Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๘๗

โปรตุเกส โปสเตอร์ ๕ ใบ กับความเข้าใจเรื่องภาษา

astonโดย aston27



ผมเป็นคนไม่ชอบเล่นน้ำ แต่ชอบนั่งเรือครับ?
สมัยก่อนตอนเรียนอยู่ท่าพระจันทร์ ก็นั่งเรือด่วนไปเรียนบ่อยๆ
ช่วงที่เลยโรงแรมโอเรียนเต็ลมา ฝั่งพระนคร จะเห็นอาคารเก่าๆ?
แต่ดูสวยคลาสสิกสีขาวๆ อยู่อันหนึ่ง ตั้งอยู่ริมน้ำ?
มาทราบในภายหลังว่า นั่นคือสถานทูตโปรตุเกส

เคยนึกขำๆ เล่นๆ กับตัวเองว่า
ถ้าวันหนึ่งรวยแบบมหาศาล ผมจะมาซื้อที่นี่ไว้เป็นบ้าน
ด้วยความที่ชอบทำเลและภูมิสถาปัตย์เป็นอย่างยิ่ง
อันนั้นก็ฝันกลางน้ำไปแหละครับ

ถึงจะยังไม่มีแนวโน้มว่าฝันกลางน้ำของผม จะได้ยกพลขึ้นบกในชาตินี้
แต่อย่างน้อย สองสัปดาห์ก่อน
ผมก็ได้ไปเหยียบสถานทูตโปรตุเกสแล้วล่ะน่าเหตุเพราะต้องบินไปประชุมที่ลิสบอน
เลยต้องไปเสนอหน้าขอวีซ่าเข้าเมืองเขา

ระหว่างที่นั่งรอเจ้าหน้าที่เขาเรียกไปคุย
ผมก็มองโน่นมองนี่ตามประสาคนอยากรู้อยากเห็น
แล้วก็เห็นโปสเตอร์ส่งเสริมการท่องเที่ยวของเขาติดเรียงกันเป็นชุด ๕ ใบ

แต่ละใบเป็นภาพอะไรบ้าง จำไม่ได้ตามฟอร์มปลาทองขั้นเทพครับ
จำได้แต่ว่า แต่ละใบมีคำอธิบายภาพเป็นตัวใหญ่ๆ ต่างกันไป
ใบแรกพูดเรื่อง "ความรัก" ใบที่สอง "ความสงบ"
ตามมาด้วย "ความสร้างสรรค์" "ความฝัน" และ "ความกลมกลืน"

เขาไม่ได้เขียนเป็นภาษาไทยหรอกนะ แต่เขียนไว้เป็นคำใน ๕ ภาษา
เรียงจากบนลงล่างได้ดังนี้ อังกฤษ เยอรมัน โปรตุกีส ฝรั่งเศส สแปนิช
ลูกน้องที่ไปด้วยถามว่า ผมรู้ได้ไง ตอบไปว่าอาศัยความรู้ติดก้นหม้อนิดๆ หน่อยๆ

การเห็นโปสเตอร์ห้าใบมาติดเรียงกัน ทำให้ผมได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งว่า
บางที คำที่มีความหมายเดียวกัน อาจจะเขียนต่างกันโดยสิ้นเชิงในแต่ละภาษา
อย่าง "ความฝัน" อังกฤษเรียกว่า Dream เยอรมันเรียก Traum
โปรตุเกสเรียก Sonho ฝรั่งเศสเรียก R?ve สแปนิชเรียก Ensueno
ถ้าผมเข้าใจอันไหนผิด แล้วใครทราบ ช่วยบอกด้วยนะครับ

แต่ในขณะเดียวกัน บางคำ ถึงจะต่างภาษาก็เขียนเหมือนกันมากอย่างไม่น่าเชื่อเช่น
"ความรัก" อังกฤษ โปรตุเกส ฝรั่งเศส สแปนิช เขียน Romance เหมือนกันหมด
แม้จะออกเสียงต่างกันนิดหน่อย
ในขณะที่เยอรมันเขียน Romantik เปลี่ยนท้ายนิดเดียว

หรืออย่างบางคำเขียนคล้ายๆกัน ออกเสียงก็คล้ายกัน เช่น "ความกลมกลืน"
อังกฤษเขียน Harmony เยอรมันกับฝรั่งเศสเขียน Harmonie เหมือนกัน
โปรตุเกสเขียน Harmonia สแปนิชเขียน Armonia

ถามว่า เรื่องนี้มันสอนอะไรผมบ้าง ตอบว่า ก็หลายเรื่องอยู่นะ
แต่ที่สำคัญที่สุดคือความจริงว่า การพูดหรือบอกเล่าเรื่องหนึ่ง
ภาษาที่ใช้อาจจะเหมือนหรือต่างจนดูราวกับเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

อย่างเราจะอธิบาย "ความสงบ" ให้คนอังกฤษ ก็ต้องบอกว่า Tranquility
จะบอกคนเยอรมันต้องพูดว่า Ruhe พูดกับคนโปรตุเกสก็ว่า Tranquilidade
คนฝรั่งเศสต้องพูด Tranquilit? ทั้งที่พูดเรื่องเดียวกันนี่แหละนะ

เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่หลายท่าน ตั้งข้อสงสัยว่า
ทำไมครูบาอาจารย์บางท่านก็สอนคล้ายกัน บางท่านก็สอนต่างกับท่านอื่น
ที่เห็นสอนไม่ตรงกับครูบาอาจารย์ของตัวเอง แล้วไปปรามาส ว่าท่านสอนผิด ก็มี

จะไปดูในพระไตรปิฎก
พระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่ได้ทรงบอกรูปแบบตายตัวของการภาวนาไว้เสียด้วย
ว่าจะถ้าจะเดิน ต้องเดินท่าไหน ยืนท่าไหน เอามือไว้ตรงไหน
ต้องหายใจสั้นหรือยาว

ท่านบอกแต่ "หลัก" ของการภาวนา ว่ากายเป็นอย่างไร
ให้รู้ตามความเป็นจริงจิตใจเป็นอย่างไร ก็ให้รู้ตามความเป็นจริง
จะรู้ลม รู้มือ รู้เท้า รู้ท้อง รู้จิต รู้อะไรก็ได้

เหตุผลเพราะท่านทรงรู้ว่า จริตของแต่ละคน มันแตกต่างกันครับ
บางคนเหมาะจะทำสมถะแล้วขึ้นวิปัสสนา
บางคนเหมาะจะเรียนวิปัสสนาแล้วตามเก็บสมถะไประหว่างทาง
บางคนเหมาะจะเริ่มจากดูกาย บางคนต้องเริ่มจากดูเวทนา
บางคนเหมาะกับดูจิตท่านถึงมีกรรมฐานไว้ให้หลากหลาย ด้วยเหตุนี้

ฉะนั้น ครูบาอาจารย์เวลาสอน ท่านก็มี "ภาษา" หรือลีลาการสอนต่างกัน
ลองจินตนาการว่า สำนักหนึ่ง อาจจะเหมือนคนอังกฤษ
อีกสำนัก อาจจะเหมือนเยอรมัน
สำนักนี้เหมือนโปรตุเกส สำนักนั้นเป็นฝรั่งเศส สำนักโน้นเป็นสแปนิช

แต่ละสำนักก็สอนด้วย "ภาษา" ของตัวเอง แต่ถ้าพูดเรื่อง "ฝัน" จะเรียกว่า Dream
จะเรียกว่า R?ve เรียก Sonho หรือ Ensueno หรือ Traum
มันก็พูดเรื่องเดียวกันนั่นแหละ

ใครจะถนัดเรียนกับสำนักไหน เพราะชอบที่มันคล่องปาก
ชอบว่ามันง่าย หรือมันท้าทายดี ก็เรียนไปนะครับ
แต่ถ้าเรียนกับสำนักหนึ่งแล้ว ไม่ชอบใจ
ก็อย่าไปปรามาสครูบาอาจารย์ ว่าท่านสอนผิด
ถ้ามีคนพูดได้แต่อังกฤษ ไปฟังคนฝรั่งเศสพูด
แล้วว่าเขาพูดผิด ผมก็ว่าฉลาดน้อยอยู่นะ

เพราะตราบใดที่ท่านสอน แล้วมีคนเห็นความจริงของกายใจ
เดินปัญญาแจ้งในทุกข์ในไตรลักษณ์ได้
ก็ไม่มีเหตุที่จะไปปรามาสว่าท่านสอนผิด
ในเมื่อพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ทรงมีกรรมฐานตายตัวที่ดีที่สุด

ภาษาอังกฤษอาจจะเป็นภาษาที่มีคนพูด คนใช้ คนเรียนมากที่สุด
แต่ก็ใช่จะเป็นภาษาเดียว ที่จะบอกทาง นำทาง
ให้คนพ้นทุกข์ขึ้นฝั่งพระนิพพานเสียเมื่อไหร่

สุขสันต์วันที่เรายังมีภาษาพูดกันก็แล้วกันครับ

?