Print

แสงส่องใจ - ฉบับที่ ๔๑๑

 sungaracha

 sangharaja-section

๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า

 เทศนานิพนธ์

ใน

สมเด็จพระญาณสังวร

สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก

 

ธรรมะประดับใจ

 

๓๘. กิเลส มูลเหตุแห่งความเห็นแก่ตัว

                   ยุคนี้สมัยนี้ความเห็นแก่ตัวค่อนข้างจะปรากฏให้เห็นมากกว่าแต่ก่อน สาเหตุที่แท้จริงแล้วก็กล่าวได้ว่าเป็นเพราะกิเลสในจิตใจพอกพูนหนากว่าปกติ อำนาจของกิเลสนั่นเองนำให้ความเห็นแก่ตัวมีมาก ไม่ใช่เพราะอะไรอื่นทั้งสิ้นเป็นเหตุ ถ้าผู้ใดมีความเห็นแก่ตัวมากผู้นั้นคือผู้มีกิเลสพอกพูนหนา ผู้ใดมีความเห็นแก่ตัวน้อยผู้นั้นคือผู้มีกิเลสน้อย กิเลสที่เป็นต้นเหตุแห่งความเห็นแก่ตัวราคะหรือโลภะ และโมหะความหลง

                   ผู้ที่มีความโลภมากคืออยากได้ลาภยศสรรเสริญสุขส่วนตัวมาก จนไม่คำนึงถึงว่าจะเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนของผู้อื่นคือพูดทำเพื่อให้สำเร็จความโลภของตน นั่นแหละคือผู้ที่มีความเห็นแก่ตัวมากจนเกินไป และผู้นั้นเป็นผู้มีโมหะคือความหลงมาก ในขณะเดียวกันด้วย เพราะความหลงหรือโมหะที่มีมาก นั่นแหละที่ทำให้ไม่แลเห็นความเป็นจริงที่ว่าความเห็นแก่ตัวจนเกินไปเป็นเครื่องทำลายตัวเองมากกว่าจะเป็นเครื่องสนับสนุนส่งเสริมเพิ่มพูนในทางดีงาม คนเห็นแก่ตัวมาก ๆ ย่อมเป็นคนขาดพรหมวิหารธรรม คือขาดเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาอันเป็นธรรมที่สืบต่อกันเป็นสาย โดยมีเมตตาเป็นจุดเริ่มต้นหรือเป็นห่วงลูกโซ่ห่วงแรกที่จะนำให้ห่วงลูกโซ่อื่น ๆ คล้องติดต่อกันได้ยืดยาว ขาดโซ่ห่วงเริ่มต้นแล้วห่วงต่อ ๆ ไปก็ไม่มี

                   คนเห็นแก่ตัวมาก ๆ มีเมตตาไม่ได้ เพราะเมตตาเป็นภาวะของจิตที่มีเยื่อใยปรารถนาเกื้อกูลให้ผู้อื่นเกิดสุขประโยชน์ เช่นเดียวกับที่ปรารถนาเกื้อกูลตนเอง ถ้าจะว่าความเห็นแก่ตัวเป็นความมีเมตตาตนเองเช่นนั้นไม่ได้ไม่ถูก ความเห็นแก่ตัวเป็นคนละเรื่องคนละทางกับความเมตตาที่แผ่ไปในตนเอง ดังนั้นจึงกล่าวว่าผู้มีความเห็นแก่ตัวมาก ๆ มีโมหะความหลงเป็นเหตุสำคัญประกอบกับความโลภ คือเห็นว่าความเห็นแก่ตัวเป็นความมีเมตตาต่อตนเองบ้าง ต่อบรรดาผู้ที่เป็นที่รักของตนบ้าง แล้วอาศัยความหลงเข้าใจผิดดังกล่าวกอบโกยลาภยศเป็นต้นอย่างไม่คำนึงถึงความถูกผิดควรไม่ควรทั้งสิ้น

                   เมื่อคนเห็นแก่ตัวเป็นคนไม่มีเมตตาดังกล่าว จะแก้ความเห็นแก่ตัวก็ต้องอบรมเมตตา หัดคิดว่าตนเองรักสุขต้องการความสุขฉันใด คนอื่นสัตว์อื่นทั้งปวงก็ฉันนั้น และตนเองปรารถนาสุขแก่คนซึ่งเป็นที่รักที่พอใจฉันใด ก็ควรปรารถนาสุขแก่คนอื่นสัตว์อื่นด้วยฉันนั้น หัดคิดเช่นนี้แล้วหัดแผ่จิตเช่นนี้ออกไปแก่คนอื่น สัตว์อื่นโดยเจาะจงหรือไม่เจาะจงทั่วไป ด้วยใจที่คิดปรารถนาสุขประโยชน์ ดังเช่นคิดว่า “จงอย่ามีเวรอย่ามีเบียดเบียน อย่ามีทุกข์มีสุข รักษาตนให้สวัสดีเถิด” เมื่อคิดด้วยเมตตาเช่นกล่าวนี้ได้ก็จะคิดจะพูดทำสิ่งที่เป็นความเห็นแก่ตัวไม่ได้ เป็นการยับยั้งหรือลดความเห็นแก่ตัวลงได้ คนเห็นแก่ตัวไม่มีที่จะไม่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อนเพราะความเห็นแก่ตัวของเขา เช่นเดียวกับคนที่เห็นแก่ตัวไม่มีที่จะไม่ร้อนเร่าด้วยอำนาจความปรารถนาต้องการเพื่อบำรุงบำเรอกิเลสตัณหาของตนอย่างไม่รู้จบรู้สิ้น

                   ความเห็นแก่ตัวเป็นความร้อนไม่ใช่ความเย็น เป็นเหตุแห่งความเสื่อม ไม่ใช่เหตุแห่งความเจริญรุ่งเรือง ความร้อนนั้นจะเผาใจตนเองก่อน แล้วจะแผ่ขยายออกไปถึงผู้อื่นด้วย เมตตาเป็นความเย็น เป็นน้ำ น้ำดับความร้อนคือไฟได้ฉันใด เมตตาก็ดับความร้อนคือความเห็นแก่ตัวได้ฉันนั้น ผู้มีเมตตาจะคิดพูดทำอย่างเห็นแก่ตัวไม่ได้ เพระผู้มีเมตตาย่อมทนไม่ได้ที่จะเห็นผู้อื่นเดือดร้อนหรือเสียหายเพราะความเห็นแก่ตัวของตน เมื่อความเห็นแก่ตัวเป็นเหตุให้ใจร้อน ก็ต้องใช้น้ำคือเมตตาทำให้เย็น คือทำให้ลดความเห็นแก่ตัวลง เมตตาจึงเป็นเครื่องแก้ความเห็นแก่ตัวได้ เป็นธรรมเครื่องทำให้ตนเองอยู่เย็นเป็นสุข และแผ่ความเย็นความสุขออกไปถึงผู้อื่นอีกด้วย.

** ข่าวสารประจำฉบับ **

แนะนำคอลัมน์              

คอลัมน์ "แสงส่องใจ" ได้อัญเชิญพระธรรมเทศนา
ใน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
มานำเสนออย่างต่อเนื่อง
เพื่อความเจริญในธรรมของทุกท่านค่ะ (-/\-)

หากในตอนที่สวดมนต์รู้สึกว่าจิตสงบและมีความสุขดี
แต่พอทำสมาธิกลับพบว่าจิตไม่ค่อยนิ่ง แบบนี้ควรทำอย่างไร
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "จะทำสมาธิในขณะที่สวดมนต์ได้อย่างไร"

ผลกรรมของผู้ที่ประพฤติผิดในศีลข้อกาเมสุมิจฉาจาร
จะมีโทษหนักหนาและยาวนานเพียงใด
ติดตามได้จากเรื่องราวที่คุณงดงามเรียบเรียงไว้
ในคอลัมน์ “เพื่อนธรรมจารี” ตอน “ผลกรรมของคนเจ้าชู้”