Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๔๐

ทางโลกและทางธรรม

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.




dharmajaree-140a


เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผมได้สนทนาในคำถามของญาติธรรมท่านหนึ่ง
เกี่ยวกับปัญหาการโดนนินทาในที่ทำงาน
ซึ่งเรื่องที่โดนนินทานั้น ก็มีทั้งเรื่องที่ไม่มีมูลความจริงเลย
และเรื่องที่มีมูลความจริงอยู่บ้าง แต่คนนินทาก็นำไปกล่าวให้เสียหายใหญ่โตเกินจริงมากมาย
ในเรื่องนี้ ญาติธรรมท่านนี้เห็นว่า ในทางธรรมแล้ว เธอควรจะต้องอดทน มีเมตตา ให้อภัยเขา
แต่ในทางโลกแล้ว เธอควรจะต้องชี้แจงและคุยกันให้รู้เรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่เธอ
โดยเธอเห็นว่าทางโลกและทางธรรมนี้ต่างกันและไปกันคนละทาง


หลังจากที่ผมได้สนทนาในคำถามข้างต้นแล้ว ผมได้มีโอกาสสนทนากับญาติธรรมอีกท่านหนึ่ง
ซึ่งมีปัญหาในที่ทำงานเหมือนกัน แต่ไม่ใช่เรื่องของการโดนนินทา
โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีการทำงานของเพื่อนร่วมงานที่ทำให้เกิดปัญหาบางอย่าง
ซึ่งญาติธรรมท่านนี้ก็เห็นเหมือนกันว่าวิธีการแก้ไขปัญหาในทางโลกและทางธรรมนั้นขัดแย้งกัน
โดยในทางธรรมนั้น เราไม่ควรจะไปยุ่งกับเขา เราก็พิจารณาเฉพาะในส่วนของตัวเรา
แต่ในทางโลกนั้น เราควรจะไปอธิบายและแนะนำเพื่อนร่วมงาน
เพื่อแก้ไขปรับปรุงวิธีการทำงานของเขาให้ดีขึ้น และไม่ให้เกิดปัญหาอีก

ผมได้แลกเปลี่ยนความเห็นกับญาติธรรมทั้งสองท่านว่า
ธรรมะนั้นแบ่งเป็น ๒ ระดับ ได้แก่ “โลกุตรธรรม” (คือธรรมในระดับที่เหนือโลก) และ
“โลกียธรรม” (คือธรรมในระดับที่เป็นไปตามวิสัยโลก)
ธรรมะในระดับโลกุตรธรรมนั้น คือเรื่อง
มรรค ๔ คือโสดาปัตติมรรค สกิทาคามิมรรค อนาคามิมรรค อรหัตมรรค
ผล ๔ คือ โสดาปัตติผล สกิทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล และ นิพพาน ๑ คือ พระนิพพาน
ซึ่งในส่วนของ “โลกุตรธรรม” นี้ก็อาจจะดูขัดแย้งกับทางโลกได้
อย่างเช่นว่า ทุกสิ่งในโลกนี้มีเกิดมีดับ แต่พระนิพพานนี้ไม่เกิดและไม่ดับ เป็นต้น

แต่ในส่วนของ “โลกียธรรม” หรือธรรมในระดับที่เป็นไปตามวิสัยโลกนี้
เห็นว่าธรรมะในส่วนนี้ไม่ได้ขัดแย้งกับทางโลกเลย (และเราก็ใช้ธรรมะในส่วนนี้อยู่บ่อย ๆ ด้วย)
ในทางกลับกัน ธรรมะในส่วนนี้จะสอดคล้องไปในทางเดียวกันกับทางโลกเสียด้วย
ในทาง “โลกียธรรม” และ “ทางโลก” สอดคล้องกันอย่างไร ก็สอดคล้องกันที่ว่า
เราพึงทำใจเป็นกลาง มีสติ และพิจารณาหนทางแก้ไขปัญหาด้วยปัญญา และเหตุผล
โดยเลือกทำในสิ่งที่สมควร และเป็นประโยชน์
ซึ่งทั้งทาง “โลกียธรรม” และ “ทางโลก” ก็ต่างสอดคล้องกันได้เช่นนี้

แต่ที่เราหรือหลาย ๆ ท่านอาจจะเห็นว่าทางโลกและทางธรรมแย้งกันนั้น
จริง ๆ แล้ว เห็นว่าเป็นเรื่องของกิเลสในใจเราแย้งกับธรรมะต่างหากล่ะครับ
ใจเราอยากจะทำอย่างหนึ่ง แต่สิ่งที่สมควรทำเป็นอีกอย่างหนึ่ง
เราก็เลยไปมองว่าทางโลกนั้นแย้งกับทางธรรม
เสร็จแล้ว เราก็อ้างกับตัวเองว่าจำเป็นต้องทำสิ่งที่แย้งกับธรรมะ เพื่ออำนวยตามทางโลก
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ทั้งสองอย่างไม่ได้แย้งกันเลย แต่เราหลงทำตามกิเลสในใจเราต่างหาก
ในบางที เราเห็นว่า “กระแสโลก” หรือ “กระแสสังคม” บอกว่าเราควรทำอย่างนั้นอย่างนี้
ก็ไปหลงเข้าใจว่าใน “ทางโลก” แล้ว เราก็ควรจะทำเช่นนั้นด้วย
จริง ๆ แล้ว แม้ว่า “กระแสโลก” หรือ “กระแสสังคม” จะบอกเราว่าอย่างไรก็ตาม
ก็ไม่ได้หมายความว่าใน “ทางโลก” แล้วเราจะต้องไหลตามเขาไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่นว่า กระแสโลกหรือกระแสสังคมบอกว่ามีโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ออกมา
สามารถเล่นอินเตอร์เน็ต
3G ได้ตลอดเวลา สามารถถ่ายรูปลงเฟสบุ๊คได้
สามารถเล่นเกมได้ตลอดเวลา สามารถคุยโทรศัพท์โดยเห็นหน้ากันได้ระหว่างที่คุย
กระแสโลกหรือกระแสสังคมบอกว่าเราควรจะต้องซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่นี้ จะได้ทันสมัย
ซึ่งอันนั้นก็เป็นกระแสโลกหรือกระแสสังคมนะครับ
แต่หากเราหันมาพิจารณาตนเองใน “ทางโลก” นะครับว่า
ชีวิตเราจำเป็นต้องเข้าอินเตอร์เน็ตตลอดเวลาไหม
จำเป็นต้องถ่ายรูปโพสลงเฟสบุ๊คได้
real time ไหม จำเป็นต้องเล่มเกมส์ได้ตลอดเวลาไหม
เข้าอินเตอร์เน็ตหรือเล่นเกมเยอะ ๆ แล้วเสียเวลาชีวิตไหม เสียงานเสียการไหม
เข้าอินเตอร์เน็ตหรือเล่นเกมจากโทรศัพท์มือถือแล้ว เป็นผลดีต่อสุขภาพสายตาไหม
ค่าซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่เท่าไร ค่าเล่นอินเตอร์เน็ต 3G รายเดือนอีกเท่าไร
ค่าโหลดเกม และค่าโหลดโปรแกรมหรือแอ๊พ (
application) ต่าง ๆ อีกเท่าไร
เราจำเป็นต้องมาเสียค่าใช้จ่ายเยอะ ๆ ในส่วนนี้ไหม เพื่ออะไร
เรานำเงินในส่วนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นเพื่อชีวิตเราจะดีกว่าไหม
ที่เราพิจารณาในทางโลกดังที่กล่าวมานี้ เรายังไม่ได้คุยเรื่องธรรมะเลยนะครับ
แต่พิจารณาเฉพาะ เหตุผล ประโยชน์ และความจำเป็นในชีวิตของเราในทางโลกเท่านั้น
ก็อาจจะได้คำตอบแล้วว่า เราไม่จำเป็นหรือไม่ควรจะต้องไปวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีทั้งหมด
ใครเป็นคนบอก ใครเป็นคนกำหนดกระแสสังคมว่า เราควรจะต้องไล่ตามเทคโนโลยีล่ะ
คนจำหน่ายและคนโฆษณาสินค้าเทคโนโลยีเหล่านั้นใช่หรือไม่
การที่เราไล่ตามเทคโนโลยี เช่น เปลี่ยนโทรศัพท์มือถือเราไปเรื่อย ๆ
เราก็จะมีแต่เสียเงิน และเสียเวลาชีวิตของเราเองโดยไม่จำเป็นอย่างไม่มีจบสิ้น
โดยโทรศัพท์มือถือก็มีรุ่นใหม่ ๆ ออกมาได้เรื่อย ๆ ทุกปี ๆ

หากเราพิจารณาในทางธรรมะแล้ว เราก็จะได้คำตอบเดียวกันว่า
เราไม่จำเป็นหรือไม่ควรจะต้องไปวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีเสมอไป
เพราะเทคโนโลยีเหล่านั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อให้เกิดสติ หรือให้เกิดปัญญา
แต่กลับจะทำให้เราขาดสติ และเสียเวลาที่จะเจริญปัญญาของเราเอง
ถามว่าเทคโนโลยีช่วยให้เราเกิดกุศลมากขึ้นได้ไหม
ก็ตอบว่าได้ เช่น เข้าไปอ่านธรรมะหรือฟังธรรมะผ่านอินเตอร์เน็ต
หรือเข้าไปร่วมทำบุญในรายการต่าง ๆ กระทั่งโอนเงินเข้าบัญชีร่วมทำบุญก็ได้
แต่พึงพิจารณาว่า เราใช้เพื่อให้เกิดกุศลและประโยชน์ตรงนั้นกี่เปอร์เซ็นต์
กับใช้เพื่อให้หลงและขาดสติกี่เปอร์เซนต์ และเป็นประโยชน์จริงไหม จำเป็นจริงไหม
ดังนี้ก็จะเห็นได้ว่าในทางโลก และในทางธรรมแล้ว สิ่งที่เราควรทำนั้น ไม่ได้แย้งกันเลย
แต่กลับจะสอดคล้องกันเสียอีก (แต่ว่าจะแย้งกับกระแสโลกหรือกระแสสังคมนะครับ)

ยกตัวอย่างอีกนะครับ สมมุติว่ามีเพื่อนที่ทำงานมาชวนเราไปเที่ยวดื่มสุราหลังเลิกงาน
บางท่านเห็นว่าในทางธรรมแล้ว การดื่มสุราเป็นสิ่งต้องห้าม เพราะผิดศีล เราจึงไม่ควรไป
แต่หลงไปเข้าใจว่าในทางโลกแล้ว เราควรจะไปเที่ยวพักผ่อนและดื่มสุรากับเพื่อน ๆ ได้
ลองถามตัวเองนะครับว่า “ใครเป็นคนบอกว่า ในทางโลกแล้ว เราควรไปล่ะ
?
เพื่อนที่ทำงานมาชวนเราเป็นคนบอกหรือว่า ในทางโลกแล้ว เราควรไป
เพื่อนที่ทำงานเขาพูดชวนอะไรก็ตาม เราก็ต้องเชื่อและทำตามเขาหมดเช่นนั้นหรือ
เราสรุปโดยอาศัยอะไรว่า ในทางโลกแล้ว เราควรจะต้องไปเที่ยวดื่มสุราหลังเลิกงาน
แม้เราจะไม่พิจารณาในทางธรรมเลยก็ตาม เพียงแต่จะพิจารณาในทางโลกเท่านั้น
เราก็จะพบความจริงได้ว่า การไปเที่ยวดื่มสุรานั้น เสียเงิน เสียเวลา เสียงาน เสียสุขภาพ
คนในครอบครัวก็เป็นห่วงกังวล ขับรถก็อันตราย เสี่ยงต่อการมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่น
ในบางที เราไม่ได้ทะเลาะกับเขา แต่เราอยู่ในที่เกิดเหตุแล้วเราก็โดนลูกหลงไปด้วย
หรือเราไม่ได้เจตนาจะไปหาเรื่องกับใคร แต่คนอื่นอาจจะมาหาเรื่องกับเราก็ได้ เป็นต้น
ฉะนั้นแล้ว แม้จะพิจารณาในทางโลกก็ตาม ก็เห็นว่ามีโทษมากมายในการดื่มสุรานั้น
ซึ่งก็แปลว่าทั้งทางโลกนั้นเราก็ไม่ควรไป โดยก็สอดคล้องกับทางธรรมเช่นกัน

อีกตัวอย่างหนึ่ง สมมุติว่าเราเดินในตลาดแห่งหนึ่ง อยู่ดี ๆ ก็มีชายคนหนึ่งมาด่าเราว่า “ไอ้คนเลว”
เรามองชายคนนั้นแล้ว เห็นว่าเราไม่รู้จักเขามาก่อน แต่ท่าทางเขาก็ไม่บ้าด้วยนะ
เขาด่าเราเสร็จแล้ว เขาก็เดินจากไปเลย เขาด่าเราแค่คำเดียวนี้แหละ
คำถามคือในทางโลกและทางธรรมแล้ว เราควรจะทำอย่างไร
ขอเริ่มที่ทางธรรมก่อน เราลองพิจารณาทางเลือกก่อนว่า ทางเลือกของเรามีอะไรบ้าง
ทางเลือกที่หนึ่ง เรามีสติรู้ทันใจที่โกรธ ความโกรธดับไปแล้ว เราไม่รู้จักเขา
ไม่เห็นเหตุผลใด ๆ ที่จะต้องตามไปต่อล้อต่อเถียงหรือทะเลาะกับเขา ก็ปล่อยเขาไป
ทางเลือกที่สอง เรามีเมตตาแก่เขา และให้อภัยทานแก่เขา ก็ไม่ถือโกรธเขาแล้ว
ทางเลือกที่สาม เราโกรธเขา อยากจะด่ากลับ แต่ว่าเราถือศีล เราจึงไม่ไปทำอะไรเขา
โดยก็อาจจะมีทางเลือกอื่น ๆ อีกนะครับ แต่ไม่ว่าจะทางเลือกไหนก็ตาม
ก็ไม่มีกรณีที่จะต้องไปตามทะเลาะ ตามราวีล้างแค้น ตามโกรธ หรือตามด่าเขานะครับ

หากเราจะลองมาพิจารณาในทางโลกดูบ้าง
เราไม่ได้รู้จักอะไรกับคนที่มาด่าเรา เขาด่าเราคำเดียวและเดินจากไปแล้ว
เราจะทำอย่างไร เราจะต้องตามรีบไปด่าคืนไหม หรือตามไปทะเลาะกับเขาไหม
หรือเราจะเดินทางไปสถานีตำรวจเพื่อแจ้งความ และพาตำรวจมาตามจับตัวคนด่านี้
เพื่อให้ตำรวจดำเนินคดีเอาผิดตามกฎหมายให้ได้
หรือเราจะมองว่าเรามีธุระอื่น ๆ ที่ต้องไปทำและสำคัญกว่ามาก และไม่อยากจะเสียเวลาในเรื่องนี้
หรืออาจจะมองว่าเราไม่แน่ใจว่านายคนนั้นเป็นใคร หากเราตามไปด่ากลับ หรือไปทะเลาะด้วย
เหตุการณ์อาจจะบานปลายกลายเป็นทำร้ายร่างกายกัน และก็จะยิ่งเกิดความเสียหายมากกว่าเดิม
หากเรามองว่าการตามไปด่ากลับไม่มีประโยชน์ และมีแต่ความเสี่ยงจะเสียหายมากกว่าเดิมแล้ว
สู้เราเอาเวลาของเราไปทำประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ ที่สำคัญมากกว่าจะดีกว่าไหม
และก็จะเป็นประโยชน์กับเรามากกว่าไหม โดยเราไม่ไปตามราวีเอาเรื่องกับเขา
เช่นนั้นทางเลือกในทางโลกก็จะสอดคล้องกับทางธรรมว่าเราไม่ได้ตามไปราวีเอาเรื่องเขา

บางท่านอาจจะบอกว่า “อย่างนี้ก็จะปล่อยให้เขามาด่าเราฟรี ๆ หรือยังไง”
ตอบว่า การที่เขาด่าเรานั้น อาจจะทำให้เราเกิดความรู้สึกว่าเสียหายบ้างก็ตาม
แต่หากพิจารณาให้ละเอียดแล้ว ถามว่าคนเรานั้นจะเสียหายเพราะการโดนด่าได้ไหม
สมมุติว่า หากเราทำตัวเราเองดีอยู่แล้ว การที่คนอื่นจะมาด่าเราว่าเป็นคนไม่ดีอย่างไร
มันก็ย่อมจะไม่กระทบกับสิ่งดี ๆ ที่เราได้ทำไว้ และไม่ได้กระทบต่อตัวเรา
และก็ไม่ได้ทำให้เรากลายเป็นคนไม่ดีจากการที่โดนด่านั้นไปได้
ในขณะที่ หากเราตามไปราวี มีเรื่องทะเลาะกับเขาแล้ว มอง ๆ ไปแล้ว
ก็ยังไม่เห็นว่าจะได้ประโยชน์อะไรที่ชัดเจน กลับเห็นแต่ความเสี่ยงในความเสียหายหลายเรื่อง

แต่แม้ว่าเราอาจจะเห็นว่าเราเสียหายจากการที่เราโดนด่าก็ตาม ลองพิจารณาต่อไปว่า
การที่เราจะเสียหายอะไรไปสักอย่างหนึ่ง แล้วไปหาหนทางแก้ไขทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
เราจะเรียกว่าเป็นหนทางแก้ไขที่ฉลาดและสมควรทำได้หรือ
ยกตัวอย่างเช่น สมมุติเราลงจากรถเมล์โดยลืมน้ำขวดละ ๗ บาทไว้บนรถเมล์นั้น
เมื่อเรานึกขึ้นมาได้ เราจะทำอย่างไร เราจะยอมสละน้ำขวดนั้นไป
หรือจะเรียกมอเตอร์ไซต์รับจ้างให้วิ่งไปดักหน้ารถเมล์คันนั้น โดยเสียค่าจ้าง ๑๐ บาท
หากเราจะเรียกมอเตอร์ไซต์รับจ้างโดยยอมเสียเงิน ๑๐ บาทแล้ว
เรานำเงินไปซื้อน้ำขวดใหม่ในราคา ๗ บาท เรายังเหลือเงินอีก ๓ บาท จะไม่ดีกว่าหรือ
โดยไม่ต้องเหนื่อยไปไล่ตามรถเมล์ด้วย และไม่ต้องเสียเวลามากขึ้น
ฉะนั้น การที่เราจะยอมสละน้ำขวดนั้นไป ไม่ได้แปลว่าเราโง่ หรือเราไปยอมคนอื่นเสมอไป
แต่เป็นการที่เราเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุด และบรรเทาความเสียหายแก่ตัวเราเอง

หากจะบอกว่าเมื่อมีใครมาด่าเรา เราจะต้องโกรธ เราจะต้องเต้น เราต้องเอาเรื่องเขาให้ได้แล้ว
ถามว่าเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดไหม เป็นการบรรเทาความเสียหายให้น้อยลงหรือไม่
หรือจะเป็นการสร้างความเสียหายให้ลุกลามใหญ่โตมากขึ้น
ลองเปรียบเทียบกับกรณีว่า เราเดินเข้าไปในซอยหรือเดินออกจากซอยแห่งหนึ่ง
ซึ่งในซอยแห่งนั้นมีบ้านหลายหลังที่เลี้ยงสุนัขดุไว้
โดยเวลาเราเดินผ่านบ้านเหล่านั้น สุนัขก็จะวิ่งออกมาเห่าเราที่ริมประตูบ้าน
เราฟังไม่ออกหรอกว่าที่สุนัขเห่านั้นแปลว่าอะไร แต่จากน้ำเสียงและกริยาอาการของสุนัขแล้ว
ก็เชื่อได้ว่าไม่น่าจะเป็นการเห่าด้วยความชื่นชมยินดีเป็นแน่ แต่น่าจะเห่าด้วยความไม่พอใจ
ลองพิจารณาว่า เวลาที่เราโดนสุนัขเห่าเช่นนั้น เราจะต้องไปราวีทะเลาะกับสุนัขทุกตัว
หรือจะไปมีเรื่องทะเลาะกับเจ้าของสุนัขทั้งหลายนั้นหรือเปล่า
หรือว่าเราไม่ควรสนใจ และก็ควรมองข้ามไป เพราะไม่ควรต้องเสียเวลาในเรื่องที่ไม่มีประโยชน์นั้น
กรณีดังกล่าวนี้ก็ทำนองเดียวกันนะครับ หากมีใครสักคนมาด่าเราลอย ๆ แบบไม่มีเหตุผลแล้ว
เราก็ไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องไปทะเลาะกับเขาเสมอไปหรอกครับ เพราะมันไม่มีประโยชน์

ลองนึกถึงนักมวยแชมป์โลกก็ได้ หากมีคนมาท้าต่อยหรือหาเรื่องกับนักมวยแชมป์โลกแล้ว
ถามว่านักมวยแชมป์โลกควรจะต้องตอบรับไปต่อยกับทุกคนที่มาท้าต่อยหรือมาหาเรื่องไหม
คำตอบก็คือ “ไม่” เพราะไม่เช่นนั้น ก็ต้องไปต่อยกับเขาทั่วไปหมด (กระทั่งจิ๊กโก๋ปากซอย ฯลฯ)
ซึ่งก็คงจะไม่สามารถดำรงความเป็นนักมวยแชมป์โลกไว้ได้แล้ว เพราะต้องต่อยกับเขาไปทั่ว
เราจะเห็นได้ว่านักมวยแชมป์โลกก็ยังต้องเลือกว่าจะต่อยกับผู้มาท้าชิงคนไหน
(ซึ่งก็จะมีหลักเกณฑ์ของแต่ละสมาคมมวยให้พิจารณาและปฏิบัติตาม)

ในกรณีของญาติธรรมท่านแรกที่โดนนินทาก็เช่นกัน
จริง ๆ แล้ว ในทางธรรมก็ไม่ได้บังคับหรอกว่า จะต้องไม่ไปชี้แจง หรือจะต้องหลบ ๆ เงียบ ๆ
และในทางโลกก็ไม่ได้บังคับเช่นกันว่า จะต้องไปชี้แจง จะต้องไปแก้ไขข่าวเสมอไป
ในทางธรรมนั้น เราก็ต้องมีสติ มีปัญญาเสียก่อน พิจารณาว่า สิ่งใดเป็นสิ่งที่สมควรทำ
สิ่งที่จะทำนั้นเป็นกุศล หรืออกุศล สิ่งที่จะทำนั้นจะเป็นประโยชน์หรือเป็นโทษ
สิ่งที่จะทำนั้นควรจะพึงทำในเวลาใด จึงจะเป็นประโยชน์
ในทางโลกนั้น ก็ต้องพิจารณาเหตุผล ประโยชน์ และความจำเป็นว่า
สิ่งที่จะทำนั้นสมควรทำหรือไม่ เป็นประโยชน์ไหม และจำเป็นต้องทำไหม
กรณีจึงไม่ได้เป็นการบังคับว่าเมื่อถูกนินทาแล้ว ห้ามไปชี้แจง ต้องอยู่เงียบ ๆ
หรือจะต้องไปชี้แจง ต้องไปลุยกับเขาให้จบเสมอไป โดยก็พึงต้องพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป
หากเข้าไปชี้แจงแล้ว จะทำให้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และเข้าใจกันมากขึ้น
ก็ควรจะชี้แจง แต่หากไปชี้แจงแล้ว จะทำให้ทะเลาะกันมากขึ้น
มีแต่ความบาดหมางและไม่สบายใจกันทุกฝ่าย ก็ไม่จำเป็นต้องไปชี้แจง
นอกจากนี้ จริง ๆ แล้ว เขาอาจจะไม่ได้นินทาเราหรอก แต่คนที่มาเล่าเรื่องให้เราฟังอาจจะใส่ไข่
หรือฟังมาแบบไม่เข้าใจ หรือเล่าเรื่องแบบคลาดเคลื่อน หรืออาจจะเข้าใจผิดไปเองก็ได้
ก็ทำให้เราพลอยเข้าใจผิดไปด้วย ซึ่งพอไปชี้แจงแล้วก็ยิ่งทำให้สร้างปัญหามากขึ้นกว่าเดิมก็ได้
เรื่องของญาติธรรมท่านที่สองเกี่ยวกับปัญหาวิธีการทำงานของเพื่อนที่ทำงานก็เช่นกัน
โดยก็พึงพิจารณาไปในทำนองเดียวกันล่ะครับ

ท่านผู้อ่านอาจจะลองพิจารณาถึงกรณีอื่น ๆ ด้วยก็ได้นะครับ
ซึ่งเชื่อว่า ท่านก็จะเห็นได้ว่า จริง ๆ แล้ว ในทางธรรมและในทางโลกนั้น ไม่ได้ขัดแย้งกันหรอกครับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเราสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรม
พยายามนำธรรมะเข้ามาสู่ใจเรา นำธรรมะเข้ามาสู่ชีวิตของเรา
พยายามหลอมรวมธรรมะ หลอมรวมการศึกษาและปฏิบัติธรรมเข้ามาในชีวิตเรา
เราก็จะพบว่าชีวิตทางโลกนั้นสามารถจะหลอมรวมไปกับชีวิตทางธรรมได้อย่างกลมกลืน
เราสามารถที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมในระหว่างที่ดำรงชีวิตในทางโลกได้
และเราสามารถอยู่ในทางโลกได้โดยมีธรรมะในใจอยู่เสมอ


** ข่าวสารประจำฉบับ **

แนะนำคอลัมน์             

คอลัมน์ "แสงส่องใจ" ได้อัญเชิญพระธรรมเทศนา
ใน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
มานำเสนออย่างต่อเนื่อง
เพื่อความเจริญในธรรมของทุกท่านค่ะ (-/
\-)

หากรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ค่อยมีความเพียรในการปฏิบัติธรรม
จะมีวิธีการใดทำให้เกิดความสุขในการเจริญสติขึ้นมาได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะมีฉันทะในการปฏิบัติธรรม"