Print

ดังตฤณวิสัชชนา ฉบับเปิดกรุ - ฉบับที่ ๔๕๓

 

dungtrin_cover

dungtrin_gru2a

 ดังตฤณวิสัชนา ฉบับเปิดกรุ ฉบับที่ ๔๕๓

เมษายน ๒๕๖๗

 

 

ทำอย่างไรจึงจะมีฉันทะในการปฏิบัติธรรม

 

ถาม – ถ้าเรามีศรัทธาในการเจริญสติลดลง จะทำให้ศรัทธาเพิ่มขึ้นได้อย่างไรครับ

 

ตอบ - อันนี้ต้องทำความเข้าใจตามธรรมชาติ
คืออย่าไปมองว่ามีอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือว่าทางลัดอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเพิ่มศรัทธา
หรือว่าจะรักษาศรัทธาให้ได้ตลอดรอดฝั่ง
มันต้องมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา

 

จริงๆ ถ้าพูดถึงการทำสมาธิหรือว่าการเจริญสติเนี่ยนะ
น่าจะเป็นคำว่า “ฉันทะ” มากกว่า
คือคำว่า "ศรัทธา" หมายความว่าความเชื่อความเลื่อมใส
ในสิ่งที่ดีในทางที่มันเป็นกุศล
แต่ว่าตัวความพอใจที่จะปฏิบัติธรรมหรือว่าเจริญสติภาวนา
อันนี้ก็ต้องอาศัยฉันทะหรือว่าความพึงพอใจ
ความพึงพอใจมันเกิดจากไหน
มันเกิดจากการที่ใจรู้สึกเหมือนกับตัวเองเป็นแม่เหล็กขั้วหนึ่ง
ที่ถูกแม่เหล็กอีกขั้วหนึ่งดึงดูด คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเนี่ย
มีการงานหรือว่าเรื่องของความสนุกทางธรรม
ที่สามารถดึงดูดจิตใจของเราให้ไปฝักใฝ่ได้
ตัวนี้เรียกว่าฉันทะ

 

การที่เราขาดฉันทะขอให้มองว่า มันขาดแรงดึงดูดไป
แล้วพระพุทธเจ้าตรัสนะ
ว่าถ้าหากไม่มีความสุขอยู่บ้าง มันไม่มีแรงดึงดูดหรอก
ถ้าหากว่าไม่มีความพึงพอใจอันเกิดจากความรู้สึก
เหมือนกับถ้าใช้ภาษาชาวบ้านก็คือไม่มีความรู้สึกสนุกที่จะทำ
ไม่มีความรู้สึกว่าทำแล้วมันได้ผลดีกับทางจิตใจอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมา
มันก็ไม่เกิดฉันทะเป็นธรรมดา
ขอให้เข้าใจธรรมชาติของเหตุผลอย่างนี้ ว่ามันเกิดความพอใจขึ้นได้
เพราะว่าประสบความสำเร็จอะไรบางอย่าง
มันมีความสุขอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมา

 

ทีนี้ถามว่าจะทำอย่างไรให้มันเกิดความสุข
ขั้นแรกเลยนะ อย่าหวังความสุข อย่าหวังความก้าวหน้า

อันนี้เป็นขั้นแรกจริงๆ ที่ต้องทำความเข้าใจ
คนส่วนใหญ่จะไปสำคัญมั่นหมายว่า
ยิ่งทำต้องยิ่งได้ ยิ่งได้ต้องยิ่งมีความสุข
หรือเกิดฌาน ญาณ วิปัสสนาอะไรขึ้นมา

อันนั้นถ้าเราตัดความคาดหวังได้
เรียกว่าสร้างเหตุแห่งความสุขขึ้นมาทางใจแล้วชนิดหนึ่ง

 

ทีนี้เวลาทำ ทำไปเรื่อยๆ
ทำเพื่อจะเกิดความรู้สึกพอใจในขณะนั้น
เอาความพอใจแค่ขณะเดียวนาทีเดียว
อย่าเอานาทีอื่นไม่ว่าจะหน้าหรือหลังมา
จากนั้นถ้าหากว่าจะไม่รู้สึกถึงแรงดึงดูดอยู่อีก
ก็ไม่ต้องไม่ต้องไปบังคับ ให้หันไปทำอย่างอื่น
แล้วกลับมาทำเรื่อยๆ เมื่อนึกออก เมื่อนึกขึ้นได้นะครับ