Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๗

คุยกันเรื่องกรรม ตอนที่ ๔

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-127
(ต่อจากตอนที่แล้วครับ)

ในคราวก่อน เราคุยถึงประการที่สี่ คือ ทำใจเป็นกลางต่อปัญหาชีวิต
โดยไม่ควรปล่อยให้อคติ (ไม่ว่าชอบหรือไม่ชอบ) มาครอบงำหรือผลักดันจิตใจ
ซึ่งเมื่อเราสามารถมองปัญหาได้อย่างเป็นกลาง และไม่โดนอคติครอบงำแล้ว
ลำดับต่อมา เราก็มาพิจารณาแก้ไขปัญหาชีวิตกันครับ

ประการที่ห้า ใช้เหตุผลและปัญญาในการหาต้นเหตุของปัญหาชีวิตและหนทางแก้ไข
การแก้ไขปัญหาชีวิตในแต่ละเรื่อง ควรจะแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหานั้น
เพราะการแก้ไขที่ปลายเหตุของปัญหาย่อมจะไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง
การที่เราจะแก้ไขต้นเหตุของปัญหาได้ เราจะต้องหาต้นเหตุของปัญหาให้พบเสียก่อน
เราจึงจะสามารถพิจารณาหาหนทางแก้ไขต้นเหตุของปัญหานั้นได้
หากเรายังหาไม่พบ ก็ย่อมจะไม่ทราบว่าจะไปหาหนทางแก้ไขได้อย่างไร

การแก้ไขที่ปลายเหตุของปัญหาแตกต่างจากการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหาอย่างไร
ยกตัวอย่างว่า สมมุติเรามีปัญหาเรื่องปวดข้อเข่า เดินไปไหนมาไหน
หรือขึ้นลงบันไดแล้ว ก็ปวดข้อเข่า ซึ่งเราก็แก้ไขปัญหาด้วยการทายาที่ข้อเข่า
ทานยาบำรุงกระดูก และพยายามเดินน้อยลงเพื่อลดปัญหาอาการปวดข้อเข่า
ซึ่งก็ดูเหมือนว่าที่ทำอยู่นี้ทั้งหมดจะเป็นการดี และเป็นหนทางแก้ไขนะครับ
แต่เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์วินิจฉัยว่าอาการปวดข้อเข่าของเราเกิดจากการมีน้ำหนักมากเกิน
วิธีการที่จะแก้ไขปัญหาปวดข้อเข่าให้หาย ก็คือเราจะต้องลดน้ำหนักลงให้พอดี
โดยเราจะต้องควบคุมอาหารการกินของเราให้น้อยลง
ซึ่งเมื่อน้ำหนักน้อยลงมาอยู่ในระดับที่พอดีแล้ว ข้อเข่าก็รับน้ำหนักน้อยลง ก็จะไม่ปวด

สมมุติว่า เราเป็นเกษตรกรปลูกพืชผลไม้ชนิดหนึ่ง
พอปลูกลงดินไปเต็มสวนแล้ว ปรากฏว่าต้นไม้เติบโตช้า ลำต้นเล็ก ออกผลน้อยมาก
และผลไม้ที่ได้นั้นมีคุณภาพไม่ดี เราจึงแก้ไขปัญหาโดยการลงทุนซื้อปุ๋ยมาใส่เยอะ ๆ
แต่เมื่อเกษตรจังหวัดมาตรวจที่สวนของเรา ก็ได้ให้คำแนะนำว่า
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ดินขาดแร่ธาตุหรือขาดปุ๋ย แต่อยู่ที่พันธุ์ผลไม้ว่าเป็นพันธุ์ที่ไม่ดี
หรือเป็นพันธุ์ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศของสวนที่เรากำลังปลูกอยู่
ซึ่งในการแก้ไขนั้น ควรจะต้องทำโดยการเปลี่ยนพันธุ์ผลไม้ทั้งหมดเลย
โดยหากเราใช้พันธุ์ผลไม้ที่ดี และเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศแล้ว
ต้นไม้ก็จะเติบโตเร็ว ลำต้นใหญ่ และให้ผลไม้ดีจำนวนมาก

ลองพิจารณาเพียงสองตัวอย่างข้างต้น ก็คงพอจะทราบได้นะครับว่า
การแก้ไขที่ปลายเหตุของปัญหานั้นจะแตกต่างจากการแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหา
เรื่องราวของการแก้ไขปัญหาชีวิตก็ทำนองเดียวกันนะครับ
ว่าเราควรจะต้องค้นหาต้นเหตุของปัญหาชีวิตให้พบ แล้วก็แก้ไขที่ต้นเหตุแห่งปัญหานั้น
สำหรับท่าน ๆ ที่กำลังมีปัญหาชีวิตใด ๆ ก็ตาม แนะนำให้ลองพิจารณาสำรวจดูนะครับ
ว่าเรากำลังมัวหลงไปหาทางแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุกันหรือเปล่า
(หากเราแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุของปัญหา หรือแก้ไขอย่างไม่ถูกต้องแล้ว
ปัญหานั้นยังคงอยู่ไม่หายไปไหน หรือมีอาการหนักขึ้น ก็เป็นเรื่องธรรมดานะครับ)

มีวิธีการพิจารณาง่าย ๆ ครับว่า เรากำลังแก้ไขปัญหากันอย่างถูกต้องหรือเปล่า ก็คือ
หากเราแก้ไขปัญหากันอย่างถูกต้องแล้ว ปัญหานั้นควรจะต้องทุเลาเบาบางลงหรือหายไป
แต่หากปัญหายังอยู่เหมือนเดิม หรืออาการหนักมากขึ้นแล้ว
เราก็ควรจะลองพิจารณาให้ดี ๆ อีกครั้งว่า เราแก้ไขปัญหากันอย่างถูกต้องจริง ๆ หรือ
ไม่ควรจะดื้อดึงยึดมั่นถือมั่นเอาเองว่า เราแก้ไขถูกต้องแล้ว ไม่ได้แก้ไขผิดหรอก
หากแก้ไขถูกต้อง และไม่ได้แก้ไขผิด ทุกอย่างก็ควรจะดีสินะครับ
ปัญหาก็ควรจะคลี่คลาย และชีวิตก็ควรจะมีความสุข แล้วมันเป็นเช่นนั้นหรือเปล่าล่ะ

บางท่านอาจจะบอกว่าปัญหาชีวิตของท่านในเรื่องนั้นไม่มีทางแก้ไขได้
เพราะเป็นปัญหาที่เกินกำลังและความสามารถอย่างแท้จริง
หากจะบอกว่าปัญหานั้น ๆ ไม่มีทางแก้ไขได้แล้ว ก็ไม่ควรเรียกว่าปัญหาแล้วล่ะครับ
แต่ควรจะเรียกว่าเป็นข้อเท็จจริงของชีวิตที่เราต้องยอมรับ
และก็ไม่ควรต้องไปกลุ้มใจหรือทุกข์ใจกับเรื่องนั้น ๆ แล้ว
ยกตัวอย่างว่า แสงแดดร้อน ดวงอาทิตย์ร้อน เราไปแก้ไขให้เย็นไม่ได้
เช่นนี้เราควรจะไปกลุ้มใจหรือเครียดกับเรื่องแสงแดดร้อน หรือดวงอาทิตย์ร้อนหรือเปล่า
หากกลุ้มใจไปแล้ว เราจะไปแก้ไขแสงแดดหรือดวงอาทิตย์ได้หรือไม่ ก็ตอบว่า แก้ไม่ได้
แต่ที่เราสามารถจะปรับเปลี่ยนในส่วนของเราได้ ก็ควรจะทำในส่วนของเรา
เช่นแสงแดดร้อน เราอาจจะต้องพกร่ม หรือหมวกติดตัวไว้
หรือที่บ้านก็อาจจะต้องมีพัด หรือพัดลม หรือเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
(รวมทั้งช่วยกันลดปริมาณขยะ ลดการใช้พลังงาน ช่วยกันลดปัญหาโลกร้อนด้วย)

หากเรื่องไหนไม่มีทางแก้ไขได้จริง ๆ ก็ไม่ต้องไปกังวลหรือเครียดกับปัญหานั้นนะครับ
เพราะยังไงเราก็แก้ไขไม่ได้ และจะต้องรับมันแน่ ๆ อยู่แล้ว
แต่เราเอาแรงและกำลังมาแก้ไขปัญหาที่เราสามารถแก้ไขได้ย่อมจะดีกว่า
โดยจะต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุนะครับ

หากจะลองพิจารณาปัญหาชีวิตกันแล้ว ยกตัวอย่างว่า
ผมรู้จักญาติธรรมท่านหนึ่ง ซึ่งมีหัวหน้าที่ชอบพูดจาตำหนิรุนแรง
เวลาที่เธอโดนตำหนิแต่ละที ก็เสียใจมาก เครียดไปจนถึงกระทั่งเวลาที่เธออยู่บ้านเลย
เธอกลุ้มใจในปัญหาเรื่องนี้ และพยายามจะพิจารณาแก้ไขปัญหาว่า
ทำอย่างไรดี จึงจะเปลี่ยนนิสัยหัวหน้าของเธอได้

ผมถามเธอว่า หัวหน้าพูดจาตำหนิเธอครั้งนึงกี่นาที และวันละกี่ครั้ง
ให้ลองนับ ๆ ดู เฉลี่ยดูแล้ว ปรากฏว่าตำหนิครั้งหนึ่งไม่เกิน ๕ นาที และวันหนึ่งก็ ๒ - ๓ ครั้ง
ผมก็อธิบายต่อไปว่า เวลาที่หัวหน้าตำหนิเธอนั้น อาจจะมองได้ว่าเป็นการทำร้ายจิตใจเธอ
แต่ว่าเวลาชีวิต และเวลาทำงานส่วนที่เหลือในแต่ละวันนั้น เธอไม่ได้โดนหัวหน้าตำหนิ
เธอไม่ได้โดนทำร้ายจิตใจเลย และแม้กระทั่งเวลาทั้งวันในวันหยุด
หัวหน้าก็ไม่ได้โทรศัพท์ตามไปตำหนิเธอที่บ้านสักหน่อย
เธอสามารถมีเวลาชีวิตส่วนตัวอย่างเต็มที่ สามารถมีความสุขส่วนตัวได้อย่างเต็มที่
แต่ปรากฏว่าเธอกลับใช้เวลาชีวิตส่วนตัว รวมทั้งเวลาทำงานที่ไม่ได้โดนตำหนินั้น
ไปหยิบเรื่องที่เธอโดนตำหนินั้นมาเฝ้าครุ่นคิดย้อนไป วนมา เวียนไปเรื่อย
นึกถึงแต่ถ้อยคำพูดที่เธอโดนตำหนินั้น และนำคำตำหนิเหล่านั้นมาเฝ้าทำร้ายใจตนเอง
ครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า ครั้งแล้วครั้งเล่า ...
ดังนี้แล้ว ต้นเหตุของปัญหาจริง ๆ มันอยู่ที่ตรงไหนกันแน่

เวลาอื่น ๆ ที่ไม่โดนตำหนินั้น เธอทุกข์ใจหรือเสียใจ เพราะว่าเธอโดนตำหนิ
หรือเพราะว่าเธอมัวแต่ไปหยิบเรื่องที่เธอโดนตำหนิขึ้นมาครุ่นคิดกันแน่
หัวหน้าพูดจาทำร้ายจิตใจเธอไม่เพียงกี่นาทีเอง (จะมีผลบงการชีวิตเธอได้เลยหรือ)
แต่เธอหยิบเรื่องที่ผ่านไปแล้วนั้น มาทำร้ายจิตใจตัวเองกี่ชั่วโมงกี่วันล่ะ
ฉะนั้นแล้ว ปัญหาที่เธอต้องกลุ้มใจนี้ อยู่ที่หัวหน้าพูด หรือว่าอยู่ที่ตัวเธอเองกันแน่

บางทีเวลาเรามีความไม่พอใจในบางเรื่อง
เราก็จะมัวแต่ไปมองว่าปัญหาอยู่ที่เรื่องที่เราไม่พอใจนั้น
แต่เราไม่เคยมองว่า ปัญหาอยู่ที่ใจเราเองหรือเปล่า
หรือปัญหาอยู่ที่ความคาดหวังของเราเองที่สูงเกินไปหรือไม่

ยกตัวอย่างว่า บางท่านมีปัญหาว่าลูกเรียนหนังสือได้เกรดไม่ดี หรือได้ลำดับไม่ดี
สมมุติว่า ทั้งห้องเรียนมีนักเรียนอยู่สี่สิบคน ลูกท่านเรียนได้ลำดับสามสิบกว่า
ท่านจึงบอกว่าลูกไม่ขยันเรียน ลูกเป็นเด็กไม่ดี ลูกเป็นเด็กมีปัญหา
หากมองเรื่องราวให้ดีแล้ว จะเห็นได้ว่าการเป็น “เด็กดี” กับ “เรียนดี” นั้นเป็นคนละเรื่องกัน
เด็กเรียนดีอาจจะเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดีก็ได้
เด็กเรียนไม่ดีก็เช่นกัน อาจจะเป็นเด็กดีหรือเด็กไม่ดีก็ได้
เด็กเรียนไม่ดีนั้นอาจจะขยันเรียนก็ได้ แต่เด็กอาจจะไม่ถนัดเรียนในสาขานั้น ๆ
หรือว่าเด็กอื่น ๆ ในห้องเรียนนั้นเรียนเก่งกว่าจริง ๆ ก็ได้
ไม่ได้แปลว่าเด็กที่เรียนได้เกรดไม่ดี หรือไม่ติดลำดับต้น ๆ ของห้องเรียน
จะต้องเป็นเด็กที่ไม่ขยันเรียนเสมอไป

หากท่านจะบอกว่าลูกท่านจะต้องได้เกรดดี และติดลำดับต้น ๆ ของห้องเท่านั้น
ถามว่าจะเป็นไปได้ไหมว่าเด็กในห้องเรียนทุกคนเรียนได้เกรดดีกันทั้งห้อง
และได้ที่หนึ่งของห้องกันทุกคนเลย
(ซึ่งหากได้ที่หนึ่งกันทุกคน ก็เท่ากับว่าไม่มีใครได้ที่หนึ่งเลยต่างหาก)
กรณีจะเป็นไปได้ไหมว่าเป็นทหารแล้ว จะต้องได้ติดยศพลเอกกันทุกคน
หรือเป็นข้าราชการแล้ว จะต้องได้เลื่อนตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงกันทุกคน
ซึ่งเราก็ย่อมจะเห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ดังนี้แล้ว เราก็ควรจะพิจารณาให้ดีว่าที่ลูกเรียนได้เกรดไม่ดีนั้น
ปัญหาอยู่ที่ตรงไหนกันแน่ อยู่ที่ลูกไม่ตั้งใจเรียน อยู่ที่ว่าลูกอ่อนกว่าเด็กอื่นจริง ๆ
หรืออยู่ที่ปัญหาสุขภาพ อยู่ที่ปัญหาการเลี้ยงดู หรือปัญหาอื่น ๆ
หรือว่าอยู่ที่ความคาดหวังที่สูงเกินไปของตัวเราเอง เป็นต้น
ซึ่งเราก็ควรจะแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหานั้น

บางทีปัญหาอยู่ที่ความคาดหวังที่สูงเกินไปของตัวเราก็มีอยู่บ่อย ๆ นะครับ
ผมรู้จักญาติธรรมอีกท่านหนึ่ง ซึ่งมีปัญหาโดนภรรยาตำหนิอยู่เป็นประจำ
เดี๋ยวโดนเรื่องโน้น เดี๋ยวโดนเรื่องนี้ โน่นก็ไม่ดี นั่นก็ไม่เหมาะสม
ผมเองก็ไม่ได้รู้ข้อมูลทั้งหมดหรอกว่าจริง ๆ แล้วเรื่องราวเป็นอย่างไร
แต่ลองฟังบางเรื่องแล้ว ก็ดูไม่เห็นจะเป็นสาระอะไรที่ต้องกลุ้มใจกันเลย
และก็ไม่ได้เห็นว่าญาติธรรมท่านนี้จะประพฤติตัวเลวร้ายอะไร
จึงแนะนำให้ลองกลับไปถามภรรยาว่า ที่ชอบตำหนิว่าเขาไม่ดีอย่างโน้นอย่างนี้นั้น
ลองให้ยกตัวอย่างของสามีของเพื่อน ๆ ที่รู้จักที่ทำตัวดีกว่าเขาขึ้นมาสักคนนึง
หรือหลายคนสิว่า สามีของเพื่อนที่รู้จักที่ทำตัวดี และทำดีกว่าเขาอย่างไรบ้าง
ปรากฏว่าภรรยาไม่สามารถยกชื่อขึ้นมาได้แม้แต่ชื่อเดียว
ซึ่งพอพิจารณาให้ดีแล้วก็เห็นว่า จริง ๆ แล้ว สามีตนเองก็ทำดีกว่าคนอื่น ๆ อยู่แล้ว
ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาอยู่ที่สามี หรืออยู่ที่ความคาดหวังของภรรยากันแน่
และควรจะแก้ไขที่ต้นเหตุปัญหาที่ตรงไหน

ประการที่หกนะครับ เมื่อเราใช้เหตุผลและปัญญาในการหาต้นเหตุของปัญหาชีวิต
และหนทางแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว ขอแนะนำให้เราลองทบทวนอีกครั้งครับว่า
การแก้ไขปัญหาชีวิตในเรื่องนั้น มีทางเลือกอื่น ๆ อีกหรือไม่
และทางเลือกไหนเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เป็นทางเลือกที่เราควรทำ

บางครั้งการแก้ไขปัญหาอาจจะไม่ได้มีทางเลือกเพียงทางเดียว
หรืออาจจะไม่ได้จำเป็นว่าเราจะต้องเลือกเพียงทางเลือกเดียว
เราอาจจะเลือกทางเลือกไว้หลาย ๆ ทาง และพิจารณาใช้ไปตามลำดับก็ได้
โดยลองทางเลือกแรกก่อน หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ จึงลองทางเลือกที่สอง
เสมือนกับว่าจะตักเตือนเด็กนั้น อาจจะเริ่มต้นที่การพูดจาตำหนิก่อน
หากไม่ได้ผล จึงค่อยพิจารณาลงโทษในประการอื่นที่รุนแรงขึ้นไปตามลำดับ
กรณีไม่จำเป็นว่าจะต้องมีทางเลือกเดียวเสมอไป

หากท่านได้ดำเนินการผ่านหกประการที่ได้แนะนำแล้ว แต่ปัญหาชีวิตก็ยังไม่คลี่คลายลง
ท่านยังเชื่อว่าจะต้องแก้กรรมเท่านั้น และยังอยากจะต้องการแก้กรรมต่อไปแล้ว
ในคราวหน้าเรามาคุยเรื่องแก้กรรมกันต่อนะครับ

(ขอยกไปคุยต่อในคราวหน้านะครับ)