Print

เพื่อนธรรมจารี - ฉบับที่ ๑๒๔

การเมืองกับการปฏิบัติธรรม

ngod-ngamงดงาม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.



dharmajaree-123


ก่อนอื่น ผมต้องขออภัยท่านผู้อ่านนะครับ
เพราะว่าจริง ๆ แล้วในตอนนี้ ควรจะเป็นเรื่อง “คุยกันเรื่องกรรม ตอนที่ ๒”
ซึ่งควรจะมีเนื้อหาต่อจากตอนที่แล้ว แต่ผมขอข้ามมาที่เรื่องการเมืองกับการปฏิบัติธรรมก่อน
เหตุเพราะว่าเราเพิ่งผ่านการเลือกตั้งไปเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๓ กรกฎาคมที่ผ่านมา
และผลการเลือกตั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจของหลาย ๆ ท่านที่เฝ้าติดตามเรื่องการเมือง
โดยไม่ว่าจะท่านจะติดตามชื่นชมและเชียร์พรรคการเมืองที่ตนเองชื่นชอบ
หรือติดตามไม่พอใจพรรคการเมืองที่ตนเองไม่ชอบ หรือท่านจะไม่ชอบทุกพรรคการเมืองก็ตาม

ผลกระทบในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงกลุ่มที่เสียใจ ผิดหวัง และไม่พอใจเท่านั้นนะครับ
แต่ก็ยังรวมถึงอีกสองกลุ่มด้วย คือกลุ่มที่ดีใจ สมหวัง และพอใจ
และในกลุ่มที่เฉย ๆ เพราะไม่ได้ติดตามสนใจเรื่องการเมืองด้วย

ถามว่าเรื่องการเมืองก็ดี เรื่องผลการเลือกตั้งก็ดี จะมาเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร
ก็ขอแนะนำให้พิจารณาหลักวิธีง่าย ๆ อย่างนี้ครับว่า
การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นเรื่องภายในกายและใจตนเอง
ดังนั้นแล้ว ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ตาม ก็ให้เราย้อนกลับมาดูกายดูใจตนเองไว้

หากเราหลงไปคิดถึงผลการเลือกตั้ง คิดถึงเรื่องการเมือง
หรือเราได้ยินคนอื่นคุยเรื่องผลการเลือกตั้ง ได้ฟังคนอื่นคุยเรื่องการเมือง
โดยที่พรรคการเมืองที่เราชื่นชอบนั้นไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งแล้ว
เรารู้สึกเสียใจ ผิดหวัง และไม่พอใจ ก็ย้อนกลับมารู้ใจ และมีสติรู้ทัน
หากพรรคการเมืองที่เราชื่นชอบนั้นประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง
เรารู้สึกดีใจ สมหวัง และพอใจ ก็ย้อนกลับมารู้ใจ และมีสติรู้ทัน
หากเราไม่สนใจเลย ไม่ติดตามเรื่องการเมือง เพราะไม่ชอบเรื่องการเมืองเลย
เรารู้สึกเฉย ๆ หรืออาจจะชอบใจบ้าง ไม่ชอบใจบ้างก็ตาม ก็ย้อนกลับมารู้ใจ และมีสติรู้ทัน
แล้วเราก็จะเห็นได้ว่า ความรู้สึกเสียใจ ผิดหวัง ไม่พอใจ ดีใจ สมหวัง พอใจ หรือเฉย ๆ
ทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นเพียงสิ่งที่อยู่ชั่วคราว มีเหตุก็มา หมดเหตุก็ไป
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปบังคับไม่ได้ เราเองจึงไม่ควรไปยึดถือหรือแบกเอาไว้

การที่เราหลงไปคิดถึงผลการเลือกตั้ง คิดถึงเรื่องการเมือง
หรือได้ยินคนอื่นคุยเรื่องผลการเลือกตั้ง ได้ฟังคนอื่นคุยเรื่องการเมืองแล้ว
ไม่ได้จำเป็นว่าต้องมารู้ใจเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะรู้กายก็ได้เช่นกัน
ยกตัวอย่างว่า หากเราได้รับการกระทบถึงเรื่องการเมืองดังกล่าวแล้ว
เรารู้สึกไม่พอใจ และเริ่มลุกเดินหนีคนอื่นที่คุยกัน หรือขยับมือไปเปลี่ยนคลื่นวิทยุ
เมื่อกายขยับเดินหนี หรือขยับมือ ก็รู้ทันกายได้
เรารู้สึกพอใจ ขยับตัวเข้าไปใกล้ ๆ คนที่คุยกัน หรือขยับมือไปเปิดเสียงวิทยุให้ดังขึ้น
เมื่อกายขยับเข้าไปใกล้ หรือขยับมือ ก็รู้ทันกายได้
เรารู้สึกเฉย ๆ แต่มีการเปลี่ยนอิริยาบถ เพราะไม่สนใจใด ๆ หรือเบื่อเรื่องการเมือง
หรือรู้สึกว่าไม่เกี่ยวกับเรา เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถใด ๆ เราก็รู้ทันกายได้

นอกเหนือจากการหัดมีสติรู้กายรู้ใจดังที่กล่าวแล้ว
แทนที่เราจะรับฟังหรือติดตามเรื่องการเมือง โดยพิจารณาในเรื่องการเมืองเพียงมุมเดียว
เราอาจจะพิจารณาเรื่องการเมือง เพื่อย้อนหันมามองคุณธรรมในตัวเราด้วยก็ได้

ยกตัวอย่างนะครับ เราเคยเห็นพรรคการเมืองไหนบอกว่าพรรคตนเองทำผิดไหม
สมมุติว่าให้พรรคการเมืองพรรคหนึ่งเขียนเรื่องที่ตนเองเคยทำผิดออกมาสัก ๑๐ เรื่อง
เขียนเรื่องที่ตนเองทำไม่ดีหรือไม่เหมาะสมออกมาสัก ๑๐ เรื่อง เขาจะทำได้ไหม
หรือเราเคยเห็นพรรคการเมืองไหนบอกว่า พรรคฝ่ายตรงข้ามทำดีทำถูกต้องบ้างไหม
ซึ่งจะเห็นได้ว่า โดยปกติแล้ว พรรคการเมืองจะไม่บอกหรอกว่าตนเองทำผิด หรือทำไม่ดีอะไร
และก็จะไม่ไปชื่นชมพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหรอกว่าพวกเขาทำดีทำถูกต้องอะไร

เราลองย้อนกลับมามองคุณธรรมในตัวเราเองนะครับว่า เราเป็นเหมือนกันหรือเปล่า
เรารู้จักที่จะมองเห็น และยอมรับสิ่งไม่ดี และข้อผิดพลาดของตนเองบ้างไหม
เป็นไปได้หรือว่า ตัวเราเองจะเป็นคนดีสมบูรณ์แบบ โดยไม่มีข้อเสียใดเลย ไม่เคยทำผิดใดเลย
หากเมื่อไรที่เราบอกว่าเราเป็นคนดีสมบูรณ์แบบ โดยไม่มีข้อเสียใดเลย ไม่เคยทำผิดใดเลย
เท่ากับว่าเราไม่มีทางที่จะพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นไปได้อีก เพราะไม่มีข้อบกพร่องใด ๆ แล้ว
แต่ความเป็นจริงแล้วเป็นเช่นนั้นจริง ๆ หรือเปล่าที่ว่าเราไม่มีข้อเสียใด ๆ เลย

เรารู้จักที่จะมองเห็นและยอมรับในสิ่งดี ๆ และผลงานของคนอื่นที่เราไม่ชอบ
หรือยอมรับด้วยใจจริงในคุณความดีของคนที่เราเกลียด หรือขัดผลประโยชน์กับเราได้ไหม
หรือว่าเราสะสมแต่อคติไว้ภายในจิตใจของเรา
เรายอมรับแต่สิ่งดี ๆ ของคนที่เราชื่นชอบเท่านั้นหรือเปล่า
หากเป็นคนที่เราชื่นชอบแล้ว เขาทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างดีหมด ถูกต้องทั้งหมด
เราไม่ยอมรับสิ่งดี ๆ ของคนที่เราไม่พอใจหรือเปล่า
หากเป็นคนที่เราไม่ชื่นชอบแล้ว เขาทำอะไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ดีหมด ผิดทั้งหมด
จิตใจของเราเป็นเช่นนี้หรือไม่

(อคติตัวนี้มีส่วนทำให้เกิดประโยคที่ว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” นะครับ
โดยเวลาที่คนเรารักกันแล้ว คนที่เรารักก็ดูดีไปหมด เรามองไม่เห็นความไม่ดีของเขาเลย
เห็นแต่ความดีของเขา คนอื่นพูดอะไรเราก็ไม่ฟังไม่สนใจหรอก เราไม่เห็นอคติในใจเราเอง
และกว่าที่เราจะเริ่มมองเห็นความไม่ดีในตัวเขา เราก็ต้องเสียใจและเสียหายไปมากมายแล้ว)

บางท่านอาจจะมองว่าบรรดาพรรคการเมือง (และกองเชียร์) ไม่ปรองดองกัน ไม่ให้อภัยกัน
เราลองมองย้อนกลับมาที่ตนเองครับว่า เรารู้ใจให้อภัยคนอื่นไหม
เราอาจจะรู้จักใครสักคนในชีวิตจริงที่ทำให้เราโกรธและไม่พอใจมาก ทำให้เราเสียหายมาก
เรารู้จักที่จะให้อภัยเขาได้ไหม และละวางความโกรธแค้นใด ๆ ในใจลงได้ไหม
ยกตัวอย่างว่า เราอ่านข่าวเรื่องประเทศข้างเคียงมีปัญหาเรื่องเขตแดนกับประเทศไทย
หากเราโกรธและไม่พอใจผู้นำหรือผู้บริหารประเทศข้างเคียงแล้ว เราให้อภัยเขาได้ไหม
เราวางความโกรธใด ๆ วางความไม่พอใจใด ๆ ลงได้หรือเปล่า

บางท่านอาจจะรู้สึกว่าบางคนไม่มีน้ำใจนักกีฬาในทางการเมือง
เช่น เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาไม่ได้ดั่งใจแล้ว เขาก็ปฏิเสธไม่ยอมรับ
หรือผลการเลือกตั้งออกมาได้ดั่งใจแล้ว เขาก็นำสิ่งนั้นไปกล่าวซ้ำเติมหรือถากถางผู้อื่น
เราก็ลองย้อนกลับมามองตัวเราเองว่า แล้วในชีวิตจริงนั้น เรามีน้ำใจนักกีฬาไหม
เวลาที่คนอื่น ๆ ในโลก (เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก แฟน เจ้านาย ลูกน้อง เพื่อน ฯลฯ)
หรือสิ่งใด ๆ ในโลกไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้แล้ว
เรามีน้ำใจนักกีฬายอมรับสิ่งเหล่านั้นได้ไหม
เวลาที่เราได้สิ่งใด ๆ ที่สมหวัง หรือคนที่เราไม่ชอบไม่พอใจต้องล้มลง หรือพลาดพลั้ง
เราไปซ้ำเติมเขาหรือเปล่า หรือว่าเราสะใจและยินดีในความล้มเหลวของคนอื่นหรือไม่

มีอยู่คราวหนึ่งที่ผมได้อยู่ในวงสนทนากับเพื่อน ๆ นะครับ แล้วสักพักก็มีการคุยเรื่องการเมือง
โดยมีสองฝ่ายคุยโต้เถียงเรื่องการเมืองขึ้นมา และก็มีอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลางไม่เลือกข้าง
เวลาผ่านไป ทั้งสองฝ่ายโต้เถียงกันให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับและเชื่อตามตนเองไม่ได้
ก็เริ่มหันมาหากลุ่มที่เป็นกลาง โดยบอกว่าให้แสดงออกมาว่าเห็นด้วยกับฝ่ายไหน
บรรดากลุ่มที่เป็นกลางก็ไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยกับฝ่ายไหนนะครับ
ทั้งสองฝ่ายจึงบอกว่าที่มันวุ่นวายไม่จบเช่นนั้นก็เพราะว่ากลุ่มที่เป็นกลางไม่ตัดสินใจ

ผมจึงถามคำถามให้ในวงสนทนาได้พิจารณาว่า
เริ่มต้นที่ทุกคนมานั่งคุยกันนี้ก็คุยกันตามปกติ
ลองย้อนกลับไปคิดดูให้ดีว่า ความวุ่นวายนั้นเริ่มมาจากกลุ่มที่เป็นกลางที่นั่งเฉย ๆ
และไม่ได้โต้เถียงใด ๆ ด้วย หรือว่าความวุ่นวายนั้นเริ่มมาจากสองฝ่ายที่โต้เถียงกัน
ความวุ่นวายมันเริ่มมาจากตรงไหนกันแน่
ทุกคนก็ยอมรับว่าตอนแรกสนทนาเรื่องอื่นอยู่ดี ๆ
แต่ความวุ่นวายนั้นเริ่มมาจากทั้งสองฝ่ายที่เริ่มโต้เถียงกัน
ถามต่อไปว่า หากจะบอกว่าที่ความวุ่นวายไม่จบ เพราะกลุ่มที่เป็นกลางไม่ยอมเลือกข้าง
ถามว่า หากกลุ่มที่เป็นกลางเลือกข้างขวา ก็เท่ากับว่าได้ย้ายไปอยู่ฝ่ายขวา
หากกลุ่มที่เป็นกลางเลือกข้างซ้าย ก็เท่ากับว่าได้ย้ายไปอยู่ฝ่ายซ้าย
ซึ่งก็เท่ากับว่าจากที่เป็นสามกลุ่ม โดยมีสองฝ่ายทะเลาะกัน
ก็ยุบรวมไปเหลือสองฝ่ายทะเลาะกัน แล้วจะทำให้เรื่องราวจบลงได้อย่างไร

หากลองพิจารณาเฉพาะในจิตใจเราเองคนเดียว
เรามีพรรคการเมืองที่เราไม่ชอบใจ และมีพรรคการเมืองที่เราชอบใจ
ถามว่าใจเราเองสงบไหม วุ่นวายไหม
หากแม้ใจเราเองยังไม่สงบ และใจเราเองยังวุ่นวายอยู่เลย
แล้วเราจะหวังให้ภายนอกใจเรานั้นสงบ และไม่วุ่นวายได้อย่างไร

หากเราลองย้อนกลับมาพิจารณาที่การปฏิบัติธรรมแล้ว
จิตใจจะมีทั้งสิ่งที่ชอบใจ และไม่ชอบใจไหลผ่านมาผ่านไปตลอดทั้งวัน
หากจิตใจเข้าไปยึดถือ เข้าไปแบกสิ่งเหล่านั้นอยู่ตลอด โดยไม่มีสติรู้ทัน
ก็ย่อมจะทำให้จิตใจไม่สงบ และต้องวุ่นวายใจไปเรื่อย ๆ
แต่หากเราเห็นสิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงสภาวะที่ผ่านมาและผ่านไป
เราไม่กระโจนลงไปยึดถือ เราไม่กระโจนลงไปแบกสิ่งเหล่านั้น
เราก็จะไม่ถูกสิ่งเหล่านั้นลากพาไปให้เกิดโมหะ โทสะ และโลภะใด ๆ
และเราก็จะเห็นสภาพความเป็นจริงในสิ่งเหล่านั้นได้

พรรคการเมือง หน่วยงานรัฐ และองค์กรภาคประชาชนก็เช่นกัน เขาก็ทำหน้าที่ของเขา
เขาจะดีหรือไม่ดีอย่างไร เราจะชอบใจหรือไม่ชอบใจเขาอย่างไร ถูกใจหรือไม่ก็ตาม
แต่ว่าพรรคการเมือง หน่วยงานรัฐ และองค์กรเหล่านั้น ก็ทำหน้าที่ของเขาไป
การที่จะปล่อยให้จิตใจกระโจนไปคลุกอยู่กับเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้น
แล้วก่อให้เกิดอคติ มีโมหะ โทสะ และโลภะไปเรื่อย ๆ ย่อมไม่เป็นประโยชน์
แต่หากได้เห็นสภาพการณ์ทุกอย่างตามความเป็นจริง มองเรื่องราวโดยปราศจากอคติ
คิดด้วยใจเป็นกลาง ตัดสินใจ และให้ความเห็นด้วยใจที่เป็นกลางต่อสิ่งเหล่านั้นแล้ว
ย่อมจะเป็นประโยชน์มากกว่า และลดละความวุ่นวายใด ๆ ในใจตนเองด้วย

ในการพิจารณาสภาวธรรมก็เช่นกันที่เราเองจะมีสิ่งที่เราชอบ และไม่ชอบ
โดยเราอาจจะไม่พอใจเรื่องกาม ไม่พอใจในสิ่งอกุศลทั้งหลาย เกลียดในบาปอกุศล
และเราก็หันมาพอใจในสิ่งกุศล ชื่นชอบในบุญกุศล
ซึ่งก็เป็นทำนองเดียวกันว่า ใจเรามีอคติ ใจเราไม่เป็นกลาง
และทำให้เราไม่สามารถเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอกุศล และที่เป็นกุศลได้ตามความเป็นจริง
(คล้าย ๆ กับที่ว่าเรามีอคติ โดยชอบพรรคการเมืองโน้น ไม่ชอบพรรคการเมืองนี้
แล้วก็ทำให้ใจเราไม่เป็นกลาง และไม่ได้เห็นสิ่งต่าง ๆ ในเรื่องการเมืองตามความเป็นจริง)
ซึ่งเมื่อเราไม่เห็นสภาวะต่าง ๆ ตามความเป็นจริง คือยังโดนสิ่งเหล่านั้นหลอกอยู่แล้ว
การที่เราจะพิจารณาเห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นความไม่เที่ยง
และความไม่ใช่ตัวตนของสิ่งเหล่านั้นก็ย่อมจะทำไม่ได้
ดังนั้นแล้ว การมีใจที่เป็นกลางในการเห็นสภาวะต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้สนับสนุนให้เราต้องไปติดตามข่าวการเมืองแล้วก็อ้างว่า
การติดตามข่าวการเมืองเพื่อเป็นการปฏิบัติธรรมนะครับ
แต่ต้องการแนะนำว่า หากเราจะติดตามหรือรับฟังเรื่องการเมืองแล้ว
เมื่อเกิดสิ่งใด ๆ มากระทบ เราก็ควรย้อนกลับมาพิจารณารู้กายรู้ใจตนเอง
จะเป็นประโยชน์มากกว่า และหากเราจะมองว่าคนอื่นขาดคุณธรรมเรื่องนั้นเรื่องนี้แล้ว
เราก็ควรมองย้อนกลับมาที่ตนเองว่า แล้วเรามีคุณธรรมนั้นไหม หรือเราบกพร่องตรงไหน
ท้ายสุด หากเราจะติดตามและรับฟังเรื่องการเมืองนั้นต่อไป
ก็ควรจะต้องทำด้วยใจเป็นกลาง ปราศจากอคติ เพื่อจะได้เห็นสิ่งเหล่านั้นตามความเป็นจริง
ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าติดตามและรับฟังไปด้วยโมหะโทสะโลภะ และโดนอคติครอบงำครับ