Print

จากใจ บ.ก. ใกล้ตัว - ฉบับที่ ๔๑๐

dungtrin_editor_cover

dungtrin_new2

 

 

 

 

 

 

 

 

ต้นทุนชีวิต 

 

 

editor410

 

 

เปรียบเทียบคนกับคน เราบอกได้แต่ว่า

ต้นทุนชีวิตของคนเราแตกต่างกัน

แต่ทำไมถึงต่าง แล้วใครเป็นผู้รับผิดชอบ

อันนี้เป็นคำถามระดับโลก

ที่ก่อให้เกิดศาสนาขึ้นมาได้

 

ต้นทุนคืออะไร?

ต้นทุนคือ รูปร่างหน้าตา ฐานะ เพศ และสมอง

 

แล้ว โอกาสล่ะ คือต้นทุนด้วยหรือเปล่า?

 

ปัจจุบันแตกความเชื่อได้เป็น ๓ ฝ่ายใหญ่ๆ

ฝ่ายแรก เชื่อว่าโอกาสได้มาจากความบังเอิญ

อันนี้เชื่อได้ง่ายที่สุด เป็นอัตโนมัติที่สุด

คนยุคไอทีอยากเถียงด้วยน้อยที่สุด

แต่จะอยากให้เสียงสนับสนุนมากที่สุด

 

ฝ่ายที่สอง เชื่อว่าโอกาสได้มาจากดวงดาว

ความเชื่อนี้ เกิดจากหลักฐานที่หมอดูบางคน

แค่ดูมุมดาวก็บอกได้เป็นฉากๆ

ระบุได้เป็นชั่วโมง เป็นนาทีว่า

ชีวิตใครกำลังจะต้องเผชิญกับอะไร แม่นเป๊ะๆ

 

ฝ่ายที่สาม เชื่อว่าโอกาสได้มาจากมนุษย์เอง

ความเชื่อนี้ เกิดจากหลักฐานที่หลายคน

สามารถพลิกชะตา จากที่เคยตกอับอยู่ก้นเหว

ขึ้นมาลอยเด่นบนวิมานเมฆ

เพียงเพราะตัดสินใจจะวิ่งไปหาโอกาส

ไม่ใช่รอให้โอกาสวิ่งมาหาตัวเอง

 

ในทางพุทธ ท่านให้ตัดความเชื่อแรกทิ้งไป

ไม่มีสิ่งใดบังเอิญ มีแต่เหตุผลที่คนไม่รู้

 

ความเชื่อที่สอง เกี่ยวกับโหราศาสตร์

ทางพุทธไม่ได้รับรองไว้เป็นกิจจะลักษณะ

แต่มีปรมาจารย์ทางโหราศาสตร์ไทย เช่น

อาจารย์ เทพย์ สาริกบุตร

เคยเชื่อมโยงเรื่องดาวไว้กับเรื่องวิบากกรรม

โดยเอาเรื่องราวในพระไตรปิฎกยกเป็นตัวตั้ง

แต่น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีลูกศิษย์ท่านพูดถึง

ซึ่งถ้าทำดีๆ โหราศาสตร์อาจกลายเป็น

คำอธิบายทางพุทธที่ชัดเจน

เกี่ยวกับเรื่อง ต้นทุนชีวิตจากวิบากกรรม



นั่นเพราะพุทธเราชี้ไว้ชัดว่า

วิบากของกรรมเก่าออกแบบชีวิตเราไว้หมดแล้ว

ดังเช่นใน วิชชยสูตร พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ผู้มีทิพยจักขุ ย่อมทราบด้วยตนเอง

อดีตชาติมีจริง และสัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม

กรรมอันเป็นสุจริตและทุจริตทั้งหลายนั่นเอง

จำแนกสัตว์ให้ได้ไปอุบัติในภพเลวหรือประณีต

อุบัติแล้วผิวพรรณดีหรือผิวพรรณทราม ได้ดีหรือตกยาก

(โหราศาสตร์เป็นแว่นส่องให้แก่ผู้ไม่มีตาทิพย์

ชี้ให้รู้เลยว่า เคราะห์ดีเคราะห์ร้ายจะเกิดเมื่อใด

แต่โหราศาสตร์ก็หาผู้รู้จริงลึกซึ้งยาก

อธิบายความเชื่อมโยงกับวิบากกรรมยาก

แม้แต่อาจารย์เทพย์ ก่อนตายก็ยังบอกว่า

เฉพาะแง่มุมเกี่ยวกับดวงดาว

ท่านก็ยังไม่รู้ ตีความไม่ถูก หาคำอธิบายได้ยากอีกมาก)

 

ความเชื่อที่สาม เกี่ยวกับความมุ่งมั่นของมนุษย์

ทางพุทธให้การรับรองไว้มากที่สุด

เช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

ทำดีเมื่อใด ฤกษ์ดีเมื่อนั้น

หรือเช่นที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

พ่อค้าที่ฉลาด รู้ความต้องการของผู้ซื้อ

แล้วหาสินค้ามาให้ผู้ซื้อได้

ก็จะเป็นพ่อค้าที่ร่ำรวย

(ซึ่งก็เหมือนที่นักการตลาดสมัยนี้ได้ข้อสรุปว่า

ถ้ากำหนดกลุ่มเป้าหมายถูก

เข้าไปนั่งในใจกลุ่มเป้าหมายได้

รู้ได้ว่าเขาต้องการอะไร

และจับความสนใจเขาได้อย่างไร

ก็ทำของออกมาขายได้สำเร็จทุกครั้งไป)

 

สรุปแล้ว ทางพุทธเราที่สอนเรื่อง ต้นทุนชีวิตไว้จริง

ทำกรรมไว้แค่ไหน ก็ได้ต้นทุนชีวิตไว้แค่นั้น

แต่ท่านก็ตีกรอบไว้ด้วยว่า

เชื่อเรื่องกรรมเก่าอย่างเดียวก็ผิด

เชื่อเรื่องกรรมใหม่อย่างเดียวก็ผิด

ต้องเชื่อทั้งเรื่องกรรมเก่าและกรรมใหม่ประกอบกัน

จึงจะได้คำอธิบายที่ครอบคลุม ชัดเจน

ไม่ต้องมีข้อสงสัยคาใจด้วยประเด็นปลีกย่อยใดๆอีก

เช่น ท่านให้มองว่า แค่จะต้องเกิดกับพ่อแม่คู่ไหน

กรรมเก่าก็เริ่มทำงานแล้ว

กรรมเก่าเป็นคนเลือกคัดจัดสรรให้แล้ว

ถ้าชีวิตก่อนทำดีไว้มากกว่าร้าย

ก็ได้มาเกิดในท้องมนุษย์

และถ้าที่ทำดีนั้น ดีจริงจากใจมากพอ

ก็ได้ชะตาชีวิตที่ทำให้รู้สึกดี รู้สึกปลอดภัย

มีสิทธิ์ได้ดีมากกว่าตกยาก

 

นอกจากนั้น ท่านให้มองว่า

เมื่อเริ่มรู้ความ เริ่มมีสิทธิ์คิดอ่านเป็นตัวของตัวเอง

กรรมใหม่ก็เริ่มทำงานแล้ว

หากห้ามใจจากสิ่งยั่วยุชั่วร้าย ขยันฉวยโอกาสทำดี

คว้าโอกาสดี หรือกระทั่งสร้างโอกาสดีกับมือ

ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีกรรมใหม่เป็นประโยชน์

เป็นผู้ถือเอาประโยชน์เป็นฤกษ์ของประโยชน์

สะสมต้นทุนใหม่ไปเรื่อยๆอย่างมีสติ

ไม่ใช่ใช้ทุนเก่าจนหมดโดยไม่รู้ตัว!

 

ดังตฤณ

สิงหาคม ๖๕

** ข่าวสารประจำฉบับ **

แนะนำคอลัมน์             

คอลัมน์ "แสงส่องใจ" ได้อัญเชิญพระธรรมเทศนา
ใน สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร
มานำเสนออย่างต่อเนื่อง
เพื่อความเจริญในธรรมของทุกท่านค่ะ (-/
\-)

หากรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ค่อยมีความเพียรในการปฏิบัติธรรม
จะมีวิธีการใดทำให้เกิดความสุขในการเจริญสติขึ้นมาได้
หาคำตอบได้ในคอลัมน์ "ดังตฤณวิสัชนา"
ตอน "ทำอย่างไรจึงจะมีฉันทะในการปฏิบัติธรรม"