สมาธิข่มไว้บ้าง ใช้ความคิดกดทับมันไว้บ้าง

ครูบาอาจารย์ท่านเรียกกรรมฐานแบบนี้ว่า หินทับหญ้า
คือกำจัดหญ้า โดยการเอาหินไปวางทับไว้ พอหญ้าไม่โดนแดด ก็ตายไป
แต่เพียงแค่ชั่วคราวนะครับ ยกหินออกไปเมื่อไหร่ หญ้าก็งอกขึ้นใหม่ได้เช่นเดิม

ที่เป็นอย่างนั้นได้เพราะรากของหญ้ามันยังอยู่
เราเอาหินไปทับไว้ ก็เพียงแค่กำจัดผลของมันได้ชั่วคราว
เมื่อเหตุยังไม่หมด ผลก็เกิดได้อีก เมื่อมีปัจจัยเหมาะสม
เหมือนผมอดอาหารได้ก็บางมื้อบางวัน
ผมไม่มีทางอดได้ตลอดไปหรอก ใครเคยถือศีล ๘ จะเข้าใจดี

พูดแบบนี้บางท่านนึกค้านในใจ อาจเพราะเคยได้ยินข่าว
เรื่องโยคีในอินเดียที่เข้าสมาธิแล้วไม่ทานอะไรเลยได้เป็นปีๆ

บางคนตื่นเต้นยินดี แต่ใครที่นั่งสมาธิเก่งจะทราบว่ามันไม่แปลก
เพราะสมาธิขั้นก้าวหน้ามากๆ จะทำให้ร่างกายมีการเผาผลาญน้อยมาก
เหมือนคุณเข้าโหมด Sleep ในโน้ตบุ๊กของคุณ เพื่อรักษาแบตเตอรี่ยังไงยังงั้น
เครื่องยังเปิดมั้ย เปิดอยู่ แต่แทบจะไม่ได้ใช้แบตเลย

แต่คำถามคือ เราจะเข้าฌานอยู่ในสมาธินั้นตลอดไปได้หรือเปล่า
เราจะปล่อยให้โน้ตบุ๊กอยู่ใน SLEEP MODE โดยไม่ใช้งานมันเลยได้นานแค่ไหน

ถามว่าถ้าอย่างนั้นต้องทำอย่างไร ตอบว่าพระพุทธเจ้าท่านเคยลองผิดลองถูกมาหลายวิธีครับ
ก่อนจะทรงค้นพบทางสายกลางในการเอาชนะกิเลส
ทางสายกลางที่ว่าคือความพอดี ไม่ตึง ไม่หย่อนจนเกินไปในการปฏิบัติ

ท่านบอกว่าไม่พึงไหลไปในกามตามกิเลส แต่ก็ไม่พึงบังคับกดข่มไว้
คือการคอยรู้ทันกิเลสทั้งหลายแต่ไม่ปฏิเสธมัน ไม่สรรเสริญแต่ก็ไม่รังเกียจ

เช่นอยากทาน รู้ทันใจที่อยาก เมื่อมีสติแล้วก็ทานตามสมควร
ไม่ทานเพื่อสนองตัณหา แต่ทานเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย

หรือใครที่โกรธ ให้รู้ทันใจที่กำลังโกรธด้วยความเป็นกลาง
ยอมรับในสภาวะนั้นโดยไม่พยายามกดข่มมัน
เห็นใจที่เร่าร้อนเพราะโดนโทสะแผดเผา แล้วถือศีล ๕ ไว้
ไม่ก่นด่าออกไปด้วยโทสะ แต่ไม่มุ่งหวังจะบังคับกดข่มไม่ให้โกรธเลย

ตรงกันข้าม เราสามารถนำความโกรธ มาเป็นบทเรียน เป็นแบบฝึกหัดในการเจริญสติ
เห็นอนิจจังความไม่เที่ยงของจิตที่โกรธ เห็นทุกขังความบีบคั้นเป็นทุกข์ในจิตที่กำลังโกรธ
หรือเห็นอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน เห็นใจมันโกรธได้เองโดยเราไม่ได้สั่ง บังคับก็ไม่ได้

ศาสนาพุทธสอนให้เรากำจัดกิเลสกำจัดทุกข์ที่ต้นเหตุของมัน ไม่ใช่ที่ปลายเหตุ
จะกำจัดหญ้าต้องกำจัดที่ต้นตอของมัน ไม่ใช่ตัดแต่ใบ หรือเอาหินทับไว้

การเจริญสติก็เช่นกัน เราเจริญสติเพื่อจะได้เกิดจิตที่ตั้งมั่น รู้ความจริงของกายใจ
เห็นไตรลักษณ์จนจิตมีปัญญา เพิกถอนความหลงผิดคิดว่าตัวตนมีอยู่
ไม่ใช่เพื่อให้สามารถบังคับกายไม่ให้ทุกข์ บังคับใจไม่ให้มีกิเลส

เราไม่เอาหินไปทับหญ้า ไม่ได้ปฏิเสธหญ้า แต่เราเอาดินออกไปจากหญ้า
หญ้าหมดดินจะหยั่งราก กิเลสไร้ตัวตนจะหยั่งลง
ก็คงไม่มีหญ้ารกให้รำคาญ แลไม่มีกิเลสต้องให้คอยกำจัด
เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นนะครับ ท่องไว้?

ยังไงก็สุขสันต์วันที่ยังมีหญ้าให้ถอนไปก่อนก็แล้วกันนะครับ Smile