Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๙๕

เรื่องของตัวตน กับคนระลึกชาติ

aston2โดย aston27



95_bank

หลังจากผจญกับข่าวร้ายมาหลายวัน จู่ๆก็มีข่าวดีข่าวหนึ่งสำหรับคนไทยหลายคน นั่นคือข่าวการได้รับรางวัลปาล์มทองคำของผู้กำกับชาวไทยที่ชื่อว่า เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

สำหรับคนที่เป็นคอหนัง คงทราบดีว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผลงานของคุณเจ้ย ได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศฝรั่งเศส แต่ครั้งนี้นับว่าพิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะปาล์มทองคำ ถือเป็นรางวัลสำคัญและใหญ่ที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์แห่งเมืองคานส์

สิ่งที่น่าสนใจคือ ผลงานของคุณเจ้ยแทบทุกเรื่องที่ผ่านมาได้รับการกล่าวขวัญในบรรดาผู้ชมชาวไทยจำนวนมากว่าเป็นหนังที่ดูยาก เข้าใจยากมากจนถึงไม่เข้าใจเลยว่าคุณเจ้ยต้องการจะบอกอะไร และเป็นเหตุให้หนังส่วนมากของคุณเจ้ย ไม่ได้รับความนิยมเมื่อวัดเป็นยอดรายได้จากการขายบัตร

เที่ยงของวันเดียวกัน หลังจากได้ยินข่าวดีที่ว่า ผมถามน้องที่จบเอกภาพยนตร์ซึ่งไปนั่งทานข้าวด้วยกันว่า ระหว่างเป็นคนทำหนังแบบเจ้ย ได้กล่องไม่ได้ตังค์ กับผู้กำกับแบบไมเคิล เบย์ ได้ตังค์ไม่ได้กล่อง จะเลือกอันไหน

ผู้ถูกผมยิงคำถามหัวเราะแหะๆ คําตอบที่ได้คือขอเป็นแบบละครึ่งได้ไหมพี่ อันนี้น่าสนใจ ว่าจะเรียกว่าประนีประนอม หรือไม่ชัดเจนในจุดยืน :) แต่น่าคิดนะครับ? ผมเชื่อว่าถ้าไปถามอีกคนก็อาจได้คําตอบว่า ขอเป็นเจ้าของโรงหนังดีกว่า เสือนอนกินเห็นๆ หรือไม่ก็เป็นนักวิจารณ์อาจมีความสุขกว่า

ความสุขของแต่ละคนมันมีนิยามต่างกัน เจ้ยก็มีความสุขที่ได้ทําหนังแบบของเขา ไมเคิล เบย์ก็มีความสุขกับหนังแอคชั่น เจ้าของโรงหนังหรือเหล่านักวิจารณ์ก็อีกอย่าง

คำถามคือ เรารู้จักตัวเองจริงๆหรือเปล่าว่าเราเป็นใคร เราชอบไม่ชอบอะไรโดยไม่เกี่ยวว่าคนอีกล้านคนจะชอบอะไร เราไม่จําเป็นต้องทําตัวให้เหมือนหรือให้ต่างจากใคร เพื่อจะมีความสุข เพราะถ้าหาตัวเองเจอ มันก็มีความสุขไม่ว่าจะเหมือนหรือต่าง

ความเหมือน ความต่างเป็นจุดขายสำคัญที่นักการตลาดชอบใช้ เพราะรู้ว่ามนุษย์รักและหวงแหนในตัวตน จึงอยากมี Identity ที่ไม่เหมือนใคร จะว่าไปก็เหมือนปูเสฉวนเลือกเปลือกหอย ยังไงยังงั้น แต่ลืมไปว่าคนจํานวนมากก็คิดอย่างเดียวกันคือ อยากแตกต่าง ฉะนั้นยิ่งพยายามต่าง ก็ยิ่งเหมือน

ในพีระมิดของมาสโลว์ บอกว่าที่สุดของมนุษย์ หาใช่การมีตัวตนที่ประสบความสำเร็จ หรือ Esteem ไม่ แต่คือการค้นพบและรู้จักตัวเองที่เขาเรียกว่า Self actualization

ผมไม่ทราบว่ามาสโลว์รู้จักวิปัสสนาไหม นับถือพระพุทธเจ้าหรือเปล่า ทราบแต่ว่า self actualization ของเขามันถอดหลักวิปัสสนาออกมาอย่างน่าตกใจ

มาสโลว์บอกว่า Self actualization เป็นเรื่องของศีลธรรม (Morality) ปัญญา (Creativity) การอยู่กับปัจจุบันเฉพาะหน้า (Spontaneity) การแก้ไขปัญหา (Problem Solving) โดยปราศจากอคติ (Lack of prejudice) และยอมรับความจริง (Acceptance of Facts)

ในขณะที่ครูบาอาจารย์จะสอนว่า วิปัสสนา คือการเรียนรู้กายใจ ตามความเป็นจริงด้วยจิตตั้งมั่นและเป็นกลาง เรียนด้วยการพัฒนาสติ ให้จิตเคยชินกับการรู้เนื้อรู้ตัว ไม่ไหลไป เมื่อจิตตั้งมั่นมีกำลัง ก็จะเห็นความจริงของตัวตน คือกายและใจ ว่ามันมีความจริงเป็นอย่างไร

ถ้าเห็นความจริงมากพอ พระพุทธเจ้าบอกว่าจะเกิดปัญญา ถ้ามีปัญญามากพอจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลก ในกายใจ ในสุขในทุกข์ ปล่อยวางได้มีสุขแท้ๆ? ปลายทางของพีระมิดของมาสโลว์ เขาไม่ได้บอกว่า Self actualization แล้วจะเป็นไง แต่พระพุทธเจ้าเฉลยไว้ให้แล้วว่า นิพพานมีลักษณะสงบสันติ ไม่ปรุงแต่ง ไม่ทะยานอยาก เป็นอิสระจากกิเลสทั้งปวง

พระพุทธเจ้าบอกทางไว้ว่าถ้าอยากเห็นนิพพาน ไม่ต้องทําพิธีอะไร ไม่ต้องไหว้พระ ๙ วัด ให้คอยรู้สึกตัว ให้สติมันเจริญก้าวหน้าไว้ กายเคลื่อนไหว หัดรู้สึกว่ามันขยับ ใจคิดนึกปรุงแต่งรักโลภโกรธหลง ก็รู้ทันว่ามันเป็นอย่างนั้น ถ้าหัดไปอย่างนี้ รู้ตามความจริง จะค่อยๆเข้าใจที่พระพุทธเจ้าเฉลยไว้ว่า ตัวตนไม่เคยมีในอดีต ไม่มีในปัจจุบัน และจะไม่มีในอนาคต

ที่มีๆเราๆท่านๆอยู่เป็นแค่ธาตุ เป็นความหลงผิดว่าตัวตนมีอยู่ ว่ากายนี้ใจนี้เป็นตัวเรา ฉะนั้นท่านจึงว่าบุคคลจะหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา บางท่านจึงสอนเคล็ดวิชาว่า เราไม่ได้ปฏิบัติเพื่อละวางตัวตน เพราะตัวตนไม่เคยมีจริง แต่เพื่อละวางความเข้าใจผิดคิดว่ามีตัวตน ความไม่รู้

ใครจะดูหนังคุณเจ้ยแล้วสนุกไม่สนุก เข้าใจหรือไม่เข้าใจอะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่า เรารู้จักและเข้าใจตัวตนของเราเองขนาดไหน

ถ้าไม่ลงมือตั้งแต่วันนี้ เกิดเป็นลุงบุญมีชาติหน้า แล้วระลึกชาติได้อย่างชื่อหนัง จะมานั่งเสียดายว่า รู้งี้ภาวนาเสียตั้งแต่ชาติก่อนๆแล้ว

เชื่อลุงบุญมีเขาบ้างนะครับ