Print

ธนาคารความสุข - ฉบับที่ ๒๐๐

eddy_cover

ประสบความสำเร็จอย่างพุทธ

โดย aston27
aston2

ผมเพิ่งมีโอกาสไปพูดให้นักศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งฟังมาเมื่อเร็วๆนี้
เมื่อบรรยายจบ มีนักศึกษาคนหนึ่งลุกขึ้นถามว่า
อะไรคือความสำเร็จครั้งสำคัญที่ผมเคยมีมาในชีวิต

ผมตอบว่า มันขึ้นกับว่า นิยามคำว่าประสบความสำเร็จของเขาคืออะไร
ถ้าเขาหมายถึงความรวย มีรถคันละสิบล้านขับมีเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว
มีชื่อเสียงคับประเทศ มีตำแหน่งใหญ่โต มีหน้ามีตาในสังคมไฮโซไซตี้
ผมคงจัดเป็นมนุษย์ที่ไม่ประสบความสำเร็จอะไรเลย

แต่ถ้าความสำเร็จของเขาหมายถึงการได้ทำสิ่งที่ตั้งใจทำจนเสร็จ
และมีความสุขกับสิ่งที่มีที่เป็นที่ทำอยู่
ผมก็คงเป็นหนึ่งในบุคคลที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในโลก

บ๊อบ ดีแลน นักร้องและกวีชาวอเมริกันเจ้าของเพลงต้นฉบับ
ของเพลง Knockin’ on Heaven’s Door หรือ Blowin’ In The Wind
เคยพูดว่า “ความสำเร็จของบุคคลคือการตื่นตอนเช้า
แล้วได้กลับมานอนตอนค่ำ โดยระหว่างวันได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจทำแล้ว”
ฟังดูไม่ได้ยากเย็นและสงบเรียบง่ายดีนะครับ

ความสำเร็จเป็นเรื่องที่สัมพันธ์โดยตรงกับความรู้สึกพอใจ
ผมเคยยกตัวอย่างว่า สมมติมีนักว่ายน้ำจากประเทศเล็กๆ
ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักหรือนึกถึงอย่างตูวาลู
ได้เป็นนักว่ายน้ำคนแรกของประเทศและภูมิภาคลงแข่งขันว่ายน้ำ
แล้วฝ่าฟันไปจนถึงการแข่งรอบสุดท้ายในกีฬาโอลิมปิก

นักว่ายน้ำคนนี้เขาอาจจะรู้สึกประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต
แม้จะเข้าเส้นชัยเป็นคนสุดท้ายในรอบชิงชนะเลิศกลับบ้านมือเปล่า
แต่ใจอาจจะเต็มอิ่ม เพราะเขามาไกลเกินความคาดหมายของเขา
และเมื่อเขาย้อนไปนึกถึงวันแรกที่เขายังว่ายน้ำไม่เป็นและเริ่มหัดว่าย

ในขณะที่ยอดนักว่ายน้ำจากอเมริกัน
ที่แม้จะแตะขอบสระเป็นคนแรกและคว้าเหรียญทอง
อาจรู้สึกผิดหวังล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่พอใจในเหรียญทอง
เพราะเป้าหมายแท้จริงอยู่ที่การทำลายสถิติโอลิมปิก
และสถิติโลกที่เขาเคยทำไว้ แล้วพลาดไปเพียงเสี้ยววินาที

การมีเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดีครับ
ความพยายามเพื่อจะไปให้ถึงเป้าหมายก็เป็นเรื่องดีและสำคัญ
คำสอนเรื่อง “สันโดษ” ของพระพุทธเจ้า เรื่องการยินดีพอใจในสิ่งที่มีที่ได้
ไม่ได้หมายถึงการพอใจที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ขี้เกียจไปวันๆ

หากแต่ท่านหมายถึง การยินดีพอใจใน “ผลลัพธ์”
หลังจากที่เจริญอิทธิบาท ๔ ถึงที่สุดแล้ว
(อิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
พูดถึงการพยายามทำเหตุเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จแบบพุทธ)

แน่นอนว่าระดับความรู้สึกประสบความสำเร็จมีผลโดยตรงต่อความสุข
พูดง่ายๆว่า ถ้าบุคคลคาดหวังจะทำให้ดีที่สุดในโอกาสและศักยภาพเท่าที่มีอยู่
หวังในการทำเหตุมากกว่าหวังผลที่ได้จากการลงมือทำ
เขาย่อมมีโอกาสมีความสุขมากกว่าคนที่คาดหวังในผลเลิศจากการกระทำเพียงอย่างเดียว

ต้องไม่ลืมว่า ในโลกของความจริง เรากำหนดผลลัพธ์ของความพยายามไม่ได้
เราคาดหวังไม่ได้ว่าทุกอย่างทุกเรื่องต้องได้ผลสำเร็จสวยหรู
เพราะสิ่งทั้งหลายในโลก ไม่ได้เป็นไปตามใจอยากตามใจปรารถนาทุกครั้ง
ที่ทำได้คือ เราฝึกวางใจให้รู้สึกพึงพอใจในการได้ทำเหตุมากกว่าคาดหวังผลได้ครับ

ถ้าเราต้องการความสว่าง เรามีหน้าทีจุดเทียนให้สำเร็จ
โดยไม่ต้องใส่ความ “อยากให้สว่าง”
เพราะถ้าจุดเทียนติดแล้ว ดูแลให้มันไม่ดับแล้ว ยังไงเสีย ก็ย่อมมีความสว่าง

และนั่นคือความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างการทำอะไร
ด้วย “ตัณหา” ความอยากได้ผล กับ “ฉันทะ” ความยินดีพอใจที่ได้ทำเหตุ

สุขสันต์วันที่เรายังมีโอกาสทำเหตุที่ดีให้ชีวิตนะครับ