Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๘๕

astonจิตกับความคุ้นเคย

โดย aston27

?

สองปีก่อน ผมไปงานเลี้ยงรุ่นกับเพื่อนมัธยม
ผมเรียนโรงเรียนชายล้วนและคนจัดเขามีกติกาว่าห้ามพาแฟนหรือภรรยาไป

บอกเท่านี้ก็คงพอเดาออก ว่าจะมีอะไรในงาน

ถ้าเป็นเมื่อก่อน ผมมักจะหดหู่กับโชว์ที่ผู้หญิงต้องมาเปลืองเนื้อเปลืองตัว
ท่ามกลางสายตาและมือผู้ชายแปลกหน้า

แต่หลังๆ มา ผมเริ่มถือหลักว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
ถ้าจะมีก็คงเห็นใจเพื่อนร่วมทุกข์เพศแม่อยู่พอควร
เอาแค่เราดูอยู่ห่างๆ ไม่เข้าไปร่วมด้วย ก็พอแล้ว

เวลาอยู่กับคนหมู่มาก ผมมักจะทำตัวปกติ ไม่แสดงออกว่ารังเกียจรังงอนอะไร
โดยเฉพาะเรื่องรสนิยมส่วนตัว และการใช้ชีวิต
เพราะเข้าใจได้ว่า ทุกคนมีวิจารณญาณของตัวเอง

ใครที่รู้สึกคล้ายกับผม เคยสงสัยไหมครับ
ว่าทำไมเรื่องที่เป็นของขมๆ สำหรับเรา
มันเหมือนของหวานสำหรับคนอีกหลายคน

ปกติผมชอบทานมะระ ทั้งมะระผัดไข่ ต้มมะระกระดูกหมู
ไปจนถึงมะระสดๆ ที่ทานกับกุ้งแช่น้ำปลา
ทานมานาน จนจำไม่ได้ว่า ครั้งแรกที่ริหัดทานมะระนั้น ผมอายุเท่าไหร่

ผมเคยนึกเล่นๆบ่อยๆว่า... จริงๆจะว่าไป มะระนี่มันก็ขมนะ
แต่ทำไมเอามาปรุงเป็นอาหารแล้วมันอร่อย อร่อยทั้งที่มันขมอยู่นั่นแหละ

มีอะไรอีกหลายอย่างในชีวิต ที่เป็นของ "ขม"
สำหรับคนหนึ่ง แต่อร่อยสำหรับอีกคน

คำตอบที่อธิบายได้เรียบง่ายที่สุดคือ... เพราะเราเคยชินกับมัน จนยอมรับได้ว่า

...มันเป็นของมันอย่างนั้นแหละ

คล้ายกับเรื่องรถติด คล้ายกับเรื่องอีกหลายเรื่อง ที่เราอยู่กับมันได้
เพราะเราเคยชินและยอมรับมัน ไม่ว่าจะรับแบบเต็มหัวใจหรือครึ่งเสี้ยวใจ ว่า?

...มันเป็นของมันอย่างนั้นแหละ

ถามว่า...แล้วดีหรือไม่ดี?
ตอบว่า...บางอย่างก็ดี บางอย่างก็ไม่ดี

เพราะบางอย่าง เช่นการคุ้นชินยอมรับความขมในมะระได้
มันก็เป็นเรื่องดีกับสุขภาพนะ

แต่บางอย่าง เช่นคุ้นชินกับควัน กับกลิ่นไอระเหยของสารพิษบางอย่าง
เช่นบุหรี่หรือยาเสพติด ก็ไม่ดี

หรืออย่างคนหลายคน คุ้นเคยกับการอยู่กับธรรมะ มันก็ดีกับชีวิตตัวเอง
ในขณะที่คนหลายคน คุ้นเคยกับความโลภโกรธเกลียดชัง มันก็กัดกร่อนชีวิตตนเอง

ความคุ้นเคย นี่เอาเข้าจริงๆ มันมีผลเยอะเอาเรื่องนะครับ

สมัยเรียนจบใหม่ๆ ผมมีโอกาสกลับไปทำงานที่เชียงใหม่ สามปี
อยู่ที่นั่นจนคุ้น เวลาเขาให้กลับบ้าน หรือเข้าประชุมที่กรุงเทพ
ผมจะรู้สึกตลอดเวลาว่า ผมมาธุระ เชียงใหม่ต่างหากที่เป็นบ้าน

เพราะเราคุ้นเคยกับจังหวะชีวิต ความเป็นอยู่แบบเชียงใหม่ไปแล้ว
แต่พอกลับมาอยู่กรุงเทพนานๆเข้า ก็ค่อยๆปรับตัว คืนสภาพเดิมอีกครั้ง

เมื่อตอนบ่าย นั่งคุยกับพี่คนนึง เรื่อง PC กับ Mac ว่าอันไหนใช้ง่ายกว่า
ได้คำตอบว่า คนไหนคุ้นเคยกับอันไหน ก็ชอบอันนั้นแหละ

คนใช้ PC จนเคยชิน พอไปใช้ Mac มักจะงงงวยระทวยจิต
คนใช้ Mac จนคุ้นเคย ก็เหมือนกัน ไปใช้ PC แล้วจะรำคาญ

ผมเลยอดคิดไม่ได้ว่า สุข ทุกข์ในชีวิตคนเราแต่ละคน
ส่วนนึง มันแตกต่างเพราะการคุ้นเคยและยอมรับเหมือนกันนะ

คนที่ทำงานอาสาสมัคร ป่อเต็กตึ้ง ร่วมกตัญญู
เจอคนตายบ่อยๆ ก็จะไม่ค่อยกลัวผี

คนที่เจริญมรณานุสสติ เรื่องความตายเป็นของธรรมดา ก็จะไม่กลัวตาย

คนที่ภาวนา รู้กายรู้ใจตัวเองบ่อยๆ ก็จะคุ้นเคยกับการมีสติ รู้ตัวได้ว่องไว
คนที่หลงเผลอ เหม่อลอยบ่อยๆ ก็จะคุ้นกับการหลงจมในความคิดของตัวเอง

เคล็ดลับสำคัญของการภาวนา ช่วงแรก คือการสร้างความเคยชินนี่แหละครับ
ทำยังไงก็ได้ ให้จิตคุ้นเคยกับการรู้สึกตัว ย้อนมารู้กาย รู้ใจตัวเองเนืองๆ บ่อยๆ

ครูบาอาจารย์ผม...ท่านแจกแจงไว้ว่า
เหตุสำคัญที่ทำให้สติเกิด คือการจดจำสภาวะได้

จะจดจำสภาวะได้ยังไง ก็ต้องทำให้จิตมันคุ้นเคยกับสภาวะนั้นๆ สิครับ
จะทำให้มันคุ้นเคยได้ยังไง ก็หมั่นย้อนเข้าไปสังเกตกาย
รู้สึกตัว ตามดูใจตัวเองบ่อยๆ

ช่วงแรกๆ มันยังต้องอาศัยความเพียรนิดหน่อย คอยตามดู
เหมือนเราจะหัดขับรถใหม่ๆ ทำไงให้เป็นไวๆ ก็ขับบ่อยๆ สิ จริงไหม

ภาษานักบินเขาเรียกเพิ่มชั่วโมงบินให้ตัวเอง
แล้วจิตจะคุ้นเคยกับการอยู่กับสติ ความรู้สึกตัว เห็นการเกิดดับของสภาวะต่างๆ

วันใด วันนึง ที่จิตมันเกิดมีสติแวบ รู้สึกตัวขึ้นได้เอง...วันนั้นแหละคุณเอ๋ยยยยย...
จะเข้าใจที่เขาว่า เหมือนเราอยู่ในห้องมืดมาชั่วชีวิต แล้วคิดว่าห้องมันสว่างแล้ว
แต่มีไม้ขีดจุดขึ้นก้านนึงในห้องนั้น เราถึงจะรู้ตัวว่า เราอยู่ในห้องมืดมาตลอดเวลา

แต่ที่ยังทำโน่นทำนี่ได้... ก็ไม่ใช่เพราะอื่นใด นอกจากความ "เคยชิน"

ผมเขียนบล็อคนี้ เพราะอยากให้กำลังใจใครหลายคน
ที่ "เคยชิน" กับการทำอะไรสักอย่างหรือหลายอย่าง

ที่รู้แก่ใจว่า มันไม่ได้ให้ผลดีต่อชีวิต
มันจะทำให้ชีวิตยุ่งยาก วุ่นวาย ลำบากในภายหน้า

อย่าเข้าใจเป็นอันขาดว่า สิ่งที่เคยทำ เคยเป็นมาสองปี ห้าปี สิบปี
มันจะต้องเป็นอย่างนั้นตลอดไป เปลี่ยนแปลงไม่ได้

ต้องเชื่อว่า เราสร้างเหตุปัจจัย ให้มีความเคยชินใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิม เกิดขึ้นได้ทุกวัน
ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากกว่าอดีต
และเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้ลิขิตชีวิตตัวเอง ไม่ใช่ "พรหม"

มนุษย์เราเป็นผู้สร้างความเคยชินให้ตัวเอง
ดังนั้น เราจะพ้นจากความเคยชินที่ไม่ดีได้ ก็ด้วยตัวเราเอง

พระพุทธเจ้าบอกว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งของตน

อย่าให้ความคิดของตัวเอง หลอกตัวเองว่า เราเป็นคนไม่ดี เราเป็นคนขี้แพ้
แต่อาจจะเพราะเราเลือกยืนผิดที่ เลือกยืนข้างๆ คนผิดคน
เราถึงเคยชินจะเป็นแบบนั้น

อย่าให้ความคิดหลอกเราว่า... เราไม่เหมาะกับธรรมะ เพราะเราชั่วเกินไป
ครูบาอาจารย์ผมเคยบอกว่า... เอาไว้เมื่อไหร่ชั่วกว่าองคุลีมาลแล้วค่อยพูดแบบนั้น

ไม่มีใครชั่ว และดีเกินกว่าความคิดของตัวเอง

ปิดท้ายด้วยนิทาน.. เรื่องของนักบวชกับโสเภณี
มีสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนึง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับซ่องโสเภณี
วันหนึ่งนักบวชในสำนักนั้น เสียชีวิตลงในวันเดียวกับโสเภณีคนหนึ่งที่อยู่ตรงข้าม

เมื่อถึงเวลายมทูตมารับวิญญาณ ท่านก็เปิดดูบัญชีบันทึกบุญกรรมย้อนหลัง
แล้วก็ชี้ว่า "โสเภณี จงขึ้นสวรรค์ไป ส่วนนักบวช ไปลงนรกกับข้า"

นักบวชอ้าปากค้าง แล้วรีบประท้วงว่า..
"สงสัยท่านยมทูตจะเพี้ยน ตลอดชีวิตข้าอยู่แต่ในสำนักปฏิบัตินะ
ส่วนนังนี่ อยู่ในซ่องมาไม่รู้กี่ปีดีดัก"

ยมทูตอมยิ้ม แล้วบอกว่า...
"ก็เจ้าน่ะ ตัวอยู่ในสำนักปฏิบัติ แต่ใจอยู่ในซ่องตลอดเวลา
แต่แม่โสเภณี ตัวอยู่ในซ่อง แต่ใจอยู่กับวัดตลอดเวลา"

เรื่องใจ สำคัญนะครับ ^^

?